หลังเลนส์ในดงลึก : ‘ต้นทาง’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - การแยกเขี้ยว ส่งเสียงคำราม ดวงตาแข็งกร้าว คือการเตือนถึงระยะที่ไม่ควรเข้าใกล้กว่านี้ โดยปกติเสือไม่ใช่สัตว์ที่จะเข้าโจมตีทันทีที่พบเห็นคน

 

‘ต้นทาง’

 

สัตว์ป่าสอนสิ่งสำคัญสำหรับการใช้ชีวิต อันทำให้ผมพอเข้าใจหลายอย่าง

อย่างหนึ่ง คือเรื่องของความสูญเสีย

พวกมันทำให้ดูเสมอๆ ว่า เมื่อสูญเสีย พวกมันไม่เสียเวลาอยู่กับการคร่ำครวญ แม่กวางเข้ามาดูลูกซึ่งสิ้นใจเพราะหมาไน นักล่าผู้มีประสิทธิภาพ เพียงชั่วครู่ก็เดินจากไปเงียบๆ

นกหลายๆ ชนิดเสียลูกหรือไข่ในรัง ไม่ว่าจะเพราะงู, หมาไม้, ตะกวด, เหยี่ยว หรือสัตว์ผู้ล่าอื่นๆ มันจะบินวนเวียนร้องเสียงดังราวกับเสียใจ เพียงชั่วครู่ และหากยังไม่หมดช่วงฤดูกาลอันเหมาะสม พวกมันจะเร่งวางไข่ชุดใหม่

ผมดู รับรู้สิ่งที่พวกมันกระทำ

เริ่มต้นใหม่ นึกถึงวันพรุ่งนี้ ปล่อยให้เรื่องเมื่อวานผ่านไป

กระนั้นก็เถอะ ในฐานะที่เป็นแค่คนคนหนึ่ง หากเทียบกับชีวิตอื่นๆ ในป่าแล้ว ผมเป็นชีวิตซึ่งอ่อนด้อยและอ่อนแอ มีบ่อน้ำตาที่ตื้นเขินเป็นคุณสมบัติประจำตัว

หลายครั้งที่พยายามใช้สิ่งอันได้เรียนรู้ในเรื่องความสูญเสียมาปฏิบัติ แต่ดูเหมือนจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

 

ผมอยู่ในแคมป์กับผู้ช่วยนักวิจัย โครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง เราอยู่ที่นี่ในภารกิจติดตามสัญญาณจากเครื่องส่งซึ่งอยู่ในปลอกคอที่สวมไว้กับเสือโคร่งตัวเมียตัวหนึ่งมาแล้วหลายวัน

8 โมงเช้าวันนั้น เสียงวิทยุสื่อสารจากสถานีแม่ข่ายเรียกมา เขาแจ้งให้ไปที่ช่องความถี่ที่ได้นัดหมาย และส่งข้อความว่า ชุดลาดตระเวนพบซากเสือโคร่ง 3 ตัวในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้าไปราว 6 ชั่วโมง คาดว่าซากตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 วัน ให้เราตามเข้าไปสมทบกับนักวิจัย, สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่จะมาทางเฮลิคอปเตอร์ เพื่อความรวดเร็ว

“คงเป็นแม่เสือกับลูกๆ แน่ครับ” อ่อนสา ทำงานเรื่องเสือกับนักวิจัยมานาน วิเคราะห์

นักวิจัยพบว่าการอยู่ร่วมกันของเสือมากกว่าหนึ่งตัว จะเป็นแม่และลูกที่ยังไม่แยกไป

หรือในช่วงผสมพันธุ์ ซึ่งจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ

เราหยุดงานที่กำลังทำ ออกเดินทาง เริ่มจากใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อบนหนทางขรุขระ รกทึบ ไปจนหนทางสิ้นสุด พักค้างคืนริมลำห้วย และออกเดินตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง

ก่อนเที่ยง เราถึงจุดหมาย พบชุดลาดตระเวนที่นั่น

“ซากสองตัวอยู่ทางโน้นครับ”

ประสงค์ หัวหน้าชุดลาดตระเวน ใบหน้าและเสื้อผ้าขะมุกขะมอม ท่าทางอิดโรยบอก พลางพาเดินไปตามด่านเล็กๆ

ใต้ต้นไม้แห้งๆ ไร้ใบ ซากเสือโคร่งตัวย่อมๆ ตัวหนึ่งนอนเหยียดยาว หัวซุกอยู่ใต้โคนต้นไม้ หนอนตัวโตไต่ยั้วเยี้ย กลิ่นเหม็นรุนแรง

เสืออายุราว 7 เดือน ฟันน้ำนมยังอยู่ครบ

ห่างออกไปสัก 6 เมตร มีเสือตัวขนาดเท่าๆ กันนอนอยู่ สภาพซากเหมือนๆ กัน

“มีอีกซาก อยู่ด้านบนครับ” ประสงค์เดินนำไปดูอีกซาก

ซากตัวเมีย มีขนาดโตเต็มวัย เป็นเสือตัวที่เป็นแม่

พวกมันสิ้นใจเพราะกินอาหารที่มียาพิษยัดไว้ข้างใน ในเวลาใกล้เคียง สิ่งที่เหมือนกันคือ รอบๆ ซากมีรอยดิ้นรน ต้นไม้เล็กๆ มีรอยกัด

ก่อนสิ้นใจ พวกมันดิ้นทุรนทุราย

ผมนั่งลง กลิ่นจากซากทุเลาเมื่อคุ้นชิน

หันหลังให้คนอื่นๆ ก้มหน้า พยายามกลั้นเสียงสะอื้น และหยดน้ำตา

 

ก่อนหน้า 8 วัน ทีมวางกล้องดักถ่ายภาพเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่ง กำลังทำงานในจุดสุดท้ายของตำแหน่งตั้งกล้อง พวกเขาพบซากเก้งถูกฆ่า มียาพิษเคลือบไว้ตามตัว จึงเผาทำลายซาก

ขณะเดินกลับแคมป์ พวกเขาพบคน 3 คนเดินสวนมา หนึ่งในสามยกปืนขึ้นเล็งมา พวกเขาหลบหลังก้อนหิน ไม่มีการยิง สามคนนั่นหลบไปเช่นกัน

พวกเขาแจ้งไปทางสำนักงานเขต หัวหน้าเขตจัดชุดลาดตระเวนเดินทางมาทันทีในคืนนั้น

คนลักลอบฆ่าสัตว์ หลบหนีไปแล้ว

แต่ซากเหยื่อที่พวกเขายัดยาพิษไว้ข้างใน ทำงานอย่างได้ผล

 

การล่าเสือโดยฆ่าสัตว์ที่เป็นเหยื่อ แล้วเอายาพิษยัดไว้ข้างในเกิดขึ้นอีกครั้ง หลัง 20 ปีก่อน วิธีการนี้ทำให้แร้งฝูงสุดท้ายตาย และเรียกได้ว่า สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย

“ถึงวันนี้ เสือโคร่งเป็นสินค้าซึ่งมีความต้องการสูงสุดในบรรดาสัตว์ป่าด้วยกัน” ดร.เดวิด สมิธ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา ผู้เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง เคยบอกผม

แน่นอนว่า ไม่ใช่เสือที่มีชีวิต

“พื้นที่ซึ่งมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ ต่างก็พบกับปัญหาการลักลอบเข้าไปล่าเสือทั้งนั้น” เดฟบอกตอนเรานั่งข้างกองไฟ

“ที่รัสเซีย สถานการณ์น่าห่วง ทั้งๆ ที่มีหลายหน่วยงานเข้าไปช่วยดูแล แต่เสือก็ยังถูกล่า” ผมฟังอย่างตั้งใจ

“ที่อินเดีย แม้บางพื้นที่จะฟื้นฟูประชากรเสือให้เพิ่มขึ้นได้ และกฎหมายค่อนข้างเอื้อให้คนทำงานในป่า ก็ยังไม่หลุดพ้นจากปัญหานี้” ด้วยงานทำให้เขาต้องเดินทางไปทุกแหล่งที่มีเสือ

“ความเชื่อเรื่องการใช้ชิ้นส่วนสัตว์ป่าเข้าเครื่องยา รักษาโรค หรือเพื่อบำรุงกำลัง ไม่เคยหมดไปเลย” เขาพูดถึงปัญหาเดิมๆ

 

เฮลิคอปเตอร์มาถึง เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ตรวจสอบซากอย่างละเอียด

ฮ.ยกตัวขึ้นพร้อมกับซากเสือ ฝุ่นฟุ้งกระจาย

ผมเดินไปริมลำห้วยกับทีมลาดตระเวน เพื่อกินข้าวกลางวัน

นั่งล้อมวง กับข้าวมีปลาแห้งย่าง และน้ำพริกตาแดง ผมมองชายฉกรรจ์เหล่านั้นทุกคนดูอิดโรย

ทำงานหนัก เอาจริง ดูแลป้องกันอย่างเป็นระบบ ก็คล้ายจะมีช่องว่างให้คนลักลอบมีโอกาสเสมอ

นอนกลางดิน กินกลางทราย คล้ายเป็นถ้อยคำเหมาะสมกับงานของพวกเขา และดูเหมือนการฝึกฝนอย่างเข้มข้นสำหรับงานลาดตระเวน ทำให้คนเหล่านี้มีทักษะ และแกร่งพอสมควร

แต่อีกนั่นแหละ ซากเสือที่ตายเพราะยาพิษ ร่องรอยดิ้นทุรนทุรายก่อนสิ้นใจ

ผมเห็นน้ำตาพวกเขาไหลเป็นทาง

 

ผ่านมาถึงวันนี้ ผมรู้แล้วว่าทำไมคนทำงานในป่าส่วนใหญ่มักมีคุณสมบัติบ่อน้ำตาตื้น

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

เพราะบ่อน้ำตาของเรานั้น “ต้นทาง” มันมาจากหัวใจ