จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดปมรอยร้าวในรัฐบาล ประชาธิปัตย์จะไปทางไหน ทำไมเลือกตั้งครั้งหน้าเสียงจะเพิ่ม/รายงานพิเศษ พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

รายงานพิเศษ

พิชญ์เดช แสงแก่นเพ็ชร์

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

เปิดปมรอยร้าวในรัฐบาล

ประชาธิปัตย์จะไปทางไหน

ทำไมเลือกตั้งครั้งหน้าเสียงจะเพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองถึงกระแสข่าวความแตกแยกภายในรัฐบาล ว่าในฐานะที่เราเคยเป็นทั้งแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทำงานร่วมกับผู้อื่นมาหลายครั้ง อย่างน้อยที่สุดผมคนหนึ่งก็เข้าใจการทำหน้าที่ในฐานะรัฐบาลผสมอย่างดี

การทำงานในฐานะพรรคร่วม จะให้ทุกอย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน 100% ในทุกเรื่องคงเป็นไปไม่ได้ ตามกติกาของการทำงานร่วมกันมันมีอยู่ ก่อนมาร่วมตั้งรัฐบาลมีนโยบายอย่างไรก็เอามากองตัดสินใจร่วมกันว่าสุดท้ายแล้วอะไรบ้างที่จะนำมาเป็นนโยบายรัฐบาล แล้วก็แถลงต่อรัฐสภา เป็นนโยบายที่ทุกพรรคต้องยึดถือ

ส่วนในช่วงระหว่างการทำหน้าที่ จะสอดคล้องกันบ้าง ไม่สอดคล้องกันบ้าง ให้ถือมติการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นหลัก อะไรที่เป็นปัญหาก็หารือพูดคุยกัน

ผมคิดว่าขณะนี้ไม่ได้เป็นรอยร้าว ประชาธิปัตย์เองก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งอะไร ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไรกับใครในการทำงาน เรื่องไหนที่ตกลงกันจบแล้ว เราก็เดินไปตามนั้น ประกันรายได้เกษตรกร การแก้ไขรัฐธรรมนูญประกาศเป็นชุดนโยบายรัฐบาลร่วมกัน แล้วเดินหน้าร่วมกัน

อย่างเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ยังเดินหน้าต่อได้ เพียงแต่ว่ายังไม่สำเร็จครบถ้วนทั้งหมด พรรคประชาธิปัตย์เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราตั้งใจที่จะแก้ไขเพื่อไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ

แต่ขั้นตอนกระบวนการในการนำเสนอญัตติเนื่องจากพรรคเรามีไม่ถึง 100 เสียง เราก็พยายามผลักดันทุกวิถีทาง ผมคิดว่า เราได้ทำเต็มที่แล้ว ภายใต้เสียงที่มีอยู่จำกัด เรามีแค่ 50 แน่นอนว่าประชาชนก็คาดหวังอยากจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ แต่เรามีเสียงจำกัดเราก็ทำได้เท่านี้

แต่วันข้างหน้าถ้าเรามีเสียงมากขึ้นสามารถเสนอแก้ได้ด้วยตัวของเราเองเราก็จะทำ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าเมื่ออธิบายประชาชนไปแล้วจะเข้าใจ

: มุมมองต่อข้อเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

ผมเองทำงานร่วมกับท่านนายกฯ ในฐานะพรรคร่วม เราก็เห็นความตั้งใจของท่านในการที่จะเข้ามาแก้ปัญหา โดยเฉพาะ covid ที่ทุกประเทศในโลกก็ประสบปัญหาเหมือนกัน คือเศรษฐกิจ โควิด

แต่ประเทศของเรามีปัญหาซ้ำ 3 คือปัญหาทางการเมืองเข้ามาด้วย ก็จะหนักกว่าหลายประเทศ

การทำงานร่วมกันช่วงที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราก็ช่วยกันประคับประคองทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ นายกฯ ใช้วิธีต่างๆ

ในระยะที่ 1 ก็แก้ปัญหาได้ดีและเป็นที่ยอมรับของทั้งโลก

ช่วงที่ 2 ก็มีสภาพข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปบ้างแต่ก็ผ่านพ้นมาได้

ส่วนระยะที่ 3 น่าจะหนักหน่อย ผมก็ยังมั่นใจว่าเราจะผ่านไปได้ การแก้ปัญหามันต้องทำควบคู่กันไป ทั้ง 3 ปัญหาที่ต้องแก้ ซึ่งความจริงผมคิดว่า “การเปลี่ยนม้ากลางศึก” ในช่วงการแก้ปัญหาโควิดอาจจะมีปัญหาเพิ่มมาอีกมุมหนึ่งก็ได้ ความต่อเนื่องอาจจะไม่เกิด แล้วกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือมีรัฐบาลชุดใหม่ ก็จะมีปัญหามากขึ้นไปอีก

ผมคิดว่าอยากให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้ช่วงวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปได้ก่อน

: อนาคตอันใกล้มียุบสภา พรรคพร้อมหรือไม่?

ผมในฐานะหัวหน้าพรรคก็ยืนยันว่าพร้อม เราเตรียมพร้อมตลอดเวลา ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ก็เตรียมการหลายอย่างมากแล้ว หากมีอุบัติเหตุยุบสภา เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งเร็วกว่าที่คาดคิด เราเองก็เตรียมไว้ เช่น ผู้สมัคร ส.ส.ทุกภาคทั่วประเทศเราเคาะไปแล้วจำนวนมากจนใกล้ครบ ก็มีทั้งคนเก่า ที่เคยออกจากพรรคไปก็กลับมาหลายคน รวมทั้งคนที่จะมาจากพรรคการเมืองอื่น เขาสนใจอยากร่วมงาน ก็เดินเข้ามาหลายคน ผมคงยังไม่พูดถึงตอนนี้

ที่สำคัญคือนักการเมืองรุ่นใหม่ ผมเปิดรับสมัครไปแล้วมีเลือดใหม่สมัครเข้ามาเป็นร้อยคนแล้ว ส่วนชุดนโยบายก็เตรียมการมาโดยลำดับ มีคลังสมองของพรรค ทำงานกับหน่วยงาน วิชาการที่เราตั้งขึ้นช่วยกันทำ

แม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เราก็เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ก็รอจังหวะที่จะได้ประกาศออกไป

จากบทเรียนเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่ได้เสียงลดลงมาก เรียกว่าอุบัติเหตุทางการเมือง เหมือนกับสึนามิโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ผมคงจะไม่ย้อนกลับไปพูดถึง แต่ผมเชื่อมั่นว่าครั้งหน้าไม่คิดว่ามันจะเกิดสึนามิซ้ำซ้อนขึ้นอีก เหตุผลเพราะการทำงานของเรา ทั้งเรื่องประกันรายได้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็เดินหน้ามาตลอด

ประชาธิปัตย์ยุคใหม่อุดมการณ์ทันสมัยทำได้ไวทำได้จริง ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไปต่อยอดในการหาเสียงต่อไปในอนาคต

: ถ้ามีเลือกตั้งพร้อมเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี?

แน่นอนว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องพูด แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถามผมก็พร้อมที่จะพูด ผมเองไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ผมสั่งสมประสบการณ์ทางการเมืองมายาวนานพอสมควร เป็นทั้งประสบการณ์บริหาร ประสบการณ์เป็นผู้แทนฯ 11 สมัย การเป็นฝ่ายค้าน-รัฐบาลเคยทำหน้าที่มาหมด

รวมทั้งเข้าใจสภาพปัญหาชีวิตของพี่น้องประชาชนดี แนวคิดทางการเมืองทางนโยบายผมก็เข้าใจ ผมคิดว่าเมื่อถึงเวลาคนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนก็ต้องมีความพร้อม

ผมเองประกาศจุดยืนไว้ชัดเจน ในอุดมการณ์ยึดมั่นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ชัดที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรชัดกว่านี้

เราชัดเจนยึดมั่นระบอบรัฐสภา ใครจะบอกว่าเป็นเผด็จการ อยากจะบอกว่าในพรรคเราไม่มีใครเข้ามาสั่งได้เลยครับ ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น หัวหน้าพรรคก็ไม่ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมา ก็ต้องผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิกตามวิถี

ใครจะได้เป็นรัฐมนตรีไม่ใช่พวกผมจะไปชี้ได้ ต้องลงคะแนนกัน โหวตกันตามวิถีทางประชาธิปไตย

สิ่งเหล่านี้มันพิสูจน์ตัวตนของเราว่า เราคือพรรคการเมืองที่ยึดในวิถีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ส่วนการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บางคนสับสน หลังการเลือกตั้ง เมื่อมีพรรคการเมืองใดสามารถรวมเสียงข้างมากได้ในสภา ก็เป็นรัฐบาล เป็นไปตามวิถีทาง เราก็ไปตามคำเชิญ พร้อมด้วยเงื่อนไขการผลักดันนโยบายรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จากนั้นภายในพรรคเราก็ต้องลงมติกัน ไม่ใช่ว่าผมพา ส.ส.ไปร่วมรัฐบาลเอง เรามีมติ 61 ต่อ 16 ให้ร่วมรัฐบาล ก็ตามวิถีทาง

ถึงวันนี้เอง ผมก็ไม่ได้หนักใจอะไร ก็ทราบดีอยู่แล้ว ว่ามีภารกิจอะไรบ้างที่รออยู่เข้าใจดีทุกอย่าง

 

: ปัญหาความไม่ลงรอยภายในพรรค

ต้องยอมรับว่าบางคนอยากเห็นเอกภาพในความคิดให้คิดเหมือนกัน คิดไปทางเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่านี่เป็นข้อยกเว้นในพรรคเราเพราะเราจะบังคับให้ทุกคนเห็นเหมือนกันทั้งหมดไม่ได้ เรามีกลไกที่จะเข้ามาจัดการปัญหา นั่นคือการลงมติ เมื่อเสียงข้างมากลงมติว่าอย่างไร ทุกคนก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างนั้น หัวหน้าพรรคก็สั่งไม่ได้ มันก็เป็นทั้งจุดแข็งจุดอ่อน คนที่อยากเห็นความคิดไปทางเดียวกันทั้งหมดก็อาจจะมองเป็นจุดอ่อน

แต่ถ้าใครอยากเห็นวิถีประชาธิปไตยจริงๆ ในพรรคนี่แหละคือจุดแข็ง สุดท้ายก็หล่อหลอมความเห็นหลากหลายออกมาเป็นมติ

ส่วนคนในที่แสดงท่าทีไม่ตรงแนวทางพรรคก็ต้องปล่อยเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่มีการกำหนดเอาไว้ว่ากรรมการบริหารพรรคมีอำนาจ หน้าที่ตัดสินใจเรื่องอะไรบ้าง ว่าจะส่งสมัครรับเลือกตั้งต้องมีกระบวนการอย่างไร ทุกคนในพรรคผมก็รู้จักกันมานานทั้งนั้น

แต่บางท่านก็มีความเชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าความคิดตัวเองถูกเสมอ แต่ก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน มีแค่บางส่วนที่เคยขอความกรุณาไปแล้วว่าอะไรที่พูดแล้วนำไปสู่ความขัดแย้ง ให้คนเข้าใจผิด ขอให้หลีกเลี่ยง ก็ได้ผลอยู่บ้าง

บางคนก็ไม่ได้ผลเลย ก็มีอยู่ไม่กี่คน เมื่อถึงเวลาพรรคก็คงต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ ตามวิถีประชาธิปไตยภายใน

 

: มองอนาคตรัฐนาวาประยุทธ์

ผมคิดว่าเมื่อเรามาอยู่ด้วยกันแล้ว ต้องช่วยกัน พาเรือให้ถึงฝั่งให้ได้ ประชาธิปัตย์ก็คิดอย่างนี้ ก่อนที่เราจะลงเรือกับใคร จะร่วมกับใคร หรือใครจะมาลงเรือกับเรา ก็ต้องคิดให้ครบ ตัดสินใจให้ดี มีทิศทางที่ชัดเจน

เมื่อลงเรือด้วยกันแล้วก็ต้องพยายามช่วยกันประคองรัฐนาวาให้ถึงฝั่งให้ได้ทั้งหมด ต้องทำตามนโยบายให้สำเร็จ

แต่ถ้ามันไปไม่ได้จริงๆ ผมเองก็ไม่ได้คิดถึงตรงนั้น แล้วก็มองไม่เห็นจุดนั้น เพราะเป้าหมายใหญ่ก็คือลงเรือแล้วก็ต้องไปให้ถึงที่สุด

ส่วนที่ผู้สื่อข่าวถามว่ากัปตันเรือหากนำทางไม่ถูกไม่เหมาะนั้น ในฐานะลูกเรือจะทำอย่างไร

ขอเรียนว่าตามข้อเท็จจริงจะให้ทุกคนเหมือนกันหมดเป็นไปไม่ได้ ที่ผู้สื่อข่าวถามมาผมพอจะแปลความออก คือเราต้องเคารพนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ก่อนที่จะไปร่วม เราก็รู้อยู่แล้วว่าไปกับใครจะเป็นยังไง

เมื่อมาร่วมกันแล้วก็ต้องพยายามที่จะจับมือกันฟันฝ่าสภาพปัญหาไปด้วยกันให้ได้

ชมคลิป