สิ่งแวดล้อม : ‘ปารีส’ ไม่เหมือนเดิม / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม / ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘ปารีส’ ไม่เหมือนเดิม

 

“ปารีส” เมืองหลวงฝรั่งเศสเปลี่ยนโฉมไปมากแล้วและกำลังจะเปลี่ยนเป็นเมืองสวยสง่าท่ามกลางแมกไม้เขียวครึ้มที่สุดแห่งหนึ่งของยุโรปในอีกไม่นานนับจากนี้

เทียบกับอดีตเมื่อ 20-30 ปีก่อนที่ผู้คนเคยรู้สึกว่า “ปารีส” เป็นเมืองโรแมนติกก็จริง แต่มลพิษปกคลุม

ถึงจะมีอาคารโบราณสถานร้านรวงสวยงามเรียงรายขนานกับถนนกว้างทางเดินใหญ่โต กระนั้นก็มีรถยนต์วิ่งกันขวักไขว่พ่นควันดำลอยฟุ้ง ถนนบางเส้นการจราจรติดขัดกันทั้งวัน

ตั้งแต่ “แอน ฮิดาลโก” เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีหญิงแห่งกรุงปารีสเมื่อปี 2557 ความเป็นเมืองโรแมนติกที่ครอบด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ค่อยๆเปลี่ยนไปด้วยนโยบายที่เน้นความเป็นสีเขียว

“ฮิดาลโก” สั่งยกเลิกที่จอดรถข้างทางเกือบครึ่งหนึ่งของปารีสเพื่อเปิดเมืองให้ดูสวยขึ้น ไม่มีรถจอดระเกะระกะรกตา

ปรับพื้นที่สาธารณะหน้าอาคารโบราณสถานให้เป็นสวนสวยเขียวครึ้มด้วยต้นไม้ร่มรื่น เช่น พื้นที่หน้าโรงแรมเดอวิลล์ สถานีรถไฟลียง และโรงโอเปร่ากานิเย่

“ฮิดาลโก” สั่งปลูกต้นไม้ให้ได้ 170,000 ต้นภายใน 5 ปีข้างหน้า และพื้นที่ครึ่งหนึ่งของกรุงปารีสจะมีต้นไม้เขียวครึ้มภายในปี 2573

 

ตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาดในกรุงปารีส นายกหญิงคนแกร่งใช้มาตรการเข้มเพื่อสกัดเชื้อ เช่น ประกาศเคอร์ฟิวปิดร้านรวง ไม่ให้ผู้คนเข้ามาสุมรวมกัน

ขณะเดียวกันลงทุนก่อสร้างขยายทางจักรยานหรือไบก์เลน พร้อมๆ กับปลุกกระแสให้ชาวปารีเซียงหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ ยกระดับคุณภาพชีวิตและมีสุขภาพที่แข็งแรง

ทางจักรยานที่เพิ่งก่อสร้างใหม่เชื่อมต่อจากใจกลางเมืองไปยังชานเมือง สามารถปั่นได้คล่องตัวรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ระยะทางรวมๆ กันแล้วยาวกว่า 1,400 กิโลเมตร

ถนนคู่ขนานกับแม่น้ำแซนในกรุงปารีส ห้ามรถยนต์วิ่ง กลายเป็นทางเท้าและทางจักรยาน

จัตุรัสสำคัญๆ กลางเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นจัตุรัสบาสทิลล์ จัตุรัสเรอเนซองส์ หรือแมเดลีน ได้รับการปรับปรุงออกแบบใหม่ ทางเท้ากว้างๆ เดินชมเมืองได้จุใจมากขึ้น

“ฮิดาลโก” ยังประกาศแผนห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลวิ่งในกรุงปารีสตั้งแต่ปี 2567 และแผนห้ามรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลวิ่งในกรุงปารีสในปี 2573

 

พื้นเพตระกูลของ “ฮิดาลโก” เดิมนั้นเป็นชาวสเปน อพยพหนีภัยเศรษฐกิจมาปักหลักในฝรั่งเศส “ฮิดาลโก” วัย 62 ปี สามารถพูดทั้งภาษาฝรั่งเศสและสเปนได้คล่องแคล่ว เรียนจบด้านกฎหมาย เคยเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน แต่งงานกับนักการเมืองและเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสที่ได้รับคะแนนนิยมอันดับต้นๆ

แรกเริ่มรับตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงปารีส “ฮิดาลโก” เพียงปีเดียว ก็เผชิญกับวิกฤตการเมือง เพราะมีเหตุผู้ก่อการร้ายบุกสังหารหมู่ 2 ครั้งในปี 2558 คะแนนนิยมของเธอตกวูบ แต่ก็ได้รับเลือกตั้งกลับมาอีก คะแนนเสียงดีขึ้นจากผลงานต่างๆ ที่ปรากฏชัด โดยเฉพาะการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะของปารีสให้เป็นสีเขียวถึง 30 แห่ง และน่าอยู่น่าอาศัยมากขึ้น

ช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ใหม่ๆ “ฮิดาลโก” ใช้มาตรการเข้มทั้งประกาศเคอร์ฟิวห้ามร้านกาแฟ ร้านเหล้าเปิดในยามค่ำคืน ลดปัญหาการชุมนุมมั่วสุม

ขณะเดียวกันก็ปลูกต้นไม้ สร้างไบก์เลนให้ผู้คนขี่จักรยานเดินทางเลี่ยงการใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอีกหลายเส้นทาง จนได้รับเสียงชื่นชมทั้งในฝรั่งเศสและชุมชนยุโรป

“ฮิดาลโก” ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า เป้าหมายหลักของเธอนั้นต้องการดึงธรรมชาติกลับเข้ามาสู่วิถีชีวิตของชาวเมือง

 

อย่างที่เกริ่นเบื้องต้นว่า กรุงปารีสสวยงาม ดูสง่า โรแมนติก

แต่เมื่อมีต้นไม้หร็อมแหร็มไร้ความเขียวร่มรื่นก็กลายเป็นเมืองไม่น่าอยู่ และยิ่งมีสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ไม่ว่าจะเป็นควันดำจากปลายท่อรถยนต์ เสียงอึกทึกครึกโครมจากการจราจรที่ติดขัด เสน่ห์ของปารีสที่ชาวโลกหลงใหลชื่นชมหดหายไป

ปี 2558 “ปารีส” เป็นเจ้าภาพจัดประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ หรือ COP 21 เวลานั้นมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ปารีสเป็นเมืองหลวงที่ไม่น่าอยู่เลย เพราะใช้พลังงานสิ้นเปลืองมากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ปล่อยควันพิษสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก

ให้หลังไม่กี่ปี “ปารีส” เปลี่ยนภาพลักษณ์ มีต้นสน ต้นเชอร์รี่ปลูกรายล้อมพื้นที่สาธารณะ แม้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของปารีสเพิ่มเป็น 9.5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมืองหลวง แต่กระนั้นยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เพราะอีก 3 ปีข้างหน้า ปารีสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ต้องเพิ่มความเขียวให้มากกว่านี้อีก

แผนของ “ฮิดาลโก” วางเอาไว้ พื้นที่รอบๆ หอไอเฟลซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของกรุงปารีสจะปรับโฉมใหม่ให้เป็นสวนสาธารณะที่พิเศษสุด

จัตุรัสพลาสเดอลาคองคอร์ด จัตุรัสใหญ่ที่สุดของกรุงปารีส ในสมัยปฏิวัติฝรั่งเศส เคยใช้เป็นสถานที่ประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารี อ็องตัวเนตต์ ด้วยกิโยติน ได้รับการออกแบบปรับโฉมใหม่ ในอนาคตจะเป็นสวนสาธารณะที่สวยงามร่มรื่นแห่งหนึ่ง

ชานเมืองของกรุงปารีสตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) กำหนดให้เป็นหมู่บ้านนักกีฬา ศูนย์แข่งขันกีฬาทางน้ำและศูนย์สื่อมวลชนได้รับการออกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

น้ำที่ใช้ในสระแข่งขันดึงมาจากแม่น้ำด้วยกระบวนการบำบัดจนใสสะอาด

 

“ฮิดาลโก” เทียบเชิญศาสตราจารย์คาร์ลอส โมเรโน แห่งมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ให้มาเป็นที่ปรึกษาปรับโฉมหน้ากรุงปารีส

“โมเรโน” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างมากเพราะเสนอแนวคิด 15 นาทีถึงทุกมุมทั่วปารีส (15-minute city) โดยมีหลักการสำคัญให้บ้านเป็นจุดศูนย์กลาง ผู้พักอาศัยสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานไปถึงสถานีรถไฟ ป้ายรถเมล์ สวนสาธารณะ ร้านค้า โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ภายใน 15 นาที รวมถืงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมรอบๆ ชุมชนให้ดูร่มรื่นสะอาดตา

สื่อไปสัมภาษณ์ชาวปารีเซียงในชุมชนต่างๆ ก็รู้สึกแปลกใจเพราะพวกเขาบอกว่าก่อนเกิดโควิด-19 เอาแต่ก้มหน้าทำงานไม่เคยเดินทอดน่องกวาดตาดูสภาพแวดล้อมรอบข้างหรือพูดคุยกับเพื่อนบ้านเลย แต่วันนี้ได้คุยกับผู้คน มีเวลาเดินไปนั่งดูต้นไม้ในสวน

ตลอดช่วงเกิดวิกฤต “โควิด-19” แม้กรุงปารีสถูกล็อกดาวน์

แต่ชาวปารีเซียงกลับสัมผัสถึงความเปลี่ยนแปลงของกรุงปารีสด้วยความรู้สึกชื่นชมอภิรมย์

 

ใต้ภาพ

ภาพจำลองบริเวณหน้าโรงแรม เดอวิลล์ และทางเดินไปยังโรงโอเปร่ากานิเย่ ได้รับการออกแบบปรับปรุงและปลูกต้นไม้ปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่กลางกรุงปารีส

ริมฝั่งแม่น้ำแซน กรุงปารีสได้รับการปรับปรุงออกแบบให้เป็นทางเท้าและทางจักรยาน เป็นส่วนหนึ่งของการปรับโฉมปารีสให้เป็นเมืองหลวงน่าอยู่