“พิชาย-นฤมล-ประจักษ์” วิเคราะห์การเมืองพม่าหลังรัฐประหาร วงจรเดิมแต่ประเทศถดถอย

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 การรัฐประหารพม่ากลายเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองที่สะท้อนภาวะตึงเครียดระหว่างรัฐบาลพลเรือนและฝ่ายกองทัพที่ กองทัพแสดงท่าทีไม่ยอมรับการลดอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดคำถามว่า เอาเข้าจริงประเทศที่มีภาพว่ากำลังพัฒนาประชาธิปไตยหลังต้องอยู่ภายใต้ระบบทหารกว่า 4 ทศวรรษ พัฒนาความเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่?

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สอนวิชาอุดมการณ์การเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ให้ความเห็นการยึดอำนาจในเมียนมา ระบุว่า การยึดอำนาจครั้งนี้ กองทัพไม่ได้ใช้คำว่ายึดอำนาจ เพราะในรัฐธรรมนูญให้อำนาจกองทัพทำรัฐประหารโดยไม่ต้องใช้คำว่ารัฐประหาร ถ้าดูใน รธน.ปี 2008 อนุญาตให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ state of emergency อยู่ในมาตรา 417 ก็จะมีการถ่ายโอนอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ไปให้กับ commander in chief ในที่นี้ก็คือพลเอก อาวุโส มินอ่องหล่าย หรือ ผบ.สูงสุด มีอำนาจในการปกครองประเทศ ดังนั้น หนึ่งปีนับจากวันนี้เป็นต้นไป เมียนมา จะอยู่ภายใต้กองทัพ และรัฐธรรมนูญยังอนุญาตให้ขยายได้ด้วยเมื่อครบเวลา 1 ปี ในครั้งนี้เราจึงเรียกอย่างไม่เป็นทางการได้ว่า self-coup หรือการรัฐประหารโดยกองทัพใช้อำนาจประกาศ

ถามว่าทำไมกองทัพทำอย่างนั้น ก่อนหน้านี้หนึ่งสัปดาห์กองทัพออกมาประกาศว่าไม่สบายใจในการเลือกตั้ง ว่าจะไม่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ผลจากการที่คนหันมาเลือกพรรค NLD กันถล่มทลาย มากเสียยิ่งกว่าปี 2015 อีก แล้วหลังผลเลือกตั้งออกมา วันนี้จะเป็นวันประชุมสภา เพื่อถ่ายโอนอำนาจ ก่อนหน้านี้กองทัพพยายามตั้งคำถาม หรือพยายามจะจัดให้มีการประชุมพิเศษ เพื่อพูดเรื่องการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ แต่สภาตอนนั้นไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. กองทัพจึงใช้วิธีนี้ รองประธานาธิบดีที่กองทัพเป็นคนตั้ง เซ็นให้ commander in chief เข้ามาบริหารประเทศ 1 ปี กองทัพคิดว่าการใช้วิธีแบบรัฐสภาไม่ได้ผล เลยใช้วิธีรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญเสียเลย

เมื่อถามว่าการเมืองเมียนมา กลับสู่วังวนเดิมหรือไม่เหมือนในอดีต ผศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะสิ่งที่เปลี่ยนไปคือเขาไม่ได้ใช้วิธีเอารถถังออกมา เขาใช้คำว่าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เราอาจเรียกได้ว่า เป็นการรัฐประหารภายใต้รัฐธรรมนูญ และรองประธานนาธิบดีที่แต่งตั้งโดยกองทัพ ก็เป็นคนเซ็นให้ ประธานาธิบดีก็โดนจับ

ส่วนประเด็นข้ออ้างเรื่องการทุจริตในการเลือกตั้งนั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่สมเหตุสมผลขนาดนั้น แม้กองทัพจะพูดประเด็นนี้ แต่ผลการเลือกตั้งมันชัดเจนชก่อนมีสถานการณ์โควิดชมีการทำโพลเป็นการภายใน พบว่า เอ็นแอลดีอาจจะได้เสียงข้างมาก แต่จะไม่ใช่ข้างมากเด็ดขาด แต่ผลจากการมีสถานการณ์โควิด เอ็นแอลดี ดูเฉพาะสายเศรษฐกิจ สายพลเรือน กองทัพดูเรื่องกิจการภายใน ชายแดน ความมั่นคง โควิดทำให้เอ็นแอลดีได้คะแนน เพราะดูเรื่องเศรษฐกิจและสาธารณสุข ถือว่าเป็นการใช้ข้ออ้างตามปกติของคนที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง เพราะผลเลือกตั้ง 80 กว่าเปอร์เซ็น กับ10 กว่าเปอร์เซ็น ไม่ว่าจะเถียงยังไงมันก็ลำบาก ยิ่งกองทัพอออกแถลงการณ์แบบนั้นคนก็ยิ่งไปเลือก NLD แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังมองยาก ไม่รู้ว่าจะไปยังไง

“ตอนนี้เมียนมาเข้าสู่เศรษฐกิจระบบโลกแล้ว เป็นไปได้ยากที่จะกลับไปเป็นแบบเดิม ไม่ง่ายเลยที่จะกลับไปปิดประเทศได้อีก เขาถึงพยายามใช้กลไกการอธิบาย เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องรองประธานาธิบดีเซ็นมอบอำนาจ แต่เราก้ไม่รู้เบื้องหลังว่ามันมีดีลอะไรกันบ้าง เช่น อาจจะประกาศเป็นโมฆะเลือกตั้งใหม่ หรือจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปี ตอนนี้เขาปิดสนามบิน ตัดสัญญานโทรศัพท์ ตัดสัญญาณโทรทัศน์ แล้วต้องรอดูว่าจะตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตหรือไม่” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

ส่วนบทบาทของไทยต่อเรื่องนี้ คิดว่าไทยคงจะบอกว่า โครงการที่ไทยไปลงทุนจะไม่มีผลกระทบ เพราะตามกฎอาเซียนมีกฎเรื่องการจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของพันธมิตรในอาเซียน หากไทยประเมินเช่นนี้ ไทยก็อาจจะไม่ทำอะไร อาจจะบอกว่าไทยเข้าใจสถานการณ์ภายในของประเทศนั้น สัญญาสัมปทานทั้งหลาย ที่ก่อนหน้านั้นเพิ่งมีข่าว ก็อาจจะมีการเจรจาก็ได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะออกมาแบบไหน คิดว่าตอนนี้กองทัพพม่าคงพยายามจัดการสถานการณ์ภายในก่อน เพราะคนคงไม่ค่อยแฮปปี้นัก ต่อไปนี้คงต้องจับตา จับตาการตั้งรัฐบาล โดย เป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว หรือรัฐบาลผสม

เมื่อถามว่า จะมีโอกาสได้เห็นการชุมนุมประท้วง หรือการต่อต้านที่เป็นรูปธรรมหลังจากนี้หรือไม่ ผศ.ดร.นฤมล วิเคราะห์ว่า ณ ขณะนี้ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัญหาวิกฤตโควิดที่กำลังเกิดขึ้นอย่างหนักในเมียนมา นอกจากนี้ กองทัพเมียนมาได้จับกุมแกนนำของพรรคNLD ประธานาธิบดี รัฐมนตรีกระทรวงสำคัญ ผู้ว่าฯ หรือมุขมนตรีไปหลายคน ทั้งยังจับกุมแกนนำภาคประชาสังคม ศิลปิน ดารา นักสร้างภาพยนตร์ NGO ไปแล้วจำนวนมาก จึงทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าใครจะมาเป็นแกนนำ

เมื่อถามว่า รัฎฐาธิปัตย์ใหม่รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ผศ.ดร.นฤมล ระบุว่า ก็จะเป็นบทบาทนำโดยกองทัพ เป็นไปได้ว่าอาจจะนำเอาบุคคลที่เคยทำงานในรัฐบาล เต็ง เส่ง หรืออาจหาบุคลากร จากพรรคยูเอสดีพี รวมถึงเทคโนแครตอื่นๆ ภายใต้การนำของ พลเอก อาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ที่ปัจจุบันเป็นผู้มีอำนาจมากสุดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เมื่อถามว่ากำหนดเวลา 1 ปี ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อครบกำหนดจะมีการจัดการเลือกตั้ง หรือแนวโน้มการคืนอำนาจหรือไม่ ผศ.ดร.นฤมล ระบุว่า มีแต่แนวโน้มที่จะขยายเวลาออกไป

“พิชาย” ชี้ พม่าคือโลกเสมือนจริงของไทย วนลูปเรื่องเดิมๆ แต่ผลคือประเทศพัง

วันที่ 1 ก.พ. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณะบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

“ประเทศเมียนมาประดุจโลกเสมือนจริงของประเทศไทย ต่างตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ทางการเมืองเหมือนกัน มักมีการใช้อำนาจแห่งศาสตราทำลายอำนาจแห่งประชาอยู่เสมอ ข้ออ้างก็เป็นข้ออ้างเดิมๆ วิธีการก็แบบเดิม สัญญาก็แบบเดิม การใช้อำนาจศาสตราเป็นฐานในการบริหารไม่เคยนำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองและสงบสุข ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการกัดกร่อนคุณธรรม ทำลายประเทศและสร้างความยากจนแก่ประชาชนทั้งมวล ขณะที่ผู้ถือครองศาสตรามั่งคั่งร่ำรวยกันถ้วนหน้า พรั่งพร้อมด้วยอภิสิทธิ์นานาประการ ที่บังคับขืนใจเอาจากประชาชน บทเรียนนี้มีให้เห็นในแทบทุกประเทศ ส่วนใครที่ยังคิดเห็นดีเห็นงามกับการใช้อำนาจศาสตราอยู่ หากมิใช่ถูกอคติบดบังปัญญา ก็คงเป็นผู้สมคบคิดและได้ประโยชน์จากสิ่งนั้น”

‘ประจักษ์’ ยกวิจัยชี้ รัฐประหารเกิดขึ้นที่ไหน ประเทศมีแต่ไม่เจริญ-สังคมแตกแยก

ด้านประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแสดงความคิดเห็นภายหลังเกิดเหตุรัฐประหารผ่านทวิตเตอร์ว่า ในศ.21 มีข้อเท็จจริง 3 ข้อที่งานวิจัยทางรัฐศาสตร์สรุปไว้อย่างเป็นเอกฉันท์ 1.ไม่มีประเทศไหนที่ทำรัฐประหารแล้วจะเจริญได้ 2.ไม่มีประเทศใดที่นายพลบริหารประเทศแล้ว ประเทศจะพัฒนา 3.การแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพคือบ่อเกิดของค.แตกแยกในสังคมและทำให้ประเทศถอยหลัง

ทักษะที่นายพลไทยและพม่ามี ซึ่งนายพลประเทศอื่นๆในโลกไม่มี (นายพลประเทศอื่นมีทักษะปกป้องประเทศชาติเป็นสำคัญ) คือ 1.ทักษะในการทำรัฐประหารยึดอำนาจ 2.สร้างสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนและแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนมีฐานะร่ำรวย 3.อุปถัมภ์พวกพ้อง ตั้งพรรค และเข้ามาเล่นการเมือง