หลังเลนส์ในดงลึก : พี่เลี้ยง

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในป่าทางภาคตะวันออกถูกช้างเข้าโจมตีบาดเจ็บสาหัส ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ไล่ฝูงช้างซึ่งออกมาให้กลับเข้าป่า เขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาล

นี่คือเรื่องเศร้า ไม่ใช่เรื่องราวที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มันคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จากสาเหตุเดิมๆ

สิ่งที่เปลี่ยนไปดูเหมือนเหตุการณ์เช่นนี้คล้ายจะรุนแรงขึ้นทุกวัน เป็นเรื่องเศร้าระทมของทั้งคนและช้าง

ช้างเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ในฝูงมีระเบียบในการอาศัยอยู่ร่วมกัน มีผู้อาวุโสและผู้อ่อนอาวุโส เรียงลำดับกันมา ผู้นำคือคุณยายผู้ได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ มาจากรุ่นสู่รุ่น นี่เป็นเรื่องราวที่รู้กันมานาน

ในฝูงช้างเด็กๆ จะได้รับการปกป้องอย่างเข้มแข็ง มีผู้ที่รับหน้าที่คล้ายบอดี้การ์ดหรือเป็นพี่เลี้ยงประกบอยู่ตลอดเวลา

เราพบบ่อยๆ ว่าเมื่อพวกมันได้กลิ่นคนทุกตัวจะตื่นหนี ตัวเล็กๆ จะวิ่งประกบไปข้างๆ แม่ ที่อยู่ท้ายสุดคือช้างซึ่งทำหน้าที่พี่เลี้ยง

เจ้าตัวนี้แหละมักพุ่งเข้าโจมตีคนหรือสัตว์ผู้ล่าอย่างเสือโคร่ง ลูกช้างเล็กๆ คือเป้าหมายของเสือโคร่ง นี่ไม่ใช่งานง่ายๆ ของเสือโคร่งเลย

กระนั้นก็เถอะ ในปีที่แล้วจากการติดตามเสือโคร่งที่ถูกจับสวมปลอกคอติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ โครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ พบว่า เสือโคร่งล่าลูกช้างได้ถึง 3 ตัว

คนทำงานในป่าเกือบทุกคนมีประสบการณ์ต้องวิ่งหลบหนีช้าง โดยเฉพาะหากไปพบกันอย่างกะทันหันบนทางด่าน

“เจ้าตัวพี่เลี้ยงนี่แหละครับเอาเรื่องสุด” ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกัน

หลายคนหลบหนีได้รอด มีบางคนบาดเจ็บ และมีบางคนต้องจากโลกนี้ไปตลอดกาล


ว่ากันตามจริง สัตว์ป่าไม่ได้เพิ่มความดุร้ายหรือกลายเป็นสัตว์อันตรายมากขึ้น สัตว์ป่าโดยส่วนใหญ่ยังคงตื่นหนีเมื่อได้กลิ่นคน ผมเคยเขียนไว้ในงานบ่อยๆ ว่ามีเพียง “สัตว์ป่วย” เท่านั้นจะเข้าโจมตีหรือทำให้คนเกิดอันตราย

ปัญหาเดิมๆ ที่เราพูดกันบ่อยๆ แหล่งอาศัยของสัตว์ป่าถูกบุกรุก เส้นทางหากินโดนตัดขาด ตัวพวกมันเองถูกไล่ล่าเพื่อเอาอวัยวะหรือตัวเป็นๆ รวมทั้งการเพิ่มความตึงเครียดให้พวกมันไม่ว่าจะเป็นเสียงรบกวนจากยวดยาน

เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นย่อมไม่ใช่การ “เอาคืน” แต่คือการที่ชีวิตหนึ่งหันมาต่อสู้เมื่อถูกต้อนกระทั่งจนมุม การทำงานกับสัตว์ป่าไม่เคยง่ายและคล้ายจะยากยิ่งขึ้นเมื่อพวกมันเพิ่มความไม่ไว้วางใจที่มีต่อคน

ผมเริ่มงานในป่าโดยมี “พี่เลี้ยง” เช่นกัน ย้อนกลับไปถึงสมัยเป็นเด็กเล็กๆ ผมมีน้าชายคนหนึ่งพาเข้าป่าจนกระทั่งโตขึ้นเริ่มดูนกอย่างเอาจริง ผมก็มีเหล่านักดูนกรุ่นพี่ๆ หลายคนเป็นคล้ายพี่เลี้ยงซึ่งคอยแนะนำ

เมื่อเริ่มอยู่ในป่านานขึ้น การอยู่ในป่ากลายเป็นอาชีพ ผมเริ่มถ่ายรูปด้วยการถ่ายนกน้ำที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด ที่นี่ผมมีพี่เลี้ยงชื่อพนม ที่คนดูนกและคนถ่ายรูปนกรู้จักดี

พี่พนม น้าพนม หรือลุงพนม ของใครๆ เติบโตมากับบึงน้ำ รู้จักชีวิตต่างๆ ในบึงเป็นอย่างดี เขาสอนให้ผมรู้จักนิสัยของนกชนิดต่างๆ รู้วิธีการขับเรือและหันให้ตรงทิศทางเหมาะสมกับการถ่ายรูป

การได้ร่วมงานกับนักวิจัยหลายคนทำให้เขารู้ระยะเวลาการฟักไข่ของนก

รู้ว่าราวๆ วันไหนลูกนกจะฟักออกจากไข่ เขาจะทำซุ้มบังไพรเป็นห้างเล็กๆ อยู่กลางบึงน้ำ เช้ามืดขับเรือไปส่งและเย็นๆ มารับ

ผมได้งานในบึงน้ำค่อนข้างดีและเติบโตพอที่จะมุ่งหน้าเข้าป่าลึก


ราวๆ ปี พ.ศ.2529 ผมเริ่มเข้าไปทำงานแถวป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้ง ที่นี่ผมพบกับลุงสังวาลย์ พิทักษ์ป่าที่อยู่ในวัย 50 กลางๆ

วันนั้นการพบเห็นนกยูงไทยไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างเช่นทุกวันนี้ ลุงสังวาลย์พาผมเดินสำรวจไปตามหาดทรายริมๆ ห้วย เราพบรอยตีนนกยูงและรอยย่ำเป็นวงกลม

“ตรงนี้เป็นอาณาเขตของตัวผู้ มันจะลงมารำแพนอวดตัวเมียที่นี่” ลุงสังวาลย์บอก

“ไปตั้งซุ้มตรงโน้นใต้ต้นมะเดื่อโน่น” หลังจากเดินดูรอบๆ สักพักลุงสังวาลย์แนะนำ

“นกยูงมันตาดี หูดี จมูกก็ดีต้องระวังมากๆ” ผมหากิ่งไม้ที่มีใบทึบมาทำซุ้ม

“ไปเอาจากที่ไกลๆ นะ ตรงรอยปิดนั่นเอาดินปิดทับไว้ด้วย” ลุงสังวาลย์สั่ง ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ นั้นสัตว์ป่าสังเกตได้

ทำซุ้มบังไพรเสร็จเราเดินกลับหน่วยพิทักษ์ป่า

“พรุ่งนี้ออกจากหน่วยตั้งแต่ตี 4 นะ มาถึงที่นี่เข้าซุ้มก่อนสว่าง” ลุงสังวาลย์สั่ง

รุ่งเช้า สังวร ลูกชายลุงสังวาลย์มาปลุกผมตั้งแต่ตีสามครึ่ง เขาเดินไปส่งผมและเดินกลับ พลบค่ำถึงจะไปรับ

เป็นงานแรกที่ผมต้องใช้เวลาอยู่ในซุ้มบังไพรแคบๆ เพียงลำพังกว่าสิบชั่วโมง ผมได้ภาพนกยูงอย่างที่ตั้งใจและได้รับประสบการณ์ที่คิดว่าอาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตทำงาน คือภาพเสือดาวไล่ล่าลิงแสมโดยออกจากซุ้มวิ่งไล่ตามทั้งคู่ไป

สังวรมารับตอนค่ำ ผมเล่าให้เขาฟังว่าพบอะไร เขาทำหน้าแบบไม่เชื่อนัก โดยคำแนะนำของลุงสังวาลย์ผมได้รับประสบการณ์ที่ดี

 

ตลอดเวลาการทำงานในป่า สำหรับผมการมีคู่หูซึ่งรู้ใจสักคนคือเรื่องที่ดี

คู่หูว่าตามจริงคือพี่เลี้ยง ซึ่งจะคอยดูแลเป็นเพื่อนร่วมเผชิญเหตุการณ์ต่างๆ ร่วมกัน ความจริงอีกประการที่ผมพบคือ ไม่ว่าจะได้คู่หู เป็นใคร อาวุโสมากๆ หรือเป็นเพียงชายหนุ่มเชื้อชาติใด ไทยหรือกะเหรี่ยง ทุกคนจะมีทักษะการใช้ชีวิตในป่า “เหนือ” กว่าผมมาก

มัสบูด หะแว ชายหนุ่มบ้านตะโหนด ผู้ร่วมในโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกส่วนภาคใต้ ทำให้ผมรู้สึกเงอะงะงุ่มง่ามไปถนัดใจ เมื่อตามเขาไต่ไปบนขอนไม้ข้ามลำห้วยหรือช่องเขารวมทั้งเวลาปีนขึ้นต้นไม้เพื่อไปดูโพรงของนกเงือก

เช่นเดียวกับ อดิเทพ คู่หูวัยเดียวกัน ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก วราผ่อ ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก นั่นอีกคน เขาหยิบจับสิ่งต่างๆ มาทำโน่นทำนี่อย่างคล่องแคล่ว ตรวจสอบร่องรอยต่างๆ รอยตีนสัตว์ป่าอย่างแม่นยำ

นอกจากความคล่องแคล่วอีกส่วนหนึ่งที่ผมพบคือ แววตาอันห่วงใยของเหล่าพี่เลี้ยง ที่มักหันมามองอย่างห่วงใย เวลาเดินหนักๆ หรือต้องไต่ขึ้นสันเขาชันๆ

ครั้งหนึ่งผมวิ่งหลบช้างที่พุ่งเข้าใส่พร้อมกับอ่อนสา ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง

อ่อนสาช่วยให้ผมได้รู้จักเสือมากขึ้น เขาพาผมไปให้เห็นว่าเสือเมื่อแยกตัวออกไปอยู่ลำพังตามวิถี ไม่มีแม่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล

ชีวิตของพวกมันยากเพียงไร


ลูกช้างมีความจำเป็นต้องพึ่งพี่เลี้ยงจนกว่ามันจะโตพอ

พี่เลี้ยงมีหน้าที่ปกป้องดูแล พร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลก ช้างตัวหนึ่งทำหน้าที่ของมัน หน้าที่อันทำให้เกิดความเศร้าระทมของทุกชีวิต

อีกทั้งเมื่อมองย้อนกลับไปถึงสาเหตุอันทำให้เกิดเหตุปะทะระหว่างช้างกับคน ดูคล้ายจะเป็นเรื่องเศร้าระทมมากยิ่งขึ้น