ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (1) / เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ส่องการเคลื่อนไหวประท้วงที่ไร้ผู้นำของเมียนมา (1)

 

ผมตื่นมาเช้ามืดวันจันทร์ที่ 1 มีนาคมศกนี้ ก็ได้รับฟังข่าวเศร้าสลดทางวิทยุออนไลน์ BBC World Service ว่าสหประชาชาติแจ้งว่ามีประชาชนชาวเมียนมาถูกตำรวจทหารปราบปรามสังหารไปอย่างน้อย 18 คนในการชุมนุมประท้วงรัฐประหารอย่างสันติตามเมืองต่างๆ เมื่อวาน ด้วยกระสุนจริง กระสุนยาง ปืนไฟฟ้าและหัวฉีดน้ำความดันสูง

นับเป็นวันนองเลือดที่สุดนับแต่ชาวเมียนมาเริ่มเคลื่อนไหวประท้วงเผด็จการทหารมาร่วมเดือนและบ่งชี้ว่ารัฐบาล พล.อ.มิน อ่อง ลาย เลิกยั้งมือและคงจะใช้ไม้แข็งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

หลังเริ่มปรากฏข่าวผู้ชุมนุมประท้วงชาวเมียนมาล้มตายเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ ผมได้เขียนข้อวิเคราะห์สั้นๆ โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า :

วันฆ่าประชาชนในเมียนมา…

 

อํานาจรัฐที่ปราศไร้ความชอบธรรมและไม่ได้รับความยินยอมจากสังคม สุดท้ายก็เหลือไม้เดียวคือไม้แข็ง/ความรุนแรง กดปราบบังคับให้สังคมสยบยอม

เลือดประชาชนที่เปื้อนมือเผด็จการทหารเมียนมา ย่อมเปื้อนติดมือทุกคนที่ยื่นเข้าไปจับ รวมทั้งมือผู้นำไทยด้วย (https://www.bbc.com/thai/56196099)

นี่เป็นเหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังการแยกกองกำลังทหาร (กองทัพประจำการ/ทหารอาชีพ) ออกจากสังคมในทางกายภาพและที่อยู่ (กะเกณฑ์ให้ไปฝึกฝนรับราชการใช้ชีวิตอยู่ค่ายทหารต่างหาก) เพราะหากใกล้ชิดสนิทสนม พัวพันคลุกคลีตีโมง ถึงยามต้องปราบต้องฆ่า อาจทำไม่ลงและเอาใจออกห่าง

ซึ่งแตกต่างจากกองทหารบ้าน/ทหารอาสา ที่ใกล้ชิดและสัมพันธ์กับชาวบ้านร้านถิ่นมากกว่าตลอดเวลา และก็เป็นเหตุผลที่ทำไมประเทศถึง 36 ประเทศในโลกพากันยกเลิกกองทัพประจำการ/ทหารอาชีพไป (https://www.cnbc.com/…/countries-that-do-not-have-a…)

อำนาจรัฐแบบเผด็จการทหารเมียนมานี้ยากที่จะโค่น หากไม่แตกร้าวจากภายใน และกำลังบางส่วนหันปากกระบอกปืนเข้าใส่ผู้นำเอง

ทว่าการสู้สุดแรงหัวชนฝาอาบเลือดเอาชีวิตเข้าแลกของสังคม แม้ไม่แน่ว่าจะทำให้รัฐบาลทหารล้มได้ แต่ที่แน่ๆ คือมันทอนกำลังชาติเมียนมาโดยรวม ทอนกำลังทั้งรัฐที่ต้องพึ่งสังคม และทอนกำลังสังคมที่ถูกกดขี่ปราบปราม หมดหวังสิ้นกำลังใจ

เมียนมาจะกลายเป็นรัฐและสังคมที่อ่อนแอ ขาดสมรรถภาพ รัฐกับสังคมไม่ไว้วางใจกัน เกลียดชังกัน หวาดระแวงกันไปเป็นอีกนับทศวรรษ และสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เหมือนกับรัฐและสังคมไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา…

ชาวเมียนมาชุมนุมต้านเผด็จการทหารปี 1988 กับ 2021 ที่เจดีย์ชเวดากอง ย่างกุ้ง & วางดอกไม้ไว้อาลัยผู้ประท้วงที่พลีชีพในเมืองมัณฑะเลย์, ย่างกุ้ง 21 กุมภาพันธ์ 2021

เพื่อช่วยให้หยั่งเข้าใจสถานการณ์การชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารของมวลชนไร้ผู้นำในเมียนมาและเปิดมุมมองเปรียบเทียบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในไทยเอง

ผมใคร่ถ่ายทอดคำให้สัมภาษณ์ของริชาร์ด ฮอร์ซี นักวิเคราะห์วิจัยอิสระผู้จบปริญญาเอกจาก University College London แล้วมาทำงานอยู่ในเมียนมาร่วม 25 ปีจนปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสเรื่องเมียนมาให้แก่ International Crisis Group อันเป็นองค์การเอ็นจีโอคลังสมองข้ามชาติที่ศึกษาวิจัยและเสนอแนะแนวนโยบายแก้ไขวิกฤตการเมืองซึ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

(https://www.crisisgroup.org/asia/south-east-asia/myanmar/close-view-myanmars-leaderless-mass-protests) :

การอยู่บนท้องถนนระหว่างการประท้วงมันเป็นยังไงบ้างครับ?

ฮอร์ซี : มันยากนะครับที่จะบรรยายพลังงานเหลือเชื่อนั้นออกมา ผู้คนที่เข้าร่วมมาจากทุกชนชั้นของสังคมและทุกรุ่นคน แต่ส่วนมากที่สุดแล้วเป็นคนหนุ่ม-สาวเร่าร้อนที่จริงๆ แล้วอายุเยาว์มากทีเดียวผู้รู้สึกว่าอนาคตของพวกเขาได้ถูกขโมยไป คนหนุ่ม-สาวในเมียนมาเติบใหญ่ขึ้นมาในสิบปีหลังนี้ภายใต้บรรยากาศที่ค่อนข้างเปิดเสรี มีการเชื่อมต่อ 4 G กับโลกและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างคงเส้นคงวา นี่คือช่วงเวลาครั้งแรกในรอบ 50 ปีหลังนี้ที่คนรุ่นหนึ่งได้รู้สึกว่าพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้ พวกเขารู้สึกว่าการรัฐประหารได้ปล้นความหวังที่ว่านั้นไปจากตัวเขา

อีกแง่มุมหนึ่งซึ่งอาจมองไม่เห็นจากภายนอกคือพลังงานที่ว่านั้นส่งผลบวกเพียงใดในการประท้วง อาทิ อารมณ์ขันที่ริเริ่มแปลกใหม่ยิ่ง หรือผู้คนประชันกันออกมีม (memes) ดีที่สุดมาทางเฟซบุ๊ก เห็นชัดว่ามีแรงดลใจและเทคนิคบางอย่างที่ดึงเอามาจากการประท้วงในประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทยและฮ่องกง แต่ก็มีเชื้อมูลวัฒนธรรมพม่าที่แรงกล้าจริงๆ อยู่ด้วยตรงที่ใช้การเสียดสีสวนกลับทุกสิ่งทุกอย่างด้วยไหวพริบปฏิภาณอย่างเจ็บแสบ

ตัวอย่างเช่น ผู้คนพากันหยุดรถยนต์ของตนกลางถนน แสร้งว่ารถเสีย เปิดกระโปรงหน้ารถและบอกตำรวจว่า “ผมไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ตั้งแต่รัฐประหารไฟ CDM ของรถผมก็กะพริบแล้วรถก็เสียตลอดเลยครับ!” (CDM เป็นตัวย่อของ Civil Disobedience Movement หรือการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืน)

แหงล่ะครับว่าตำรวจก็เริ่มปราบปรามการแกล้งรถเสียกลางถนนที่ว่านี้ ดังนั้น วันถัดมา ผู้คนก็เริ่มขับรถชะลอช้ามากๆ เป็นเต่าคลานแทน พอตำรวจรู้ทัน ผู้ประท้วงก็หันไปทำอย่างอื่นอีก เกือบจะเป็นตลกจำอวดก็ว่าได้ มีคนซื้อหัวหอมมากระสอบใหญ่แต่จงใจให้ก้นกระสอบรั่ว แล้วหมอนั่นก็เดินออกไปกลางสี่แยกและแน่ล่ะครับว่าหัวหอมก็เริ่มหลุดร่วงออกมาจากก้นกระสอบ ทีนี้ก็เกิดเหตุเหมือนที่เกิดไม่ว่าตามตลาดไหนในเมียนมา นั่นคือทุกคนต่างปรี่เข้าไปช่วยเก็บหัวหอมที่หล่นกระจายใส่กลับเข้ากระสอบ แต่แหงอยู่แล้วว่าหัวหอมก็หลุดร่วงออกมาอีก ไม่ช้านานรถก็ติดเป็นแถวยาวเหยียดหลายช่วงตึก ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีเป้า หมายที่จริงจังมากอยู่ด้วยนั่นคือขัดขวางความสามารถของตำรวจที่จะเคลื่อนกำลังไปรอบเมืองเพื่อสกัดกั้นการประท้วงอื่นๆ เอาไว้

คุณเฝ้าสังเกตการณ์เมียนมาและอาศัยอยู่ในประเทศนี้บ่อยครั้งมาร่วม 25 ปีเข้านี่แล้ว คุณเคยเห็นคนมากขนาดนี้บนท้องถนนไหม? การประท้วงช่วยผนึกประชากรเข้าด้วยกันเป็นปึกแผ่นหรือเปล่า?

ฮอร์ซี : ชัดเจนว่านี่เป็นการเคลื่อนไหวประท้วงใหญ่โตที่สุดและร่วมประสานเป็นเอกภาพพร้อมเพรียงกันที่สุดที่เมียนมาได้เคยประสบมานับแต่ปี 1988 เมื่อครั้งผู้คนจำนวนมหาศาลลงถนนไปเผชิญหน้ากับการปกครองของทหาร เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ศกนี้ มีคนหลายแสนบนท้องถนนของกรุงย่างกุ้ง ถ้านับรวมทั่วประเทศก็เกินล้านคน มีการชุมนุมใหญ่ในหัวเมืองและนครสิบกว่าแห่งรวมทั้งตามที่ค่อนข้างไกลกันดารด้วย

ผู้คนทั่วทั้งประเทศอยากเข้าร่วมการที่มหาชนปฏิเสธรัฐประหาร ขณะที่แน่นอนว่าเรื่องนั้นย่อมรวมถึงการฟื้นคืนอำนาจให้ผู้ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนศกก่อน อันได้แก่ สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) ของออง ซาน ซูจี ด้วย ทว่าการปฏิเสธดังกล่าวไปไกลเกินกว่านั้นโข สิ่งที่รัฐประหารครั้งนี้ได้ทำให้เกิดขึ้นในทางเป็นจริงคือผนึกประชาชนในประเทศส่วนข้างมากอย่างล้นหลามให้กลายเป็นปึกแผ่นเอกภาพ ไม่ว่าพวกเขาจะสนับสนุน NLD ในการเลือกตั้งหรือไม่ แทบทุกคนเห็นพ้องต้องตรงกันว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ทหารบริหารประเทศ เมียนมายังคงเป็นสังคมที่แบ่งแยกกันอย่างเหลือเชื่อในหลากหลายมิติต่างๆ นานา แต่ไม่มีใครอยากหวนกลับไปสู้คืนวันอันมืดมิดของระบอบทหารอำนาจนิยมในอดีตอีกแล้ว

เราไม่ควรด่วนผลีผลามคิดว่าการเยียวยาบำบัดบรรดาการแตกแยกอย่างลึกซึ้งที่ว่านั้นจะเป็นเรื่องง่าย แต่กระนั้นก็มีสัญญาณบางอย่างว่าการเคลื่อนไหวประท้วงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เชื่อมต่อการแตกแยกเหล่านั้นเข้าหากันได้ แรกเริ่มเดิมทีหลังรัฐประหาร กลุ่มติดอาวุธและผู้นำการเมืองบางชาติพันธุ์วางตัวในทำนองคาดเล็งว่าจะยื้อแย่งช่วงชิงการยอมอ่อนข้ออันใดได้บ้างจากพวกทหารที่ดูอ่อนกำลังลงซึ่งก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลจากมุมมองของพวกเขา ท่าทีที่ว่านี้ถูกขับดันจากสำนึกที่ว่าในบริบทแห่งการประท้วงของมวลชน ทหารคงทนแบกรับการขัดแย้งต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตชายขอบรอบนอกประเทศได้น้อยลงและย่อมต้องการความชอบธรรมอันใดก็แล้วแต่ที่พอจะหาได้ ผู้นำชาติพันธุ์บางคนกระทั่งเข้าร่วมโครงสร้างการบริหารใหม่ของระบอบทหารด้วยซ้ำไป

แต่ผมคิดว่าเรากำลังเห็นการขยับย้ายในสภาพที่อารมณ์ความรู้สึกของประเทศถูกแสดงออกอย่างชัดเจนขนาดนั้นบนท้องถนน ซึ่งรวมทั้งการประท้วงใหญ่ในพื้นที่อันเป็นแหล่งรวมศูนย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อยด้วย มาบัดนี้ กลุ่มติดอาวุธและพรรคการเมืองชาติพันธุ์บางกลุ่มบางพรรคก็ได้ออกคำแถลงที่ค่อนข้างแข็งกร้าวทีเดียวว่าพวกเขาเข้าข้างผู้ประท้วง ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาพอมองออกว่ากระแสลมกำลังพัดไปทางไหนโดยทั่วไปในแง่อารมณ์ความรู้สึกของมหาชน และอีกส่วนหนึ่งเพราะพวกเขากำลังแสวงหาความเป็นอิสระมากขึ้นและรู้ดีว่าข้อตกลงทางการเมืองใดๆ ในอนาคตที่จะมอบหมายมันมาย่อมต้องผ่านความเห็นชอบจากเสียงข้างมาก

แต่ท่าทีของพวกเขาสะท้อนเรื่องอื่นๆ เกินไปกว่าการคำนวณเหล่านี้ด้วย ตอนนี้ประชากรชาติพันธุ์เดียวกับพวกเขาเองก็กำลังออกสู่ท้องถนนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าประชากรชาติพันธุ์ส่วนน้อยทั้งหลายจะคิดเห็นอย่างไรต่อ NLD พวกเขาก็ไม่ต้องการอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารเพราะบรรดารัฐบาลทหารในอดีตนั่นแหละที่ได้กดขี่ชนชาติพันธุ์ส่วนน้อยทั้งหลายอย่างหนักหนาสาหัส

(ต่อสัปดาห์หน้า)