นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เสรีภาพทางวิชาการ (EP.02)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เสรีภาพทางวิชาการ (EP.01)

ความเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อความรู้และระบบความรู้อย่างรุนแรงไพศาลที่สุด คือความเปลี่ยนแปลงที่มากับความทันสมัยของโลกตะวันตก โดยตัวของมันเองก็มีผลสะเทือนอย่างไพศาลแม้ในสังคมตะวันตกเอง ดังนั้น จึงไม่ต้องพูดถึงสังคมเอเชียซึ่งมีฐานของระบบความรู้แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ว่าจะสั่นสะเทือนสักเพียงไร

ความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างใหญ่ไพศาลนี้ มีโอกาสจะทำให้โครงสร้างอำนาจเดิมเสียขบวน จนอาจเป็นเหตุให้ชนชั้นนำทั้งกระบิต้องถูกแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ แต่ชนชั้นนำไทยกลับประสบความสำเร็จในการปรับขบวน เพื่อรองรับความรู้และระบบความรู้ของความทันสมัย ตัวความรู้และระบบความรู้จากภายนอกนี้ไม่ได้ถูกรับเข้ามาอย่างเป็นสิ่งแปลกปลอม แต่ถูกตีความหรืออธิบายให้สอดคล้องกับความรู้ที่มีมาตามประเพณี

หากเปรียบเทียบกับระบอบอาณานิคมร่วมสมัย ระบอบเหล่านั้นต่างถูกทำลายลงในที่สุด เพราะความทันสมัยที่ตนนำเข้ามาทั้งสิ้น แม้แต่ในประเทศกึ่งอาณานิคมอย่างจีน ราชวงศ์แมนจูก็ไม่สามารถควบคุมมิให้ความทันสมัยย้อนกลับมาทำร้ายตนเองได้

จริงอยู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามก็ไม่พ้นชะตากรรมเดียวกัน แต่กลุ่มสถานภาพที่เคยถืออำนาจสามารถประคองตัวอยู่ได้ในระบอบใหม่ และกลับช่วงชิงเอาอำนาจนำกลับคืนมาได้ในที่สุด แม้ไม่สามารถฟื้นฟูระบอบเดิมกลับคืนมาอย่างออกหน้า แต่โดยเนื้อหาสาระแล้ว ระบอบใหม่ซึ่งใช้ชื่ออื่นก็แทบไม่ต่างอะไรจากระบอบเดิม

ย้อนกลับไปคิดถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารที่ชนชั้นนำไทยต้องเผชิญในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 และการปรับเปลี่ยนระบบความรู้เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยไม่ทำให้โครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์ที่มีอยู่เดิมล่มสลายลงหมด ก็จะเห็นสติปัญญาในการพลิกแพลงและตีความที่ต้องยอมรับว่าเป็นอัจฉริยภาพอันเอกอุอยู่ทีเดียว

พุทธศาสนาที่ถูกตีความใหม่ให้สอดคล้องกับเหตุผลนิยมและวิทยาศาสตร์ตะวันตก (ของสมัยนั้น) ไม่เป็นผลให้โครงสร้างอำนาจถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ในขณะที่วิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยมทางศาสนาบ่อนทำลายอำนาจและผลประโยชน์ของอีกหลากหลายสังคมทั่วโลก รวมทั้งสังคมตะวันตกเองด้วย

ระบบราชการแบบใหม่ ก็อาจเป็นอันตรายต่อระบอบเดิมได้เช่นกัน ดังที่เกิดในอาณานิคมบางแห่ง แต่ระบบราชการสยามไม่เคยพัฒนาไปสู่ความเป็นอิสระในตัวเองอย่างแท้จริง ลำดับขั้นของการบังคับบัญชาทั้งระบบผูกอยู่กับความไว้วางใจของศูนย์กลางอำนาจ จนไม่เคยเป็นที่ชัดแจ้งว่าระบบราชการรับใช้อำนาจที่ศูนย์กลางหรือสาธารณชน

ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อระบบราชการได้รับแรงกดดันให้เปิดกว้างขึ้น ได้จัดการสอบเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก แต่ก็ทำเพียงครั้งเดียวแล้วต้องระงับไป อ้างเหตุเศรษฐกิจตกต่ำ แต่เบื้องหลังมีความไม่พอใจอย่างมากของเสนาบดี ที่จะรับ “คนแปลกหน้า” หรือคนไม่รู้หัวนอนปลายตีนซึ่งสอบผ่านเข้าสู่หน่วยงานของตน

เทคโนโลยีที่มากับความทันสมัยก็เช่นกัน มีธรรมชาติของมันเองและความจำเป็นบางอย่าง ที่บังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนระบบและระบอบเดิม เช่น อาวุธสมัยใหม่บังคับให้ต้องจัดการด้านการทหารอีกอย่างหนึ่ง เกิดกลุ่มผู้ถืออาวุธที่ยากแก่การควบคุม รถไฟทำให้เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งอาจถูกแปรผันไปเป็นพลังทางสังคมและการเมืองที่อยู่พ้นการควบคุมแบบเดิมได้

คิดไปเถิดครับ เทคโนโลยีล้วนนำความเปลี่ยนแปลงมามากกว่าสัมฤทธิผลเฉพาะหน้าของกลไกเสมอ แม้กระนั้นชนชั้นนำไทยก็ยังสามารถปรับระบบความรู้ให้รองรับผลกระทบของมันอย่างได้ผลทีเดียว

ในขณะเดียวกันก็มีความฉับไวไม่น้อยกับความรู้แปลกปลอม ที่อาจบ่อนเซาะระบบความรู้ซึ่งสถาปนาขึ้นไว้ เช่น ทำไมจึงต้องแบนหนังสือทรัพยศาสตร์ของพระยาสุริยานุวัตร ซึ่งที่จริงก็เป็นเพียงตำราเศรษฐศาสตร์คลาสสิคพื้นฐาน เข้าใจว่าเหตุผลก็เพราะศาสตร์แขนงนี้ ศึกษามนุษย์บนสมมติฐานว่า มนุษย์ทุกคนย่อมถูกผลักดันด้วยผลประโยชน์เหมือนกัน (ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม) ไม่มีใครวิเศษกว่าใครเพราะมี “กิเลส” น้อยกว่า ไม่ว่าจะมีกำเนิดหรือสถานภาพทางสังคมสูง-ต่ำอย่างไรก็ตาม

ในตอนปลายของสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ระบบความรู้ที่ปรับหรือสร้างขึ้นใหม่ เริ่มจะรองรับได้ยากขึ้น เช่น ชนชั้นนำไม่อาจเป็นผู้ผูกขาดความรู้จากตะวันตกไว้แต่กลุ่มเดียวได้อีกแล้ว อภิสิทธิ์ที่วางอยู่บนความรู้ตะวันตกเปิดโอกาสให้ “คนแปลกหน้า” เข้าสู่อำนาจและสถานภาพสูงได้ จึงยิ่งต้องหันกลับมาเน้นอภิสิทธิ์จากกำเนิดอย่างชัดเจนมากขึ้น และยิ่งทำให้เกิดความไม่พอใจแก่คนมีวุฒิการศึกษาสูงแต่ไม่มีกำเนิดเช่นนั้น

ในบรรดาความรู้ที่สร้างขึ้นในช่วงนี้ เนื้อหาที่สำคัญและทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่สุดคือ “ความเป็นไทย” อันเป็นแนวคิดที่ไม่เคยมีในอยุธยาหรือต้นรัตนโกสินทร์มาก่อน แนวคิด “ความเป็นไทย” ที่ชนชั้นนำสยามสร้างขึ้น ประกอบด้วยหลักการสำคัญสี่อย่างดังนี้

ก. ความเป็นไทยมีลักษณะเป็น “สารัตถนิยม” คือมีแก่นแท้ที่เคยดำรงอยู่มาในอดีตอย่างไร ก็ยังดำรงอยู่ถึงปัจจุบันและอนาคตเช่นนั้น แต่สารัตถะนี้ไม่อาจชี้ให้เห็นได้ง่ายๆ ต้องผ่านประสบการณ์และความรู้หลายด้านที่จำเป็น กว่าจะสามารถ “เข้าถึง” ได้

ข. ความรู้หลายด้านดังกล่าวนั้น คือวัฒนธรรม ซึ่งถ่ายทอดมาตั้งแต่อดีตกาลนานไกล ผ่านสถาบันพระมหากษัตริย์หรือวัง ซึ่งนอกจากจะอนุรักษ์วัฒนธรรมนั้นไว้ได้แล้ว บางครั้งยังอาจพัฒนาปรับปรุงด้วยการรับของใหม่จากภายนอกเข้ามาผสมกลมกลืนโดยไม่ทำให้แก่นแท้ของความเป็นไทยสูญเสียไปด้วย “วัง” จึงเป็นทั้งผู้รักษาและผู้ปรับเปลี่ยนไปพร้อมกัน อุดมคติของ “ความเป็นไทย” คือ “ความเป็นวัง”

ค. ดังที่กล่าวในข้อข้างต้น “ความเป็นไทย” จึงสอดคล้องกับคุณค่าสากล (ตะวันตกแหละครับ) ข้อนี้มีความสำคัญ เพราะทำให้ “ความเป็นไทย” หรือระบบความรู้นั้น ไม่หยุดนิ่งตายตัว อาจปรับเปลี่ยนไปได้ไม่สิ้นสุด เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนภายใต้การกำกับของ “วัง” เท่านั้น

ง. “ความเป็นไทย” มีหัวมีก้อย มีสูงมีต่ำ พูดอีกอย่างหนึ่งคือต้องตั้งอยู่บนความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น (hierarchical relationship) อันที่จริงก็ไม่ต่างจากสังคมอาณานิคมในสมัยเดียวกัน เพียงแต่ในสังคมอาณานิคมช่วงชั้นสูง-ต่ำค่อนข้างจะอิงกับความต่างทางชาติพันธุ์ ในขณะที่ของสยามชาติพันธุ์ก็ใช่ (ไทย-ลาว, ไทย-เจ๊ก, ไทย-ชาวเขา, ฯลฯ), เศรษฐกิจ-สังคมก็ใช่ (ข้าราชการ-ราษฎร, ผ้านุ่ง-กางเกงจีน ฯลฯ) กำเนิดก็ใช่ (ผู้ดี-ไพร่, เจ้า-สามัญชน, ลูกเมียหลวง-เมียน้อย ฯลฯ)

ระบบความรู้เรื่อง “ความเป็นไทย” นี้ต่างหาก ที่ดำรงสืบมาอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าระหว่าง 2475-2490 ผู้นำคณะราษฎรพยายามสร้าง “ความเป็นไทย” อีกอย่างหนึ่งเข้ามาในระบบความรู้ แต่หลังจากคณะราษฎรสิ้นอำนาจแล้ว ส่วนที่ขัดแย้งกับความรู้เดิมใน “ความเป็นไทย” สำนวนของคณะราษฎร ก็ถูกขจัดทิ้งไป ผนวกเอาไว้แต่ส่วนที่สอดรับกับ “ความเป็นไทย” แบบเดิมที่ได้รับการฟื้นฟูกลับขึ้นมาใหม่ทีละน้อย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักปราชญ์ที่มีส่วนในการสร้างหรือปรับระบบความรู้เกี่ยวกับ “ความเป็นไทย” ของวัง หลายคนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถอย่างสูงยิ่ง เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฯลฯ รวมทั้งเครือข่ายทางปัญญาของท่านเหล่านั้นอีกมาก “ความเป็นไทย” ในสำนวนนี้จึงไม่ใช่เป็นเพียงเพลงปลุกใจ, ละครกะหลาป๋า, หรือศิลปะโฆษณาชวนเชื่อ ฯลฯ อย่างที่เห็นได้ในสมัยหลัง แต่เป็นเนื้อหาที่ครอบงำความคิดทางวิชาการด้านไทยคดีศึกษาทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศต่อมาอีกนาน

แม้กระนั้น ก็ไม่มีระบบความรู้อะไรที่จะสถิตอยู่ได้อย่างนิรันดร ยิ่งความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ถาโถมเข้าสู่สยามอย่างรวดเร็วขึ้น ก็ยิ่งจำเป็นต้องปรับระบบความรู้นั้นๆ ให้รองรับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น แต่น่าสังเกตว่า ในปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนระบบความรู้ของชนชั้นนำกลับ “แข็งตัว” มากขึ้น

แม้ความพยายามในการใช้กำลังเปลี่ยนการปกครองใน ร.ศ.130 ถูกปราบลงอย่างง่ายดาย แต่ก็น่าจะเป็นสัญญาณให้ชนชั้นนำเห็นแล้วว่า ระบบความรู้ใหม่ที่สถาปนาไว้แต่เดิมนั้น ไม่อาจรองรับความรู้ความคิดใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างประเทศได้ จำเป็นต้องปรับทั้งระบบบริหารและระบบความรู้ เพื่อรองรับสำนึกใหม่ (อย่างน้อย) ก็ของคนชั้นกลางในเมือง

แต่แนวโน้มของการปรับตัวกลับเป็นตรงกันข้าม คือกลับไปเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์, ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้น ฯลฯ ดังจะเห็นได้ถึงอุดมการณ์ของชาตินิยมที่นิยามขึ้น ไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวไปถึงราษฎรหรือประชาชนเอาเลย แม้แต่ความเป็น “ชาติ” ก็แยกไม่ออกจากความเป็นรัฐราชสมบัติ

แม้แต่สถาบันทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นใหม่ ก็ไม่รองรับบทบาทใหม่ของราษฎรที่คนชั้นกลางจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นกิจการเสือป่าไปจนถึงคณะอภิรัฐมนตรี หรือสภาที่ปรึกษา รัฐธรรมนูญซึ่งแม้ไม่ได้เพิ่มอำนาจแก่ประชาชนเลย ก็ยังไม่สามารถคลอดผ่านความเห็นชอบของชนชั้นนำออกมาได้

การปฏิวัติ 2475 จึงดูเป็นจุดจบที่เป็นธรรมชาติมากๆ

ระบบความรู้เช่นนั้นน่าจะสิ้นสุดลงไปพร้อมกัน แต่กลับปรากฏว่า นับจากการยึดอำนาจของกองทัพใน 2500 เป็นต้นมา ระบบความรู้เช่นนั้นกลับถูกดึงมาใช้เป็นความชอบธรรมของอำนาจ เพราะการยึดอำนาจครั้งนั้นได้ทำลายความชอบธรรมใหม่ ที่คณะราษฎรนำมาสู่การเมืองไทยไปโดยสิ้นเชิง

ระบบความรู้ว่าด้วย “ความเป็นไทย” ซึ่งเริ่ม “แข็งตัว” มาแต่ปลายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือมรดกของรัฐบาลทหารและอุดมการณ์ “ความเป็นไทย” ในระยะหลัง จึงยิ่งทำให้เป็นความรู้ที่ปรับตัวรองรับความเปลี่ยนแปลงได้ยากมากขึ้นไปอีก

เพราะโดยตัวของมันเอง ก็ต้องนับเป็นระบบความรู้ที่ล้าสมัยอยู่แล้ว ยิ่งต้องมาเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในยุคสงครามเย็น ก็ยิ่งเผยให้เห็นความไม่สัมพันธ์กับยุคสมัย (irrelevance) ของตัวเองมากขึ้น แบบแผนโบราณ, พิธีกรรมโบราณ, ความศักดิ์สิทธิ์โบราณ และ “ความเป็นไทย” แบบเดิม ถูกนำกลับมาเฉลิมฉลองและเน้นย้ำกันเพื่อเป็นอุดมการณ์ของชาติ แทนสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมอันเป็นพื้นฐานของความเป็นชาติในโลกสมัยใหม่

ตลอดยุคสมัยนั้นจนถึงปัจจุบันมีการ “แบน” หนังสือนับเล่มไม่ถ้วน จนถึงจัดการเผาหนังสือเป็นรัฐพิธีก็มี มีกฎหมายและหน่วยงานรัฐคอยตรวจตราและควบคุมการแสดงออกผ่านสื่อทุกชนิด มีการประหารชีวิตผู้คนในที่สาธารณะ จำนวนของศพของ “ศัตรู” ในประกาศสาธารณะคือความสำเร็จในการปกครอง กฎหมายอาญา ม.112 ถูกนำมาใช้ขจัดศัตรูทางการเมือง ในบางปีมีผู้ต้องคดีนี้นับใกล้ร้อยหรือเกินร้อย และ ฯลฯ

 

ความรุนแรงเฉียบขาดของมาตรการต่างๆ เหล่านี้ สะท้อนให้เห็นความอ่อนกำลังลงอย่างมากของระบบความรู้เรื่อง “ความเป็นไทย” ที่สร้างสรรค์กันมาเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้ว เมื่อต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมของโลกและชีวิตที่แตกต่างไปจากสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง

แม้แต่หลักการที่สำคัญบางอย่างของ “ความเป็นไทย” แบบเดิมก็ต้องถูกแปรผันไป เช่น ความเป็นไทยที่ต้องสอดคล้องลงรอยกับคุณค่าสากลอันเป็นคุณลักษณะที่เน้นย้ำกันมาตั้งแต่ ร.4-ร.5 กลับถูกทำลายลงในระยะหลัง เพื่อเน้นลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนใครของความเป็นไทย (exceptionalism) ความเป็นสากลเปิดทางให้ปรับเปลี่ยนได้ไม่สิ้นสุด ในขณะที่ความเฉพาะเจาะจงไม่เหมือนใครจับให้ความเป็นไทยหยุดนิ่งและปรับตัวไม่ได้

(อ่านต่อ ตอน 3)