ภาพยนตร์ : THE SERPENT ‘อสรพิษ’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

THE SERPENT

‘อสรพิษ’

 

กำกับการแสดง

Hans Herbots , Tom Shankland

 

นำแสดง

Tahar Rahim

Billy Howle

Jenna Coleman

Amesh Edireweera

Ellie Bamber

Tim McInnerny

 

 

ฉายา “อสรพิษ” หรือ The Serpent เป็นชื่อเรียกสำหรับชายลูกครึ่งอินเดีย-เวียดนาม ที่มีชื่อตามกำเนิดว่า ชาร์ลส์ โสภราช

แต่ในชั่วชีวิตของเขา เขาใช้ชื่ออื่นๆ หลายสิบชื่อ โดยปลอมแปลงตัวตนด้วยพาสปอร์ตหลายสิบเล่มของเหยื่อที่เขาต้มตุ๋น ขโมย หรือกำจัดให้พ้นทาง

เรื่องราวของหนังบอกว่า ชาร์ลส์ โสภราช (ทาฮาร์ ราฮิม) ทำมาหากินอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยมีนิวาสสถานอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ชื่อบ้านคณิต ถนนบันเทิง ในย่านพัฒน์พงศ์ ในช่วงทศวรรษ 1970 โดยใช้ชื่อในสัญชาติฝรั่งเศสว่า อาแลง กอติเยร์ และมีผู้ร่วมทีมต้มตุ๋นเป็นสาวชาวแคนาดา ที่เขาแนะนำว่าเป็นภรรยา ชื่อโมนิก (เจนนา โคลแมน)

ลูกน้องอีกคนในทีมที่มือเปื้อนเลือดพอๆ กับโสภราช เป็นชายชาวอินเดีย ชื่ออาเจย์ เชาดูรี (อาเมช เอดิเรวีรา)… ปัจจุบันสาบสูญไปจากโลกใบนี้

ไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร

 

พ่อของโสภราชเป็นชาวอินเดีย และแม่เป็นชาวเวียดนาม ทั้งสองหย่าร้างกันตั้งแต่ชาร์ลส์ยังเล็ก

แม่ของเขาแต่งงานใหม่กับนายทหารชาวฝรั่งเศส และย้ายไปอยู่ปารีส แต่ชาร์ลส์ไม่เคยรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และระเห็จออกมาต่อสู้ชีวิตตามลำพังด้วยลำแข้งตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย

และเขามีปมด้อยว่าลูกครึ่งเอเชียอย่างเขาไม่มีวันได้รับโอกาสและการยอมรับเท่าเทียมในแง่ของการงานและสังคมเหมือนคนผิวขาว เขาจึงเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดในโลกด้วยการคดโกง ปลิ้นปล้อน ขโมย และฆ่าเหยื่อโดยไม่มีหิริโอตตัปปะมาโดยตลอด

เนื่องจากโสภราชมองหาเหยื่อในหมู่นักท่องเที่ยวประเภทแบกเป้ท่องไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปเอเชียซึ่งกำลังเป็นจุดหมายปลายทางที่นิยมในเวลานั้น

อาชญากรรมที่เขาก่อจึงรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายมาได้นานนับสิบปี

 

จวบจนนักการทูตในสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ชื่อเฮอร์แมน คนิปเปนเบิร์ก (บิลลี่ ฮาวล์) เริ่มสืบสาวคดีฆาตกรรมสองศพของหนุ่มสาวชาวดัตช์สองคนที่ถูกฆ่าและเผาโดยไร้ร่องรอย และเป็นคดีที่ไม่มีใครสนใจจะสืบสาวราวเรื่องต่อ

สถานทูตก็เกี่ยงให้เป็นหน้าที่ของตำรวจไทย ส่วนตำรวจไทยก็ไม่มีกำลังคนพอจะลงไปทำคดีแบบนี้ และปัดให้คนิปเปนเบิร์กทำหากสนใจจะติดตามเรื่อง

คนิปเปนเบิร์กไม่อาจเมินเฉยต่อความตายอย่างน่าอนาถของเพื่อนร่วมชาติสองคน เขาจึงเริ่มสืบสาวไปถึงตัวพ่อค้าพลอยนานาชาติคนนี้ และไปเจอเข้ากับเรื่องราวการฉ้อฉล ปลอมแปลง และฆาตกรรมอีกหลายรายทั่วทั้งเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้

ซึ่งเรียกกันว่าเป็น “เส้นทางของพวกฮิปปี้”

 

การสืบสวนของคนิปเปนเบิร์กนั้นไม่ได้มีหน่วยงานใดรองรับเลย แม้แต่เจ้านายของเขาก็ห้ามไม่ให้เขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย แต่เขาก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นส่วนตัวจากเพื่อนชาวเบลเยียมที่รู้สายสนกลในดีพอควร รวมทั้งคู่สามี-ภรรยาชาวฝรั่งเศสที่ได้ล่วงรู้ในสิ่งที่ไม่ควรจะได้รู้ด้วย

และเมื่อรวบรวมหลักฐานจนปักใจเชื่อได้ เขาก็ยังไม่รู้จะไปต่อได้ยังไง และอับจนหนทางที่จะเดินเรื่องต่อ ในที่สุดจึงตัดสินใจปล่อยข่าวให้สื่อมวลชนเพื่อให้เล่นเรื่องนี้แทน

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กลายมามีบทบาทสำคัญในการทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก รวมทั้งตำรวจสากลหรือ “อินเตอร์โพล” ที่มีเครือข่ายทั่วโลกและมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับบางประเทศ

หลังจากหลบหนีการจับกุมอยู่นาน โสภราชก็ถูกจับได้ในที่สุดที่ประเทศอินเดียด้วยข้อหาร้ายแรงในการวางยานักท่องเที่ยวถึง 30 คน อินเดียไม่ยอมปล่อยตัวมาให้ดำเนินคดีในไทยจนกว่าจะพ้นโทษในประเทศ

และโสภราชก็รู้แกวว่าข้อหาที่เขาต้องเจอในไทยนั้นเป็นคดีอุกฉกรรจ์ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิต เขาจึงใช้เล่ห์กลทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองยังติดคุกอยู่ในอินเดียจนพ้นอายุความของคดีในเมืองไทย

 

หนังเดินเรื่องด้วยเหตุการณ์ในทศวรรษ 1970 เป็นหลัก และใช้แฟลชแบ็ก-แฟลชฟอร์เวิร์ดสลับไปมาเพื่อเล่าเรื่องราวในมุมต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตของโสภราช ถ้าไม่จับตาดูวันเวลาที่ขึ้นจอเพียงแว่บเดียวให้ดีๆ บางทีก็ออกจะสับสนเหมือนกัน

เหตุการณ์ในหนังเกิดขึ้นในไทยในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นส่วนใหญ่ค่ะ

ถ้าไม่นับตัวประกอบมากมายที่เดินผ่านฉาก ก็ยังมีนักแสดงไทยร่วมเล่นด้วยหลายคน รวมทั้งชิชา อมาตยกุล ในบท “สุดา” แฟนสาวคนไทยของโสภราช สุรศักดิ์ ชัยอรรถ ในบทพ่อของสุดา และธีรภัทร์ สัจจกุล ในบท พ.ท.สมพลแห่งอินเตอร์โพล ประเทศไทย

ภรรยาคนสวย (เอลลี่ แบมเบอร์) ของคนิปเปนเบิร์ก เป็นผู้ช่วยสามี คอยขับรถให้และเป็นล่ามพูดไทยให้สามี แต่จะเรียกว่าพูดไทยคงไม่ได้ เพราะเหมือนฝรั่งท่องภาษาไทยเป็นนกแก้วนกขุนทองจนฟังแทบไม่ออกว่าพูดอะไร คนไทยดูอยู่คงหงุดหงิดในจุดนี้ค่ะ

ยังมีอีกหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีที่คนไทยจะไม่ทำในที่สาธารณะเลย ถ้าไม่พูดถึงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกว่าห้าสิบปีมาแล้ว การจราจรบนท้องถนนยังคงรถติดเป็นบ้าเป็นหลัง ซึ่งเป็นสัจธรรมของกรุงเทพฯ เมื่อห้าสิบปีก่อน เท่าๆ กับปัจจุบัน

 

มีภาพสวยๆ ที่จับตาในหลายๆ จุด ที่อดพูดถึงไม่ได้ คือบ้านในกรุงเทพฯ ของเลขานุการตรี ของสถานทูตเนเธอร์แลนด์ เป็นเรือนไทยที่สวยเหลือเกิน และมีบริเวณร่มรื่นและรื่นรมย์ พร้อมด้วยสระบัวบานสะพรั่ง ซึ่งใช้เป็นจุดแสดงให้เห็นภาวะจิตใจของตัวละครเอกตัวหนึ่ง (ออกจะเว่อร์ไปหน่อย)

และการถ่ายทำหลายฉากก็เป็นฉากกลางคืน ซึ่งเปิดไฟให้สวยงามเปี่ยมด้วยมนต์เสน่ห์แบบตะวันออกอันชวนหลงใหล

นี่ถ้าบอกว่าเป็นบ้านเอกอัครราชทูตก็คงไม่นึกอางขนางเท่านี้หรอก

หลังจากดูหนังจบ เลยลองกูเกิลหา “ชาร์ลส์ โสภราช” ดู เฮ้อ…เป็นเรื่องจริงแบบไม่อิงนิยายเสียด้วย สำหรับ “อสรพิษ” ผู้อำมหิต ลื่นไหล ทำตัวเนียนไปกับทุกสถานการณ์ และหลบหนีเงื้อมมือกฎหมายและความยุติธรรมจนเกือบทั้งชีวิต จนกลายเป็นคนอหังการผู้เชื่อว่ากฎหมายทำอะไรเขาไม่ได้

แต่เขาก็ไม่ได้มีตอนจบที่ดีนักหรอกค่ะ อย่ากลัวไปเลย…

อ้อ…อย่านำหนังเรื่องนี้ไปสับสนกับหนังอเมริกันชื่อเดียวกันที่ออกฉายในโรงเมื่อปีที่แล้วนะคะ The Serpent ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้เป็นหนังมินิซีรีส์ความยาวแปดตอน

หาชมได้ง่ายที่สุดทางเน็ตฟลิกซ์ค่ะ