การสื่อสารแบบรั่วๆ ของท่านผู้นำ อาจนำไปสู่วิกฤติยิ่งกว่า ? คุยกับ รศ.ดร.นันทนา ผู้นำระดับโลกที่ดีสื่อสารยังไง ?

อาจารย์นันทนาวิพากษ์การสื่อสารแบบรั่วๆ ของท่านผู้นำเทียบผู้นำระดับโลก

 

ชั่วโมงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ถึงภาวะผู้นำในช่วงวิกฤตโควิด

และที่หนักกว่านั้น คือการสื่อสารทางการเมืองที่บกพร่อง ผิดพลาด และรั่วอย่างหนักของผู้นำ

จน พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาขอโทษ

รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองการสื่อสารทางการเมือง ผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามวิกฤตตอนนี้ว่า เราต้องยอมรับว่า คนไทยและทั้งโลกอยู่ในภาวะวิกฤตร่วมกัน ก็คือวิกฤตโควิด หนัก-เบาขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ในภาวะแบบนี้ มันได้พิสูจน์ความเป็นผู้นำได้สามด้าน

ด้านที่หนึ่ง ก็คือด้านของการบริหารจัดการ

ด้านที่สอง คือการสื่อสาร

ด้านที่สาม คือด้านวุฒิภาวะ ถ้าผู้นำคนใดสามารถพิสูจน์ตัวเองว่านำพาองค์กรหรือประเทศชาติให้ก้าวพ้นวิกฤตไปได้ ถือว่าพิสูจน์ตัวเองว่ามีประสิทธิภาพ

แต่เมื่อดูท่านนายกฯ ของเราที่ได้บริหารจัดการและสื่อสารกับประชาชน ในฐานะผู้นำของประเทศ ท่านก็เผชิญกับวิกฤตอันนี้มาปีกว่าแล้ว สิ่งที่ท่านได้บริหารจัดการสื่อสารและวุฒิภาวะของท่านนั้น

ต้องบอกว่าทั้งหมดนี้ท่านสอบตกไม่ผ่านเลย

เรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤต สำคัญมากเพราะคนอยากจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเขา แล้วผู้นำจะนำพาชีวิตของเขาไปอย่างไร

วันที่ท่านนายกฯ แถลง หลายคนตั้งใจรอฟังว่า เดี๋ยวจะมีมาตรการอะไร ปรากฏว่าท่านนายกฯ ออกมาแถลงยืดยาวมาก ที่ไม่ตรงกับที่คนอยากฟังเลย

ท่านมัวแต่ไปพูดอะไรที่มันไม่ตรงประเด็น พูดไปเรื่อยไม่มีจุดมุ่งหมาย พูดๆ ไปมีการดูสคริปต์เป็นบางครั้ง แทนที่คนจะได้สาระที่ท่านนายกฯ อยากจะส่งให้ กลายเป็นว่า ได้อารมณ์ขันจากการที่ท่านพูดภาษาอังกฤษผิด คนก็ขำว่าท่านนายกฯ พูดอะไรก็ไม่รู้

อันนี้คือการสื่อสารที่ล้มเหลวและไม่สามารถที่จะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจขึ้นมาได้เลย

รายละเอียดต่างๆ ที่ท่านนายกฯ พูดเป็นเรื่องที่โฆษกสามารถอธิบายกับประชาชนได้เพราะโฆษก ศบค.ทำหน้าที่ได้ดี พูดจารู้เรื่อง อธิบายประเด็นต่างๆ ได้

แต่ที่ท่านนายกฯ ออกมา คนต้องการมากกว่าคำอธิบายทั่วๆ ไป อันนี้คือไม่ผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารทางการเมือง

รศ.ดร.นันทนาพูดถึงเรื่องวุฒิภาวะ ต้องบอกว่า ท่านนายกฯ เป็นคนที่อารมณ์อ่อนไหวมาก

ท่านสามารถที่จะโมโหตัวเองได้ระหว่างที่พูดไป และท่านก็ฉุนตัวเองคือพูดๆ ไปแล้วก็ฉุนตัวเอง พอท่านขึ้น ท่านก็เริ่มที่จะผรุสวาท หรือใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เริ่มมีการสั่งสอนว่ากล่าวตักเตือนคนนั้นคนนี้ไปเรื่อย

แต่เวลาอารมณ์ดีก็หยอกล้อเกินเหตุ เอาสเปรย์ไปฉีดคนโน้นคนนี้ ขว้างของ

อันนี้ไม่ใช่ภาวะผู้นำ

วุฒิภาวะของผู้นำต้องควบคุมอารมณ์ได้ทั้งในภาวะที่ดีใจมากที่สุดและเสียใจมากที่สุด สะเทือนใจต้องควบคุมได้ ต้องสามารถที่จะทำให้ตัวเองอยู่ในภาวะที่ทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจ

เพราะถ้าเผื่อว่าเกิดภาวะวิกฤตขึ้นมาแล้วท่านผู้นำเกิดฟูมฟายร้องห่มร้องไห้แล้วรู้สึกเศร้าสะเทือนใจจนกระทั่งแบบควบคุมอารมณ์ไม่ได้ คุณก็จะรู้สึกแย่เพราะขนาดท่านผู้นำขนาดนี้แล้วผู้ตามจะขนาดไหน

อันนี้ก็คือบทพิสูจน์ที่ท่านนายกฯ ไม่ผ่านในฐานะผู้นำ

 

เมื่อถามถึงคะแนนเกี่ยวกับการสื่อสารทางการเมืองของนายกฯ ตั้งแต่มีการระบาดโควิด-19 รอบแรก จนถึงตอนนี้ รศ.ดร.นันทนามองว่า จริงๆ แล้วช่วงแรกๆ ที่ท่านนายกฯ เผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ได้เห็นท่านนายกฯ เวลาออกสื่อแล้ว ออกมาแถลงการณ์สั้นๆ ประมาณ 15-20 นาทีเหมือนกับท่านอ่านตามสคริปต์ มีคนเขียนสคริปต์ให้ แล้วในนั้นก็กระชับ แม้ว่าสาระหลักๆ เราจะไม่ได้เห็นมากเท่าไหร่ ก็ไม่มีอะไรที่เลื่อนลอย มีประเด็นและควบคุมเวลา ช่วงนั้นจะเห็นว่าการสื่อสารของท่านดีขึ้น

ช่วงแรกน่าจะให้คะแนนท่าน 5-6 จาก 10

แต่ช่วงหลังๆ มาดูเหมือนว่าท่านจะควบคุมอะไรไม่ได้เลย ท่านตื่นตระหนกเองมากกว่าคนไทยที่รอฟังท่านอยู่ ท่านเลยพูดผิดพูดถูก พูดไม่ตรงประเด็น พูดเรื่อยเปื่อย อันนี้น่าจะได้ประมาณ 2-3 คะแนน

เมื่อถามว่าการใช้ภาษาของนายกฯ เป็นอย่างไร?

รศ.ดร.นันทนาบอกว่า คือจริงๆ แล้วท่านนายกฯ เป็นคนพูดเยอะ พูดเร็ว พูดไปเรื่อยจนทำให้เราเองก็ฟังไม่รู้เรื่องว่าท่านพูดอะไร จับประเด็นได้ยาก แล้วท่านก็เป็นคนพูดหลากหลายประเด็นในเวลาเดียวกัน นึกอะไรออกก็พูดๆ

การที่ท่านพูดแล้ววันรุ่งขึ้นท่านก็ออกมาขอโทษ คนก็เลยไม่ค่อยจริงจังกับสิ่งที่ท่านพูด

แต่คนส่วนใหญ่ไปจ้องดูว่าเมื่อไหร่ท่านจะพูดภาษาอังกฤษ

รศ.ดร.นันทนามีการยกตัวอย่างผู้นำที่มีการสื่อสารที่ดี คือจริงๆ แล้วในช่วงวิกฤตโควิด-19 มีผู้นำหลายท่านที่ใช้การสื่อสารทางการเมืองคลี่คลายวิกฤตได้และก็ได้รับการยกย่อง ก็คือ ลี เซียน ลุง ผู้นำสิงคโปร์ เป็นคนที่ออกมาพูดในช่วงที่สิงคโปร์เริ่มระบาดใหม่ๆ แล้วคนตื่นตระหนก ตุนของกัน เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถมีชีวิตอยู่รอดได้

ปรากฏว่านายกฯ ลี เซียน ลุง ใช้การกล่าวสุนทรพจน์ 9 นาที เพื่อทำให้ทุกอย่างคลี่คลาย

โดยออกมากล่าวกับคนสิงคโปร์ เน้นไปเลยว่าอย่าให้ความหวาดกลัวมันทำร้ายเรามากกว่าเชื้อโควิด

หมายความว่าความหวาดกลัวถ้าเราตื่นตระหนกมากมันจะทำร้ายเรามากกว่าโควิดอีก แค่นี้แหละ คนก็คิดว่าตื่นตระหนกมากไปหรือเปล่า?

นายกฯ ลี เซียน ลุง อธิบายด้วยว่าเชื้อโควิดมันไม่ได้รุนแรงเหมือนซาร์สนะ ซาร์สถ้าติดแล้วตาย แต่โควิดติดแล้วรักษาหายได้ รัฐบาลจะดูแลไม่ต้องเป็นห่วง

9 นาทีคนสิงคโปร์คลายกังวลเลิกตุนของ ทุกอย่างกลับไปในภาวะปกติ และก็ดูแลตัวเอง WHO องค์การอนามัยโลกออกมาชื่นชมว่าเป็นผู้นำที่สื่อสารแล้วคลี่คลายวิกฤตได้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่นิวซีแลนด์ “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกฯ นิวซีแลนด์ ผู้หญิงที่แกร่งเก่งแต่ไม่ก้าวร้าว พอเกิดภาวะโควิดขึ้นมาเขาแค่บอกกับคนเขาว่า รัฐบาลจะปกป้องประชาชนทุกคน แค่นั้นแหละคนนิวซีแลนด์ก็มั่นใจและก็ให้ความร่วมมือ ไม่ต้องพูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดพล่าม แต่ยืนอยู่ข้างประชาชน รู้สึกว่านายกฯ เป็นคนที่เขาพึ่งพาได้ เชื่อถือได้ ก็คลี่คลายวิกฤตไปได้โดยไม่ต้องสื่อสารเยอะแยะ

นี่คือสองตัวอย่างที่ผู้นำไทยควรจะไปดู

 

รศ.ดร.นันทนาย้ำว่า ในเรื่องของการสื่อสารทางการเมืองมันเป็นศาสตร์ที่มีพลังในการขับเคลื่อนประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ท่านสามารถที่จะสื่อสารแล้วก่อให้เกิดความขัดแย้ง วิวาทแล้วแตกแยกกันได้ทันที

เป็นอุทาหรณ์ให้บรรดานักการเมืองผู้ที่มีตำแหน่งต้องให้ความสำคัญเรื่องของการสื่อสารทางการเมืองเป็นพลังที่จะขับเคลื่อนประเทศในเชิงบวกได้

ถ้าคิดว่าสื่อสารออกมาแล้วไม่เป็นประโยชน์ อย่าทำ ไม่ต้องสื่อสาร ถ้าไม่พร้อมก็อย่าพูด ถ้าพูดต้องพร้อม พูดแล้วประชาชนต้องได้ประโยชน์ เพราะว่าคำพูดท่านจะไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน

รศ.ดร.นันทนาสรุปว่า การสื่อสารทางการเมืองเหมือนเส้นใยประสาท หมายความว่าเราต้องสื่อสารทั้งกับประชาชนแล้วก็กับตัวองค์กรทางการเมืองด้วยกันเอง มันมีความสำคัญมาก เราสามารถที่จะใช้พลังของมันในการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ไปได้ เพราะฉะนั้น ตรงนี้มันจึงเป็นศาสตร์สำหรับผู้นำที่คิดว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาวะวิกฤต ผู้นำจะต้องสื่อสารยังไง?

อย่างแรก คือรวดเร็วให้ทันกาล ถ้าเผื่อว่าในสถานการณ์ที่ต้องการสื่อสาร ตรงนั้นก็ต้องฉับพลันทันทีที่จะออกมา

อันที่สองเลยก็คือข้อมูลต้องครบถ้วนถูกต้อง ถ้าผู้นำที่พูดแล้วมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงความน่าเชื่อถือจะไม่เกิด ฉะนั้นต้องถูกต้อง

อันที่สาม คือต้องชัดเจน พูดแล้วกำกวม ไม่แน่ใจ ไม่ชัดเจน ตกลงจะให้ไปทิศทางไหน ให้ไปตีความกันเอง เราไม่ใช่นักปราชญ์ เราเป็นนักการเมือง สิ่งที่ประชาชนต้องการคือความชัดเจน อย่าพูดกำกวมไปตีความเอาเอง

อันที่สี่ ในภาวะวิกฤตเราต้องจับความรู้สึกของคนให้ได้ว่าเขามีความตื่นตระหนก ไม่อยู่ในภาวะปกติ ต้องอ่านใจเขาให้ได้ว่าต้องการอะไร ตอบประเด็นตรงนั้นให้ได้ จะพูดอะไรเพ้อเจ้อไม่ได้ ต้องคุมประเด็น ตอบประเด็นคำถามให้ตรงกับใจเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ

“ถ้าเป็นผู้นำแล้วคำพูดของผู้นำไม่มีความหมาย แปลว่าต่อจากนี้ผู้นำขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ คนไม่เชื่อถือในสิ่งที่ท่านสื่อสารออกไปอันตรายมาก”