“ฤดูใบไม้ผลิ” ฤดูที่เผด็จการกลัว! : สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

การเมืองก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์ อยากที่จะอยู่ในฤดูกาลที่อบอุ่น ในแบบของ “ฤดูใบไม้ผลิ” อันเป็นช่วงเวลาที่ความอบอุ่นนำมาซึ่งการผลิดอกออกใบของต้นไม้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ฤดูใบไม้ผลิจะเป็นสัญลักษณ์ของความหวังของชีวิต และเป็นดังการเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ในบริบททางการเมือง ฤดูใบไม้ผลิจึงเป็นภาพแทนที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หากเปรียบเทียบโดยนัยแล้ว ระบอบเผด็จการจะมี “ฤดูหนาว” เป็นตัวแทน และยิ่งเผด็จการใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงประชาชนมากเท่าใด ฤดูหนาวก็ยิ่งหนาวเหน็บมากขึ้นเท่านั้น

ฉะนั้นทั้งชีวิตผู้คนและชีวิตทางการเมืองจึงไม่มีใครอยากอยู่ในฤดูหนาว ทุกคนอยากอยู่ในฤดูกาลของความอบอุ่น และในท่ามกลางการต่อสู้ ก็มีความหวังเสมอกับความเป็นจริงของฤดูกาลว่า จะไม่มีปีไหน ที่ฤดูใบไม้ผลิจะไม่มา แม้ในบางปี ฤดูใบไม้ผลิอาจจะมาช้าไปบ้าง … แม้ฤดูหนาวจะแสนนานเพียงใด แต่สุดท้ายความหนาวเย็นที่เกิดขึ้น ก็จะถูกความอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิขับไล่ไปเสมอ

มิติประวัติศาสตร์

การเปรียบเทียบเช่นนี้ทำให้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยได้รับการยกย่องให้เป็นดัง “ฤดูใบไม้ผลิทางการเมือง” อันเป็นดังการสร้างให้เกิด “ความอบอุ่นทางการเมือง” เพื่อขับไล่ “ความหนาวเหน็บ” ของระบอบเผด็จการออกไป

การใช้คำว่าฤดูใบไม้ผลิ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางการเมือง แม้การใช้เช่นนี้จะเกิดขึ้นในบริบทของการเมืองยุโรปตั้งแต่การปฏิวัติของชนชั้นนายทุนในปี 1848 แล้ว และการเกิดของวาทกรรมนี้ เป็นผลจากการต่อสู้ทางการเมืองที่นำไปสู่การสร้างพันธมิตรระหว่างชนชั้นกลางที่มีฐานะเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุน กับชนชั้นล่างที่เป็นกรรมาชีพ ที่ก่อตัวขึ้นจากการสร้างระบบอุตสาหกรรมของสังคมยุโรป

พวกเขาเรียกร้องให้ยกเลิก “ระบบศักดินายุโรป” เพราะไม่สอดรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และขณะเดียวกันก็เรียกร้องที่จะมีตัวแทนทางการเมือง ที่ไม่ใช่มีแต่ตัวแทนจากชนชั้นสูงที่มาจากตระกูลขุนนางเท่านั้น การเปิดการเคลื่อนไหวเช่นนี้ ทำให้พวกเขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามทางการเมืองต่อระบอบเก่า และถูกปราบปรามอย่างหนักในเวลาต่อมา

ฉะนั้นแม้การเรียกร้องทางการเมืองเช่นนี้ จะจบลงด้วยการปราบปราม อันเป็นเสมือนกับความพ่ายแพ้ แต่ผลด้านกลับเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ เพราะได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองโลกและการเมืองยุโรป โดยเฉพาะมรดกที่ถูกทิ้งไว้อย่างมีนัยสำคัญกับการเมืองสมัยใหม่คือ การผลักดันแนวคิดที่รัฐต้องยอมรับการมีเสรีภาพของบุคคล และยอมรับหลักการว่า การดำรงอยู่ของผู้ปกครองเป็นสิ่งที่จะต้องได้รับการยอมรับจากผู้ถูกปกครอง

การเปิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปี 1848 (พศ. 2391) ที่แม้จะถูกปราบปราม แต่กลับกลายเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างประชาธิปไตยในเวทีโลก ซึ่งทำให้นักวิชาการบางคนอาจจะเปรียบเป็นดังการมาของ “คลื่นประชาธิปไตยลูกแรก” หรือถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” ในกระแสการเมืองโลก

มิติสมัยใหม่

วาทกรรมฤดูกาลทางการเมืองถูกนำมาใช้อย่างมากในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเห็นอย่างชัดเจนจากการต่อสู้ของประชาชนกับระบอบอำนาจนิยม ซึ่งในช่วงหลังสงครามนั้น มีการลุกขึ้นสู้ในยุโรปที่จะต่อต้านกับการยึดครองของกองทัพสหภาพโซเวียต เช่น การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนที่ฮังการีในปี 1956 แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นฤดูใบไม้ผลิ แน่นอนว่าพวกเขาไม่อาจเอาชนะอำนาจทางทหารของสหภาพโซเวียตได้เลย

ต่อมาในปี 1968 เกิดการเรียกร้องเสรีภาพของประชาชนที่เชคโกสโลวาเกีย อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการหันกลับมาใช้คำเดิม และเรียกการลุกขึ้นสู้ในครั้งนี้ว่า “ปรากสปริง” (The Praque Spring) หรือเรียกในภาคภาษาไทยว่า “ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงปราก” … คำๆนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาใช้อีกครั้งในเวทีสาธารณะ

แม้การต่อสู้ในการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยที่กรุงปรากจะพ่ายแพ้จากการปราบปรามของกองทัพโซเวียต แต่ผลพวงของการต่อสู้กลับไม่ได้สูญสลายไปกับการพ่ายแพ้ในครั้งนั้น การต้องเผชิญกับการปิดล้อมด้วยกำลังรถถังของกองทัพโซเวียต เป็นคำตอบในตัวเองของยุคสงครามเย็นว่า โอกาสที่ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะชนะ และนำไปสู่การปฏิรูปเพื่อสร้างประชาธิปไตยในเชคโกสโลวาเกีย แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และโซเวียตไม่มีทางที่จะปล่อยให้ “ปรากสปริง” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในยุโรปตะวันออกอย่างแน่นอน

ฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองเกิดขึ้นอีกหลายครั้งในเวทีโลก เช่น “ปักกิ่งสปริง” ที่มีความหมายถึงการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพของนักศึกษาจีนในช่วงทศวรรษที่ 1980 และมีภาพปรากฎครั้งใหญ่ของการลุกขึ้นสู้ที่มีชายผู้กล้าหาญยืนขวางหน้ารถถังที่เคลื่อนขบวนเข้าสู่การปราบปรามนักศึกษาที่จัตุรัสเทียนอันเหมินใจกลางกรุงปักกิ่งในปี 1989 แม้นักศึกษาจะถูกปราบจนราบคาบ แต่เหตุการณ์นี้กลับเป็นชัยชนะทางการเมือง ที่ภาพของชายผู้นี้เป็นหนึ่งตัวแทนของการมาของฤดูใบไม้ผลิในจีน

เหตุการณ์จตุรัสเทียนอันเหมินยืนยันว่า แม้ระบอบอำนาจนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเข้มแข็งเพียงใดก็ต้องเผชิญกับเสียงเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ต่างกับพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตที่เคยเผชิญกับการเรียกร้องที่กรุงบูดาเปสต์และกรุงปรากมาแล้ว และในทั้งสองกรณี ฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพไม่ชนะ แต่กลับชนะทางการเมืองในเวทีโลก

มิติร่วมสมัย

ฤดูใบไม้ผลิทางการเมืองของโลกร่วมสมัยนั้น คงต้องถือว่า “อาหรับสปริง” (The Arab Spring) หรือ “ฤดูใบไม้ผลิในโลกอาหรับ” เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของฤดูกาลทางการเมืองในศตวรรษที่ 21 ชัยชนะในตูนิเซียและในอียิปต์ในปลายปี 2010 และต้นปี 2011 เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยครั้งสำคัญทั้งในตะวันออกกลางและในเวทีโลก

การลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชนฮ่องกงในชื่อของ “ขบวนการร่ม” ในปี 2014 เป็นจุดเริ่มต้นของ “ฮ่องกงสปริง” ในการต่อสู้กับระบอบอำนาจนิยมปักกิ่ง และเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้งในปี 2019 พวกเขาอาจจะไม่ชนะ และแกนนำถูกจับกุม แต่ผลพวงของ “ฤดูใบไม้ผลิในฮ่องกง” ยังดำรงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้รัฐบาลจีนจะพยายามลดทอนความเป็นเสรีนิยมในฮ่องกงให้เหลือน้อยที่สุด

การต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาประชาชนอย่างเข้มแข็งในเมียนมาในต้นปี 2021 เป็นสัญญาณการมาของ “เมียนมาสปริง” อย่างชัดเจน แม้จะต้องเผชิญกับการปราบปรามอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่พวกเขายังต่อสู้ไม่หยุดยั้ง จนสถานะทางการเมืองของรัฐบาลทหารถูกสั่นคลอนอย่างมาก และขณะเดียวกันการต่อต้านรัฐบาลทหารในเวทีโลกก็ขึ้นสู่กระแสสูงด้วย ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะหรือไม่ก็ตาม แต่เผด็จการทหารไม่อาจดำรงความเข้มแข็งได้เหมือนกับรัฐประหารครั้งก่อน จนเสมือนกระแสลมอบอุ่นของฤดูใบไม้ผลิกำลังพัดมาเยือนเมียนมา

อนาคต

เผด็จการในวันนี้พยายามที่จะดำรงอำนาจด้วยการสร้าง “ฤดูหนาว” ทางการเมืองไว้ในหลายพื้นที่ของโลก แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงเดินหน้าต่อไป และเป็นความหวังว่า การต่อสู้จะทำให้เกิด “ฤดูใบไม้ผลิ”

ดังนั้นไม่ว่าการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจะประสบชัยชนะหรือไม่ก็ตาม แต่ผลพวงของการลุกขึ้นสู้ของประชาชนจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่มีปีใดที่ฤดูใบไม้ผลิจะไม่มา เท่าๆกับที่ไม่ว่าฤดูหนาวอันแสนหนาวจะยาวนานเท่าใด ฤดูหนาวก็จะมีเวลาสิ้นสุดลงอย่างแน่นอน … เผด็จการจึงกลัวฤดูใบไม้ผลิเสมอ!