ทำไม “ธรรมนัส” ถึงกลายเป็น “ผู้กำหนดเกม” ?

ผู้กำหนดเกม

ผลการลงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ครั้งก่อน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563

เป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีนักของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้รับความไว้วางใจ 269 ไม่ไว้วางใจ 55 งดออกเสียง 7

ถือว่าได้คะแนนน้อยสุดใน 6 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก

โดยครั้งนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มากสุด คือ ไว้วางใจ 277 ไม่ไว้วางใจ 50 งดออกเสียง 2

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่สอง ไว้วางใจ 272 ไม่ไว้วางใจ 49 งดออกเสียง 2

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่สาม ไว้วางใจ 272 ไม่ไว้วางใจ 54 งดออกเสียง 2

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่สี่ ไว้วางใจ 272 ไม่ไว้วางใจ 54 งดออกเสียง 2

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ห้า ไว้วางใจ 272 ไม่ไว้วางใจ 55 งดออกเสียง 2

 

ผลจากการได้เสียงไว้วางใจน้อยที่สุด

ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสกลายเป็นตำบลกระสุนตก และเป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ที่ถูกเขย่าให้ปรับคณะรัฐมนตรีมากที่สุด

17 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ถึงขนาดออกมาแสดงความไม่พอใจ และบอกว่าไม่ต้องการยกมือให้ แต่มติพรรคบังคับไว้

ร.อ.ธรรมนัสกลายเป็นรัฐมนตรีที่มีมลทิน ทั้งในเรื่องคดียาเสพติดที่ออสเตรเลีย กรณีถูกถอดยศ หรือล่าสุดเป็นกรณีวุฒิการศึกษาปริญญาเอก

แต่กระนั้น ร.อ.มนัสก็ได้ยืนหยัดต้านลม พิสูจน์ว่า ตัวเขาไม่ธรรมดา

ดังที่เขาเคยประกาศผ่านสื่อมวลชน

“…ผมคือตัวคีย์สำคัญของรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลที่มีการรวบรวมเสียงเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ผมเป็นคนจัดการทั้งหมด…”

“…ถ้าเปรียบเทียบกับร่างกายผมก็เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ ถ้าเส้นเลือดใหญ่เส้นนี้แตกไปเมื่อไหร่รัฐบาลจะล้มหากไม่มีเส้นเลือดใหญ่เส้นนี้”

พร้อมประกาศอย่างเปิดเผยว่า “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ว่า “ท่านเอ็นดูผม งานที่มอบหมายผมก็ทำตามที่ท่านสั่ง และไม่เคยเรียกร้องตำแหน่งอะไร แม้กระทั่งตำแหน่งรัฐมนตรี แต่สุดท้ายพอบอกว่าต้องมาเป็น รมช.เกษตรฯ ก็ต้องมา”

และพิสูจน์ในสิ่งที่พูดว่าไม่เกินจริง

ด้วยการอยู่ในตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ อย่างเหนียวแน่น

และทวีบทบาทสำคัญมากขึ้นในตอนนี้

 

แต่กระนั้น บทเรียนอันเจ็บปวดในการซักฟอกครั้งแรก

ย่อมทำให้ ร.อ.ธรรมนัสไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก

ประกอบกับบทบาททั้งในรัฐบาล และในพรรคพลังประชารัฐ ในห้วงหลังๆ ร.อ.ธรรมนัสในฐานะทีมใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร มีความโดดเด่น และบทบาทค่อนข้างสูง

ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัสจึงต้องไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ

หากแต่ต้องเป็น “ผู้กำหนดเกม” มากกว่า

โดยวางเป้าสนองความประสงค์ของ พล.อ.ประยุทธ์ที่กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ ระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ว่า

“หวังว่าคะแนนอภิปรายต้องใกล้เคียงทุกพรรค ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกัน ขออย่าให้มีปัญหาภายในซึ่งกันและกัน”

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่า ในตอนท้ายการประชุมครั้งนี้นายกฯ ได้แซวนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กับ ร.อ.ธรรมนัส

“พี่สันติยิ้มหน่อย นัสยิ้มหน่อย”

ซึ่งคงไม่ใช่การแซวธรรมดา หากแต่สะท้อนนัยอะไรบางอย่างด้วย

 

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีจะเกิดขึ้น มีข่าวที่ถูก “ปล่อย” ออกมาในทำนองห่วงใย

ว่ามีรัฐมนตรีบางคนที่ถูกอภิปราย เป็นห่วงกลไกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่มีปัญหาความขัดแย้ง อาจส่งผลไปถึงการโหวตลงมติรัฐมนตรีแต่ละคน ทำให้ได้เสียงไม่เท่ากัน

โดยเฉพาะในพรรค พปชร.ที่เริ่มเห็นร่องรอยความขัดแย้ง

เนื่องจากแกนนำคนหนึ่งของพรรค ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วย มีความพยายามช่วงชิงอำนาจการนำภายในพรรค และต้องการได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่ารัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน เพื่อหวังผลในการปรับและเกลี่ยโควต้าเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังการอภิปราย โดยต้องการให้เกิดกระแสกดดันให้รัฐมนตรีบางคนหลุดจากตำแหน่ง เพื่อที่จะได้มีโอกาสขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ

โดยเตรียมล็อบบี้ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ 30 คน รวมไปถึงพวก ส.ส.งูเห่าในฝ่ายค้านที่แกนนำพรรค พปชร.ดูแล ให้โหวตสวนรัฐมนตรีในพรรคบางคนที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ

จะเชื่อมโยง “พี่สันติยิ้มหน่อย นัสยิ้มหน่อย” หรือไม่ ไม่มีคำตอบ

 

แต่กระแสข่าวนี้ ถูกนายวิโรจน์ ลักขณาอดิสร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาแฉโพยในเวลาต่อมาว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐที่เป็น รมช.บางรายล็อบบี้คะแนน หวังเขย่าให้รัฐมนตรีบางคนหลุดจากตำแหน่งในการปรับ ครม.หลังจบศึกซักฟอกนั้น

ถึงแม้จะไม่เอ่ยชื่อรัฐมนตรีที่โดนเขย่า แต่เดาไม่ยากเลยว่าคือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ

โดยอ้างว่า ส.ส.พปชร.ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พอใจการทำงานของนายณัฏฐพล

บางคนถึงขั้นตำหนิอย่างรุนแรง ทั้งการบริหารงานด้านการศึกษา

และ “การที่เขาไปอวดดี เที่ยวไปคุยโวว่าเป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งของพรรคพลังประชารัฐ เคยถาม ส.ส.พลังประชารัฐหรือยังว่าเขาหมั่นไส้ประโยคนี้หรือเปล่า เข้ามาในสภาอันดับไม่สำคัญ ขึ้นอยู่กับผลงาน ถ้าเป็นจริงตามข่าวก็เป็นเรื่องผลกรรม ต่อให้ผู้ใหญ่จะวิ่งเคลียร์ให้ก็ไม่ไหวหรอก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐเขารอเห็นวันนี้มานานเเล้ว มาแอบกระซิบให้ผมอภิปรายจัดหนักๆ”

“ผมบอกให้ก็ได้ว่าข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เตรียมไว้ บางส่วนผมได้มาจาก ส.ส.พลังประชารัฐหลายคน ดังนั้น ขอทำนายไว้ล่วงหน้าเลยว่ารัฐมนตรีศึกษาธิการจะได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุดในศึกซักฟอกรอบนี้” นายวิโรจน์ระบุ

 

เมื่อชื่อนายณัฏฐพลถูกเฉลยออกมาแล้วว่าจะเป็นรัฐมนตรีที่อาจจะได้คะแนนน้อยสุด

และ รมช.ที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวเล่าเป็นใคร

แม้จะไม่มีใครตอบออกมาตรงๆ

แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์เอาไว้อย่างน่าสนใจ

โดยระบุว่า กระแสข่าวมีรัฐมนตรีบางคนไปล็อบบี้ ส.ส.พปชร.โหวตสวนไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีของพรรคนั้น “ผมไม่ทราบ คิดว่าอาจเป็นเรื่องที่รู้สึกและคิดกันไปเอง ผมมีแต่ช่วยเหลือและประสาน ส.ส.ของพรรคให้ช่วยสนับสนุนรัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้พูดคุยกับนายณัฏฐพล ซึ่งนายณัฏฐพลให้ผมช่วยอธิบายความไม่เข้าใจต่างๆ แก่ ส.ส.”

ขณะที่นายณัฏฐพลบอกว่า 30 ส.ส.ที่มีกระแสข่าวว่าจะโหวตสวน เท่าที่ฟังดูไม่มีปัญหา เพียงต่อรอฟังเรื่องที่จะอภิปราย และจากที่ไปสัมมนาพรรครัฐบาลเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทุกคนก็ให้กำลังใจ และบอกว่า ไม่ต้องกังวลเรื่องคะแนนโหวตที่จะแตกต่างจากคนอื่น

จากคำพูดข้างต้น จึงน่าจะทำให้ปะติดปะต่อได้ว่า “ใครเป็นใคร” และจะกระทำอะไร

 

ทั้งนี้ รวมถึงท่าทีของกลุ่มพรรคเล็กที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล 21 เสียง

ประกอบด้วย พรรคเศรษฐกิจใหม่, พลังพลังท้องถิ่นไทย, พรรครักษ์ผืนป่า, พรรคพลังธรรมใหม่, พรรคพลังไทยรักไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังชาติไทย และพรรคประชาธรรมไทย

ที่ประกาศจุดยืนว่า หากรัฐมนตรีคนใดที่ชี้แจงข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านไม่ชัดเจน พรรคเล็กซึ่งขณะนี้มีประมาณ 21 เสียง พร้อมที่จะโหวตไม่ไว้วางใจ

ท่ามกลางการจับตาว่านี่เริ่มเป็นปฏิบัติการ “ขอกล้วย” อีกแล้วหรือไม่

ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า ร.อ.ธรรมนัสอาจต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดย ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า ก็เพิ่งทราบข่าวว่ากลุ่มพรรคเล็กทั้งหมดประมาณ 21 คน ออกมาขึงขังเพื่อจะขอรอดูว่ารัฐมนตรีแต่ละคนชี้แจงแต่ละประเด็นชัดเจนหรือไม่ ซึ่งก็ถือเป็นอภิสิทธิ์ของ ส.ส.ทั้ง 21 คน ว่าจะคิดอย่างไร และจะโหวตสวนหรือไม่โหวตสวน เท่าที่ทราบพรรคเล็กในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เขาก็อยากจะแสดงบทบาทบ้าง ไม่ใช่มีหน้าที่ยกมืออย่างเดียว

“ผมไม่ได้มองว่าเขาออกมาต้องการเรียกร้องอะไร” ร.อ.ธรรมนัสออกตัวให้พรรคเล็ก

ซึ่งนั่นพรรคเล็กก็คงสบายใจและพร้อมจะเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลต่อไป

 

นี่จึงถือเป็นบทบาทของ ร.อ.ธรรมนัสที่สังคมมองเห็น

แน่นอนย่อมถือว่าไม่ธรรมดา

และไม่ใช่เฉพาะใน พปชร. หากแต่ยังมีบทบาทข้ามพรรคอีกด้วย

ทั้งการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ใน อ.จะนะ จ.สงขลา ที่เชื่อมโยงไปถึงพรรคประชาธิปัตย์

รวมถึงการเข้าไปร่วมแก้ปัญหากะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ในความรับผิดชอบของพรรคชาติไทยพัฒนา โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยระบุ พล.อ.ประวิตรมอบหมายมาให้ดำเนินการ

ถือว่ามีบทบาทใหญ่กว่า “รัฐมนตรีช่วย” ที่นั่ง

อันสะท้อนว่า ในนาทีนี้ ร.อ.ธรรมนัสที่แม้มีภูมิหลัง “เทา-เทา” มิใช่แค่ถูกกระทำหรือถูกซักฟอกแล้ววิ่งหาแรงหนุน จะได้ไม่ได้คะแนนบ๊วยอย่างที่เคยเกิดขึ้น

ตรงกันข้าม กลับเป็นมือทำงานที่มีบทบาทเข้าไปชี้นำ

และเป็นผู้กำหนดเกมในพรรคและรัฐบาล อย่างน่าจับตา