คุยกับทูต : ‘อูก ซอร์พวน’ ไทย กัมพูชา กับนโยบาย Win-Win (ตอน 3)

“นอกเหนือจากเรื่องราวของคนกัมพูชาในประเทศไทยแล้ว ความที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านกันจึงนำเรามาสู่ความสัมพันธ์อีกมิติหนึ่ง โดยสถานทูตทำหน้าที่ครอบคลุมทุกมิติของความสัมพันธ์ ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและอื่นๆ”

นายอูก ซอร์พวน (H.E. Mr. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ชี้แจงว่า

“รัฐบาลกัมพูชาได้แนะนำการทูตเชิงเศรษฐกิจแนวใหม่ (Modern Economic Diplomacy) ผ่านกระทรวงต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาเมื่อปลายปี ค.ศ. 2019 โดยเน้นที่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ ทูตที่ได้รับการแต่งตั้งทุกคนจะต้องมีความรู้ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการบริหารราชการ”

“สถานทูตของเราที่นี่ก็พยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานการทูตเชิงเศรษฐกิจแนวใหม่นี้ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เช่น บมจ.ซีพีออลล์ (CP All Plc.) ผู้ดำเนินการร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven, บีเจซี (BJC) ผู้ให้บริการไฮเปอร์มาร์เก็ตอันดับสอง และเบทาโกร (Betagro) ผู้ประกอบอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ใหญ่เป็นอันดับสอง ให้คำมั่นที่จะขยายการลงทุนและการดำเนินงานในกัมพูชา การลงทุนเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ”

“การค้าทวิภาคีระหว่างไทยและกัมพูชาอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อน สินค้าที่เรานำเข้าจากไทย ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องจักร ชิ้นส่วนไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม ส่วนสินค้าเกษตรที่ส่งออกมาไทย เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง”

“ในแง่ของการพาณิชย์ เรามุ่งเน้นไปที่สองด้าน คือการค้าชายแดน/การขนส่งและการลงทุน”

ในอดีต พรมแดนที่มีความยาวประมาณ 798 กิโลเมตรขัดขวางการค้าขายระหว่างไทยและกัมพูชา ในฝั่งกัมพูชา จึงมีความพยายามจัดระเบียบการจราจรให้ดีขึ้นและส่งเสริมการปรับปรุงการขนส่งทางบกเพื่อเพิ่มปริมาณการค้า โดยหวังว่า สิ่งนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนเดินทางมากัมพูชาโดยรถประจำทางมากขึ้น เพื่อจะได้เห็นภูมิประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกัมพูชา และต้องการให้คนไทยทำความคุ้นเคยกับเพื่อนบ้านมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยนับเป็นสัญชาติลำดับที่สามที่เดินทางเข้าประเทศกัมพูชา และการเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปยังชายแดนและอีกสามชั่วโมงไปยังเสียมราฐ

“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของกัมพูชา (GDP) ไม่ได้ต่ำกว่า 7% โดยจีนเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในกัมพูชามีการลงทุนรวม 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยญี่ปุ่น เวียดนาม สิงคโปร์ สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย และไทย”

“เรามีนโยบายจูงใจเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เศรษฐกิจของเราพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศในภาคอสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เราได้เปลี่ยนนโยบายอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นการเติบโตต่อไป เพราะต้องการก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี ค.ศ.2030 และภายในปี ค.ศ.2050 ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง เราจึงทุ่มเทพลังงานและทรัพยากรมากมายให้กับแผนนี้”

“นอกจากนี้ เราพยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากยุโรปให้อยู่นานวันขึ้น เรามีวีซ่าหนึ่งปีสำหรับพลเมืองของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน มีคอนโดมิเนียมมากมายตามพื้นที่ริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำโตนเลสาบ (Tonl? Sap) สำหรับชาวต่างชาติ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเหมาะสำหรับผู้เกษียณอายุด้วย และเช่นเดียวกับประเทศไทย ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้อที่ดินในกัมพูชาได้”

ทั้งนี้ รัฐบาลของทั้งสองประเทศได้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ด้วยการเปิดจุดผ่านแดนถาวรแห่งใหม่ การยกระดับจุดผ่านแดน 4 แห่งเป็นด่านสากล การนำระบบพิธีการศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวมาใช้ การดำเนินการเชื่อมต่อระบบทางรถไฟอรัญประเทศ-ศรีโสภณ-พระตะบอง-พนมเปญ และการสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนของทั้งสองประเทศสามารถระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของกันและกันได้

ส่วนความตกลงการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชา มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 จึงเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนของไทยและการให้บริการเข้ามายังประเทศกัมพูชา

โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น สะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับเมืองปอยเปต ซึ่งมีสำนักงานศุลกากรทั้งสองฝั่ง เปิดใช้งานแล้วเมื่อวันที่ 22 เมษายน ค.ศ.2019 ได้ช่วยส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้รอยต่อภายในภูมิภาคสนับสนุนโครงข่ายทางหลวงภายใต้กรอบความร่วมมือระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและทางหลวงอาเซียน

สำหรับการลงทุนในกัมพูชา หนึ่งในเหตุผลที่ดีที่สุดในการลงทุนคือได้รับการยกเว้นภาษีในช่วงเก้าปีแรก ประกอบกับแรงงานราคาไม่สูง และการเติบโตที่มั่นคง ทำให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจในการลงทุน ด้านการก่อสร้าง การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร

ส่วนบริษัทไทยที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ในกัมพูชาแล้ว ตอนนี้มีมากกว่า 1,000 บริษัท และเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลกัมพูชาจึงพยายามที่จะเปิดสถานทูตในประเทศใหม่ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องพึ่งพาแต่พันธมิตรในปัจจุบันเท่านั้น

 

ในด้านการท่องเที่ยว แม้ว่าจะไม่ได้เป็นหนึ่งในรายได้อันดับต้นๆ ของกัมพูชา แต่ท่านทูตเห็นว่า

“เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรละเลย ปัจจุบันกัมพูชามีรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 4.35 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากเป็นที่ตั้งของนครวัดซึ่งเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่น่าทึ่งที่สุดในโลกแล้ว กัมพูชามีอัญมณีที่ดึงดูดผู้คนให้ไปเยี่ยมชม มีพระราชวังหลวงและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่งดงามน่าประทับใจ จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี”

“แม้ชายหาดและหมู่เกาะที่กัมพูชายังไม่ค่อยได้รับการพัฒนามากมายอย่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ดึงดูดผู้คน รวมทั้งประชากรที่เป็นมิตร อาหารรสเลิศหลากหลายและราคาไม่แพง กัมพูชาจึงถูกจัดเป็นผู้เล่นหลักในเวทีการท่องเที่ยวด้วย”

“ในแต่ละปีมีชาวกัมพูชาประมาณหนึ่งล้านคนเดินทางมาเยือนประเทศไทย จุดประสงค์ส่วนใหญ่มักเป็นทางด้านการท่องเที่ยว ส่วนชาวไทยที่ไปเยือนกัมพูชาต่อปีจำนวน 300,000-400,000 คนซึ่งยังไม่รวมถึงพ่อค้าและคนอื่นๆ ที่ข้ามพรมแดนเป็นประจำ”

“กัมพูชาเป็นประเทศที่เงียบสงบมากในปัจจุบัน ชาวต่างชาติจากทั่วโลกจึงหลั่งไหลไปชมสถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ ปราสาทนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร โดยองค์การยูเนสโกในปี 1992”

“ที่ผ่านมาเราปฏิบัติตามนโยบาย Win-Win ที่กำหนดโดยสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี และมีการฉลองครบรอบ 20 ปีของนโยบายนี้เมื่อปี ค.ศ.2019”

 

หลังการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่เป็นผลของนโยบายวิน-วิน (Win-Win policy) ในปี ค.ศ.1998 กัมพูชามีโอกาสอย่างเต็มที่ในการฟื้นฟู และพัฒนาประเทศภายใต้ร่มเงาของสันติภาพ

“ปัจจุบัน เศรษฐกิจกัมพูชากำลังขยายตัวเติบโต ปริมาณการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ที่ช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่า 7% ต่อปี”

ท่านทูตให้ความเห็นว่า

“วันนี้ กัมพูชาได้กลายเป็นปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และในฐานะที่เราเป็นประเทศเล็ก เราจึงยึดมั่นในหลักการการเปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน โดยการเป็นมิตรกับนานาประเทศอย่างจริงใจ”