2021 : ทหารกับการเมืองอเมริกัน! /สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

สุรชาติ บำรุงสุข

 

2021

: ทหารกับการเมืองอเมริกัน!

 

“วีรบุรุษทหารหาญที่ได้รับการจดจำในประวัติศาสตร์คือ นายทหารที่ทำหน้าที่ในการปกป้องประชาชน ไม่ใช่ปราบปรามประชาชน”

Dennis Blair (2013)

 

หนึ่งในหัวข้อของนักเรียนรัฐศาสตร์ที่เรียนเรื่อง “ทหารกับการเมือง” ต้องเรียนรู้ก็คือ ประเด็นของ “ทหารกับการเมืองอเมริกัน”

แม้ว่าการศึกษาเรื่องบทบาทของทหารมักจะเน้นอยู่กับการเมืองประเทศโลกที่สาม ที่มีการแทรกแซงของกองทัพเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำรัฐประหารของกองทัพ เพื่อจัดตั้งระบอบอำนาจนิยม (หรือระบอบเสนานิยม) ขึ้นแทนระบอบการเมืองของพลเรือนที่ถูกโค่นล้มด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจ

รัฐประหารคือการใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นรูปแบบสูงสุดของการใช้กำลังทหารในทางการเมือง

และในระดับที่ต่ำกว่าคือ การใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการกดดันรัฐบาลพลเรือน ให้กระทำตามความต้องการของฝ่ายทหาร รูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นจนกลายเป็น “แบบแผนหลัก” ของการจัดตั้งระบอบอำนาจนิยมในประเทศโลกที่สาม

หรืออาจกล่าวในบริบทของการพัฒนาทางการเมืองได้ว่า ระบอบทหารที่ถือกำเนิดจากการรัฐประหารเป็น “สัญลักษณ์ของความด้อยพัฒนา” ทางการเมืองของประเทศเหล่านี้

(ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า ประเทศที่ถูกปกครองด้วยระบอบทหารที่ล้าหลังเช่นนี้ จะเรียกว่า “ประเทศด้อยพัฒนา” หรือบางครั้งมีการปรับภาษาเพื่อไม่ให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบเกินไปว่า “ประเทศกำลังพัฒนา” ก็ไม่แตกต่างกัน)

 

ทหารการเมือง

ถ้ารัฐประหารเป็นภาพลักษณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความด้อยพัฒนา ที่ทหารไม่ได้ทำหน้าที่ของความเป็น “สถาบันทหาร” อย่างที่วิชาประวัติศาสตร์สงครามสอน

หากแต่กองทัพเข้ามาทำหน้าที่ในการเป็นรัฐบาล เพียงเพราะกองทัพเป็นสถาบันเดียวที่ “ครอบครองและมีสิทธิ์ใช้อาวุธสงคราม” ตามพันธะที่กองทัพต้องทำหน้าที่ในการป้องกันประเทศ

แต่ผู้นำทหารกลับแปรเปลี่ยนการครอบครองอาวุธเช่นนี้ให้เป็น “พลังอำนาจทางการเมือง” อันกลายเป็นโอกาสให้กองทัพในประเทศโลกที่สามทำหน้าที่ทางการเมือง มากกว่าทำหน้าที่ในการสงคราม กองทัพเช่นนี้จึงกลายเป็น “ทหารการเมือง”

แต่กองทัพในประเทศที่พัฒนาแล้ว และระบอบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง อยู่ในสภาวะตรงกันข้าม การมีบทบาททางการเมืองของทหารในระบอบประชาธิปไตยกระทำผ่านการให้ข้อเสนอและคำปรึกษาทางด้านนโยบายการทหารและ/หรือยุทธศาสตร์ของประเทศ

แต่กองทัพจะไม่เดินเกินเลยจนเข้ามาทำหน้าที่เป็น “องค์กรการเมือง” ในตัวเอง ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลทหาร

ซึ่งหนึ่งในกรณีศึกษาเรื่องนี้คือ “ทหารในการเมืองอเมริกัน” อันทำให้เกิดคำถาม (แบบยั่วให้คิดเสมอ) ว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีรัฐประหารที่วอชิงตัน เหมือนเช่นที่เกิดการยึดอำนาจของทหารในประเทศโลกที่สาม…

เป็นไปได้หรือไม่ว่า จะมีผู้นำทหารจากเหล่าทัพต่างๆ ของสหรัฐนั่งเรียงหมู่ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ประกาศการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน

คำตอบง่ายๆ ก็คือ เป็นไปไม่ได้เลย…

แม้ทิศทางของการเมืองอเมริกันในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา จะมีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

แต่ก็มิได้เกิดการยึดอำนาจของผู้นำทหาร และกองทัพอเมริกันไม่ได้ถูกชนชั้นนำใช้เป็นเครื่องมือที่ทำให้ผู้นำอำนาจนิยมแบบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นสู่อำนาจได้ และทรัมป์มาด้วยการเลือกตั้ง แต่การจัดตั้งรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศด้อยพัฒนาเกิดจากการยึดอำนาจของผู้นำทหาร…

ทหารไม่ใช่ “นักรบ” แต่เป็น “นักรัฐประหาร” ในประเทศโลกที่สาม

รัฐประหารของทรัมป์

ในความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการรับรองผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันของวุฒิสภา ด้วยการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปลุกระดมกระแสขวาจัด และนำไปสู่การใช้กำลังบุกเข้าไปในการประชุมของวุฒิสภาในวันที่ 6 มกราคม นั้น เป็นเสมือนกับความพยายามที่จะก่อการ “รัฐประหาร” ด้วยการใช้กำลังบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลของกระบวนการรัฐสภา

จนอาจต้องเรียกสภาวะที่เกิดในอีกด้านหนึ่งว่า เป็นความพยายามในการ “ก่อการกบฏ” ในการเมืองอเมริกัน

ไม่ว่าปรากฏการณ์นี้จะเรียกว่า “รัฐประหารของทรัมป์” หรือ “กบฏทรัมป์” ก็ตาม ได้นำไปสู่คำถามถึงตัวแสดงหนึ่งที่สำคัญ คือบทบาทของทหาร… ผู้นำกองทัพอเมริกันจะตัดสินใจอย่างไรกับวิกฤตนี้

และพวกเขาจะประกาศตัวเป็น “ผู้พิทักษ์” ที่จะต้องเข้ามายึดอำนาจเช่นในประเทศโลกที่สามหรือไม่

ถ้าเรามองกบฏของพวกขวาจัดที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ด้วยแว่นตาการเมืองของประเทศโลกที่สามแล้ว เราอาจจะเชื่อว่าหลังจากการบุกสภาอีกไม่นานนัก ผู้นำทหารอเมริกันอาจนำกำลังออกมาประกาศการยึดอำนาจ ดังเช่นที่เกิดในการเมืองของประเทศด้อยพัฒนาบางประเทศ

เพราะเมื่อใดเกิดการกบฏ เมื่อนั้นผู้นำทหารอาจจะต้องออกมาแสดงบทบาทเป็น “ผู้พิทักษ์” ด้วยการยึดอำนาจ และประกาศการรักษาความสงบเรียบร้อย

ผลในทางการเมืองคือ การใช้กำลังทหารเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อันเป็นตัวแบบที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากในประเทศด้อยพัฒนา ที่มีระดับวัฒนธรรมทางการเมืองของกลุ่มชนชั้นนำและผู้นำทหารอยู่ในระดับต่ำ

บนเงื่อนไขของประเทศที่ระดับวัฒนธรรมการเมืองถูกครอบงำด้วยชุดความคิดแบบอำนาจนิยมนั้น คนในสังคมจึงมักถูกประกอบสร้างให้เกิดความเชื่อแบบด้านเดียวว่า “การเมืองต้องไม่มีความขัดแย้ง”

และถ้ามีความขัดแย้งเกิดเมื่อใด เมื่อนั้นกองทัพจะต้องแสดงบทเป็น “ผู้พิทักษ์” ด้วยการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลทหาร

หรืออาจเป็นการสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลฝ่ายขวา และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะถูกขจัดออกไปด้วยการรัฐประหาร

แต่ความเชื่อนี้ไม่เกิดในสังคมพัฒนาแล้ว

สังคมอเมริกันไม่อยู่ภายใต้ “วัฒนธรรมรัฐประหาร” ที่ผู้นำทหารจะต้องเป็น “ผู้พิทักษ์” ด้วยการยึดอำนาจรัฐ

และในด้านหนึ่งชนชั้นนำอเมริกัน และในอีกด้านคือสังคมอเมริกันเองก็ไม่ได้มีชุดความคิดที่จะใช้การยึดอำนาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง

แต่ปัญหาถูกแก้ในทุกสี่ปีด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดี…

อำนาจรัฐจึงได้มาด้วย “รถหาเสียง” ไม่ใช่ด้วย “รถถัง”

ดังนั้น แม้ทำเนียบจะเป็นตัวจุดกระแสรัฐประหาร และนำไปสู่ความพยายามในการยึดรัฐสภา แต่ก็จะเห็นได้ว่าในการก่อกระแสขวาจัดในครั้งนี้ ไม่ได้มีคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังรบแต่อย่างใด

และเชื่อได้เลยว่า แม้ทำเนียบขาวอาจจะตัดสินใจออกคำสั่งให้มีการเคลื่อนกำลังทหารและรถถัง เพื่อยึดอำนาจจากรัฐสภา ก็คงไม่มีผู้นำทหารอเมริกันคนใดที่จะ “เสียสติ” ยอมรับและปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นนั้น

ดังจะเห็นได้ว่าทรัมป์พยายามใช้กระบวนการการทางรัฐสภาในการเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง ไม่ใช่เปลี่ยนด้วยอำนาจกำลังรบดังเช่นในประเทศโลกที่สาม ที่ใช้การเคลื่อนรถถังในเมืองหลวงเป็นเครื่องมือหลัก

ทหารในประเทศพัฒนาแล้ว

การออกถ้อยแถลงของคณะเสนาธิการร่วม ของกองทัพสหรัฐ (JCS) ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดความชัดเจนในทางการเมือง

ถ้อยแถลงนี้ลงนามโดยประธานคณะเสนาธิการร่วม รองประธานคณะเสนาธิการร่วม และผู้นำทหารทั้ง 6 เหล่าทัพ

ซึ่งในเนื้อหาได้ยืนยันอย่างชัดเจนถึงบทบาทของกองทัพสหรัฐในการปกป้องรัฐธรรมนูญ

การเชื่อฟังคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายของผู้นำพลเรือน

การไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรง

และการยืนยันที่จะทำให้กระบวนการเปลี่ยนอำนาจเป็นไปอย่างถูกต้อง ด้วยการย้ำว่านายโจ ไบเดน จะได้เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนที่ 46 ของกองทัพอเมริกัน

คำแถลงของคณะเสนาธิการร่วมเช่นนี้เท่ากับยืนยันว่า กองทัพไม่สนับสนุนการกบฏที่เกิดในวันที่ 6 มกราคม

และในอีกส่วนทำให้คำถามที่ถูกตั้งว่า “กองทัพสหรัฐจะก่อการรัฐประหารหรือไม่” จบลง…

มีแต่รัฐประหารที่ล้มเหลวของทรัมป์ แต่ไม่มีรัฐประหารของกองทัพสหรัฐ

ถ้อยแถลงเช่นนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้นำทหารอเมริกันยอมรับแนวคิด “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) หรือโดยนัยคือการยอมรับการนำของผู้นำพลเรือน (civilian leadership)

และที่สำคัญคือ การยอมรับว่ากองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และมีหน้าที่เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เท่ากับเป็นคำตอบว่า กองทัพจะไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ หรือกระทำตนเป็นผู้ละเมิดรัฐธรรมนูญ

ถ้อยแถลงนี้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพในการเมืองอเมริกัน และเป็นการตอกย้ำเพื่อให้เกิดความชัดเจนแก่กำลังพลทั้งหมด

จึงอาจกล่าวได้ว่าเอกสารฉบับนี้เป็นดัง “การประกาศนโยบายทางการเมือง” ของผู้นำทหารอเมริกันในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตจากกลุ่มขวาจัด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประโยคที่ย้ำอย่างชัดเจนว่า ความพยายามที่ล้มกระบวนการรัฐธรรมนูญไม่เพียงเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับประเพณี ค่านิยม และคำสาบานตนเท่านั้น หากยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย

อันเป็นการประกาศว่า กองทัพจะไม่กระทำผิดกฎหมาย

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าถ้อยแถลงฉบับนี้คือภาพสะท้อนถึงทิศทางของความเป็น “ทหารอาชีพ” (professional soldier) ในสังคมประชาธิปไตย

ที่แม้การเมืองจะเผชิญกับวิกฤตมากเพียงใด แต่บทบาทของกองทัพมีความชัดเจนที่ไม่แทรกแซงการเมือง

และยังยืนยันกับกำลังพลและสังคมอีกว่า กองทัพยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดจากมติมหาชน

โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่ขอให้กำลังพล “เตรียมตัวให้พร้อม มองไปสู่ขอบฟ้าเบื้องหน้า และยืนยันที่จะมุ่งเน้นอยู่กับภารกิจ [ของทหาร]”

 

ทหารในประเทศด้อยพัฒนา

บทบาททางการเมืองของผู้นำทหารในประเทศโลกที่ 3 ที่เติบโตมากับ “วัฒนธรรมรัฐประหาร” แตกต่างอย่างสิ้นเชิง

พวกเขาไม่เคยมีแนวคิดเรื่อง “ทหารอาชีพ”

พวกเขาไม่เคย “เคารพรัฐธรรมนูญ”

อีกทั้งผู้นำทหารในประเทศเช่นนี้คุ้นชินกับ “วัฒนธรรมเผด็จการ” ที่ “กองทัพแห่งรัฐ” ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตนเอง

ที่สำคัญกองทัพในประเทศเช่นนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการทำลายประชาธิปไตย

แต่สิ่งที่เราเห็นจากผู้นำทหารอเมริกันในครั้งนี้ กองทัพมีพันธะทางการเมืองในการเป็น “ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย”

ฉะนั้น แม้ฝ่ายอำนาจนิยมในบางประเทศจะดีใจกับการก่อกบฏของทรัมป์ และเชื่อว่าประชาธิปไตยอเมริกันถึงจุดจบแล้ว

แต่เอกสารจากคณะเสนาธิการร่วมของกองทัพสหรัฐกลับเป็นคำตอบที่ชัดเจนถึง ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย และความเป็นทหารอาชีพจะมีส่วนโดยตรงต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตย

และยืนชัดเจนด้วยว่า “ทหารมีหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ทำลายรัฐธรรมนูญ”

เอกสารฉบับนี้สมควรแปลและแจกจ่ายในบางประเทศ เพื่อให้ทหารเข้าใจถึงบทบาทของสถาบันกองทัพ และเพื่อให้สังคมเห็นถึงทิศทางของการปฏิรูปกองทัพในอนาคต!