โจทย์ท้าทาย ของ ผอ.ค้าโลกคนใหม่ / บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: Ngozi Okonjo-Iweala poses outside a Nigerian diplomatic residence in Chambesy, near Geneva, Switzerland, September 29, 2020. REUTERS/Emma Farge/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

โจทย์ท้าทาย

ของ ผอ.ค้าโลกคนใหม่

 

เป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นอีกครั้งสำหรับเอ็นโกซี โอคอนโจ-อีเวล่า นักเศรษฐศาสตร์ชาวไนจีเรีย วัย 66 ปี ในฐานะเป็นผู้หญิงคนแรกและชาวแอฟริกันคนแรกที่ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) คนใหม่ ในกระบวนการสรรหา ผอ.ดับเบิลยูทีโอ แทนที่นายโรแบร์โต อาเซเวโด ซึ่งลาออกไปก่อนครบวาระถึง 1 ปีด้วยเหตุผลส่วนตัว

โดยโอคอนโจ-อีเวล่า ได้รับเลือกด้วยฉันทามติเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 164 ประเทศขององค์การเสาหลักในเวทีการค้าโลกอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันจันทร์ (15 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้เจ้าตัวเคยสร้างเกียรติประวัติให้กับตัวเองมาแล้วในฐานะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของไนจีเรียและยังเป็นรัฐมนตรีนั่งคุมกระทรวงการคลังมาแล้วถึง 2 สมัย

อีกทั้งยังทำงานคร่ำหวอดในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาประจำสถาบันการเงินระหว่างประเทศอันสำคัญอย่างธนาคารโลก มานานถึง 25 ปีอีกด้วย

ถือว่าหัวเรือใหญ่นำองค์การการค้าโลกคนใหม่ได้สั่งสมประสบการณ์การทำงานมาไม่น้อย

แต่หนทางก้าวขึ้นนั่งเก้าอี้ ผอ.ดับเบิลยูทีโอของโอคอนโจ-อีเวล่า ถูกเปิดทางฉลุยก็เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ส่งสัญญาณให้การสนับสนุนผู้สมัครจากไนจีเรียผู้นี้อย่างหนักแน่น

นั่นทำให้คู่แข่งคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในสังเวียนคือ ยู มยอง ฮี รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้ ที่ก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน จำต้องล่าถอยถอนตัวไป

เพราะเห็นแล้วว่าชาติที่เป็นแบ๊กอัพใหญ่อย่างสหรัฐเลือกที่จะถือข้างสนับสนุนคู่แข่งฝ่ายตรงข้ามของเธอ

 

นักการทูตจากชาติตะวันตกรายหนึ่งกระซิบบอกว่า การเลือกโอคอนโจ-อีเวล่า ไม่ใช่เพราะเธอเป็นผู้หญิง หรือมาจากแอฟริกา แต่เพราะเธอมีความโดดเด่นในฐานะเป็นผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดีที่สุด และยังมีประสบการณ์ตลอดจนมีคุณลักษณะเหมาะสมหลายประการในการจะรับมือกับภารกิจที่ท้าทายยิ่งได้

โอคอนโจ-อีเวล่า จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มีนาคมนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์หลายเรื่องที่สุมอยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายที่รอให้เธอได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็น

โดยโจทย์ท้าทายเรื่องแรกคือการทำให้กลไกของดับเบิลยูทีโอ ที่เป็นเวทีเจรจาต่อรอง ตกลง และขจัดข้อพิพาททางการค้าให้กลับมาขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากกลไกสำคัญดังกล่าวหยุดชะงักไป ไม่ว่าจะเป็นในการเจรจาปมพิพาทเรื่องฝ้ายและปมการอุดหนุนอุตสาหกรรมประมง ที่ถูกลากยาวยืดเยื้อออกไปโดยยังไม่ได้ข้อยุติเสียที

โดยที่องค์กรอุทธรณ์ ซึ่งเป็นคณะทำงานตัดสินข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอยังง่อยเปลี้ยเสียขา หลังจากถูกรัฐบาลสหรัฐสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าขัดขวางกระบวนการสรรหาสมาชิกของคณะผู้ตัดสินขององค์กรอุทธรณ์ ทำให้องค์คณะทำงานนี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้

โจทย์ใหญ่อีกประการของผู้นำองค์การการค้าโลกคนใหม่ ไม่เพียงจะต้องจัดการรับมือกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทรุดหนักลงถ้วนหน้า โดยเฉพาะจากฤทธิ์ผลกระทบของสถานการณ์แพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19

แต่ยังมีวิกฤตความเชื่อมั่นในระบบการค้าพหุภาคีและการเปิดเสรีทางการค้าที่จะต้องเร่งกอบกู้กลับคืนมา ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สองชาติมหาอำนาจยักษ์ทางเศรษฐกิจโลก ลามไปถึงสหภาพยุโรป ที่ยังเป็นปัญหากระทบกระทั่งกันอยู่ หลังการจุดไฟขัดแย้งทิ้งเอาไว้ของผู้นำสหรัฐที่ชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ จนทำให้บรรยากาศการค้าโลกเต็มไปด้วยความตึงเครียดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ตลอดจนสิ่งท้าทายในการปฏิรูปองค์กรและการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้าให้เหมาะสม ทันยุคทันสมัยกับโลกในวันนี้ ที่กำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิตอล

ตอนนี้คงต้องให้เวลาและรอดูผลงานของ ผอ.ดับเบิลยูทีโอคนใหม่กันต่อไปสักระยะว่าจะเข้าตาหรือไม่