ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | อนาคตการเมืองไทยหลังการขยับครั้งใหม่ของทักษิณ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

ในที่สุดแอพพลิเคชั่น “คลับเฮาส์” ก็เป็นพื้นที่ใหม่ของการสื่อสารทางการเมืองตามที่คาดไว้สัปดาห์ที่แล้วจริงๆ เพราะไม่เพียงปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล จะปรากฏตัวโดยมีผู้ติดตาม 150,000-250,000 ในเวลาแค่เจ็ดวัน การพูดในคลับเฮาส์ของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรกก็มีผู้ฟังพร้อมกันเกือบแสนคน

ตรงข้ามกับทวิตเตอร์ที่สั้น, เร็ว และระบุตัวตนไม่ได้จนแพร่หลายเพราะเป็นการสื่อสารที่ทุกคนแทบจะเท่ากัน คลับเฮาส์ยาว, เนิบ และรู้ว่าใครเป็นใครจนความตรงไปตรงมาและความต่อเนื่องเป็นเสน่ห์ให้คนใช้แอพพ์นี้มากที่สุด ต่อให้จะเป็นเรื่องที่คุยกันยาวๆ ได้ยากอย่างเรื่องการเมืองก็ตาม

ปวินเคยโพสต์ถึงการเข้าไปในคลับเฮาส์แล้วถูกวู้ดดี้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง และเมื่อคำนึงถึงกรอบกฎหมายหรือ “ขั้ว” การเมืองที่ต่างกัน การสนทนาแบบนี้แทบไม่มีทางเป็นไปได้

คลับเฮาส์จึงเป็นแอพพ์ที่ทำให้เกิดบทสนทนาซึ่งสันติและอารยะกว่าทวิตเตอร์หรือเฟซซึ่งเอื้อให้คนโพสต์ด่าแข่งกัน


การปรากฏตัวของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้คนทั้งประเทศฮือฮา และดราม่าในเฟซบุ๊กกับทวิตเตอร์ก็ลามจนข้อมูลผิดและถูกเพ่นพ่านต่อไปอีก

ทั้งหมดนี้ยิ่งยืนยันว่าพลังของคลับเฮาส์คือการฟัง, ร่วมพูดคุย และมีบทสนทนาจริงๆ กับคนที่ระบุตัวตนได้จนทุกคนระวังตัวและใช้สติก่อนพูดออกมา

ทักษิณเป็นอดีตนายกฯ ไม่กี่คนที่พูดแล้วมีคนอยากฟัง และถึงแม้ประเทศไทยจะมีนายกฯ และอดีตนายกฯ ที่ยังอยู่อีกหลายคน คนที่พูดแล้วสังคมอยากรู้ว่าพูดอะไรมีไม่มาก ยิ่งพูดแล้วคนฟังเท่าทักษิณยิ่งมีน้อย ไม่ต้องพูดถึงความกล้าพูดในโซเชียลที่เปิดโอกาสให้ทุกคนถามตรงๆ แบบทักษิณทำ

เพื่อป้องกันไม่ให้คนจับประเด็นผิดไปขยายความตามอำเภอใจ คำว่าทักษิณเป็นอดีตนายกฯ ที่พูดแล้วมีคนฟังไม่ได้แปลว่าทักษิณพูดถูกหรือพูดดีไปหมด

แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงว่าอดีตนายกฯ คนนี้พูดแล้วมีคนอยากรู้ว่าพูดอะไรมากกว่านายกฯ หรืออดีตนายกฯ คนอื่นจริงๆ อย่างน้อยในเชิงปริมาณ

ประเด็นที่ทักษิณพูดในคลับเฮาส์คือเศรษฐกิจ พูดตรงๆ คือการก่อรูป (Formation) ของนโยบายเศรษฐกิจยุคทักษิณเป็นนายกฯ ปี 2544-2549 หรือยุคยิ่งลักษณ์ที่ “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ปี 2554-2557 แต่ประเด็นที่ฮือฮาในโซเชียลกว่าคือคำถามของ “คนรุ่นใหม่” เรื่อง 112 และกรือเซะ-ตากใบ

การเสียชีวิตของคนมลายูมุสลิมเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมไทยพึงเรียนรู้เหมือนการฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม 2519 หรือปราบคนเสื้อแดงปี 2553 แต่ก็เหมือนทุกเรื่องที่ชื่อทักษิณเกี่ยวข้อง “โซเชียล” ถกเรื่องนี้โดยประเด็นเรียวแคบแค่ “ด่าทักษิณ” หรือ “ป้องทักษิณ” จนเหลือแค่การโจมตีทางการเมืองอย่างไม่ควรเป็น

สำหรับคนที่สนใจเรื่องกรือเซะและตากใบจริงๆ ไม่ใช่แค่เพื่อด่าหรืออวย กรือเซะ-ตากใบคือความรุนแรงโดยรัฐต่อคนมลายูมุสลิมที่เกิดขึ้นในปี 2547 โดยคนจำนวนมากสนับสนุนหรือไม่คัดค้าน การสรุปบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้จึงต้องพูดถึงปัญหาทั้งสามระดับ จะแค่ด่าหรืออวยคงไม่พอ

พูดแบบสั้นที่สุด สังคมไทยช่วงก่อนเหตุกรือเซะ-ตากใบ เป็นเหมือนสังคมอื่นทั่วโลกในยุคหลัง 9/11 ที่ภาพเครื่องบินกลุ่มก่อการร้ายชนตึกเวิลด์เทรดที่สหรัฐเป็นเหมือน Simulacrum ที่ทำให้เชื่อว่าโลกมีผู้ก่อการร้ายรอทำลายทุกประเทศ จากนั้นความเชื่อว่าอิสลามคือผู้ก่อการร้ายของโลกก็ตามมา

สังคมไทยก่อนปี 2547 เป็นสังคมที่โจมตี “ทนายสมชาย” ซึ่งเป็นทนายสิทธิว่าเป็น “ทนายโจร” เพียงเพราะว่าความให้คนสามจังหวัดซึ่งรัฐยัดคดี “ผู้ก่อการร้าย”, เป็นประเทศที่สื่อพูดถึงคนสามจังหวัดด้วยคำว่า “โจรใต้” และเป็นประเทศที่คนเชื่อเมื่อรัฐบอกว่าทนายสมชายถูกอุ้มหายด้วยเรื่องส่วนตัว

ทักษิณไม่ได้ใช้คลับเฮาส์เพื่อพูดเรื่องกรือเซะ-ตากใบ แต่ “คนรุ่นใหม่” ในคลับเฮาส์ถามเรื่องนี้โดยไม่เคยมีอดีตนายกฯ หรือผู้นำกองทัพคนไหนปล่อยให้ประชาชนถามตรงๆ แบบนี้มาก่อน คำตอบของทักษิณจะถูกหรือไม่จึงเป็นเรื่องของทักษิณ แต่การเกิดพื้นที่ซึ่งคนถามผู้นำตรงๆ ได้ต่างหากที่สำคัญ

คำถามคืออะไรทำให้ทักษิณออกมาขยับในพื้นที่คลับเฮาส์เพื่อที่จะพูดและเปิดโอกาสให้ใครก็ได้พูดและตั้งคำถามกับคุณทักษิณตรงๆ

จุดเด่นของคลับเฮาส์คือผู้พูดเอาตัวเองมาอยู่ท่ามกลางผู้ฟังซึ่งพร้อมจะตั้งคำถามต่างๆ ได้ตลอดเวลา

คุณทักษิณในคลับเฮาส์คือคุณทักษิณที่พูดท่ามกลางคนอย่างน้อย 8,000 ซึ่งจะถามหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็ได้

การปรากฏตัวของคุณทักษิณจึงเป็นภาพสะท้อนระดับความมั่นใจในตัวเองพอสมควร

คุณทักษิณไม่ได้ปรากฏตัวในคลับเฮาส์โดยผู้จัดห้องสนทนารู้ตัว การสนทนาจึงไม่ใช่การ “เตี๊ยม” และเนื้อหาที่พูดจึงแสดงความคิดของคุณทักษิณแบบฉับพลันออกมาเท่าที่จะทำได้ตามการถามสดตอบสดใน 20 นาที

“สาร” หลักที่คุณทักษิณพูดคือการก่อตัวของนโยบายเศรษฐกิจยุคไทยรักไทย พูดให้ขึ้นคือคุณทักษิณไม่ได้พูดเรื่องไทยรักไทยทำอะไร แต่พูดเรื่อง “วิธีคิด” ว่าทำไมตัวเองในฐานะนายกฯ จึงทำแบบนั้น

และหากนับจากต้นปี 2564 ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สี่แล้วที่คุณทักษิณพูดเรื่องการสร้างนโยบาย

นโยบายแจกแท็บเล็ตยุคยิ่งลักษณ์เป็นนโยบายปี 2554 ที่ถูกแซะว่าเด็กเอาไปเล่นเกม, ต่างจังหวัดไม่มีเน็ต, เปลืองไฟ ฯลฯ ทั้งที่ตอนนี้การใช้อุปกรณ์นี้เพื่อการศึกษาเป็นเรื่องปกติ ขณะที่คุณทักษิณอธิบายว่าตอนนั้นคิดนโยบายนี้เพราะต้องการเพิ่มทักษะเด็กในการเข้าถึงความรู้ในโลกออนไลน์

คุณทักษิณและเพื่อไทยถูกโจมตีว่าทำนโยบายประชานิยมที่จะทำให้ประเทศล่มจมมาเกือบ 20 ปี แต่เอาเข้าจริงๆ รัฐบาลที่โจมตีคุณทักษิณที่สุดกลับทำให้ประเทศใกล้ล่มจมสูงสุด คำอธิบายที่เน้นการสร้างนโยบายของคุณทักษิณจึงสื่อสารภาพคุณทักษิณและเพื่อไทยว่ามีคุณสมบัติที่พรรคอื่นไม่มี

การขยับของคุณทักษิณเป็นสัญญาณว่าพรรคเพื่อไทยเตรียมจัดทัพเพื่อรอรับเลือกตั้ง และต่อให้ไม่รู้ว่าจะมีเลือกตั้งใหม่เมื่อไร ยุทธศาสตร์เพื่อไทยคือการชูความพร้อมและประสบการณ์ในการสร้างนโยบายที่เหนือกว่าคู่แข่งในระบบการเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลังประชารัฐ

อาจมีคนโจมตีว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาตรฐานต่ำจนใครเทียบด้วยก็ดูดี แต่ข้อเท็จจริงคือสองคนนี้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศมา 14 ปี หากนับตั้งแต่วันที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.ในปี 2550 การที่คุณทักษิณและเพื่อไทยชูความเหนือกว่าจึงมีความหมายบางอย่างอยู่ดี

ทักษิณในคลับเฮาส์คือการสื่อสารว่าทักษิณซึ่งเป็นเจ้าพ่อธุรกิจไอทีในปี 2544 ยังเป็นคนวัย 71 ที่เท่าทันเทคโนโลยี ต่อให้จะมีคนกระแหนะกระแหนว่าทักษิณไม่ได้พูดอะไรใหม่เมื่อเทียบกับตัวท็อปด้านไอทีวัย 40-50 คนอื่นๆ แต่คนเหล่านั้นก็ไม่ได้อยู่ในฐานะจะเป็นคู่แข่งกับอีกฝั่งอย่างทักษิณเป็น

คุณทักษิณพูดเรื่องวิสัยทัศน์ด้านนโยบายยิ่งกว่าจะพูดถึงนโยบายรูปธรรมตรงๆ ซึ่งก็ถูกแล้วเมื่อคำนึงว่าคุณทักษิณไม่อยู่ในฐานะเป็น “ผู้เล่น” ทางการเมืองโดยตรง

แต่การพูดเรื่องวิธีคิดด้านนโยบายแบบนี้มีแรงส่งไปเพิ่มคะแนนนิยมให้เพื่อไทยแน่ๆ ไม่ว่าคุณทักษิณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ประเทศไทยในปี 2564 คือประเทศที่รอรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ การขยับของคุณทักษิณแบบนี้คือสัญลักษณ์ของความต้องการรับกระแสความเปลี่ยนแปลงด้วยเรื่องประสบการณ์และวิสัยทัศน์บางอย่างซึ่งถือว่ายังไม่มีในคู่แข่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือฝ่ายเดียวกัน

ถ้าเทียบกับฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตรที่ใช้วิธีรักษาอำนาจด้วยกล้วยและกฎหมาย วิธีการของคุณทักษิณคือเสนอโจทย์ให้คนไทยคิดว่าประเทศไทยมีโอกาสมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ นั่นคือเป็นประเทศที่เอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้งว่าคนแบบไหนควรเป็นผู้นำประเทศกว่ากัน

การเมืองไทยในปี 2564 จะเป็นปีที่ดุเดือดกว่าการเมืองไทยในปี 2563 และด้วยวิธีสื่อสารทางการเมืองแบบที่คุณทักษิณแสดงออกในตอนนี้ การฟื้นฟูประเทศจากความถดถอยเชิงโครงสร้างในยุคเผด็จการอาจเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะเป็นวาระประเทศเหมือนไทยรักไทยยุคปลดหนี้ IMF ปี 2544

ท่ามกลางการเผชิญหน้าและความตึงเครียดทางการเมืองที่กำลังก่อตัวขึ้น โอกาสใหม่ๆ ในการเปลี่ยนประเทศกำลังเกิดขึ้น สุดแท้แต่แต่ละกลุ่มมีศักยภาพในการเปลี่ยนประเทศสู่ทิศทางที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนได้อย่างไร

เพราะที่แน่ๆ ประเทศไทยไม่ควรมีทิศทางแบบหลังปี 2557 อีกต่อไป