นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เสรีภาพทางวิชาการ (Ep.3)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสรีภาพทางวิชาการ (EP.01) (EP.02)

ได้กล่าวแล้วว่า โลกภายใต้สงครามเย็นและหลังสงครามเย็น ไม่ใช่โลกที่ระบบความรู้ที่สร้างสรรค์ปรับแก้กันมาในศตวรรษที่ 19 จะสามารถอธิบายอะไรได้อีกต่อไป

เราจะอธิบาย “พันธมิตรชานม” อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่อยู่นอกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ระบบความรู้แบบเดิมจะอธิบายได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการ “ลู่ตามลม” ไม่ใช่เรื่องการถ่วงดุลอำนาจระหว่างมหาอำนาจด้วยกันเอง และที่สำคัญคือไม่ใช่นโยบายแห่งรัฐ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ประชาชนสถาปนาขึ้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยสารตราตั้งใดๆ รองรับ ซ้ำกลับมีพลังกำหนดทัศนคติของประชาชนมากเสียยิ่งกว่านโยบายต่างประเทศที่รัฐกำหนด

ความใกล้ชิดเชิงอุดมการณ์ไม่เคยเป็นปัจจัยที่มีความหมายในระบบความรู้แบบ “ไทย” อย่าลืมว่าสงครามในประวัติศาสตร์แทบทุกครั้งของเรา กระทำกับราชอาณาจักรอื่นที่นับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน ความใกล้ชิดเชิงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเชิงเครือญาติต่างหากที่เป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย

แม้แต่สินค้ายังหลุดออกมาจากชาติและชาติพันธุ์ไปแล้ว ดังที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ กล่าว (“บริโภคความเป็นไทย”) พลเมืองจะไม่หลุดออกจากชาติได้อย่างไร ยิ่งเป็นพลเมืองของชาติที่มะงุมมะงาหราอยู่กับความเป็นไทยที่ตายซากไปแล้วเช่นนี้

หลักการสำคัญสี่ประการของ “ความเป็นไทย” ไร้ความหมายลงหมด ใครๆ ก็รู้ว่าความเป็นไทยไม่ใช่สารัตถะที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง มันไม่ได้มีศูนย์กลางที่วัง (ดู ไทยๆ ของประชา สุวีรานนท์) มันควรจะสอดคล้องกับคุณค่าที่ถือว่าเป็นสากล เช่น ความเสมอภาค, นิติรัฐ ฯลฯ

แต่ผู้ถืออำนาจกลับไปเน้นความเฉพาะเจาะจงไม่เหมือนใครของความเป็นไทย ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นแบบไทยถูกมองว่าเป็นที่มาของความเฟะฟอนต่างๆ ในสังคมปัจจุบัน

ควบคู่กันไปกับการประท้วงทางการเมือง คือการแสดงอัตลักษณ์ของ “ความเป็นไทย” แบบใหม่ ที่เปิดกว้างและเป็นอิสระแก่ใจของคนไทยรุ่นใหม่ สะท้อนให้เห็นวิกฤตอัตลักษณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในสังคมของเรา

เสรีภาพทางวิชาการและทางอื่นๆ ทั้งหมดถูกคุกคามอย่างหนัก ไม่ใช่เพราะเราอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเท่านั้น แต่เพราะระบบความรู้ที่เคยผดุงอำนาจของกลุ่มคนต่างๆ ให้ดำรงอยู่กำลังพังทะลายลงอย่างรวดเร็ว อำนาจของระบบความรู้ที่จะควบคุมว่าความเป็นไทยคืออะไร พังสลายลงหมดแล้ว ผู้คนรู้สึกว่าเพลงพื้นบ้านและเพลงลูกทุ่งเป็นไทยเสียยิ่งกว่าเพลงไทยราชสำนัก นับวันประวัติศาสตร์ไทยก็หลุดออกไปจากวังที่เคยเป็นศูนย์กลางของท้องเรื่องไปทุกที ระบบคุณค่าประชาธิปไตย ซึ่งในระบบความรู้เดิมถือเป็นรองชาติ, ศาสน์, กษัตริย์ กลับได้รับความสำคัญมากขึ้นจนในหมู่คนจำนวนไม่น้อยอยู่สูงกว่าเสียอีก

เพราะความอ่อนแอจนเห็นได้ว่ากำลังจะพังสลายลงในอนาคตอันไม่ไกลนักนี้เองต่างหาก ที่ทำให้การปิดกั้นเสรีภาพทางต่างๆ โดยเฉพาะเสรีภาพทางวิชาการ กลายเป็นทางเลือกเดียวและทางเลือกสุดท้ายที่ฝ่ายอำนาจต้องเลือก

คิดง่ายๆ อย่างนี้ก็ได้นะครับว่า ทางเดียวที่จุฬาฯ จะรักษาความน่าเคารพของระบบความรู้เดิมไว้ได้ คือผลิตงานวิชาการที่มีคุณภาพไม่น้อยไปกว่าของอาจารย์ณัฐพล ใจจริง เพื่อชี้ให้เห็นจุดอ่อนของข้อวิเคราะห์ทางวิชาการของอาจารย์ณัฐพล เช่น เป็นข้อวิเคราะห์ที่มีพลังอธิบายต่ำกว่าข้อวิเคราะห์แบบเดิม ถ้าทำได้เช่นนั้น จุฬาฯ ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นไต่สวนความผิดของอาจารย์ณัฐพลแต่อย่างไร แล้วก็ไม่ต้องขายขี้หน้าแก่นักวิชาการทั้งโลกด้วย

มหาวิทยาลัยในฐานะส่วนหนึ่งของ “ระบบความรู้” (และเป็นส่วนสำคัญมากด้วย) ปกป้องระบบความรู้ได้ด้วยวิธี “เซ็นเซอร์” ย่อมสะท้อนความอ่อนแออย่างถึงที่สุดของความรู้นั้นทั้งระบบอย่างชัดเจนที่สุด

การใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล จึงกลายเป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียวของการรักษาระบบความรู้ และนับวันก็ยิ่งต้องใช้อย่างฉ้อฉลมากขึ้นทุกที ทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม และกำลังอำนาจดิบๆ

3.ปัจจัยที่เอื้อหรือไม่เอื้อต่อเสรีภาพทางวิชาการ

ผมยอมรับว่ากฎหมาย, การบังคับใช้, กระบวนการยุติธรรมที่สุจริตจริง ล้วนมีความสำคัญอย่างขาดไม่ได้ในการมีและรักษาเสรีภาพทางวิชาการ แต่แม้กระนั้น ถึงมีเสรีภาพทางวิชาการอยู่ ก็อาจไม่ถูกใช้หรือไม่มีใครกล้าใช้ก็ได้ ยังต้องมีส่วนที่ผมขอเรียกว่า “วัฒนธรรม” ที่อาจสำคัญกว่ากฎหมายและกระบวนการของกฎหมาย เพราะเป็นส่วนที่ผู้คนเห็นความสำคัญของเสรีภาพด้านนี้ เมื่อไรที่ถูกขัดขวาง ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่ผู้บริหารการศึกษา หรือผู้บริหารจะกล้าเสี่ยงเข้ามาขัดขวาง หรือดูเบา

แต่วัฒนธรรมที่ไม่เอื้อต่อเสรีภาพทางวิชาการนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสาระสำคัญในการศึกษาไทยทุกระดับ คือนับตั้งแต่วันแรกที่เด็กถูกพาไปโรงเรียนอนุบาล จนถึงวันที่ได้ผ่านพิธีรับปริญญาบัตร

ไม่มีสักวันเดียวที่เด็กไทยจะสามารถคิดเองเลือกเองได้ว่า อะไรคือ propriety (ความถูกต้อง, เหมาะควร, ชอบธรรม, สุภาพ, อะไรๆ เหล่านี้ปนกัน) คนที่โตมาใน “เครื่องแบบ” ที่เคร่งครัดตั้งแต่ทรงผมลงมาถึงเสื้อใน ขอบกระโปรง-กางเกง จนถึงถุงน่องรองเท้า จะสามารถคิดเอง, เลือกเอง, ตัดสินใจเองด้วยความเชื่อมั่นในตนเองได้อย่างไร

Propriety ที่ไม่ได้เกิดจากการคิดและเลือกเองคือ “การสมยอม” ต่างหาก การศึกษาไทยไม่ใช่ระบบที่จะส่งเสริมให้คิดและเลือกอย่างอิสระ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนแต่ละคน แต่คือระบบที่มุ่งจะสร้างพลเมืองและแรงงานที่สมยอม ในขณะที่ความเป็นจริงนอกโรงเรียน ราคาของการไม่สมยอมที่แต่ละคนต้องจ่ายสูงอย่างไม่น่าเชื่อ

สังคมไทยเป็นสังคมที่ควบคุมการแสดงออกของผู้คน นอกจากนักเขียนที่ถูกจำคุกจากผลงานของตนเองแล้ว, ยังมีการ “แบน” หนังสือ ไปจนถึงการเผาหนังสือในที่สาธารณะเป็นครั้งคราว กองเซ็นเซอร์ลักษณะต่างๆ ทั้งงานเขียน, ภาพยนตร์, โทรทัศน์, ทำงานอย่างทั้งตามกฎหมายและการปฏิบัติสืบมาอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบปกครองอะไร

แต่ลึกลงไปกว่าปรากฏการณ์ภายนอกที่เห็นได้ชัดเหล่านี้ ยังมีความพยายามรอนความสามารถในการแสดงออกที่ซ่อนตัวอยู่ลึกๆ

ผมขอยกตัวอย่างที่เห็นชัดเพียงเรื่องเดียวก่อน เคยรู้สึกบ้างไหมว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากที่สุดแก่คนไทย เพราะมันมีมาตรฐานผิด-ถูกเคร่งครัดที่ทำให้จะพูดหรือเขียนอะไรให้ไม่ผิดนั้น เกือบทำไม่ได้เอาเลย เดี๋ยวสะกดผิด (และการสะกดให้ถูกตามอักขรวิธีไทยนั้น ต้องการความรู้ภาษาต่างประเทศอีกอย่างน้อยสามภาษา คือบาลี-สันสกฤต-เขมร และในปัจจุบันอาจรวมภาษาอังกฤษด้วย) เดี๋ยวออกเสียงตัวควบ, ตัวกล้ำ, ร.รักษา ฯลฯ ไม่ถูก วรรณยุกต์ไม่ชัด (ทั้งๆ ที่วรรณยุกต์ที่ “ชัด” นั้นเป็นภาษาถิ่นของคนกรุงเทพฯ กับรอบกรุงอีกไม่มากนัก ไม่ใช่ของคนไทยอื่นๆ) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงราชาศัพท์, ภาษาสุภาพ และภาษาราชการ ซึ่งกลายเป็นไสยเวทที่มีผู้ชำนาญอยู่ไม่กี่คน

เราสอนภาษาไทยชั้นสูงเพื่อให้ผู้จบการศึกษาได้เป็น “ยามภาษา”, “ตำรวจภาษา”, “ศาลฎีกาภาษา” ฯลฯ คอยจับผิดคนไทยคนอื่น คนไทยจึงเลือกไม่พูดไม่เขียนอะไรในที่สาธารณะจะปลอดภัยกว่า เดี๋ยวผิด, เดี๋ยวหยาบ, เดี๋ยวแสดงว่า “พ่อ-แม่ไม่สั่งสอน” ฯลฯ

กลอนของคุณอังคาร กัลยาณพงศ์ เมื่อเผยแพร่แรกๆ นั้น ถูกนักอักษรศาสตร์วิจารณ์ว่าหาสัมผัสยากจนแทบจะไม่เป็นกลอน ความพยายามที่จะแหวกออกจากฉันทลักษณ์ที่ตายตัวซึ่งตกทอดมาแต่อดีต กลายเป็นความเสี่ยงที่มักทำไปก็ไม่คุ้ม (ทั้งๆ ที่ “จังหวะ” ของภาษาไทยปัจจุบันอาจไม่เหมือนเดิมแล้ว)

เช่นเดียวกับเพลงไทย, โขนไทย, ละครไทย, สถาปัตยกรรมไทย ฯลฯ และศิลปะไทยเกือบทุกแขนง ไม่ใช่พื้นที่ของการสร้างสรรค์อีกต่อไป แต่เป็นพื้นที่ของการสมยอม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอกย้ำว่า “ความเป็นไทย” คือการสมยอม

ที่มัดได้แน่นกว่าความยากลำบากในการแสดงออก คือการตีกรอบคิดทางวิชาการให้จำกัดอยู่ในมุมมองเดิม กรอบคิดเป็นบรรทัดฐานของการเลือกสรรข้อมูลว่าอันไหนเกี่ยวและอันไหนไม่เกี่ยว ถึงเราพบข้อมูลแปลกใหม่ออกไป ก็ “อ่าน” มันด้วยคำถามเดิม ถึงจะได้คำตอบที่มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น ก็ไม่พ้นแนวทางเดิม เรียนอย่างไรก็ได้ความรู้เก่า เพราะไม่มีคำถามใหม่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียน

ผมขอยกตัวอย่างเพื่อทำให้เข้าใจประเด็นดังกล่าวดังนี้

นักปราชญ์แต่ก่อนท่านศึกษารามเกียรติ์ไทยด้วยคำถามว่า มันเหมือนหรือต่างจากต้นฉบับของอินเดียอย่างไร ด้วยเหตุดังนั้นจึงมักนำเอามาเปรียบเทียบกับรามายณะฉบับวาลมิกิ ไล่กันมาตั้งแต่บรรพแรกถึงบรรพสุดท้าย

แต่รามายณะของอินเดียนั้นมีหลายสำนวน และแต่ละสำนวนก็ไม่ได้เหมือนกันเป๊ะ เราจึงไม่รู้ว่ารามเกียรติ์ไทยนั้นเอามาจากสำนวนไหนกันแน่ จนมาในภายหลังมีนักวิชาการฝรั่งชี้ว่ารามายณะสำนวนเขมรและชวานั้น ใกล้เคียงที่สุดกับสำนวนที่อยู่ในหนังสือแบบเรียนภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยภาษาทมิฬ และเข้าใจว่ารามเกียรติ์ไทยก็เอามาจากรามเกียรติ์เขมรหรือชวาที่ว่านี่แหละ (จริงเท็จอย่างไรทิ้งไว้ก่อนนะครับ)

ดูเหมือนเป็นความก้าวหน้า แต่เอาเข้าจริงก็คือคำถามเดิมนั่นแหละ เพียงแต่ไล่หลักฐานต่างๆ จนได้คำตอบที่ชัดขึ้นเท่านั้น

อันที่จริงในประเทศไทยมีนิทานรามเกียรติ์ท้องถิ่นอีกหลายสำนวน และจำนวนมากคงหลงลืมกันไปหมดแล้ว เมื่อผมเป็นเด็กมีเรื่องเล่ากันในกรุงเทพฯ ว่า ใครไปลพบุรี อย่าได้เอาน้ำส้มสายชูติดไปเป็นอันขาด เพราะท้าวกกขนากซึ่งเป็นยักษ์ตนหนึ่งถูกพระลพยิงธนูสะกดไว้จนกลายเป็นเขาหิน หากได้น้ำสมสายชูรดที่ลูกศรซึ่งยังปักอยู่ ท้าวกกขนากก็จะฟื้นคืนชีพ ก่อความเดือดร้อนกันยกใหญ่ เพราะเป็นยักษ์ก็ต้องกินคนล่ะสิครับ

รามเกียรติ์สำนวนท้องถิ่นเหล่านี้จะถูกรวมไว้ในพระราชนิพนธ์หรือไม่ผมไม่ทราบ แต่เมื่อเริ่มศึกษารามเกียรติ์กันนั้นไม่ได้มุ่งไปที่ชาวบ้านไทย กลับพุ่งตรงไปอินเดียเลย จึงไม่มีใครรวบรวมและวิเคราะห์ในแนวนี้

แต่ในกัมพูชา Francois Bizot รวบรวมและนำเอาสำนวนชาวบ้านมาศึกษา (Ramaker, L’amour symbolique de Ram et Seta) แล้วพบว่าเรื่องรามเกียรติ์ชาวบ้านเขมรนั้น สะท้อนให้เข้าใจปรัชญาของพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นพุทธศาสนาแบบเฮี้ยนๆ ขลังๆ (esoterique)

ผมไม่ได้หมายความว่านี่เป็นการศึกษาที่ดีกว่า แต่ต้องการยกเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า เพียงกรอบคิดเปลี่ยน คำถามของการศึกษาก็ขยับไปอีกอย่างหนึ่ง และลองคิดดูเถิดว่า หากกรอบคิดเปลี่ยนดังเช่นตัวอย่างนี้ “ความเป็นไทย” ก็จะลดความเป็นวังไปมากทีเดียว

อันที่จริงเสรีภาพทางวิชาการตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์มีศักยภาพในการสร้างสิ่งใหม่ที่ดีๆ ได้ไม่สิ้นสุด เราจึงต้องมีเสรีภาพที่จะตั้งคำถามใหม่, ให้คำตอบใหม่, สร้างกระบวนการใหม่ และฝันใหม่อีกหลากหลายเรื่อง แต่ถ้าสมมุติฐานเป็นว่ามนุษย์มีเพียงศักยภาพที่จะสร้างสิ่งเลวๆ ที่เป็นอันตรายต่อส่วนรวม จึงต้องคอยกำกับควบคุมให้สมยอมกับระบบที่พิสูจน์ตนเองแล้วว่าดี เสรีภาพทางวิชาการก็ไม่จำเป็น

ทัศนคติต่อเสรีภาพ (ทุกด้าน) ล้วนตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ามนุษย์คืออะไร ตราบเท่าที่ยังเห็นว่ามนุษย์มีแต่อุปกิเลสนานาชนิด (ซึ่งมนุษย์ก็มีจริง) แต่มองไม่เห็นว่า มนุษย์มีด้านอื่นๆ ที่สง่างามและสร้างสรรค์ควบคู่กันไปด้วย ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นคุณค่าของเสรีภาพอย่างแท้จริง

ที่ต้องเขียนหรือต้องพูดถึงไว้ ก็เพียงเพื่อให้รัฐธรรมนูญดูดีเท่านั้น ไม่ได้มุ่งจะปลดปล่อยมนุษย์ออกจากระบบที่ต้องสมยอมตลอดชีวิต

ผมเห็นด้วยดังที่มีผู้กล่าวไว้นานแล้วว่า เอาเข้าจริงประเทศไทยไม่ได้มีเสรีภาพทางวิชาการ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีกฎหมาย, ระเบียบ, ข้อห้าม, การลงทัณฑ์ทางกฎหมายและสังคมที่รุนแรง ฯลฯ คอยขัดขวางกีดกัน แต่ข้อห้ามเหล่านี้ดำรงอยู่ได้เพราะเราไม่มีเสรีภาพทางวิชาการในวัฒนธรรมของเราเองต่างหาก

ถ้า “มันจบที่รุ่นเรา” จริง ก็ได้แต่หวังว่า มันจะไม่ใช่การแก้กฎหมายและรูปแบบของ “ระบบ” ต่างๆ เท่านั้น แต่มันต้องเปลี่ยนลึกลงไปถึงระดับวัฒนธรรมของสังคมไทยด้วย

—–(จบ)—–