104 ปีของฎีกาพลทหารผัน : ชีวิตในกองทัพบกสยาม / บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์

 

104 ปีของฎีกาพลทหารผัน

: ชีวิตในกองทัพบกสยาม

 

ไม่บ่อยครั้งนักที่เรื่องราวของสามัญชนที่มีชีวิตอยู่นับร้อยปีจะเป็นที่รับรู้ โดยเฉพาะในกรณีของไทยที่วัฒนธรรมการจดบันทึกและอัตราการอ่านออกเขียนได้ไม่แพร่หลายนักในหมู่พลเมืองในยุคก่อนสมัยใหม่

ถึงกระนั้น มีเอกสารชิ้นหนึ่งที่บอกเล่าเรื่องราวของสามัญชนจากเมืองอ่างทองที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพบกสยามเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติของไทย

ฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2460

ผู้เขียนคือ พลทหารผัน ชายหนุ่มจากบ้านศาลาแดง อำเภอเมือง เมืองอ่างทอง อายุ 24 ปี

ผันถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการเป็นพลทหาร สังกัดหมวดที่ 1 กองร้อยที่ 4 กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ตั้งแต่ พ.ศ.2459

โดยเนื้อหาของฎีกาคือ ขอพระราชทานเงินจำนวน 3,000 บาทเพื่อนำไปใช้หนี้ให้กับครอบครัว

ชายหนุ่มเริ่มต้นฎีกาด้วยการเกริ่นนำถึงครอบครัวตนเองด้วยคำราชาศัพท์ เขาอธิบายว่าบิดา-มารดาและตนเองประสบความลำยากอย่างยิ่งจากการเป็นหนี้ที่ไม่มีทางชดใช้

“ข้าพเจ้าจะเล่าเรื่องเนื้อความจำเป็นต่อไปในนี้ เวลานี้พระบิดาและพระมารดาและข้าพเจ้า ได้รับแต่ความลำบาก อย่างเหลือเกิน ตั้งแต่เป็นทุกข์และกินแต่น้ำตาทุกเวลาไปแล้ว เป็นความจนจริง ในเวลานี้ก็เป็นทุกข์อยู่ทุกๆ วัน ด้วยว่าเป็นขี้หนี้เขาอยู่” (หมายเหตุผู้เขียน-มีการเปลี่ยนแปลงตัวสะกดให้เป็นภาษาปัจจุบัน)

จากนั้นพลทหารผันบรรยายความทุกข์ยากของครอบครัว อันประกอบไปด้วยบิดามารดาและพี่น้องของเขาอีก 9 คน ที่ไปกู้หนี้ยืมสินมาแล้วไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนเจ้าหนี้ได้ พอแต่ประทังชีวิตไปแต่ละปีเท่านั้น บ้านที่พักอาศัยก็ผุพัง เสาเรือนก็เป็นเสาไม้ไผ่ เมื่อลมพัดมาก็กลัวจะหักพังลงมา

ครอบครัวจึงตัดสินใจจะให้พี่น้องบวชไป 4 คนเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระปากท้องลงบ้าง

ถึงกระนั้นทั้ง 4 คนยังไม่สามารถบวชได้เนื่องจากไม่มีเงินบวช จนกระทั่งพลทหารผันถูกเกณฑ์มารับราชการเป็นทหารเสียก่อน

เมื่อเขาเข้ารับราชการในกองทัพบก พลทหารผันจึงตัดสินใจช่วยเหลือครอบครัวโดยการเขียนฎีกาขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเมตตา

 

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่พลทหารผันอ้างคือ หากตนเองปลดประจำการไปแล้ว เจ้าหนี้มาทวงเงินที่ติดค้างอยู่และครอบครัวไม่สามารถชดใช้หนี้ได้ ตนเองอาจต้องไปเป็นทาส หากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้เสียพระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปด้วย เพราะตนเองเคยรับราชการเป็นทหารรักษาพระองค์มาก่อน ผู้อื่นอาจว่าได้ว่าแม้จะเป็นถึงทหารรักษาพระองค์ก็ยังต้องไปเป็นทาส

“ถ้าพระองค์ไม่ทรงโปรดแล้ว ข้าพเจ้าออกจากกองหนุนไปแล้วก็จะทำให้เสียเกียรติยศไปด้วย ชาวประชาราษฎรเขาก็จะว่าได้ ว่าไปเป็นทหารรักษาพระองค์ยังมาให้เขาเอาตัวไปใช้ได้ ข้าพเจ้าก็เป็นความเสียใจอยู่มากๆ”

หากคำขอของตนเองไม่สำเร็จ เขายินดีที่จะตายให้พ้นทุกข์ไปเสีย และขอให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงช่วยให้พ้นจากความทุกข์ยากไปเสียดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก

 

หลังจากที่ฎีกาถูกส่ง มหาเสวกเอกพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พระอิสริยศในขณะนั้น) ราชเลขานุการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคัดกรองฎีกาที่ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งจดหมายลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2460 ไปยังกระทรวงกลาโหมเพื่อสอบถามเพิ่มเติม

เนื่องจากเห็นว่าข้อความในจดหมายของพลทหารผันนั้น “ล้วนแต่พลั้งๆ พลาดๆ น่าคิดว่าจริตจะไม่ปกติ”

ก่อนจะได้รับคำตอบจากเจ้าพระบดินทร์เดชา เสนาบดีกระทรวงกลาโหมว่าพลทหารผันไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด พร้อมแนบรายงานการสอบสวนมาด้วย

รายงานการสอบสวนที่จัดทำขึ้นโดยนายร้อยโทอิน จารุจารีตร์ ผู้รั้งผู้บังคับกองร้อยที่ 4 ต้นสังกัดของพลทหารผัน มีท่าทีเห็นใจต่อพลทหารหนุ่มค่อนข้างมาก โดยยืนยันว่าพลทหารผันมีสติสมบูรณ์ทุกประการ ทั้งยังเป็นผู้มีความอุตสาหะ กล้าหาญและเฉลียวฉลาดผิดกับทหารอื่น

“ข้าพเจ้าขอรับรองว่า พลทหารผันเป็นผู้ที่มีสติปกติอย่างคนธรรมดาและเป็นผู้ที่มีความอุตสาหะพยายามในกิจซึ่งเป็นหน้าที่ของตนจะต้องกระทำดีกว่าทหารอื่นๆ กล้าหาญอย่างทหารแท้ และเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดดีมาก ไม่เคยมีความผิดอย่างใดเลย”

 

รายงานยังได้บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในระยะเวลาสองปีของชีวิตทหารเกณฑ์ในกองทัพบก กล่าวคือ พลทหารผันเข้าประจำการในกองทัพบกในเดือนเมษายน พ.ศ.2459 ในระหว่างที่เข้ามารับราชการ ผู้บังคับบัญชาอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับข้อบังคับและกฎลักษณปกครองภายในกองทัพบกให้กับทหารเกณฑ์ได้รับรู้

หนึ่งในข้อสำคัญที่พลทหารผันได้เรียนรู้คือ การอนุญาตให้ทหารทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์ได้ในเรื่องส่วนตัว

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พลทหารผันเกิดความสนใจและเชื่อว่าหากตนเองมีโอกาสได้ร้องทุกข์เกี่ยวกับฐานะขัดสนของครอบครัว อาจพอมีหนทางที่จะได้รับความช่วยเหลือและนำเงินที่ได้ไป “กู้ชื่อเสียงในครอบครัวของตนให้เป็นอิสรภาพ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อแรกเข้าเป็นทหาร พลทหารผันอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงไม่สามารถเขียนคำร้องทุกข์ เขาจึงต้องเรียนรู้ด้วยตนเองและจากการสั่งสอนพื้นฐานเกี่ยวกับการอ่านและเขียนหนังสือภายในกองทัพ ตลอดจนซักถามผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับคำราชาศัพท์และคำเรียกบุคคลต่างๆ ให้เหมาะสม

ชายหนุ่มใช้เวลาว่างจากการฝึกฝนทางการทหารหมั่นเรียนรู้การเขียนด้วยตนเองและพยายามหลบเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นรู้เพราะอับอายในปัญหาของตน

ราวเดือนกันยายนในปีเดียวกัน (พ.ศ.2459) พลทหารผันจึงลงมือเขียนฎีกาฉบับแรก หากยังไม่พอใจกับเนื้อหาของฎีกา จึงได้ฉีกทิ้ง รวมแล้วเขาเพียรลบแก้ฎีกาของตนเองถึง 7 ฉบับก่อนจะตัดสินใจส่งในปีต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2460

 

แม้ผู้บังคับบัญชาจะมีทีท่าเห็นใจ บทสรุปของเรื่องคือ พลทหารผันถูกลงโทษจากการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เหตุผลเป็นเพราะกระทรวงกลาโหมเปลี่ยนแปลงกฎข้อบังคับการถวายฎีกาของข้าราชการทหารใหม่

โดยกฎลักษณปกครองของกระทรวงกลาโหมลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2459 ลงรายละเอียดว่า การทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาจำเป็นจะต้องปรึกษากับผู้บังคับบัญชาก่อน กฎลักษณปกครองที่แก้ไขนี้ออกมาหลังจากที่พลทหารผันได้รับการสั่งสอนไปแล้ว จึงไม่ทราบว่าตนเองต้องปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อน

ดังนั้น เมื่อพลทหารผันยื่นฎีกาโดยปราศจากการปรึกษา จึงนับว่ากระทำผิดกฎลักษณปกครองที่ตราขึ้นใหม่

เป็นไปได้ด้วยว่าฎีกาของเขาไม่ถึงพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว บุคคลที่พลทหารผันหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะทูลเกล้าฯ ถวาย

 

ฎีกาและรายงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับพลทหารผันที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2460 จนถึงวันนี้มีอายุราวหนึ่งร้อยปี แม้จะมีความยาวไม่มากนัก แต่เท่านี้ก็เพียงพอต่อการมองเห็นชีวิตของชายสามัญชนที่มาจากเมืองอ่างทอง การถูกเกณฑ์เข้ารับราชการในกองทัพบกอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของชายไทยสัญชาติสยามไม่ได้หมายความถึงการฝึกฝนทางการสู้รบเท่านั้น

หากยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับสามัญชนที่จะเรียนรู้และอ่านออกเขียนได้ ตลอดจนข้อบังคับกฎหมายที่พลเมืองสยามควรจะได้รับรู้

เหนืออื่นใด กองทัพเป็นสถานที่หล่อหลอมให้ชายสามัญชนได้รับรู้เกี่ยวกับประมุขสูงสุดของชาติหรือพระมหากษัตริย์

การรับราชการในตำแหน่งทหารรักษาพระองค์ของพลทหารผันก่อให้เกิดสำนึกของการเป็นทหารของพระราชา เมื่อมองย้อนกลับไปถึงชีวิตที่ทุกข์ยากของตนเองและครอบครัว การทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานเงินช่วยเหลือจำนวน 3,000 บาท จึงไม่ได้เป็นไปเพียงเพื่อต้องการปลดเปลื้องหนี้สินเท่านั้น

หากยังเป็นไปเพื่อธำรงพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์และตำแหน่งของข้ารับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

แม้จะแย้งได้ว่าธรรมชาติของการยื่นฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือมักประกอบด้วยเหตุผลที่ชวนเห็นใจ

อย่างน้อยที่สุดเหตุผลของพลทหารผันที่ไม่ต้องการให้พระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องมัวหมอง และการที่อดีตทหารรักษาพระองค์ต้องตกไปเป็นทาสหากใช้หนี้ไม่ได้ จนอาจนำมาซึ่งคำติเตียนว่าถึงเป็นทหารก็ยังต้องเป็นทาส

คำอธิบายสองข้อนี้ชัดเจนอย่างยิ่งถึงการมองเห็นตัวเองของพลทหารผันในฐานะการเป็นทหารของพระราชา