คุยกับทูต : ‘อูก ซอร์พวน’ (ตอน 2) ไทย-กัมพูชาในความเปลี่ยนแปลง และคุณภาพชีวิตเพื่อนร่วมชาติ

“กระบวนการในการเป็นทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2018 ผมได้รับการแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา จากนั้นกัมพูชาได้เสนอชื่อผมมายังประเทศไทยเพื่อขออนุมัติ ซึ่งได้รับการอนุมัติในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2019”

เอกอัครราชทูตอูก ซอร์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) เล่าถึงการมาประจำประเทศไทยครั้งที่สอง

“ผมเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เดือนมีนาคม และเดือนเมษายนก็ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทยให้ปฏิบัติหน้าที่ทูต ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ผมได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำราชอาณาจักรไทย โดยรวมอยู่ในกลุ่มทูตใหม่อีก 7 คน และผมเข้าเฝ้าฯ เป็นคนสุดท้ายในวันนั้น”

“ครั้งแรกที่ได้มาประจำที่นี่เป็นปี ค.ศ.2007 เมื่อเทียบกับตอนนี้ ประเทศไทยและโดยเฉพาะกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก เพียงแค่มองไปที่ท้องถนน รถยนต์ ตึกระฟ้า ห้างสรรพสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็สามารถบอกได้ว่าประเทศเจริญรุ่งเรืองรุดหน้าไปมากน้อยแค่ไหน”


นักการทูตมักเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของวงจรในกระบวนการนโยบายต่างประเทศ บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบเป็นอย่างไร

“ในฐานะเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย งานที่สำคัญที่สุดของผมคือ การมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีอยู่ระหว่างสองราชอาณาจักรให้มากที่สุด ด้วยความเคารพ ความไว้วางใจและความเข้าใจซึ่งกันและกัน”

“ผมยังสวมหมวกเพิ่มอีกสองใบในฐานะตัวแทนกัมพูชาในหน่วยงานระดับภูมิภาคของสำนักเลขาธิการที่ดูแลภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกของสหประชาชาติ (UNESCAP) และสมาชิกสภาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Council member of the Asian Institution of Technology : AIT)”

“ที่พนมเปญมีสถานทูตประมาณ 30 แห่ง สถานทูตกัมพูชาที่กรุงเทพฯ ติดต่อสัมพันธ์โดยตรงกับทูตของ 33 ประเทศที่อยู่ในกรุงเทพฯ และมีเขตอาณาครอบคลุมกัมพูชาด้วย นี่คือความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของผม”

“เมื่อปี ค.ศ.2019 ผมนำคณะทูตานุทูตประจำกรุงเทพฯ 19 คนพร้อมคู่สมรส เดินทางไปที่อำเภออรัญประเทศ เมืองปอยเปต และจังหวัดเสียมราฐในประเทศกัมพูชา โดยรถโค้ช”

“ความมุ่งมั่นอีกอย่างหนึ่งของผมคือ ต้องการจะให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่พลเมืองกัมพูชา ซึ่งได้แก่ พนักงาน นักธุรกิจ พระสงฆ์ นักเรียน ที่มาพักอาศัยและทำงานในประเทศไทย”

 

“วาระการทำงานของผมที่นี่ประมาณ 3-4 ปี ผมจึงอยากเห็นความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชาและไทยใกล้ชิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประเทศของเราทั้งสองเป็นเพื่อนบ้านต่อกันมาอย่างยาวนาน เรามีความคล้ายคลึงกันในแง่ของวัฒนธรรม อารยธรรม ประเพณี ศาสนาและอื่นๆ เราได้ทำงานร่วมกันไม่เพียงแต่ในความสัมพันธ์ทางการทูตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนด้วย”

“ภารกิจของผมคือ สนับสนุนการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ และทำงานทุกอย่างโดยปราศจากความเหนื่อยล้า ช่วยส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดนและการเชื่อมต่อระหว่างคนสู่คน ผมได้บอกคนกัมพูชาที่นี่เสมอว่า เราต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถติดต่อกับครอบครัวที่กัมพูชา รวมทั้งช่วยส่งเสริมการค้าขายของผู้คนตามชายแดน”

“ที่สถานทูตมีงานมากมายโดยเฉพาะงานทางด้านกงสุล พลเมืองกัมพูชาจำนวนมากได้รับความช่วยเหลือจากเรา เช่น การต่ออายุ การรับรองเอกสารการเดินทาง หรือเอกสารทางกฎหมาย เราดูแลทุกสิ่งทุกอย่างตามที่พวกเขาต้องการ เรามีบริการแบบวันเดียวกลับ (a one-day service) สำหรับชาวกัมพูชาที่มาที่สถานทูต”

“มีแรงงานกัมพูชาจำนวนมากในประเทศไทย โดยทั่วไปพวกเขาประพฤติตัวดี เช่นเดียวกับความสัมพันธ์อันราบรื่นระหว่างประเทศของเรา และผมคิดว่า เป็นประโยชน์สำหรับคนงานกัมพูชา โดยทางการไทยได้ให้ความช่วยเหลือคนงานของเราเป็นอย่างมากตลอดมา เพราะตระหนักดีว่า แรงงานกัมพูชาเป็นที่ต้องการของธุรกิจไทย ซึ่งรวมทั้งแรงงานจากประเทศลาว และเมียนมาด้วย”

 

เรื่องที่ท่านทูตให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ “ประชาชน”

“ผมมีความปรารถนาให้คนไทยและคนกัมพูชาทำงานด้วยกันอย่างราบรื่นเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน เราเห็นความคล้ายคลึงกันมากระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะทั้งสองประเทศเป็นราชอาณาจักร ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีความคล้ายคลึงกันทางด้านอาหาร มีวัฒนธรรมประเพณีอันงดงาม มีรอยยิ้มที่สดใสและการไหว้อย่างสุภาพอ่อนน้อม นับเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยไม่ได้ประสบกับการนองเลือดและความยากลำบากอย่างที่เราได้เผชิญมา”

“อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเปิดประตูให้ชาวกัมพูชาได้เข้ามาทำงานและพักอาศัย มีชาวกัมพูชาเกือบ 1.2 ล้านคนในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง กรรมกร นักศึกษา และพระสงฆ์”

“ในฐานะเอกอัครราชทูตที่มีความรับผิดชอบในการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมืองกัมพูชาที่นี่ผมตั้งใจทำหน้าที่นี้อย่างจริงจัง ได้เดินทางไปทั่วประเทศไทยมากกว่า 40 จังหวัด เพื่อพบปะชาวกัมพูชาและให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะความสำคัญของการมีเอกสารที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถทำงานและอาศัยอยู่ในบ้านเมืองนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย เพราะการปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญมาก”

“แม้กระทั่งในบางครั้ง ผมต้องใช้เวลามากกว่าที่กำหนด เพียงเพื่อให้โอกาสแก่ชาวกัมพูชาในชุมชนที่ต้องการมาถ่ายภาพร่วมกับผม”

“ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหวังที่จะให้บริการที่ดีทุกอย่างเท่าที่จะสามารถทำได้แก่ชาวกัมพูชาทุกคนที่มาอาศัยและทำงานในประเทศไทย”

“เพราะเมื่อผมสามารถทำให้พวกเขามีความสุข ผมก็พลอยมีความสุขไปด้วย”

 

เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2019 สถานทูตกัมพูชาได้ร่วมกับดีแทค จัดงานคอนเสิร์ต “เพื่อชาวกัมพูชาในประเทศไทย” โดยนักร้องยอดนิยมจากไทยและกัมพูชา มีผู้เข้าร่วมงานราว 10,000 คนในจังหวัดปทุมธานี

เพราะในปัจจุบันมีชาวกัมพูชาเข้ามาทำงานในประเทศไทยมากขึ้น สถานทูตกัมพูชาซึ่งนอกจากมีหน้าที่สนับสนุนและเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชาและประเทศไทยแล้ว ยังดูแลความเป็นอยู่และสวัสดิการของชาวกัมพูชาที่มาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย

เช่นเดียวกับดีแทค ที่มีลูกค้าชาวกัมพูชาไว้วางใจใช้บริการซิมดีแทคแบบเติมเงินกัมพูชา จึงเกิดเป็นความร่วมมือจัดคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรก

โดยการมอบความสุขและสร้างความบันเทิงให้ชาวกัมพูชาที่ทำงานในประเทศไทย

 

สําหรับบทบาทของสถานทูตกัมพูชาในกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ท่านทูตอูก ซอร์พวน ให้ความกระจ่างว่า

“เราให้ความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเสมอ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยปกติเราจะสื่อสารกับสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชน เมื่อใดก็ตามที่เราได้รับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการป้องกันอื่นๆ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาล”

“เราให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนทุกอย่างอย่างเต็มที่ รวมทั้งการบริจาคเสบียงอาหารให้กับแรงงานกัมพูชาและนักเรียนที่ไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากการปิดพรมแดน”

“จำนวนคณะเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตกัมพูชาที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยนักการทูตกัมพูชา 16 คนรวมทั้งตัวผม และเจ้าหน้าที่ประจำท้องที่ 11 คน ถือว่าสถานทูตแห่งนี้มีจำนวนบุคลากรมากที่สุดในบรรดาสถานทูตกัมพูชาทุกแห่ง”

“ผมกับครอบครัวพักที่ทำเนียบหรือบ้านพักภายในบริเวณสถานทูต ส่วนนักการทูตคนอื่นและครอบครัวก็พักที่นี่เช่นเดียวกัน ผมชอบเพราะสะดวก ไม่ต้องรับมือกับการจราจร ประหยัดเวลา และพลังงาน ทำให้ผมสามารถทำงานในสถานทูตได้ยาวนานขึ้น”

“ที่สำคัญ พวกเราทำงานกันเป็นทีม ทุกคนให้เกียรติ สุภาพต่อกัน ที่นี่ทุกคนจึงอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน สมานฉันท์ และมีความสุข”