ประชาธิปไตยคือการฝึกฝนต่อเนื่อง : คำ ผกา

คำ ผกา

“พ.ร.บ.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดย นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง รายงานว่า เนื่องจากการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการเตรียมและพัฒนาคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ ให้มีความพร้อมแก้ไขปัญหาประเทศและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางการพัฒนาประเทศไทย 4.0 จึงจำเป็นต้องจัดทำกฎหมายนี้ขึ้น เพื่อวางแนวทางและกลไกการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน มีการจัดทำหลักสูตรให้การศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชน เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ดีงามและถูกต้อง มีกระบวนการสร้างนักการเมืองที่ดี และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั่วถึง และเหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่มวัยและอาชีพ ตลอดจนสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน”

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1497260680

ในขณะที่เรายังรอเวลาที่เหมาะสมตามโรดแม็ปเพื่อจัดการเลือกตั้ง พร้อมๆ กับการเปิดโอกาสให้ประชาชนใช้บัตรประจำตัวประชาชนมาตอบคำถามของนายกรัฐมนตรี 4 ข้อ เพื่อเช็กความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า ถ้าเลือกไปแล้วได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร ถ้าเลือกไปแล้วนักการเมืองโกงๆ เข้ามาลงเลือกตั้งอีกจะทำอย่างไร? เป็นต้น

ระหว่างนี้ สมาชิปสภาปฏิรูปฯ ก็ตั้งใจทำงานเพื่อการปฏิรูป อันเป็นการตอกย้ำความเชื่อของพวกเขาที่ว่า ปัญหาของการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยเกิดจากการที่คนไทยไม่มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยดีพอ

อันที่จริงวิธีคิดเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นสากล แพร่หลายอยู่ในหมู่ชนชั้นนำของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ฉันเคยฟังสัมภาษณ์พี่สาวของประธานาธิบดีดูแตร์เต เธอก็บอกกับนักข่าวว่า ก็เห็นด้วยนะว่าน้องชายของฉันออกจะบ้าอำนาจและเป็นอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปสักนิด เมื่อก่อนฉันก็ไม่ชอบเลย แต่อย่าลืมสิ คนฟิลิปปินส์ยังไม่มีความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย การเมือง เราจึงต้องใช้ความเป็นอำนาจนิยมนี่แหละ ไม่งั้นบริหารประเทศไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ทำการปฏิรูปจึงถึงกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยวัฒนธรรมการเมือง มีทั้งหมด 44 มาตรา เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

คําถามที่เป็นพื้นฐานที่สุดคราวนี้ไม่พ้นที่จะถามว่า สิ่งที่ทำลายวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยและการเลือกอย่างถอนรากถอนโคนที่สุด คือ การล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนอกวิถีทางตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และคนที่สนับสนุนในแนวทางนั้นคือคนที่บั่นทอนวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย แต่กลุ่มคนที่มีส่วนในการบั่นทอนวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย กลับมาออกกฎหมายว่าด้วยการวางรากฐาน สร้างความเข้มแข็งให้ระบอบประชาธิปไตย – มันฟังดูขัดแย้งในตัวของมันเองหรือไม่

แต่ช่างเถอะ เรามานั่งคิดกันดีกว่าว่า การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในสังคมหนึ่งๆ มันต้องอาศัยอะไรบ้าง

การกลายเป็นประชาธิปไตยของแต่ละสังคมนั้นมีปัจจัยรายละเอียดที่ต่างกันมาก

แต่อาจพอเหมารวมได้ว่า เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึก แค่ค้นพบกล้องดูดาวก็สั่นสะเทือนไปถึงสรวงสวรรค์ของศาสนจักรและพระผู้เป็นเจ้า เกิดจากการขยายตัวของพวกระฎุมพีที่ทำมาค้าขายร่ำรวยแต่ไร้ยศศักดิ์

การล่าอาณานิคมก็เป็นส่วนหนึ่งของการคลี่คลายกลายเป็นประชาธิปไตยโดยไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือการจบลงของนครรัฐ อาณาจักรแบบก่อนสมัยใหม่ ถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลอาณานิคม จบลงด้วยขบวนการต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราช

สุดท้ายก็ต้องกลับมาบรรจบที่ ก. ประชาธิปไตย ข. พรรคคอมมิวนิสต์ ค. ถูกทหารยึดอำนาจจากพลเรือนแล้วอยู่ภายใต้ junta ไปอย่างยาวนานหลายทศวรรษ

บางสังคมก็กลายเป็นประชาธิปไตยแบบแปลกมาก เช่น ญี่ปุ่นแพ้สงคราม จนย่อยยับอัปราชัย แทบจะรื้อฟื้นอะไรขึ้นมาไม่ได้ แถมยุคก่อนแพ้สงครามยังเป็นทหารนิยม อำนาจนิยมแบบเข้มข้น สุดโต่ง ชนิดที่ผลิตคนเป็นนักบินพลีชีพได้ไม่รู้เท่าไหร่

สุดท้าย อเมริกามาเขียนรัฐธรรมนูญให้แล้วสั่งให้ทำตามรัฐธรรมนูญ เป๊ะๆๆๆ แล้วก็กลายเป็นประเทศประชาธิปไตย เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้

ประเทศจะเข้าข่ายข้อไหน ผู้อ่านคงสามารถประมวลผลได้ด้วยตนเอง

แต่การกลายมาเป็นประชาธิปไตยนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมนั้นเคารพ ยึดมั่น เห็นคุณค่าของหลักการประชาธิปไตย

รัฐบาลไทยหลัง 2475 พยายามจะสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยไว้กับเมืองไทย ด้วยการสร้างการตระหนักรู้ว่า อะไรๆ ในประเทศนี้เป็นของประชาชน เช่น ชื่อ โรงเรียน สะพาน ถนน พยายามให้มีคำว่า ราษฎร์อุปถัมภ์ ราษฎร์บูรณะ มีการสร้างห้องสมุด “ประชาชน”

การปรากฏตัวขึ้นของคำว่าประชาชนที่นั่นที่นี่เต็มไปหมด กับการเขย่าประสาทคนไทยให้รับรู้ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของสาธารณสมบัติก็ถือว่าเป็นการสร้างวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยในสังคม

การสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ตรงไปตรงมาที่รัฐบาลหลัง 2475 ทำก็คือ การทำหลักสูตรวิชา “หน้าที่พลเมือง” กำหนดวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าไปในหลักสูตร สอนเรื่องความหมายของประชาธิปไตย สิทธิ หน้าที่

หน้าสนใจว่า วิชาหน้าที่พลเมืองหลุดออกไปจากหลักสูตรการศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2521 – น่าสังเกตอีกว่า คำว่า “พลเมือง” เป็นคำที่หายไปจากบทสนทนาหรือการใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยไปโดยปริยาย

ซึ่งต้องเท้าความอีกว่า พลเมือง มาจากคำว่า civil คำความหมายพ้อง หรือ synonym ของคำว่า civil คือคำว่า lay อันแปลว่า ฆราวาส คือคำว่า secular หรือ โลกวิสัย และในอีกความหมายของ civil คือ distinct from military ในที่นี้ภาษาไทยเลี่ยงไปใช้คำว่า พลเรือน

แต่สิ่งที่ lost in translation อย่างสาหัสคือ คำว่าพลเมือง ในภาษาไทย ไม่ถูกอธิบายในด้านที่เกี่ยวกับการเป็นประชากรของ “เมือง” ไม่เกี่ยวกับกระบวนการกลายเป็นประชาธิปไตยที่รัฐต้องแยกตัวออกจากศาสนาเป็นรัฐฆราวาส เป็นรัฐของ layman เป็นรัฐโลกวิสัย

หญิงผู้มีสิทธิเลือกตั้งรายหนึ่ง กำลังถือบัตรประจำตัวประชาชนของเธอและตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ที่ปิดทางเข้าคูหาเลือกตั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ( AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT)

คำว่า พลเมือง ของเรา ถูกตัดขาดจากกระบวนการประชาธิปไตย และประวัติศาสตร์แห่งประชาธิปไตยไปยังไม่พอ คำว่า พลเมือง ยังหายไปจากชีวิตของเรา

และเมื่อมีขบวนการที่เรียกกันว่า civic movement มันดันถูกเรียกว่า ขบวนการภาคประชาสังคมไปเสีย

ซึ่งคำว่าภาคประชาสังคม เป็นคำที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีประวัติศาสตร์ทางอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างคำว่า civic แม้แต่น้อยนิด แล้วก็ภาคประชาสังคมไทยก็กลายเป็นขบวนการเอ็นจีโอ ที่ไปสมาทานสำนักพุทธศาสนา “ทางเลือก” ไปอีกแขนงหนึ่ง จนไกลจากความเป็นฆราวาส ในความหมายของ civic จนชาตินี้คงไม่อาจหวนมาพบกันได้อีกแล้ว

นี่คือหนึ่งในร่องรอยของการล้มหายตายจากของการสร้างวัฒนธรรรมการเมืองประชาธิปไตยในสังคมไทย

การสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยต้องการอะไรอีก?

การพูดและการถกเถียงอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ การปราศรัย ไฮด์ปาร์ก ทางการเมือง เป็นสิ่งที่ พิบูลสงคราม สร้างไว้ในการเมืองไทย

แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาล “ประชาธิปไตย” เท่าที่มี และแม้แต่รัฐบาลของคณะราษฎรเองก็ไม่ได้ทำคือ การบ่มเพาะวัฒนธรรมแห่งการเห็นคุณค่าในเสรีภาพแห่งการพูด คิด เขียน และการแสดงออก การจับนักเขียน นักหนังสือพิมพ์เข้าคุก ดูเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานของการเมืองสมัยใหม่ของไทย

วัฒนธรรมเครื่องแบบ คือสิ่งตกค้างของวัฒนธรรมอำนาจนิยม ทหารนิยม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น สลัดสิ่งเหล่านี้ออกจากบ้านเมืองของตนเองออกไปหมดแล้ว

แต่สังคมไทยทั้งรักทั้งหวงทั้งห่วงดั่งดวงใจ เป็นบทพิสูจน์ภาวะศิโรราบและการตกเป็นทาสของระบบอำนาจนิยมอย่างโดยสมัครใจโดยไม่ต้องมีใครบังคับให้เป็น

วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย อาจสร้างได้ด้วยการทำหลักสูตรสอนวิชาว่าด้วย civic ที่เรียกกันว่า civic education ก็สำคัญมาก แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การสร้างหลักสูตรว่าด้วยการเรียนเรื่องประชาธิปไตย หรือ civic education นั้นต้องมาจากความรู้ ความเข้าใจเรื่อง civic education ที่เป็นวิชาการแท้ๆ สอนเนื้อหาที่เป็นสากล

ทว่า ที่อดจะเป็นห่วงไม่ได้คือ เมื่อ civic education มาถูกทำให้กลายเป็น “ไทย” แล้ว สิ่งที่สอนกันก็คือ ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ประชาธิปไตยแบบทำอย่างไรจะไม่มีนักการเมืองโกง ประชาธิปไตยแบบทำอย่างไรจะได้คนดีมาปกครองบ้านเมือง ประชาธิปไตยแบบมุ่งเน้นการปราบคอร์รัปชั่นด้วยการเอาคนเลวออกไป เอาคนดีเข้ามา

แต่ไม่เคยพูดถึงหัวใจของประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจในการปกครองตนเอง

หัวใจของประชาธิปไตยคือสิทธิมนุษยชน

หัวใจของประชาธิปไตยคือการให้คุณค่าแก่มนุษย์สามัญชนและเชื่อมั่นในศักยภาพของปุถุชนคนสามัญ

หัวใจของประชาธิปไตยคือเสรีภาพในการพูด คิด เขียน และการถกเถียงด้วยเหตุและผล

หัวใจของประชาธิปไตยคือความเป็น secular คือความเป็นโลกวิสัย

หัวใจของประชาธิปไตยคือ solidarity ของเหล่าพลเมืองที่ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ เคารพซึ่งกันและกัน ปราศจากชนชั้นวรรณะ

การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย ไม่อาจสร้างด้วยกฎหมาย หรือการสอนด้วยตำราเพียงอย่างเดียว อย่าลืมว่าประชาธิปไตยคือปฏิบัติการในชีวิตประจำวันด้วย ตั้งแต่ภาษาที่ใช้ กิริยา มารยาท เราสัมพันธ์กับคนรอบตัวเราในแนวดิ่งหรือแนวราบ – ภาษาไทย หลอมให้คนสัมพันธ์กันในแนวดิ่ง – นี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้วัฒนธรรมประชาธิปไตยอ่อนแอ

การออกแบบเมืองที่ไม่มีพื้นสาธารณะให้คนได้มาปะทะสังสรรค์กันอย่างเป็นประชาธิปไตย

เมืองที่ถูกออกแบบมาให้คนถูกแยกออกจากกันเป็นขั้นๆ แต่ซ้อนทับบนพื้นที่เดียวกันโดยไม่สามารถตระหนักถึงการมีอยู่ของกันและกันในฐานที่เป็น “พวกเดียวกัน” เช่น ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่มีทั้งห้องชุดราคาหลายร้อยล้านไปจนถึงสลัม เพิงขายส้มตำ รถเข็นปลาดุกย่าง

เหล่านี้คือสภาพเมืองที่ไม่เอื้อให้เกิดสำนึกของความเป็น “ชาติเดียวกัน” ที่ร้องเกื้อกูล แชร์ทรัพยากรแก่กัน แต่อำนวยให้เกิดการเหยียบย่ำดูถูก หรือไม่เวทนา สงสาร อย่างฟูมฟายเกินกว่าเหตุ แต่ไม่มีความรู้เคียงบ่าเคียงไหล่มีสิทธิในความเป็นพลเมืองเท่าๆ กัน

สำคัญที่สุด วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อมีการฝึกฝนการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่สะดุด ไม่มีพักเบรกมาปฏิรูปประเทศ เซ็ตซีโร่ก่อนสักพัก – ไม่มี

การเลือกตั้งต่อเนื่อง และต้องการจายอำนาจลงสู่หน่วยการปกครองท้องถิ่นให้เล็ก และมีอิสระในการบริหารจัดการท้องถิ่น เช่น บริหารงบประมาณ ภาษี ของตนเอง

ยิ่งกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นได้มากเท่าไหร่ วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยก็จะหยั่งรากลึกลงเท่านั้น

เพราะประชาธิปไตยนั้นจะเกี่ยวข้องกับชีวิต จะส่งผลต่อชีวิตอย่างชัดเจน เราจะรู้ว่าทำไมการเลือกตั้งมีความหมายกับเราในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าการเลือกตั้งในระดับชาติ

ถ้า พ.ร.บ.วัฒนธรรมการเมืองนี้จะมีความหมาย ก็คงต้องระบุข้อนี้ให้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่แข็งแรง