ศึกชิงความไว้วางใจ ฝ่ายค้านปะทะรัฐบาล ‘บิ๊กตู่- 9 รมต.’ ขึ้นเขียง / แมลงวันในไร่ส้ม

แมลงวันในไร่ส้ม

ศึกชิงความไว้วางใจ

ฝ่ายค้านปะทะรัฐบาล

‘บิ๊กตู่- 9 รมต.’ ขึ้นเขียง

ข่าวสารการเมืองในสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดยมีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี 9 คน มีรายชื่อถูกอภิปราย รวมเป็น 10 คน

ประกอบด้วย 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 6.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 8.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 9.นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ญัตตินี้ถึงมือนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เมื่อวันที่ 25 มกราคม ซึ่งจะต้องตรวจสอบและบรรจุระเบียบวาระ และคาดหมายว่าจะเกิดการอภิปรายในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยอาจใช้เวลา 3 ถึง 4 วัน

ที่น่าสนใจคือ ญัตตินี้มีรายละเอียดที่ดุเดือดร้อนแรงมากกว่าที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะเหตุผลในการไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์

โดยญัตติระบุว่า บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง ท่ามกลางภาวะที่ประชาชนดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก และมีการระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ฯลฯ

ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย

อีกตอนของญัตติระบุว่า มีการแอบอ้างสถาบันเบื้องสูง ละเมิดหลักนิติรัฐ นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน ทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ

การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ญัตติระบุว่า ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองและพวกพ้อง ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

และอีก 1 ใน 3 ป. ที่ถือเป็นแกนหลักของ คสช. ที่เปลี่ยนผ่านมาเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ญัตติระบุว่า บริหารราชการแผ่นดินโดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้อง ฯลฯ

รอบนี้ฝ่ายค้านรวมเอาแกนนำรัฐบาลมาไว้เกือบครบ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคือ พล.อ.ประวิตร, หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ และนายนิพนธ์, หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ส่วนรัฐมนตรีระดับแกนนำที่ถูกอภิปรายยังได้แก่ นายศักดิ์สยาม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายสุชาติ, ร.อ.ธรรมนัส และนายณัฏฐพล แกนนำพรรคพลังประชารัฐ

ขณะที่ทางพรรครัฐบาลต่างเตรียมการแก้เกมของฝ่ายค้าน ด้วยการเตรียมทีมไว้ช่วยชี้แจง หรือช่วยยกมือประท้วง

อาทิ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาประกาศว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มีวุฒิภาวะที่จะพิจารณาว่าการดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องเช่นนี้มีความเหมาะสมและควรกระทำหรือไม่ หรือว่าวันนี้ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมันหายไปหมดแล้ว

ขอให้ฝ่ายค้านกลับไปดูข้อบังคับให้ดีๆ และแก้ญัตติแล้วมายื่นใหม่ แต่หากฝ่ายค้านยังคงยืนยันที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสถาบัน ก็ขอประกาศไว้ตรงนี้เลยว่า ฝ่ายค้านจะเจอการประท้วงจนไม่ได้อภิปรายเลยทั้ง 4 วัน เพราะฉะนั้น บรรดาหัวหงอกหัวดำของพรรคฝ่ายค้านที่ยังพอมีสติ ช่วยคิดกันให้ดี ช่วยคิดถึงคำปฏิญาณตนตอนเข้ารับตำแหน่งด้วยว่าเคยพูดอะไรกันไว้กลางที่ประชุมสภา

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นการอภิปรายรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 6 คน นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ เกิดเหตุวุ่นวายในสภา ทำให้รัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ถูกอภิปราย

น่าจับตาว่า การที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประวิตรอีกครั้งในรอบนี้ สุดท้ายฝ่ายค้านจะประสบความสำเร็จในการอภิปราย พล.อ.ประวิตรหรือไม่

ข่าวเรื่องการอภิปรายจะเป็นเหตุการณ์สำคัญ และเป็นข่าวสำคัญในสื่อต่างๆ ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงช่วงกลางเดือนและปลายเดือนกุมภาพันธ์

ทั้งเรื่องของเนื้อหา การเคลื่อนไหวต่างๆ จากทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงผลการลงมติในญัตติ ภายหลังการอภิปราย

โดยจำนวนเสียง ฝ่ายรัฐบาลคงผนึกกำลังลงมติไว้วางใจช่วยๆ กันไป คล้ายกับการอภิปรายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่มติไว้วางใจจากใจของรัฐมนตรีแต่ละคนอยู่ที่ 272 ถึง 277 คะแนน โดยครั้งนั้น พล.อ.ประวิตรได้คะแนนมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญอยู่ที่เนื้อหาการอภิปราย หากฝ่ายค้านทำการบ้านมาดีๆ เสนอเนื้อหาที่ยืนยันความไม่น่าไว้วางใจรัฐบาลได้ดีหรือสมบูรณ์ ก็จะส่งผลต่อกระแสสังคมภายนอก

ต้องจับตาพรรคก้าวไกล ซึ่งมี ส.ส.รุ่นหนุ่ม-สาวที่มีคุณภาพหลายคนและพัฒนาตนเองได้ดี แม้ว่าพรรคและแกนนำประสบชะตากรรมทางคดี ต้องพ้น ส.ส.ไปหลายคน

เนื้อหาเหล่านี้จะไปผสมผสานกับกระแสภายนอกสภา ที่มีอุณหภูมิความไม่พอใจรัฐบาลอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารงาน การแก้ปัญหาโรคระบาดทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา

รวมถึงกรณีระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มราษฎร ที่ยื่นข้อเรียกร้องไว้ 3 ข้อ และมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อันเป็น 1 ในข้อเรียกร้อง

แต่การแก้ไขเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า กระทั่งถูกวิจารณ์ว่ามีการเตะถ่วง ด้วยความเชื่อว่ากลุ่มราษฎรซึ่งโดนแจ้งข้อหาต่างๆ ได้อ่อนแรงลงแล้ว

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นอีกเหตุการณ์ทางการเมืองที่กระทบการดำรงอยู่ของรัฐบาล

ข่าวสารที่ไปถึงสังคมวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ด้วยประสิทธิภาพของสื่อใหม่ จะเป็นปัจจัยสำคัญกำหนดความน่าไว้วางใจหรือไม่น่าไว้วางใจ

ทั้งของรัฐบาลและฝ่ายค้าน