เครือข่ายองค์กรสิทธิฯ ร่วมแถลงประณามรัฐประหารพม่า

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและสิทธิมนุษยชนได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหารในพม่า โดย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ประณามการรัฐประหารในพม่า/สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

คณะทหารภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอก มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ของ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา/พม่า ได้กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่ นำโดย นางอองซาน ซูจี เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยอ้างเหตุผลว่า มีการทุจริตในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งคณะทหารยอมรับไม่ได้ และต้องการปกป้องรัฐธรรมนูญ 2551 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ภายใต้มูลนิธิร่วมมิตรไทย – พม่า (มรพ.) ขอประณามการรัฐประหารในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. รัฐประหาร คือ อาชญากรรมต่อระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมียนมาเพิ่งผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนที่แสดงเจตจำนงค์มอบอำนาจให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จนได้เสียงข้างมาก เพื่อบริหารประเทศ การรัฐประหารนี้จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆทั้งสิ้นต่อชาวพม่าที่ปรารถนาการเมือง การปกครอง ตามระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับเจตจำนงค์เสรีของตน

2. การรัฐประหาร เป็นการยกเลิกอำนาจอธิปไตย ที่มีหลักการแบ่งแยกและการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย ด้วยการรวมศูนย์อำนาจ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ มาเป็นอำนาจเดียว ภายใต้คณะบุคคลในนามคณะรัฐประหาร จะเกิดการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ตรวจสอบถ่วงดุลไม่ได้

3. การรัฐประหารจะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวพม่าอย่างกว้างขวาง ขัดแย้งต่อหลักการสากลที่ทั่วโลกยอมรับ โดยที่เมียนมาเองก็ยอมรับ ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกและอาเซียน

4. การยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม/นิติรัฐที่บุคคลทุกคนต้องได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จะอ้างเหตุให้มีคณะบุคคลหนึ่งใดมาบังคับใช้กฎหมายตามอำเภอใจไม่ได้

โดยเฉพาะการใช้อำนาจกวาดล้างจับกุมรัฐบาล ผู้บริหารประเทศ ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบ ตลอดจนบุคคลทุกคน ที่ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือแสดงออกเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร อีกทั้งเป็นการใช้อำนาจที่อาจนำไปสู่ขั้นการวิสามัญฆาตกรรมทุกรูปแบบ การอุ้มหาย

โดยไม่คำนึงถึงกระบวนการยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนตามหลักการสากลแห่งสหประชาชาติ อันแสดงถึงความป่าเถื่อน ไร้กฎเกณฑ์ที่สอดคล้องกับวิถีทางประชาธิปไตย

จากเหตุผลดังกล่าว กรพ.ขอประณามการรัฐประหารและเรียกร้องต่อคณะรัฐประหารของพม่า ดังต่อไปนี้

1. ยกเลิกการรัฐประหารยึดอำนาจ ยอมรับและเคารพในผลการเลือกตั้ง และคืนอำนาจการปกครอง ให้แก่ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้ง โดยทันที

2. เคารพสิทธิมนุษยชนของนักการเมือง นิสิตนักศึกษาและประชาชนชาวเมียนมา และปลดปล่อยบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมคุมขังในทันที

ข้อเรียกร้องนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม/นิติรัฐ และหลักประชาธิปไตย และในฐานะที่ประชาชนชาวไทยเป็นมิตรที่ดีของชาวเมียนมาและในฐานะสมาชิกประชาคมอาเซียน

ประกาศไว้ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์นี้ด้วย โดยระบุว่า สืบเนื่องจากการจับกุม อองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และบุคคลอื่นๆ ทางการเมืองหลายท่าน ท่ามกลางรายงานข่าวว่ามีการทำรัฐประหารในเมียนมา

มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การจับกุมอองซาน ซูจี เจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองคนอื่น ๆ เป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง ซึ่งหากไม่มีการตั้งข้อหาต่อผู้ถูกควบคุมตัวตามความผิดอาญาอันเป็นที่ยอมรับในกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องปล่อยตัวบุคคลเหล่านั้นโดยทันที

“กองทัพเมียนมาต้องชี้แจงว่ามีการใช้ข้อกฎหมายใดในการควบคุมตัวพวกเขา ทั้งยังต้องประกันให้มีการเคารพสิทธิของผู้ถูกจับกุมอย่างเต็มที่ รวมทั้งไม่ให้มีการปฏิบัติที่โหดร้าย ให้พวกเขาสามารถติดต่อครอบครัวและเข้าถึงทนายความที่ตนเลือกทนายความที่ตนเลือกได้ ต้องสามารถยืนยันว่าอยู่ในที่ใด และต้องได้รับการรักษาพยาบาล

“นับเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับประชาชนในเมียนมา และจะยิ่งทำให้การปราบปรามและการลอยนวลพ้นผิดของกองทัพเลวร้ายยิ่งขึ้น การจับกุมนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนพร้อมกันหลายๆ คน ส่งสัญญาณที่น่ากลัวว่ากองทัพจะไม่ยอมให้บุคคลแสดงความเห็นต่าง ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้

“การทำรัฐประหารและการปราบปรามครั้งก่อนในเมียนมาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในวงกว้างและการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เราจึงขอเรียกร้องให้กองทัพใช้ความยับยั้งชั่งใจ ปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยเร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“อีกทั้งมีรายงานว่ามีการสั่งปิดกั้นการสื่อสาร ซึ่งการกระทำดังกล่าวยิ่งเป็นภัยคุกคามมากขึ้นต่อประชาชนในช่วงเวลาที่อ่อนไหว โดยเฉพาะในระหว่างการต่อสู้กับโรคระบาดในเมียนมา และในขณะที่ยังมีการทำสงครามในประเทศกับกลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อพลเรือนในทุกส่วนของประเทศ ดังนั้นทางการจำเป็นต้องมีการเปิดให้บริการโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตอย่างเต็มที่อีกครั้งโดยทันที”