“อันวาร์” แจงปมไม่โหวตไว้ใจรัฐมนตรีพร้อมเหตุผล ชี้ “ประยุทธ์” ตอบไม่ชัด ทำเป็นประเด็นให้เสียภาพลักษณ์

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ประชาธิปัตย์ ได้ออกมาชี้แจงไม่โหวตให้รัฐมนตรี โดยกล่าววว่า การอภิปรายในครั้งนี้ มีหลายเรื่องหลายประเด็นที่ผมคิดว่า พี่น้องประชาชนทั้งประเทศยังมีคำถามคาอยู่ในใจ

ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเพียงอย่างเดียวก็คงพอ เป็นเรื่องกรณีการซื้อของแพงกว่าราคาตลาด คือการซื้อรองเท้าจังเกิ้ลบูทในราคา 1,732 บาท แต่ฝ่ายค้านระบุว่าราคาที่ปรากฎอยู่บน ช้อปปี้ ซื้อขายกันเพียง 600 บาท จำนวนที่ซื้อมีมากถึง 218,434 ชิ้น ส่วนต่างราคาอยู่ที่ 247,267,288 บาท แต่ได้รับคำตอบจากฝ่ายรัฐบาลว่า เรื่องนี้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบจัดซื้อ แต่ไม่มีคำตอบว่าทำไมราคาแพง และย้อนกลับว่าผู้อภิปรายนำหลายประเด็นเหล่านี้มาอภิปรายเพราะไม่ชอบทหาร ผมคิดว่าประเด็นนี้ไม่ใช่คำตอบ ซึ่งหากท่านไม่ตอบก็เป็นสิทธิตามข้อบังคับ แต่เมื่อท่านตอบไปแล้ว คนฟังจะคิดอย่างไร เพราะตอบไม่ตรงคำถาม อีกทั้งยังสร้างความแตกแยก เพราะหากเปรียบเทียบกับการที่ท่านนายกฯ มักจะอ้างถึงเรื่องการจำนำข้าวของรัฐบาลที่แล้วอยู่บ่อยครั้งว่า ไม่โปร่งใส จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจ และรวมกลุ่มกันออกมาต่อต้านรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ต่างหากเป็นเรื่องที่ผมวิตกกังวล

ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐมนตรีอื่นๆ ผมขอไม่พูดถึง แต่ผมขอพูดถึงท่านนายกฯในฐานะที่เป็นหัวหน้าของรัฐบาลว่า การตอบคำถามที่ไม่ควรตอบ เพราะถ้าตอบแล้วไม่ชัดเจน ก็จะเป็นประเด็นทางการเมืองต่อไปว่า ท่านปล่อยปละละเลยให้พรรคร่วมรัฐบาลกระทำการอันมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพพจน์ของรัฐบาล และประเทศชาติ

​ผมได้ปรึกษากับคณะติดตามการอภิปรายของพี่น้องชาวใต้แล้วมีความเห็นตรงกันว่า พวกเราขอให้ประชาชนทั้งประเทศยอมรับกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า ไม่ว่าจะลงมติอย่างไร ท่านนายกฯก็คงจะได้อยู่บริหารประเทศต่อไป แต่หากพวกเราไม่แสดงความเห็นใดๆ ที่เป็นการส่งสัญญาณเตือนให้ท่านนายกฯทราบว่า แม้ว่าท่านจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้ เพราะมี สว. 250 คน เป็นกำลังเสริม ซึ่งไม่มีใครสามารถทำอะไรท่านได้ ก็ขอให้ท่านกลับมาฉุกคิดถึงหัวอกของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และควรให้ความสำคัญต่อสื่อมวลชน ที่พยายามเสนอข่าวและบทความวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดการแก้ไข ด้วยเหตุผลจากการนำเสนอของฝ่ายค้าน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ทำให้ประเทศชาติสูญเสียในเรื่องความน่าเชื่อถือและศรัทธาลงไปเป็นอย่างมากจากทั้งภายในและต่างประเทศ ท่านนายกฯในฐานะผู้นำของรัฐบาลคงจะปฏิเสธความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ผมเองคงต้องทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่งสัญญาณด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ว่า เป็นการยากที่ผมจะยกมือไว้วางใจท่าน แต่เพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของรัฐบาลและประเทศไทย ผมจึงขอใช้สิทธิดังนี้

​​1. ของดออกเสียงให้กับทั้งคณะ

​2. ขอใช้สิทธิไม่ไว้วางใจ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งผมเคยยกมือไว้วางใจให้ตามมติพรรคมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ได้สั่งการแก้ไขนโยบาย ส.ป.ก. 4-01 ซึ่งดั้งเดิมเป็นนโยบายเพื่ออนุญาตให้คนจนทำมาหากิน แต่กลับไปเอื้อให้กับนายทุน ซึ่งผมเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเรื่องนี้เป็นเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องยุบสภาฯ เพราะถูกกล่าวหาว่าทำผิดพลาดเอาไปแจกคนรวยมาแล้ว

​3. ขอใช้สิทธิไว้วางใจ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แม้ว่าเป็นที่ทราบกันดีภายในพรรคว่าท่านรมช.นิพนธ์ ไม่ชอบผมเป็นการส่วนตัว และเคยพยายามกีดกันไม่ให้ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่เนื่องจากเรื่องที่นำมาอภิปรายนั้น ยังเป็นคดีอยู่ในศาล และยังไม่มีการตัดสินว่าใครถูก ใครผิด อีกทั้งท่านก็ได้พยายามชี้แจงให้สังคมรับทราบ โดยปฏิเสธผ่านสื่อ ซึ่งสามารถตามหาอ่านได้ จากนสพ. ไทยรัฐ ฉบับที่ 23036 ตีพิมพ์ในวันจันทร์ที่ 15 ก.พ. 2564 ก่อนอภิปราย 1 วัน แต่ขณะเดียวกันก็มีบทความของนายอุสตาซอับดุชชะกูล บินซาฟิอีย์ ซึ่งป็นกรรมการสภาประชาคม สังคมชายแดนใต้ เขียนบทความค้าน ไว้ในหน้า 32 ของมติชนรายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 12 – 18 ก.พ. 2564 ฉบับล่าสุด ซึ่งเป็นจังหวะก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยเหตุนี้ทำให้ผมต้องคิดว่า การจะลงมติให้กับใครในครั้งนี้ ผมจะใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการลงมติไม่ไว้วางใจโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ เพราะหากศาลตัดสินภายหลังมาว่าท่านรมช.นิพนธ์ไม่ผิด ผมคงจะต้องเสียใจว่า

ผมเป็นคนไม่มีหลักการ เนื่องจากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยุบพรรค หรือการแจกใบแดงให้ส.ส. ที่เชียงใหม่ ซึ่งสุดท้ายศาลระบุว่าไม่มีการกระทำความผิด