On History : รัชกาลที่ 3 แสดงความเป็นจักรพรรดิราช ผ่านพระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดนางนอง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
พระพุทธรูปทรงเครื่องที่พระอุโบสถวัดนางนอง เป็นภาพที่ขยายออกมาจากเรื่องท้าวชมพูบดีที่เขียนเล่าไว้ในภาพจิตรกรรมทางด้านหลังขององค์พระพุทธรูป

 

รัชกาลที่ 3

แสดงความเป็นจักรพรรดิราช

ผ่านพระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดนางนอง

 

วัดนางนองวรวิหาร ตั้งอยู่ข้างคลองด่าน ย่านบางขุนเทียน โดยมีประวัติว่าเก่าแก่ไปถึงเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่โครงสร้างทั้งหมดที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นงานบูรณะเพิ่มเติม (ที่จะเรียกว่าสร้างขึ้นใหม่ก็ไม่น่าผิดอะไรนัก) ในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นสิ่งปลูกสร้างประธานของวัด

แต่ถ้าจะพูดให้ชัดเจนไปกว่านั้น ประธานของวัดนั้นก็คือพระพุทธรูป ที่ตั้งเป็นพระประธานอยู่ภายในพระอุโบสถ

ที่น่าสนใจก็คือ พระพุทธรูปองค์ที่ว่า เป็น “พระพุทธรูป” ทรงเครื่องอย่าง “พระจักรพรรดิราช” ซึ่งบางท่านก็เรียก “พระพุทธมหาจักรพรรดิ” เสียด้วย

 

คติการสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องของไทยนั้น มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นตามคติเรื่อง “พระจักรพรรดิราช” ในชมพูบดีวัตถุมาตั้งแต่เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างน้อย

ดังปรากฏหลักฐานว่า เมื่อ พ.ศ.2398 ราชทูตลังกาได้มีโอกาสเห็น “พระพุทธรูปทรงเครื่อง” ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ ก็เกิดสงสัยใจขึ้น เพราะในลังกาไม่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างนี้ จึงได้ถามต่อเจ้าพนักงานที่ต้อนรับขับสู้ว่า ทำไมสยามจึงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องคล้ายเทวรูป?

ความตรงนี้ทราบไปถึงพระกรรณของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ จึงรับสั่งให้เสนาบดีชี้แจงไปในจดหมายของอัครเสนาบดีไทยมีไปถึงอัครเสนาบดีลังกา ปี พ.ศ.2399 ดังความว่า

“พระเจ้าราชธิราชผู้อุดมนั้น หาทรงทำพระราชกิจอันเป็นพระกุศลยวดยิ่ง ให้ผิดทำนองคลองพระพุทธพจน์ไม่ พระพุทธพิมพ์ที่ทรงมงกุฎเช่นนี้ได้มีปรากฏในมหาชมพูบดีวัตถุ เหตุนั้น ราชบุตรผู้เล่าเรียนนิทานนั้นชัดเจนบอกเล่ามีมาอย่างนี้แท้จริง”

 

เรื่องราวในชมพูบดีวัตถุ (หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามหาชมพูบดีสูตร) ที่ว่านี้ เล่าถึงท้าวชมพูบดีผู้ครองมหานครใหญ่ที่ชื่อนครปัญจาละ พรั่งพร้อมไปด้วยอิสริยยศและบริวารยศ หาผู้ใดในชมพูทวีปเสมอเหมือนได้ จึงสำคัญพระองค์ผิดว่าไม่มีใครสามารถสู้รบกับพระองค์ อยู่มาวันหนึ่งพระองค์ทอดพระเนตรเห็นกรุงราชคฤห์เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ก็หมายจะสำแดงอิทธิฤทธิ์บังคับให้พระเจ้าพิมพิสารตกอยู่ใต้อำนาจของพระองค์ แต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าคุ้มครองไว้

พระพุทธเจ้าทรงเห็นเหตุดังนั้นก็หมายจะทรมานท้าวชมพูบดีให้สิ้นฤทธิ์ จึงเนรมิตพระองค์เป็น “พระจักรพรรดิราช” คือราชาเหนือราชาทั้งปวง เนรมิตวัดเวฬุวันวิหารให้เป็นพระนครหลวง ให้พระอินทร์จำแลงกายเป็นราชทูตไปทูลเชิญ “แกมบังคับ” ให้ท้าวชมพูบดีมาเข้าเฝ้า

เมื่อท้าวชมพูบดีได้ทอดพระเนตรเห็นนครของพระจักรพรรดิราชมั่งคั่งสมบูรณ์กว่าพระองค์ ได้เข้าเฝ้าและทรงสดับพระราชบริหารต่างๆ ก็ละมิจฉาทิฐิยอมแพ้แก่ฤทธิ์ของพระจักรพรรดิราช พระพุทธองค์จึงคลายฤทธิ์ให้ท้าวชมพูบดีเห็นพระสรีระที่แท้จริง

และแสดงธรรมเทศนาจนท้าวชมพูบดีบรรลุเป็นพระอรหันต์

 

ที่สำคัญก็คือ เรื่องเล่าของท้าวชมพูบดีที่ว่านี้ก็ถูกวาดไว้บนฝาผนังส่วนเหนือกรอบบานประตูและบานหน้าต่างทั้ง 4 ด้านภายในพระอุโบสถที่วัดนางนอง แถมที่ผนังด้านหลังของพระพุทธรูปองค์นี้ ยังเขียนเป็นรูปท้าวชมพูบดีเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิราชที่มีสีทอง ราวกับจะฉายภาพขยายออกมาจากงานจิตรกรรมว่า ผู้ที่เข้ามาสักการะพระพุทธรูปองค์นี้ เปรียบได้กับท้าวมหาชมพูบดี ที่เข้ามากราบกรานศิโรราบต่อพระจักรพรรดิราชนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ บานหน้าต่าง บานประตูทั้งหมดภายในพระอุโบสถยังประดิษฐ์เป็นลวดลายลงรักปิดทอง รูปเครื่องราชูปโภคทั้งหลาย เฉพาะที่กรอบประตูทางเข้าด้านนอกของพระอุโบสถ มีลายลงรักปิดทองเรื่องกำเนิดรัตนะ (ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้ววิเศษ 7 ประการของพระจักรพรรดิราชตามปรัมปราคติในพุทธศาสนา) ซึ่งทั้งหมดย่อมทั้งสอดคล้อง และตอกย้ำคติเรื่องพระจักรพรรดิราช ทั้งที่เขียนเล่าเป็นงานจิตรกรรม และแสดงออกเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่อง

แต่ภายในพระอุโบสถแห่งนี้ไม่ได้มีแต่ภาพเขียนเรื่องพระจักรพรรดิราชนะครับ เพราะที่ผนังระหว่างกรอบหน้าต่างเขียนเป็นภาพกำมะลอเล่าเรื่องสามก๊ก โดยได้ตัดตอนมาเล่าเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่เล่าปี่เริ่มมีบทบาทสำคัญพอจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย เรื่อยไปจนกระทั่งจบลงที่ชัยชนะเหนือโจโฉ ซึ่งคือเกียรติภูมิสูงสุดในชีวิตของเล่าปี่ก็ว่าได้

สรุปง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เขียนเล่าเฉพาะส่วนที่แสดงให้เห็นว่า “เล่าปี่” เป็นกษัตริย์ที่ดี ตามค่านิยมแบบจีน

 

ก็อย่างที่รู้กันดีนะครับว่า รัชกาลที่ 3 นั้นทรงมีพระราชนิยมในศิลปวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจนยิ่งกว่าภาพ Full HD ขนาดไหน? ถ้าพระองค์จะทรงผสมผสานความคิดเรื่องของจักรพรรดิราชเข้ากับคุณลักษณะของกษัตริย์อย่างขงจื๊อก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรเลยสักนิด

การที่รัชกาลที่ 3 ทรงมาบูรณะวัดนางนอง ที่วางตัวอยู่ที่คลองด่านก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพราะที่บริเวณใจกลางของชุมชนบางขุนเทียน ซึ่งเป็นย่านเก่าของข้าหลวงเดิม ที่เกี่ยวข้องกับสายพระราชตระกูลในรัชกาลที่ 3 แถมวัดที่วางตัวอยู่ทั้งสองฟากข้างของลำคลองรวมทั้งสิ้น 3 วัด ได้แก่ วัดราชโอรสราชวรวิหาร วัดหนังราชวรวิหาร และวัดนางนองวรวิหาร ซึ่งล้วนมีการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเกี่ยวข้องกับพระองค์เองทั้งสิ้น

วัดหนัง เป็นวัดเก่าแก่มีประวัติย้อนไปได้ถึงยุคอยุธยาเช่นกัน แม้ไม่ใช่วัดที่ได้รับการปฏิสังขรณ์โดยรัชกาลที่ 3 โดยตรง แต่ก็มีเรื่องเล่าว่า ราชนิกุลสายท่านเพ็ง ซึ่งเป็นพระชนนีของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ผู้เป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 เป็นชาวสวนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่บริเวณวัดหนัง แสดงให้เห็นว่าย่านนี้เป็นถิ่นเดิมที่มีภูมิหลังเกี่ยวข้องกับพระองค์

ส่วนวัดสมัยอยุธยาอีกแห่งคือวัดราชโอรส นั้นเดิมชื่อวัดจอมทอง มีเรื่องเล่าลือกันว่า การที่รัชกาลที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการบูรณะวัดจอมทอง ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนครองราชย์ จึงเรียกชื่อวัดนี้ต่อๆ กันมาว่า “วัดราชโอรส”

ฟังดูเผินๆ ก็ชวนให้รู้สึกคล้อยตามนะครับ แต่ในเมื่อเป็นย่านถิ่นเก่าของรัชกาลที่ 3 เอง ทำไมเพิ่งจะมาเรียกว่า “ราชโอรส” เอากันตอนที่ซ่อมวัด ทั้งที่ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า “ไผเป็นไผ” ไม่ใช่หรือ?

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เคยเล่าเอาไว้ในหนังสือที่ชื่อความทรงจำว่า เมื่อครั้งที่ก่อสร้างพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามแล้วเสร็จนั้น รัชกาลที่ 3 มีรับสั่งให้นำเอา “มงกุฎ” ของพระพุทธรูปทรงเครื่องที่วัดนางนอง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า จะให้เจ้าฟ้ามงกุฎคือรัชกาลที่ 4 ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์

แต่เมื่อพิจารณาจากร่องรอยหลักฐานหลายๆ อย่างแล้ว บางทีกรมพระยาดำรงฯ อาจจะเข้าใจผิดก็ได้นะครับ