คุณหมอนักปฏิวัติ : จากหมอซุนยัตเซน ถึงหมอเหล็ง ศรีจันทร์ และหมออัทย์ หะสิตะเวช | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ในบรรดาอาชีพของนักปฏิวัติของไทย คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักนึกถึงอาชีพทหาร นักกฎหมาย แต่แทบไม่มีใครคิดถึงอาชีพหมอ

ความพยายามของปฏิวัติ ร.ศ.130 (2455) ของคณะ ร.ศ.130 ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หมอในคณะครั้งนั้น มี ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง ศรีจันทร์) พ.ต.หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (หมออัทย์ หะสิตะเวช) ร่วมคณะปฏิวัติด้วย

พวกเขามีอุดมคติที่หาได้มีความต้องการแต่เพียงรักษาความป่วยของคนไข้ในระดับปัจเจกที่โรงพยาบาลเท่านั้น

แต่พวกเขาค้นพบสาเหตุของพยาธิสภาพแห่งความเสื่อมทรามในระดับสังคมอันเป็นเหตุแห่งความป่วยไข้ของประเทศชาติในขณะนั้น

และพวกเขาอาสาเข้าบำบัดโรคนั้นให้ประเทศชาติ

 

เพียง 2 ปีภายหลังรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ (2453) ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระองค์นั้นถูกท้าทายอย่างหนักจากอุดมคติแห่งการปกครองแบบใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในกลุ่มคนชั้นใหม่ภายในสังคมไทย

ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2455 รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าจับกุมกลุ่มนายทหารและพลเรือนหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่คิดปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

กล่าวอย่างกระชับแล้ว เหตุการณ์ ร.ศ.130 คือความพยายามปฏิวัติทางการเมืองครั้งแรกของไทย ที่สะท้อนให้เห็นพลังของอุดมคติทางการเมืองตามแบบสากล

นายทหารกลุ่มนี้สำนึกว่าพวกเขาเป็นทหารของชาติ และมองเห็นความเสื่อมของการปกครองแบบเดิมจึงต้องการปฏิวัติเพื่อสถาปนาการปกครองอย่างใหม่และผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่ความอารยะ

พวกเขาเปรียบเสมือนกองหน้าในการเพรียกหาการปกครองที่วางอยู่บนอำนาจของประชาชน

แม้นความพยายามผลักดันไทยให้เคลื่อนตามคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงตามสากลสมัยของพวกเขาประสบความล้มเหลวก็ตาม

 

ภูมิหลังของซุนยัตเซนผู้เป็นหมอนักปฏิวัติได้ชูธงปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงในปี 2455 นั้นเขาเป็นคนกวางตุ้ง ต่อมา เขาอพยพไปทำงานและเรียนหนังสือที่ฮาวาย

ยามเมื่อมีเวลาว่าง เขาชอบอ่านประวัติบุคคลสำคัญโลก ด้วยเหตุที่เขาอยู่ในต่างแดนจึงเคยเห็นและรับรู้การเปลี่ยนแปลงของโลก

ต่อมาเขาเข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยในฮ่องกง เมื่อจิตสำนึกทางการเมืองของเขามีมากขึ้น เขาจัดตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาของจีน และเริ่มเกิดความคิดปฏิวัติการปกครองจีนให้เป็นสมัยใหม่

ต่อมาเขาจัดตั้งขบวนการ “ถงเหมงฮุ่ย” พร้อมแสวงหาการสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเลหลายแห่ง รวมทั้งเคยเดินทางมาไทยหลายครั้ง จวบการปฏิวัติเริ่มที่เมืองอู่ชาง มณฑลหูเป่ย จนอุดมคติของซุนยัตเซนก็กลายเป็นความจริงในที่สุด

ด้วยความตระหนักถึงพยาธิสภาพแห่งปัญหาที่หน่วงรั้งความก้าวหน้าของไทยของคณะปฏิวัติไทยประกอบกับการติดตามข่าวสารการปฏิวัติอีกทั้งพวกเขาประทับใจในบทบาทของซุนยัตเซนมาก

ดังที่พวกเขาบันทึกไว้ว่า ที่ประชุมในช่วงแรกๆ หลายครั้ง สมาชิกระดับนำให้การสนับสนุนปฏิวัติไทยตามแบบจีน เนื่องจากจีนมีฐานะและสภาพไม่ต่างจากไทย

ดังเห็นจากเอกสารชื่อว่า “ว่าด้วยความเสื่อมทรามแลความเจริญของประเทศ” อันเป็นเอกสารที่สะท้อนอุดมคติทางการเมืองสำคัญของพวกเขาที่มีคุณค่าต่อการเข้าใจวิวัฒนาการอุดมคติทางการเมืองของคนไทยสมัยใหม่

เอกสารชิ้นนี้ หอจดหมายเหตุแห่งชาติที่ท่าวาสุกรีระบุว่า รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยึดได้จากบ้านของ พ.ต.หลวงวิฆเนศวรประสิทธิวิทย์ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ และ ร.ต.ชลอ

สาระสำคัญของบันทึกดังกล่าวให้ภาพภาวะอุดมคติ โดยแยกแยะให้เห็นว่า การปกครองของโลกขณะนั้นมี 3 ชนิด คือ ชนิดแรก “แอ็บโซลุท มอนากี” ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไทยใช้ปกครองขณะนั้น กับทางเลือกในการปกครองรูปแบบชนิดใหม่ระหว่าง “ลิมิเต็ด มอนากี” กับ “รีปับลิก”

ด้วยเหตุที่พวกเขาชื่นชมกับการปฏิวัติในจีน อีกทั้ง ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (หมอเหล็ง) มีความอาวุโส เป็นผู้นำ และมีอาชีพหมอ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการสมัยใหม่และมีอาชีพเดียวกับซุนยัตเซน เขาจึงถูกเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติไทย

ทั้งนี้ ในคณะยังมีหมอนักปฏิวัติอีกหนึ่งคนที่ร่วมขบวนการปฏิวัติคือ พ.ต.หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (หมออัทย์)

ภูมิหลังของ ร.อ.ขุนทวยหาญพิทักษ์ (2425-2502; เหล็ง ศรีจันทร์) หรือหมอเหล็งนั้น เขาเกิดที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยา เริ่มเรียนที่วัดประยุรวงศาวาส และเรียนภาษาอังกฤษที่นริศสกูล วัดมหรรณพาราม จากนั้นเข้าศึกษาวิชาแพทย์ที่ราชแพทยาลัยในศิริราชพยาบาล เมื่อสำเร็จการศึกษาได้บรรจุเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีราชา และแพทย์ประจำโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ต่อมาเป็นนายแพทย์ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในปี 2453 ได้เลื่อนยศจนเป็นร้อยเอกในตำแหน่งผู้บังคับกองพยาบาล โรงเรียนนายร้อยทหารบก มีราชทินนามว่า ขุนทวยหาญพิทักษ์

หมอเหล็งมีความสนใจความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก รวมทั้งติดตามข่าวสารในจีนบนหน้าหนังสือพิมพ์และสะสมหนังสือเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองในโลกหลายเล่ม

อุดมคติทางการเมืองของหมอเหล็งนั้น ปรากฏหลักฐานว่า หมอเหล็งให้เหตุผลสนับสนุนการปกครองของไทยภายหลังการปฏิวัติให้เลือกตามแบบจีน หรือการเดินไปให้สุดทางมากกว่าเปลี่ยนแบบทางสายกลางเพื่อเป็นการป้องกันการปกครองไทยหมุนกลับคืนที่เดิมอีก (วรางคณา จรัณยานนท์, คณะ ร.ศ.130 : ชีวิต อุดมการณ์และการจัดตั้ง, 126)

ปลายกุมภาพันธ์ 2455 หมอเหล็งถูกจับกุมพร้อมคณะ เขาต้องรับโทษประหารชีวิต แต่ได้รับการลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และถูกถอดยศและบรรดาศักดิ์ทั้งหมด

เมื่อเขาถูกจำคุกได้กว่า 10 ปี จึงได้รับการอภัยโทษ หลังออกจากโทษทัณฑ์ เขาอุปสมบทที่วัดสุทัศนเทพวราราม

เมื่อลาสิกขาแล้วจึงได้ทำธุรกิจ ด้วยการตั้งร้านขายยาชื่อโยคีสถาน ต่อมาคือห้างขายยาศรีจันทร์

เขาเขียนตำราทางการแพทย์ เช่น ตำราวัฒนายุ ตำราสิเนหา ว่าด้วยวิทยาศาสตร์แห่งความรัก และตำราฝึกหัดเด็ก เป็นต้น

แม้นทุกวันนี้ห้างขายยาศรีจันทร์ถูกขายกิจการไปแล้ว ที่เหลืออยู่คือผงหอมศรีจันทร์

นอกจากนี้ เขายังเคยทำคลอดให้อดีตนายกรัฐมนตรีชื่อ นายสมัคร สุนทรเวช อีกด้วย

สําหรับหมอนักปฏิวัติอีกคนคือ พ.ต.หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์ (อัทย์ หะสิตะเวช)

เขาเป็นนักเรียนแพทย์คนแรกในประวัติศาสตร์ไทย

เขาเป็นนักเรียนแพทย์มีเลขประจำตัวหมายเลข 1 ของราชแพทยาลัยแห่งศิริราชพยาบาลสมัยแรกเริ่ม

ช่วงที่หมอแม็กฟาร์แลนด์ (Dr. George B. McFarland) เป็นผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไปของศิริราชพยาบาล หมออัทย์เคยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยสอนในโรงเรียนแพทย์หลายปี

ต่อมาเขารับราชการในกองทัพและมีโอกาสไปศึกษาดูงานการผลิตวัคซีนไข้ทรพิษจากฟิลิปปินส์ร่วมกับหมอแฮนส์ อดัมเสน (Hans Adamsen) (พระบำบัดสรรพโรค) จนนำมาสู่การจัดตั้งสถานผลิตวัคซีนขึ้นครั้งแรกในไทย

สำหรับอุดมคติทางการเมืองของหมออัทย์นั้น ปรากฏหลักฐานว่า ในการประชุมคณะปฏิวัติในครั้งต้นๆ ที่ประชุมล้วนปฏิเสธระบอบการปกครองของไทยขณะนั้น แต่ชื่นชมการปกครองแบบสากลคือ “ลิมิเต็ด มอนากี” และ “รีปับลิก”

เพื่อนนักปฏิวัติบันทึกถึงความคิดของหมออัทย์ในหนังสือหมอเหล็งรำลึก (2503, 53) ว่า การประชุมปฏิวัติครั้งหนึ่งหมออัทย์ได้นำเอกสารและหนังสือที่เขาเก็บรวบรวมเกี่ยวกับการปฏิวัติในจีนมาให้เหล่าคณะปฏิวัติหนุ่มศึกษา อีกทั้งที่บ้านของเขามีภาพซุนยัตเซนและคณะปฏิวัติจีนติดประดับที่ผนังบ้าน ซึ่งสะท้อนอุดมคติทางการเมืองหมออัทย์เป็นอย่างดีอีก (วรางคณา จรัณยานนท์, 149-150)

ต่อมาเขาถูกจับกุมและลงโทษฐานกบฏพร้อมกับเพื่อนร่วมคณะ โปรดอ่านชีวิตพิสดารของเขาต่อได้ในหนังสือชื่อนิทานชาวไร่ (2560)

ด้วยเหตุที่อาชีพแพทย์สมัยใหม่สำหรับสังคมไทยขณะนั้นมีจำนวนไม่มาก ดังนั้น พวกเขาทั้งสองจึงล้วนคลุกคลีกับกลุ่มชนชั้นนำ เช่น หมออัทย์ทำงานเป็นแพทย์ในกองทัพและรับใช้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางระดับสูง ฯลฯ

ส่วนหมอเหล็งรับราชการเป็นแพทย์ทหาร และเคยเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถฯ หม่อมคัทรีน พระชายา ตลอดจนรักษาชนชั้นนำของไทย เป็นต้น

มีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจึงพบเห็นสภาพสังคมไทยขณะนั้นส่งผลให้พวกเขามีจิตสำนึกใฝ่ฝันถึงสังคมไทยในอุดมคติของที่ดีกว่าเดิมก็เป็นได้

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด แม้อุดมคติในการบำบัดความป่วยไข้ให้กับสังคมไทยของหมอนักปฏิวัติทั้งสองคนนี้จะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม แต่การตัดสินใจวินิจฉัยแนวทางการรักษาโรคเรื้อรังให้กับสังคมไทยโดยคุณหมอทั้งสองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย