การเดินทางของตำรวจไทย (2) / บทความพิเศษ “นอกเครื่องแบบ”

บทความพิเศษ

“นอกเครื่องแบบ”

 

การเดินทางของตำรวจไทย (2)

 

พัฒนาการการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมโลก (ต่อ)

4.ยุคตำรวจเพื่อการเมือง (Political Era ค.ศ.1840-1930 โดยประมาณ)

ยุคนี้ สังคมมีความสลับซับซ้อนมาก ศาสตร์หรือวิทยาการด้านตำรวจก้าวหน้าน้อย แต่เริ่มมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น ตำรวจจึงนำมาใช้ แต่เป็นการใช้ที่เกินพอดี กระทั่งถูกครอบงำกลายเป็นทาสเทคโนโลยีในที่สุด

ยิ่งตำรวจใช้เทคโนโลยีมากเท่าไรก็ยิ่งห่างจากประชาชนมากเท่านั้น และเมื่อตำรวจอยู่ห่างประชาชน ปัญหาอาชญากรรมก็พุ่งสูงขึ้น

ทัศนคติระหว่างตำรวจกับประชาชนมีแต่ด้านลบ เมื่อตำรวจไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในสังคมจึงมีโอกาสครอบงำตำรวจได้ง่าย

ตำรวจไม่ใช่มืออาชีพในการรักษาความสงบของสังคมอีกต่อไป แต่กลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ให้กับนักการเมือง อาชญากรรมรุนแรงมากขึ้น

สังคมไม่มีความสงบสุข เพราะตำรวจไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชน แต่เป็นเครื่องมือของฝ่ายที่มีอำนาจทางการเมือง

 

5.ยุคปฏิรูปตำรวจ (Reform Era ค.ศ.1930-1970 โดยประมาณ)

ในที่สุดประชาชนพยายามดึงตำรวจออกมาจากอิทธิพลของนักการเมือง

ดึงเอางานที่ไม่เกี่ยวกับอาชญากรรมออกจากความรับผิดชอบของตำรวจ ก่อนหน้านี้ตำรวจมักจะอ้างว่า ขาดแคลนกำลังพล อุปกรณ์ งบประมาณ และกฎหมายมีโทษเบาเกินไป ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมสูงมาก

แต่เมื่อมีการนำปัญหาดังกล่าวไปศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง ผลการศึกษากลับชี้ว่าการเพิ่มกำลังพลไม่ได้มีผลทำให้ปัญหาอาชญากรรมลดน้อยแต่อย่างใด

ถึงจะมีการจับกุมคนทำผิดได้เป็นจำนวนมาก แต่อัตราการเกิดอาชญากรรมกลับไม่ได้ลดลงเลย

อีกทั้งหลักการทางสิทธิมนุษยชนมีความเข้มแข็งขึ้นจึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูปตำรวจ

ในที่สุดตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มหันเข้าหาประชาชน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับชุมชน และพยายามสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน ยุคนี้เริ่มนำทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ (Police Community Relation Theory) มาใช้

แต่ปัญหาอาชญากรรมก็ยังไม่ลดลง เพราะแม้ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับชุมชน แต่ตำรวจก็ยังคงเป็นผู้กำหนดการดำเนินงานทังหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว มีลักษณะการทำงานและสั่งการแบบบนลงล่าง ประชาชนเป็นเพียงผู้ต้องให้ความร่วมมือ ด้วยการเป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลเท่านั้น

ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์นั้นดี แต่ไม่สามารถทำให้อาชญากรรมลดลงได้ ในที่สุดจึงมีความสำคัญน้อยลง

 

6.ยุคตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing Era ค.ศ.1970-ปัจจุบัน)

หลังจากนำทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์มาใช้แล้วปรากฏผลว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา

ในที่สุดจึงได้นำทฤษฎีมาปรับปรุงใหม่ ด้วยการเปิดทางให้พลังทางสังคมมามีส่วนร่วมลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาอาชญากรรมควบคู่ไปกับตำรวจ

โดยมีหลักการสำคัญคือ “ประชาชนในชุมชนต้องลงมือป้องกันและให้บริการคนในชุมชนร่วมกับตำรวจ” ต้องพยายามลดความรู้สึกหวาดระแวงของประชาชนที่มีต่อตำรวจ ต้องพยายามลดความรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชน

และต้องเสริมสร้างความศรัทธาของประชาชนให้เกิดมีกับตำรวจและยุทธศาสตร์ของตำรวจ

ทั้งนี้ สามารถปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมด้วยการเข้าไปรับใช้และให้บริการกับชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจให้เกิดขึ้นจริง

ตำรวจยุคนี้เป็นตำรวจในระบอบประชาธิปไตย ฉะนั้น จึงมีการแสดงออกทั้งบุคลิกและพฤติกรรมที่สุภาพ (ตัวอย่างเช่น ตำรวจของประเทศอังกฤษไม่พกอาวุธปืนขณะตรวจตระเวน)

เน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของอาชญากรรม ด้วยการนำหลักการของทฤษฎีป้องกันการแพร่ระบาดของอาชญากรรม (Broken Windows Theory) มาใช้ร่วมกับตำรวจญาณทิพย์ (Predictive Policing) และการบริหารจุดเสี่ยง (Hot Spots Policing) ทำให้การวิเคราะห์ปัญหาอาชญากรรมมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก

ตำรวจยุคหลังการปฏิรูปจึงได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม สามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้มากขึ้น

ตำรวจเริ่มชนะอาชญากรรม ยึดการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ผู้เสียหายกลับเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

พร้อมทั้งมีการนำกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) หรือการเยียวยาผู้เสียหาย มาใช้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น ด้วยการให้อัยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ปฏิบัติงานภาคสนามกับศาลยุติธรรม เมื่อปัญหาอาชญากรรมเริ่มลดลง กระบวนการยุติธรรมเข้มแข็งขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ต้องขังลดลง ส่งผลให้มีการยกเลิกเรือนจำเป็นจำนวนมาก

ผู้ต้องขังได้รับการแก้ไขฟื้นฟูด้วยความเอาใจใส่ ทำให้มีผู้กระทำผิดซ้ำลดลง ขณะที่ยังมีผู้กระทำผิดเรื้อรัง (Chronic Offender) ในสังคม จำนวนเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น

หลักการสำคัญ

ของตำรวจในสังคมโลก

จากอดีตถึงปัจจุบัน

1.ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Theory) มุ่งเน้นการบังคับข่มขู่ให้เกิดความกลัว คนในสังคมจะได้ไม่กล้าทำผิด ถ้าผู้ใดล่วงละเมิดก็จะถูกลงโทษให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง

อาทิ หากมีการกระทำผิดกฎหมาย ก็จะมีกระบวนการจับกุม สอบสวน ซึ่งล้วนเป็นการทำงานเชิงตั้งรับ เพราะเป็นขั้นตอนการทำงานหลังจากมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว (ทางที่ดีว่า คือต้องพยายามหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น)

2. ทฤษฎีตำรวจชุมชนสัมพันธ์ (Police Community Relation Theory) หลักการนี้ ตำรวจจะมุ่งเน้นแสวงหาความร่วมมือจากประชาชน เปิดช่องทางรับและส่งข้อมูลข่าวสารกับชุมชน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในชุมชน ขจัดปัญหาข้อขัดแย้งที่มี

แต่ทุกขั้นตอนล้วนยังคงให้ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ประชาชนเป็นเพียงผู้ให้ความร่วมมือและเป็นแหล่งข้อมูลแจ้งข่าวเท่านั้น

3. ทฤษฎีการป้องกันอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม (Crime Control Through Environmental Design) สถานีตำรวจและสถานที่ต่างๆ เช่น ป้อมตำรวจ ตู้ยาม เสียง แสง บรรยากาศ สภาพแวดล้อม และการกระทำให้คนเห็นสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการกระตุ้นทางจิตวิทยา ล้วนมีผลต่อพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ ทำให้ไม่กล้าทำผิดกฎหมาย เพราะกลัวถูกจับได้ เป็นต้น

4. ทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing Theory) มุ่งสร้างความรู้จักคุ้นเคยกับคนในชุมชน ด้วยการเข้าไปคลุกคลีในชุมชน ลดความหวาดระแวงของประชาชน แต่สร้างความหวาดระแวงให้กับคนร้าย

เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับประชาชนในพื้นที่ ลักษณะเช่นกันคิดช่วยกันทำ

ซึ่งหลักการนี้ได้ผลในการป้องกันการก่ออาชญากรรมมากกว่าหลักการตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และเป็นครั้งแรกที่ตำรวจสามารถเอาชนะอาชญากรรมได้

5. หลักการพัฒนาและแก้ปัญหาที่พลิกผันตามแนวทางของชุมชน (Community Oriented Policing and Problem Solving “COPPS”)

หลักการนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่า แต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกัน รากเหง้าของปัญหาต่างๆ จึงไม่เหมือนกัน

ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ย่อมแตกต่างกันด้วย เราไม่สามารถใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลในพื้นที่หนึ่งไปแก้ปัญหาของอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีความแตกต่างกันให้ได้ผลสมบูรณ์ จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางประการให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เสียก่อน

6. ทฤษฎีป้องกันการแพร่ระบาดของอาชญากรรม (Broken Windows Theory) มีความคิดเชิงเปรียบเทียบว่า เมื่อเราพบรอยร้าวที่กระจกหน้าต่างก็สมควรรีบซ่อมแซมเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยให้รอยร้าวขยายตัวออกไปจนหน้าต่างแตกทั้งบาน

หรืออาจเรียกว่าการรีบตัดไฟเสียแต่ต้นลม

หรืออย่าปล่อยให้วัวหายแล้วจึงคิดล้อมคอก

ตำรวจต้องหมั่นตรวจตรา มีสิ่งใดหรือใครที่อาจก่อให้เกิดปัญหา หรือมีปัญหาเล็กๆ อย่างใดที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่และร้ายแรงกว่า ก็ต้องรีบเข้าไปดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด แก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ ไม่ปล่อยให้ลุกลามเป็นปัญหาใหญ่โตในภายหลัง

7. การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล (Data Collection and Analysis) ต้องมีการเก็บข้อมูลสำหรับใช้ในการสืบสวนค้นหาข้อเท็จจริงในระยะยาว (Long-term Investigation) เพราะเมื่อเวลาผ่านไป หลักฐานและร่องรอยของเหตุร้ายจะค่อยๆ เลือนหาย จึงจำเป็นต้องรีบเก็บรวบรวบข้อมูลและร่องรอยของพยานหลักฐานต่างๆ ของเหตุร้ายนั้น ให้เร็วและครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

แนวทางการปฏิบัติดังกล่าวนี้ได้พัฒนากลายเป็นงานตำรวจญาณทิพย์ (Predictive Policing) ซึ่งเป็นวิธีป้องกันอาชญากรรมของตำรวจที่ก้าวหน้ามาก