“ทางเลือกสามแบบ” ของ “มณีจันทร์”

คนมองหนัง

คนคนคเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤษภาคม มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง “ทวิภพ” (The Siam Renaissance) ของ “สุรพงษ์ พินิจค้า” ในฉบับ “Director”s cut” ที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์

หนังเรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 2547 ด้วยคุณภาพและขนาดของโปรดักชั่นที่น่าทึ่ง (เห็นได้จากภาพยนตร์ตัวอย่าง) แต่ผลลัพธ์ในแง่รายได้กลับไม่ดีนัก

ขอบคุณคลิปจาก Joe Sirikiat (Youtube)

 

.

นี่อาจเป็น “ทวิภพ” เวอร์ชั่นที่ซีเรียสจริงจังกับประวัติศาสตร์ในยุคสยามเผชิญหน้าลัทธิล่าอาณานิคมมากที่สุด แต่สำหรับคนดูทั่วไป ผลงานของสุรพงษ์กลับถือเป็น “ทวิภพ” เวอร์ชั่นที่ดูยากที่สุด

เมื่อสิบกว่าปีก่อน คนดูส่วนใหญ่อาจรู้สึกสับสนไขว้เขวอยู่มากพอสมควร ขณะชม “ทวิภพของสุรพงษ์” ในฉบับฉายโรงทั่วไปตามปกติ (ซึ่งเข้าใจว่ามีโปรดิวเซอร์ของหนังเข้ามาร่วมตัดต่อในขั้นตอนสุดท้าย)

แต่เมื่อมาชมหนังในฉบับที่สุรพงษ์ลำดับภาพเอง เราจะได้พบกับโครงสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น

นอกจากนั้น หลายๆ บทพูดหรือการแสดงของตัวละครที่ดูลอยไปลอยมาไร้จุดหมายในหนังเวอร์ชั่นเข้าฉายเชิงพาณิชย์ ก็ถูกแปรผันเป็นการกระทำอันมีเป้าหมายรองรับชัดเจนขึ้น

สิ่งหนึ่งที่ผิดแผกกันระหว่าง “ทวิภพของสุรพงษ์ฉบับฉายโรงปกติ” กับ “หนังฉบับ Director”s cut” ก็คือ การมีท่าทีแตกต่างกันต่ออุปมาว่าด้วย “ประวัติศาสตร์กับสายน้ำ”

เมื่อครั้งได้ดูหนังเวอร์ชั่นปกติ ผมเป็นคนหนึ่งที่รำคาญกับประโยคเก่ง/วรรคทองของ “ขุนอัครเทพวรากร” พระเอกของเรื่อง ซึ่งชอบพร่ำพูดในยามสยามต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอันท้าทายว่า “ข้าเกิดที่แม่น้ำสายนี้ และข้าก็จะขอตายที่แม่น้ำสายนี้” เอามากๆ

ด้วยฐานความคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจาก “เฮราคลิตุส” ว่า “ไม่มีใครสามารถเหยียบเท้าลงบนแม่น้ำสายเดิมได้ซ้ำถึงสองหน”

ผมจำไม่ได้ว่าในหนังฉบับปกติ มีตัวละครรายใดที่ตั้งคำถามจริงจังกับวรรคทองของขุนอัครเทพฯ บ้างหรือไม่?

แต่ในฉบับ Director”s cut นั้น ตัวละครที่ตั้งคำถามกับประโยคเก่งของท่านขุนได้อย่างแหลมคมน่าสนใจ ก็คือ นางเอกของเรื่องอย่าง “มณีจันทร์” นั่นเอง

มณีจันทร์หรือเมนี่เถียงกับวรรคทองของขุนอัครเทพฯ ในทำนองว่า “สรุปแล้ว คนอย่างฉันควรจะอยู่ตรงไหนของสายน้ำกันแน่?”

หรือเมื่อสายน้ำมันล่องไหลไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วมนุษย์เราควรจะเลือกยืนหยัดอยู่ตรงอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต?

ข้อถกเถียงนี้จะเชื่อมโยงถึงประเด็นถัดไป

หากเปรียบเทียบ “ทวิภพของสุรพงษ์ฉบับฉายโรงปกติ” กับ “หนังฉบับ Director”s cut” อีกองค์ประกอบหนึ่งซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ฉบับหลังนำเสนอกระบวนการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างสยามกับลัทธิล่าอาณานิคม ได้อย่างมีพลวัตละเอียดลออมากกว่า

ในภาพยนตร์ฉบับที่สุรพงษ์ลงมือตัดเอง ดูเหมือนผู้กำกับฯ/ผู้ลำดับภาพ จะพยายามแบ่งเฉดสีของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสยามกับ “มหาอำนาจตะวันตก” ออกเป็นสามโทน ผ่านโลกทรรศน์สามแบบของตัวละครชายสามคนที่หลงรักมณีจันทร์

คนแรก คือ “ขุนอัครเทพวรากร” ที่ออกแนวขวาทื่อๆ (ตามประโยคเก่ง/วรรคทองของเขา) ท่านขุนมีท่าทีเกลียดฝรั่งชัดเจนสุด (แต่ไม่ถึงกับปฏิเสธฝรั่งอย่างหัวเด็ดตีนขาด) และมีวิธีคิดที่สลับซับซ้อนน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นตัวละครที่รักษาจิตวิญญาณหรืออุดมการณ์ดั้งเดิมของนิยายฉบับ “ทมยันตี” เอาไว้มากที่สุด (เผลอๆ จะเป็น “สายเหยี่ยว” ยิ่งกว่าพระเอกในนิยายด้วยซ้ำ)

คนต่อมาคือ “ฟรองซัวส์ ซาเวียร์” เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฝรั่งเศส ที่เดินทางมาเข้ามาเขียนบันทึกทางชาติพันธุ์ในสังคมสยาม

จริงๆ ซาเวียร์ควรจะเป็นคนที่มองสยามหรือเขียนงานชาติพันธุ์นิพนธ์เกี่ยวกับสังคมสยามจาก “สายตาแบบเจ้าอาณานิคม” มากที่สุด

แต่หนังฉบับ Director”s cut ก็เพิ่มเติมรายละเอียดสำคัญทำให้ตัวละครรายนี้มีภูมิหลังชีวิตซับซ้อนกว่าเดิม กล่าวคือ หนังฉบับนี้กำหนดให้ซาเวียร์มีสายเลือดสยามปะปนอยู่ในตัว (สืบทอดมาจากบรรพบุรุษที่ถูกส่งไปฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์)

ดังนั้น เขาจึงไม่มีอาการเหยียดสยามว่าเป็นสังคมที่ไม่ศิวิไลซ์หรือป่าเถื่อน ไม่ได้มองสยามด้วยสายตาของเจ้าอาณานิคม แต่มองโลกผ่านสายตาที่เปี่ยมด้วยมนุษยธรรม โดยเห็นว่ามนุษย์ในทุกสังคมนั้นเท่าเทียมกัน และต่างมีอารยธรรมด้วยกันหมดทั้งสิ้น

เอาเข้าจริง ผมกลับมีปัญหากับการเพิ่มภูมิหลังให้ตัวละครซาเวียร์อยู่นิดๆ ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมฝรั่งในยุคอาณานิคมจะมองสังคม “เอเชีย/ตะวันออก” ด้วยสายตาที่แอนตี้ลัทธิล่าอาณานิคมไม่ได้?

ทำไมฝรั่งยุคโน้นจะมองโลกด้วยท่าทีทวนกระแสจากวิธีคิดหลักของสังคม/พรรคพวกตนเองไม่ได้?

ทว่า เรา (คนสยาม/คนไทย) ต้องลงมือประกอบสร้าง (เรื่องเล่า) ให้ฝรั่งคนนั้นมี “ความเป็นไทยทางสายเลือด” เสียก่อน มุมมองของเขาถึงจะเปลี่ยนไป

ซึ่งการใส่สายเลือด/คุณลักษณะทางชีววิทยาลงไปในตัวซาเวียร์ เพื่อเขาจะได้มองเห็นสยามว่าเป็นสังคมที่เท่าเทียมกับ “ตะวันตก” ก็คือ วิธีคิดแบบเจ้าอาณานิคม/มานุษยวิทยายุคแรกเริ่มในมุมกลับนั่นเอง

ตัวละครที่เจ๋งและน่าหมั่นไส้มากที่สุด คือ “หลวงราชไมตรี” ขุนนางหนุ่มเพื่อนซี้ของขุนอัครเทพฯ

แม้จะมีมุมมองต่อโลกที่ทันสมัยและ “เป็นฝรั่ง” มากกว่าขุนอัครเทพฯ

แต่คุณหลวงรายนี้กลับกลายเป็นผู้ที่มองสังคมสยามด้วยสายตาแบบ “เจ้าอาณานิคมภายใน” คือ มอง/เหยียดว่าพวกชาวบ้านเอาแต่เล่นสนุก หาความรื่นเริงบันเทิงใจไปวันๆ แต่ไม่กระตือรือร้น ไม่แสวงหาความรู้ ไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามจากภายนอก

(ด้วยเหตุนี้ จึงมีแต่ชนชั้นนำอย่างพวกข้าพเจ้าเท่านั้น ที่มุ่งมั่นทำงานหนักในการพยายามทัดทาน “อำนาจตะวันตก”)

ไปๆ มาๆ ชนชั้นนำสยามที่มีความรู้เท่าทันโลกและมีบุคลิกแลดูเป็น “สายพิราบ” อย่างหลวงราชไมตรี จึงมีโลกทรรศน์เป็น “เจ้าอาณานิคม” ยิ่งกว่าฝรั่ง (เชื้อสายสยาม) อย่าง “ฟรองซัวส์ ซาเวียร์” เสียอีก

ผมเห็นว่าการแบ่ง/ซอย/ซ้อนโลกทรรศน์สามชั้นผ่านตัวละครหลักสามคนตรงส่วนนี้ นับเป็น “จุดเด่น” ประการสำคัญ ที่ส่งผลให้ “ทวิภพฉบับ Director”s cut ของสุรพงษ์” มีความเหนือกว่า “หนังฉบับฉายโรงปกติ” เมื่อ 13 ปีก่อน

(ในฉบับปกตินั้น บทพูดวิเคราะห์ชาวบ้านในสังคมสยามโดยหลวงราชไมตรีจะหายไป เช่นเดียวกับมุมมองที่มีต่อสยามแบบละเอียดๆ และภูมิหลังชีวิตของ ฟรองซัวส์ ซาเวียร์)

ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกับความลังเลใจของมณีจันทร์ที่มีต่ออุปมาว่าด้วย “ประวัติศาสตร์และสายน้ำ” อย่างสำคัญ

เพราะการจะเลือกผู้ชายคนไหน ก็คือการเลือกว่าตัวเธอเองจะยืนอยู่ตรงจุดใดของประวัติศาสตร์/สายน้ำ? หรือเลือกว่าตนเองจะเผชิญหน้ากับ “มหาอำนาจต่างชาติ” อย่างไร?

แล้วนักเรียนนอก บุคลิกฝรั่ง แต่รักความเป็นไทย (และรังเกียจที่คนไทยร่วมสมัยเดียวกับเธอต่างบริโภคอะไรมากมายตามอย่างต่างชาติ แถมยังอ่านหนังสือแค่ปีละ 6 บรรทัด) เช่น เมนี่ ก็ตัดสินใจเลือก “ขุนอัครเทพวรากร”