พท.โชว์ข้อมูลเด็ด! ระงับขึ้นค่าโดยสารบีทีเอสเป็น 104 บาท ชี้เหมือนเอาคนกรุงเป็นตัวประกัน

วันที่ 24 ม.ค.2564 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พร้อมด้วยนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี และนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคพท. ร่วมแถลงข่าวกรณีการขึ้นค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท โดยนายยุทธพงศ์ กล่าวว่า วันนี้ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ได้ประกาศว่าวันที่ 16 ก.พ.นี้ จะขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาท ซึ่งวันนี้สถานการณ์ โควิด-19 เศรษฐกิจ ประชาชนกำลังเดือดร้อน

การที่มาขึ้นค่าโดยสารสุงสุด 104 บาทต่อเที่ยว ซึ่งหากไปกลับจะเป็นเงิน 208 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุง 331 บาท วันนี้เขาจะอยู่ได้อย่างไร ถามว่าผู้ว่าฯ กทม.คิดได้อย่างไรในการให้เหตุผลว่าถ้าไม่ขยายสัมปทานออกไป 40 ปี ก็ต้องมีมติ ครม.สั่งไม่ให้ กทม.ขึ้นค่าโดยสาร อย่างไรก็ต้องขึ้นค่าโดยสาร ทั้งยังท้าให้ฟ้อง ป.ป.ช.ได้เลยไม่สนใจ

สาเหตุที่ต้องดำเนินการเนื่องจาก กทม.เป็นหนี้บีทีเอสอยู่ เช่นนี้เหมือนเอา คนกรุงเทพฯ มาเป็นตัวประกัน และซ้ำเติมวิกฤต โควิด-19 และ วิกฤตเศรษฐกิจ จึงไม่ทราบว่า นายกฯ และ รมว.มหาดไทย ทำไมยังอยู่เฉย ไม่เรียก พล.ต.อ.อัศวินไปพูดคุยเพื่อหาทางยับยั้งไม่ให้ขึ้นค่าโดยสาร และเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวนี้จะเป็นประเด็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของ พรรค พท.ในครั้งนี้ด้วย

ส่วนที่ถามว่าเหตุใดจึงเอาข้อมูลมาแถลงเปิดก่อนนั้น เนื่องจากพรรคพท. และพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาฯ ในวันที่ 25 ม.ค. เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา และคาดว่าจะได้อภิปรายไม่ไว้วางใจหลังวันที่ 16 ก.พ. ถ้าพรรคพท.รอจะไม่ทันการ เพราะจะมีการขึ้นค่าโดยสารไปก่อน ดังนั้นเราจึงหาวิธีการยับยั้งความเดือดร้อนของประชาชนก่อน

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่มีปัญหาคือ กทม.รับโอนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายเขียวเหนือและเขียวใต้มาจากกระทรวงคมนาคม โดยเป็นหนี้ รฟม. 51,785 ล้านบาท พล.ต.อ.อัศวินจึงได้มีการออกข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการกู้เงินเพื่อให้ในการโอนทรัพย์สินและหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ.2561 เพื่อกู้เงินไปจ่าย

แต่ผ่านมาแล้ว 3 ปียังไม่ทำอะไรเลย ไม่มีการกู้เงินสักบาท และมาใช้วิธีการขึ้นค่าโดยสาร ซึ่งเรื่อง นี้เคยเข้า ครม. ไปแล้ว และครม.ก็อนุมัติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงิน มาให้ กทม. เพื่อใช้หนี้ รฟม. แปลว่ากทม. เตรียมการเรื่องเป็นหนี้อยู่แล้ว และมีแหล่งเงินที่จะไปจ่ายคืน ให้ รฟม.อยู่แล้วด้วย

เหตุใดจึงไม่ดำเนินการ นอกจากนี้ มติ ครม. ยังกำหนดให้กทม.บริหารจัดการรายได้ตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และพิจารณาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพซึ่งเป็นมติตั้งตั้งแต่ ปี 61 จึงถามว่าเหตุใดกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ กทม.จึงไม่ปฎิบัติตาม ทั้งนี้ เรื่องหนี้ 5 หมื่นกว่าล้านนี้ นายกฯ รมว.มหาดไทย และผู้ว่าฯ กทม. เข้าข่ายการละเว้นปฎิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และจับเอาคนกทม. เป็นตัวประกัน

นายยุทธพงศ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คือ 1. ขอให้ กทม. ชะลอการขึ้นค่าโดยสาร 104 บาทในวันที่ 16 ก.พ.ออกไปก่อน 2.การคิดค่าโดยสารที่เหมาะสม ราคาเริ่มต้นและสุงสุดต้องอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะไม่มีใครอยากนั่งต้นสายไปยังปลายทาง เพราะค่าเฉลี่ยประชาชนจะนั่งเพียง 12 สถานีเท่านั้น

และ 3.โครงการรถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะ ไม่ใช่ลุงทุนไปแล้วมาคิดเอากำไรกับประชาชนเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด กทม.ต้องดูแลประชาชน และทำอย่างไรให้ประชาชนได้ค่าโดยสารที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามวันที่ 26 ม.ค. ตนจะนำไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และผู้ว่าฯ กทม.เพื่อยับยั้งไม่ให้ขึ้นค่าโดยสาร

นายยุทธพงศ์ กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ว่า จะต่างจากอภิปรายครั้งที่แล้ว เพราะปีที่แล้วไม่ให้เอาเรื่องเก่ามาอภิปราย แต่การอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลบริหารงบประมาณมาแล้ว 2 ปี มีการใช้งบประมาณที่บกพร่อง ทุจริต เอื้อประโยชน์ ดังนั้นการอภิปรายครั้งนี้พรรคฝ่ายค้านมีทีเด็ดและหลักฐานค่อนข้างชัดเจน และสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลที่สุด

เมื่อถามว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายกี่คน นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า รายชื่อที่สื่อมีอยู่ที่ประมาณ 11 คน ตนเรียนว่ายังไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ถูกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว เมื่อถามย้ำว่ามี 11 คนใช่หรือไม่ นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า มีประมาณ 11 คน แน่นอน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายยุทธพงศ์ และ คณะแถลงข่าวนั้น ทางบริษัทบีทีเอสได้ส่งทีมงาน นำโดย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ในฐานะที่ปรึกษาบริษัทบีทีเอส มาร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย