นิธิ เอียวศรีวงศ์ | เสรีภาพทางวิชาการ (EP.01)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมมีเรื่องที่อยากพูดเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการอยู่สามประเด็นคือ

1. บริบทของการใช้คำนี้ในสังคมไทย

2. เสรีภาพทางวิชาการกับความเสื่อมสลายของความรู้และระบบความรู้ที่ดำรงอยู่

3. ปัจจัยที่เอื้อหรือไม่เอื้อต่อเสรีภาพทางวิชาการ

1.บริบทของการใช้คำว่าเสรีภาพทางวิชาการในสังคมไทย

ผมคงจำไม่ผิดที่จะพูดว่า คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นำเอาคำนี้เข้ามาในบทนำของสังคมศาสตร์ปริทัศน์เล่มหนึ่งในราวปลายทศวรรษ 2500 หรือต้น 2510 พูดสั้นๆ คือหลายปีก่อน 14 ตุลา กลายเป็นแนวคิด (concept) ที่ได้รับการต้อนรับอย่างรวดเร็วกว้างขวาง ไม่ใช่เพราะเข้าใจแนวคิดนี้อย่างกระจ่างแจ้ง แต่เพราะเป็น “เสรีภาพ” ที่รัฐปฏิเสธไม่ได้ต่างหาก ในยามที่เสรีภาพทุกอย่างมีคุณค่าเป็นรองความมั่นคงแห่งรัฐ, การพัฒนา, ความสงบเรียบร้อย มานานแล้ว จู่ๆ ก็มี “เสรีภาพ” ชนิดใหม่ที่ดูจะมีความจำเป็นเท่าเทียมกับการพัฒนาปรากฏขึ้นมา กลายเป็นอาวุธอย่างดีสำหรับต่อรองกับเผด็จการทหารที่กุมอำนาจได้รอบด้านมานาน

อาวุธชนิดนี้ใช้ได้เหมาะมือกับกลุ่มคนที่เรียกตนเองหรือถูกคนอื่นเรียกว่า “นักวิชาการ” นี่ก็เป็นคนพันธุ์ใหม่ในสังคมไทยเหมือนกันนะครับ เพิ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 2500 เหมือนกัน

ผมควรตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า ระบอบเผด็จการของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ให้ความสำคัญแก่เสื้อคลุม “วิชาการ” มากกว่ารัฐบาลไทยชุดใดเคยให้มาก่อน ส่วนหนึ่งของ “นักวิชาการ” (ที่สยบยอมแล้ว) ถูกดึงไปทำงานในหน่วยงานใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลทหารตั้งขึ้น คือกลุ่มที่เรียกกันในภายหลังว่า “เทคโนแครต” ผมให้สงสัยว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยสมัยนั้นคงถูกมองว่าเป็น “นักวิชาการ” ชั้นรอง เหมาะจะทำหน้าที่เพียงฝึกปรือบุคลากรไว้ให้รัฐใช้ประโยชน์เท่านั้น

และนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยถอดตัวออกมาจากดักแด้ “ครู” กลายเป็น “นักวิชาการ” ที่โบยบินอวดภารกิจที่เป็นคุณค่าแก่สังคมโดยรวม เช่น ตรวจสอบถ่วงดุลนโยบาย, เสนอทางเลือกเชิงนโยบายสาธารณะ, สนับสนุนความเป็นไทยซึ่งเคยเป็นพื้นที่ผูกขาดของชนชั้นสูงมาก่อน ฯลฯ และด้วยเหตุดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการจึงเป็นทั้งอาวุธเพื่อการต่อรองและยันต์ศักดิ์สิทธิ์สำหรับป้องกันตนเองจากอำนาจทหาร และก็เหมือนยันต์ทั่วไป คือมักใช้อักขระเขมร ซึ่งผู้บูชาอ่านไม่ออก

ก่อนที่ “ความเคลื่อนไหวจะปรากฏ” มีความโน้มเอียงที่เกิดขึ้นทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ทั้งจากฝ่ายประชาชนและฝ่ายรัฐทหาร ที่ทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นคู่ตรงข้ามของรัฐบาลทหาร

ผมจำได้ว่า เมื่อแรกเข้าทำงานในมหาวิทยาลัย เสรีภาพทางวิชาการ เป็นคาถาสำหรับเปิดประตูกิจกรรมนานาชนิดอันไม่เคยมีในมหาวิทยาลัยมาก่อน เช่น จัดการเสวนา, ออกจุลสารการเมือง, ฉายหนังที่เขาไม่ให้ฉายในโรงหนัง และนำเอาสิ่ง “ต้องห้าม” อื่นๆ เข้ามาสู่การสนทนาแลกเปลี่ยนกัน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ชอบใจนัก แต่เมื่ออ่านอักขระเขมรบนยันต์ไม่ออก จึงได้แต่อ้ำๆ อึ้งๆ ขัดขวางเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ให้ดูเป็นการละเมิด “เสรีภาพทางวิชาการ” เกินไป

แน่นอนว่า คาถานี้ถูกนำไปใช้เพื่อเปิดประตูให้แก่ผลประโยชน์ส่วนตัวของ “นักวิชาการ” ในมหาวิทยาลัยด้วย เช่น อาจารย์บางท่านไม่ยอมส่งผลคะแนนสอบของนักศึกษาให้ทันตามกำหนดของมหาวิทยาลัย อ้างว่าเป็นเสรีภาพทางวิชาการ

 

ความไม่กระจ่างชัดของแนวคิดเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ กลายเป็นจุดอ่อนให้ถูกโจมตีในช่วงนั้นหรือหลังจากนั้นอยู่สามประการ เท่าที่พอจับความได้

ประการแรก เสรีภาพทางวิชาการมีประโยชน์เฉพาะแก่นักวิชาการเท่านั้น (ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในสังคม) ไม่เห็นจะมีประโยชน์แก่ใครคนอื่นอีก ร้ายยิ่งไปกว่านั้น นักวิชาการบางคนยังเอาเสรีภาพชนิดนี้ไปสร้างความปั่นป่วนเสียหายให้แก่บ้านเมืองหรือบุคคล

ประการที่สอง แม้ในหมู่ผู้ที่ยกย่องนับถือเสรีภาพทางวิชาการ ดูเหมือนจะยอมรับหลักเกณฑ์กว้างๆ ว่า เสรีภาพทางวิชาการต้องเป็นรองอะไรอื่นที่สำคัญกว่า ในสมัยนั้นคือชาติ, ศาสนา, พระมหากษัตริย์ (แต่ที่ รมต.อุดมศึกษาฯ เพิ่งแถลงไม่กี่วันที่ผ่านมา คือชาติและกษัตริย์เท่านั้น) ดังนั้น การบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เพื่อห้าม “แตะ” สถาบันทั้งสาม จึงไม่ทำให้ใครรู้สึกว่าเสรีภาพทางวิชาการถูกละเมิดแล้ว

เสรีภาพทางวิชาการในแง่นี้จึงไม่ต่างจากเสรีภาพด้านอื่นๆ ที่ใช้กันมาในเมืองไทยนับตั้งแต่การยึดอำนาจของสฤษดิ์เป็นต้นมา เช่น เสรีภาพทางศาสนาทำให้ทุกคนถือและปฏิบัติพุทธศาสนาได้ แต่ต้องถือและปฏิบัติตามที่มหาเถรสมาคมรับรองไว้เท่านั้น เสรีภาพในการแสดงออกย่อมเป็นที่รับรอง แต่อย่าแสดงออกอะไรที่ผิดกฎหมาย

แม้ความหมายไม่ชัด และส่วนที่ชัดก็แคบ เสรีภาพทางวิชาการก็ยังเป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ได้ผลในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนั้น แต่ในปัจจุบันเมื่อ 40 ปีให้หลัง ผมรู้สึกว่าเสรีภาพทางวิชาการไม่มีความขลังเหลืออยู่แล้ว ดูออกจะลืมๆ กันไปแล้วด้วยซ้ำ ในการปรามมิให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยว “แตะ” สิ่งหวงห้ามทั้งหลาย รมต.อุดมศึกษาฯ กล่าวว่า อาจารย์ส่วนใหญ่พอใจกับเสรีภาพทางวิชาการซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ เพราะผมไม่ได้ยินใครยกเรื่องนี้ขึ้นมาอ้างสักทีในระหว่างหลายปีมานี้

แต่การที่เสรีภาพทางวิชาการในปัจจุบันเสื่อมถอยลงอย่างมากในประเทศไทย (ถ้าดูจากดัชนีที่คณะกรรมการความปลอดภัยของนักวิชาการทำขึ้นไว้) ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเสรีภาพทางวิชาการหมดความขลังเพียงอย่างเดียว แต่สาเหตุหลักเลยน่าจะมาจากการที่ความรู้และระบบความรู้ที่ครอบงำสังคมไทยกำลังเสื่อมสลายลงอย่างไม่มีทางทบทวนกอบกู้ได้ “เสาหลัก” ของความรู้และระบบความรู้นั้นหมดพลังที่จะปรับตัวต่อไป จึงหันไปใช้ความรุนแรง, ความอยุติธรรม, การปลุกปั่นความเกลียดชัง ฯลฯ เพื่อทำให้ไม่มีความปลอดภัยใดๆ เหลืออยู่แก่การคิดใหม่, การตั้งคำถามใหม่, การให้คำตอบใหม่, การมองหาทางเลือกใหม่ ฯลฯ เกิดขึ้นได้อีกเลย

ยิ่งเป็นผลให้ความรู้และระบบความรู้ที่ให้อำนาจแก่เสาหลัก “หลงทิศหลงทาง” จนยากแก่การกอบกู้การยอมรับกลับคืนมาได้อีก

2.เสรีภาพทางวิชาการกับความเสื่อมสลายของระบบความรู้

ความรู้คืออะไรน่าจะเป็นที่เข้าใจอยู่แล้ว แม้เข้าใจด้วยความลึกที่ต่างกันก็ตาม แต่ความรู้หรือสิ่งที่สังคมเชื่อว่าเป็นความจริงนั้น ไม่ได้อยู่ลอยๆ เกิดขึ้นตั้งอยู่ปรับเปลี่ยนและดับไปด้วยกระบวนการที่ผมเรียกว่าระบบความรู้ มันมีแหล่งกำเนิด, ญาณวิทยา, วิธีวิทยา, กลไกการสืบทอด, การขยายให้แพร่หลาย รวมทั้งกลไกกำกับควบคุมมิให้ความรู้เฉไฉออกนอกทาง ทั้งด้านเนื้อหาและด้านการนำไปใช้ วางเคียงคู่กับความรู้เสมอ

เมื่อมองความรู้และระบบความรู้เข้าด้วยกันเช่นนี้ ย่อมทำให้เห็นได้ง่ายว่า “ความรู้คืออำนาจ” หรือความรู้และระบบความรู้หนึ่งๆ สร้างและรักษาอำนาจไว้กับคนกลุ่มหนึ่งเสมอ และเป็นเช่นนี้ในสังคมทุกระดับ นับตั้งแต่กองโจร, หมู่บ้าน, เมือง ไปจนถึงรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้ก็ไม่เคยหยุดนิ่งในสังคมใดๆ ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทั้งที่เกิดภายในหรือหลั่งไหลมาจากภายนอก ทั้งความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเล็กน้อย เช่น การนำพันธุ์พืชใหม่ สัตว์เลี้ยงใหม่เข้ามา หรือความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ เช่น จำเป็นต้องสร้างระบบราชการแบบใหม่ขึ้น ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ย่อมนำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนความรู้และระบบความรู้เสมอ และเมื่อเป็นเช่นนั้น อำนาจก็อาจเปลี่ยนมือ หรืออย่างน้อยขยับศูนย์ไปได้มากบ้างน้อยบ้าง เป็นธรรมดา

ในที่นี้จะพูดถึงความรู้และระบบความรู้ของรัฐไทยซึ่งมีศูนย์อำนาจอยู่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาเพียงอย่างเดียว

ก็เหมือนกับรัฐอื่นๆ ชนชั้นนำไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ความรู้และระบบความรู้ที่มีอยู่ไม่อาจรองรับได้เป็นระยะๆ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายรัฐของภูมิภาคนี้ ผมก็อยากจะพูดว่า ชนชั้นนำไทยดูออกจะมีความสามารถพิเศษในการกำกับให้ความรู้และระบบความรู้ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนนั้น ไม่บั่นรอนอำนาจของตนเองมากนัก หรือในทางตรงกันข้ามกลับเพิ่มอำนาจให้มากขึ้นด้วยซ้ำ

การขยายตัวเข้ามาของศาสนามวลชน ทั้งพุทธลังกาวงศ์ (และอิสลาม) ทำให้เกิดองค์กรใหญ่เล็ก ซึ่งมีกำลังศรัทธาของประชาชนเป็นฐานในการต่อรองอำนาจ แตกต่างจากพราหมณ์ในราชสำนัก ถึงสืบสกุลกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็ขาดฐานอำนาจของตนเองที่เป็นอิสระจากราชบัลลังก์ จะจัดการความรู้และระบบความรู้อย่างไรจึงจะทำให้ผู้ปกครองรวบอำนาจไว้เหนือนักบวชของศาสนามวลชนเหล่านี้ได้

ว่ากันตามที่จริง ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันแหละครับ เพราะไม่เคยไปศึกษาค้นคว้าจริง แต่ถ้าดูเปรียบเทียบผลของการขยายตัวของศาสนามวลชนที่เกิดในรัฐต่างๆ แล้ว จะเห็นว่าผู้ปกครองอยุธยา เผชิญการท้าทายของนักบวชในศาสนาใหม่น้อยที่สุด

สุดโต่งด้านหนึ่งคือชวา ที่อาณาจักรฮินดูแห่งหนึ่งต้องสิ้นสลายลง และอำนาจใหม่เปลี่ยนตนเองเป็น “สุลต่าน” แม้กระนั้นอำนาจแท้จริงที่จะควบคุมรัฐเมืองท่าก็ลดต่ำลงอย่างมาก ยิ่งเมื่อมีชาวยุโรปเข้ามาตั้งรัฐเมืองท่าของตนเอง ก็สิ้นอำนาจที่จะปราบปรามไปเลย

ในพม่า แม้กษัตริย์สนับสนุนให้ภิกษุเดินทางไปบวชแปลงในสำนักมหาวิหารในลังกา แล้วกลับมาเผยแพร่คำสอน แต่วัดในชนบทจำนวนมากก็ยังเป็นวัดที่พระภิกษุอาวุโส (สยาดอ) บางรูป เดินทางออกไปตั้งขึ้นเองเพื่อเปิดสำนักอบรมศึกษากุลบุตรในท้องถิ่น กลายเป็นสำนักคำสอนจำนวนมากซึ่งรัฐควบคุมไม่ได้จริง ลักษณะทำนองนี้เกิดในล้านนาประเทศ, หลวงพระบาง, เวียงจันท์ (ซึ่งญาคูขี้หอมออกมาตั้ง “รัฐ” ของตนเองต่างหากในอีสานเลย) และรัฐชาน เหมือนกันทั้งนั้น

แต่จะเกิดในอยุธยาหรือไม่ ก็ไม่ทราบ เพียงแต่ว่าเมื่อตกถึงปลายอยุธยา การสอบสนามหลวงของพระภิกษุซึ่งเป็นที่ยอมรับมาตรฐานทั่วไป มีรัฐเป็นผู้จัด มีทำเนียบสมณศักดิ์ที่กษัตริย์อยุธยาทรงแต่งตั้งครอบคลุมทั้งราชอาณาจักร แม้ว่า “สังฆราช” (คล้ายๆ กับเจ้าคณะจังหวัดในปัจจุบัน) อาจตั้งจากพระภิกษุซึ่งเป็นที่นับถือในท้องถิ่น แต่อย่างน้อยก็ได้รับการแต่งตั้งจากอยุธยา ไม่ใช่ชาวบ้านตั้งเองล้วนๆ

ทำนองเดียวกับการขยายตัวของศาสนามวลชน ความเปลี่ยนแปลงอีกมากที่เกิดขึ้น อันจะเป็นผลให้ต้องปรับเปลี่ยนระบบความรู้ ชนชั้นนำอยุธยาก็สามารถกำกับควบคุมให้ระบบความรู้ใหม่ ไม่กระทบต่ออำนาจของตนเองด้วย เช่น เมื่อการค้านานาชาติขยายตัว ย่อมมีเมืองท่าที่อาจแข่งขันกับอยุธยาเกิดขึ้นอีกมากมายบนคาบสมุทรมลายู แต่ถึงที่สุดแล้ว อยุธยาก็ยังกุมความเป็นเมืองท่าหลักของการค้าต่างประเทศไว้ได้ การค้าต่างประเทศและการปลูกข้าวส่งออกไปเมืองจีน เปิดโอกาสให้อย่างน้อยก็ขุนนางมีรายได้เป็นอิสระของตนเอง ทำอย่างไรกษัตริย์อยุธยาจึงจะสามารถควบคุมขุนนางไว้ในอำนาจได้

และตลอดสมัยอยุธยาจนมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ แม้จะมีการเปลี่ยนราชวงศ์กันหลายครั้ง แต่กลุ่มชนชั้นนำคือเหล่า “ผู้ดี” หน้าเดิม เคยสัมพันธ์กันทางสายโลหิต, การสมรส, การลงทุน, การเมือง และวัฒนธรรมกันมาอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นตลอด กว่า 400 ปี ไม่เคยมีกบฏชาวนาใดสามารถยึดอยุธยาได้ แม้มี “คนแปลกหน้า” โผล่เข้ามาบ้าง เช่น ขุนวรวงศาธิราช หรือพระเจ้าตาก ก็เป็นช่วงระยะเวลาสั้นมาก

(อ่านต่อ EP.02)