อิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา ในธรรมศาสตร์ (1) /มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษา

ในธรรมศาสตร์ (1)

 

เนื่องจากโลกมุสลิมซึ่งมีประชากรรวมกัน 1.6 พันล้านคนทั่วโลก เป็นโลกที่มีความหลากหลายและมีส่วนร่วมอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยและเป็นโลกที่นับถือศาสนาอิสลาม

ดังนั้น การทำความเข้าใจและศึกษาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม (Islamic Studies) และผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามที่เรียกว่าชาวมุสลิม (Muslim Studies) จึงได้รับการบรรจุเข้ามาในแวดวงการศึกษา ทั้งในทุกระดับของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ทางการทูตต่อไป

ทั้งนี้ มีวิชาที่เกี่ยวข้องกับอิสลามศึกษาและมุสลิมศึกษาอยู่อย่างหลากหลาย

 

เช่น วิชา PD 347 มุสลิมในอินเดีย (Muslim in India) เป็นอีกหนึ่งวิชาที่เปิดสอนอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (Pridi Banomyong International College)

สาขาอินเดียศึกษา (Indian Studies) ซึ่งนักศึกษาสายสังคมศาสตร์ที่ใช้ภาษาอังกฤษจากทุกสาขาที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยสามารถเลือกเรียนวิชานี้ได้

เนื้อหาที่มีความเป็นมุสลิมศึกษา (Muslim Studies) นี้จะมุ่งไปที่ปฏิสัมพันธ์ของชาวอาหรับ-อินเดีย การเข้ามาของชาวมุสลิมในอินเดีย ระบบสุลต่าน (สุลฏอน) ในเดลี (Delhi Sultanate) ราชวงศ์มุคัล (โมกุล) และการแตกสลาย (Mughal Empire and its disintegration) อิทธิพลทางวัฒนธรรมของราชวงศ์มุคัลในชีวิตของชาวอินเดีย การลุกฮือของชาวอินเดียในปี 1857-1858

ชาวมุสลิมภายใต้การปกครองของอังกฤษ ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมและการถือกำเนิดของปากีสถาน โดยมีหัวข้อของการศึกษาดังนี้ การมาถึงของอิสลามในอินเดีย (The Coming of Islam in India) ชุมชนมุสลิมและความหลากหลายของชาวมุสลิม (Muslim Community and its Diversity) ความขัดแย้งฮินดูมุสลิม (Hindu Muslim Conflict) การศึกษาของชาวมุสลิม (Muslim Education) ชนชั้นกลางมุสลิม (Middle Class Muslim) แนวคิดซูฟี (Sufism) ตับลีฆ ญะมาต (Tabligh Jamat) ขบวนการอาลีการ์ (อลิฆัร) (Aligarh Movement) นักปฏิรูปชาวมุสลิม (Muslim Reformers)

การมีส่วนร่วมของชาวมุสลิมในทางการเมืองหลังจากการแยกประเทศ

 

วิชา PD 354 อิสลามในประเทศไทย (Islam in Thailand) วิชานี้เป็นบทนำของอิสลามและลักษณะสำคัญของอิสลามร่วมสมัยในประเทศไทย เป็นการสำรวจแนวทาง ซึ่งชาวมุสลิมมีชีวิตและปฏิบัติศาสนาของพวกเขาในประเทศไทยที่มีชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่

เป็นวิชาเลือกสาขาไทยศึกษา (Thai Studies) ของวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ ทั้งนี้ นักศึกษาที่เลือกวิชานี้ นอกจากจะเป็นนักศึกษาไทยบางส่วนแล้วจะเป็นนักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาจากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ แคลิฟอร์เนียจากสหรัฐ มหาวิทยาลัยอาโอยามะ (Aoyama) จากญี่ปุ่น และอีกหลายมหาวิทยาลัย โดยนักศึกษาเหล่านี้จะมีทั้งที่มาจากลิธัวเนีย ฝรั่งเศส เม็กซิโก สิงคโปร์ บรูไน แคนาดา เกาหลี ฯลฯ

สำหรับเนื้อหาที่สอนก็ได้แก่ พื้นฐานคำสอนของอิสลาม (Basic Tenet of Islam) หลายโฉมหน้าของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Many Faces of Islam in South East Asia) การเข้ามาของอิสลามในประเทศไทย (The Coming of Islam to Thailand) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียในพื้นที่ชายแดน (Thailand and Malaysia Relation on the boreler area) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (Islamic Bank of Thailand)

การแต่งกายในชุมชนมุสลิม (Dress within the Muslim Community) อุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย (Thailand Halal Industry) วัฏจักรชีวิตของชาวมุสลิม (Thai Muslim Life Cycle) สถานะทางเศรษฐกิจของชุมชนมุสลิม (Economic Status of Muslim Community)

ไทยมุสลิมกับโลกมุสลิม (Thai Muslim and Muslim World) สถาปัตยกรรมอิสลามในประเทศไทย (The Architecture of Islam in Thailand) มุสลิมในประเทศไทย การวิเคราะห์ทางภูมิศาสตร์ (Muslim in Thailand : A Geographical Analysis)

โดยมีทัศนศึกษาที่อยุธยาเพื่อเยือนชุมชนชาวมุสลิมและชาวพุทธที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และเยือนดินแดนที่ชัยค์ อะห์มัด กูมี ชาวเปอร์เซียนที่เติบโตในราชการไทยเคยใช้ชีวิตอยู่

ทั้งนี้ เจ้าพระยาเชค อะห์มัดรัตนาราชเศรษฐี เป็นผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นว่าที่สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีฝ่ายเหนือในสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาบวรราชนายก ซึ่งเป็นตำแหน่งจากกระทรวงมหาดไทยในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และยังได้โปรดพระราชทานที่ดินให้ตั้งถิ่นฐานอยู่ภายในบริเวณเกาะเมืองอีกด้วย

นอกจากนี้ เชค อะหมัด ยังเป็นปฐมจุฬาราชมนตรีแห่งกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรมในเวลาเดียวกัน รวมทั้งเยือนโรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิที่มีศิษย์เก่าอยู่ในแวดวงต่างๆ เช่น ตวนกูบีรอ กอตอนีลอ อดีตผู้นำพูโล เสนีย์ มะดากะกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม อดีตสมาชิกวุฒิสภา และเลขาธิการสำนักจุฬามนตรี สามารถ มะลูลีม อดีตสมาชิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฯลฯ

 

สําหรับการเรียนการสอนในคณะรัฐศาสตร์ที่เกี่ยวกับมุสลิมศึกษา ได้แก่ วิชา PO 376 (Middle East Affairs) ในภาคภาษาอังกฤษและความสัมพันธ์และนโยบายต่างประเทศของกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางในภาคภาษาไทย

วิชานี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษานโยบายต่างประเทศของประเทศในตะวันออกกลางหรือเอเชียตะวันตกที่มีบทบาทนำอยู่ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสาธารณรัฐอียิปต์ ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน

ในทางการเมืองและการต่างประเทศพบว่าองค์การสำคัญๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านในตะวันออกกลาง อย่างเช่น เหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) และการถือกำเนิดของรัฐอิสลาม (IS) มีอิทธิพลและมีส่วนกำหนดทิศทางนโยบายต่างประเทศของภูมิภาคนี้อยู่ไม่น้อย

นอกจากนี้ การศึกษาถึงองค์การและขบวนการต่างๆ ในภูมิภาคก็มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจภูมิภาคนี้ด้วยเช่นกัน

องค์การและขบวนการเหล่านี้ได้แก่ ขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ลัทธิผนึกกำลังอิสลาม (Pan Islamism) ลัทธิผนึกกำลังอาหรับ (Pan Arabism) สันนิบาตอาหรับ (Arab League) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation) สภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซีย (Gulf Cooperation Council) ขบวนการสันติภาพตะวันออกกลาง (Middle East Peace Process) ลัทธิอาหรับนิยม (Arabism) นักอิสลามนิยม (Islamism) และอิสลามการเมือง (Political Islam)

ทั้งนี้ หัวข้อการเรียนการสอนจะประกอบไปด้วยภูมิรัฐศาสตร์ของตะวันออกกลาง (Geopolitics of the Middle East) ชุมชนดั้งเดิมชาวทะเลทรายในตะวันออกกลาง (Desert Society in the Middle East) นโยบายต่างประเทศของราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (The Foreign Policy of the Kingdom of Saudi Arabia) นโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐอียิปต์ (The Foreign Policy of the Republic of Egypt) และนโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (The Foreign Policy of Islamic Republic of Iran)

ขบวนการไอเอสในตะวันออกกลางและโลกมุสลิม (The Islamic State (IS) in the Middle East and Muslim World) อาหรับสปริงและตะวันออกกลาง (Arab Spring and the Middle East) สันนิบาติอาหรับและสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เชีย (Arab League and Gulf Cooperation Council) องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation (OIC)

ตะวันออกกลางและการเมืองระหว่างประเทศ (The Middle East and International Politic) อิสลามในตะวันออกกลาง (Islam in the Middle East) นโยบายของสหรัฐอเมริกาและรัสเซียที่มีต่อประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง (US and Russia Policy Towards Middle East region) กระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง (Middle East Peace Process)

ความสัมพันธ์สหรัฐ-อิสราเอล (US-Israel Relations) ก็จะได้รับการศึกษาเราเช่นกัน

 

วิชา IR 695 โลกอาหรับและโลกมุสลิมร่วมสมัย (Contemporary Arab and Muslim World) เป็นการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทภาคภาษาอังกฤษวิชา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) คณะรัฐศาสตร์ เนื้อหาสำคัญอยู่ที่การสำรวจพื้นฐานทางประวัติศาสตร์และความหลากหลายในโลกมุสลิมร่วมสมัย

วิชานี้ยังเกี่ยวข้องกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และความโน้มเอียงในทางอุดมการณ์ โครงสร้างทางสังคม-การเมืองและปัญหาทางสังคม-เศรษฐกิจในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของโลกมุสลิมตั้งแต่ 9/11 ก็จะได้รับการมาวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน

หัวข้อของการศึกษาได้แก่ แง่มุมทางภูมิศาสตร์ของอาหรับและโลกมุสลิม (A Geographical Perspective of Arab and the Muslim World) อิสลามในการเมืองระหว่างประเทศ (Islam in International Politics) อุตสาหกรรมฮาลาลและโลกมุสลิม (Halal Industry and Muslim World)

ภูมิทัศน์ของโลกมุสลิม : เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Landscape of Muslim World : South East Asia) รัฐอิสลาม (ไอเอส) The Islamic State (IS)) ชนกลุ่มน้อยมุสลิมและปัญหาของพวกเขา (โรฮิงญาและอุยกูร์) Muslim Minority and their problems (Rohinya and Uyghur) นโยบายต่อโลกมุสลิมของสหรัฐ-รัสเซีย (US and Russia Policy Towards Muslim World)

ภูมิทัศน์ของโลกมุสลิม : ตะวันออกกลาง (Landscape of Muslim World : Middle East)