“Affordable Housing” คำตอบของคนกรุงเทพฯในวันที่เงินเดือนโตไม่ทันราคาอสังหาริมทรัพย์

• คนกรุงเทพฯไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้

หลายคนคงเคยตั้งเป้าหมายว่าในวันนึงเมื่อมีรายได้สูงมากพอ จะหาซื้อคอนโดหรือบ้านใจกลางเมืองี่เองใฝ่ฝัน เพื่อจะได้อยู่ใกล้เมืองมากขึ้น เพื่อให้เดินทางได้สะดวกสบายยิ่งขึ้นและใกล้แหล่งความเจริญต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า ธนาคาร โรงพยาบาล หรือโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อความสะดวกของคนในครอบครัว แต่ความเป็นจริงกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เมื่อระดับเงินเดือนของคนกรุงเทพ ส่วนใหญ่นั้นเพิ่มขึ้นไม่ทันกับราคาที่พักอาศัยที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดในเมือง ที่พวกเค้าวาดฝันว่าอยากจะมีโอกาศอยู่อาศัยได้ในระยะยาวทางออกในการอยากเป็นเจ้าของที่พักอาศัยของตัวเองนั้น ก็ต้องเลือกโครงการที่ห่างไกลออกจากตัวเมือง เมื่อมีความต้องการที่พักอาศัยในลักษณะแบบนี้มากขึ้น บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เลือกที่จะตั้งโครงการแบบกระจัดกระจาย และห่างไกลจากระบบขนส่งสาธารณะหลัก เพื่อให้คนกลุ่มนี้ซื้อที่พักอาศัยในราคาย่อมเยาว์ขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมืองกระจัดกระจาย (Urban sprawl) เพิ่มมากขึ้นตาม รวมทั้งยังทำให้ต้นทุนค่าครองชีพ โดยเฉพาะค่าเดินทาง สูงขึ้นมากในคนกลุ่มนี้

ในปัจจุบัน คนกรุงเทพส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองได้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและการเคหะแห่งชาติ ในปี พ.. 2563 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของคนกรุงเทพฯ นั้นอยู่ที่ 37,750 บาทต่อเดือน โดยหากคิดตามความสามารถในการกู้คนกลุ่มนี้จะสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยได้ในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท (คิดเทียบเงินเดือนกับวงเงินที่จะสามารถกู้ได้ โดยคิดที่ 40% ระยะสัญญา 30 ปี และไม่มีภาระทางการเงินอื่นๆ) ซึ่งด้วยงบประมาณดังกล่าว คนกลุ่มนี้จะสามารถซื้อคอนโดในเขตปทุมวันได้เพียงแค่ 8 ตารางเมตร จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกรุงเทพฯ กว่า 50% ไม่มีกรรมสิทธิในที่อยู่อาศัย และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่องในทุกปี เพราะ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตเร็วกว่ารายได้ต่อครัวเรือน

ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับคนกรุงเทพฯ ในทุกระดับรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่มีความมั่นคงและความแน่นอนในอาชีพการงานและรายได้ และส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บสำรองไว้ในยามฉุกเฉิน ในหลายๆประเทศ จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อให้อัตราการถือครองที่อยู่อาศัยสูงขึ้น เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป รวมทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งสะท้อนการลดปัญหาสังคมในเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้ สำหรับประเทศไทยนั้น ภาครัฐได้เริ่มให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว ด้วยการออกนโยบายเพื่อดึงดูดให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษี การให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือมาตรการส่งเสริมการพัฒนาด้วยการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio Bonus :FAR Bonus) ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ..2556 แต่อย่างไรก็ตาม มาตราการดังกล่าว ยังไม่สามารถดึงดูดภาคเอกชนให้ร่วมลงทุนได้มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการได้ โดยเฉพาะมาตรการการจัดให้มีหรือพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยภายในพื้นที่โครงการ (Affordable Housing) จนถึงปัจจุบัน โครงการที่เข้าร่วมมาตรการ FAR Bonus เลือกทำเพียงมาตรการเดียวเท่านั้น ที่มีต้นทุนน้อยที่สุดและไม่ส่งผลกระทบกับโครงการ นั่นคือ มาตรการการจัดให้มีพื้นที่รับน้ำในแปลงที่ดิน ทั้งหมดนี้ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมืองนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก สวนทางกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการอยู่อาศัยในเขตเมืองกันมากขึ้น

• เขตวัฒนา และเขตจตุจักร ควรมีโครงการ Affordable Housing มากขึ้น

ที่มาข้อมูลจากการเคหะแห่งชาติและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 

จากข้อมูลรายงานการคาดประมาณความต้องการของที่อยู่อาศัยในประเทศไทยที่จัดทำโดยการเคหะแห่งชาติ มีการคาดประมาณว่าเฉพาะในปี.. 2564 ความต้องการที่อยู่อาศัยของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,972 ครัวเรือน โดยเขตที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยของครัวเรือนของคนกลุ่มดังกล่าวมากที่สุดคือ เขตจตุจักร จำนวน 166 ครัวเรือนรองลงมา คือ เขตบางเขน จำนวน 166 ครับเรือนและเขตบางกะปิ จำนวน 163 ครัวเรือน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างระดับความต้องการที่อยู่อาศัยของจำนวนครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย (Real demand) กับความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (Affordability) พบว่า เขตวัฒนา และ “เขตจตุจักร เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการ Affordable Housing มากที่สุดทั้งในด้านอุปสงค์ (Demand) และด้านของการเพิ่มโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์ในเขตเมืองที่มีราคาตลาดสูงกว่าความสามารถในการซื้อของคนกลุ่มดังกล่าวนอกจากนั้นโครงการในเขตเมืองเหล่านี้ ยังสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มดังกล่าวได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสาธารณะได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนด้านเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพิ่มความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เป็นต้น ถ้าภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันพัฒนาโครงการ(Joint development) หรือสนับสนุนให้ภาคเอกชนพัฒนาโครงการที่พักอาศัยสำหรับคนทุกระดับรายได้ (Affordable housing) มากขึ้น ภายใต้แผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีโอกาสอยู่อาศัยภายในเมือง จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ รวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราการถือครองกรรมสิทธิที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแนวความคิดการพัฒนาเมืองสมัยใหม่อย่างยั่งยืน ที่เรียกว่า การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Development)”

ผู้แต่ง: ภาวิ ศิริพงษ์ (นักศึกษาปริญญาโท สาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ MRE (รุ่น 19)

& อาจารย์ ดร.พรรัตน์ พงษ์ประเสริฐ (อาจารย์ประจำ ภาควิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

“ รู้ลึก รู้จริง เรื่องอสังหาริมทรัพย์ ”

โครงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เปิดรับสมัครผู้จบปริญญาตรีทุกสาขา เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท 

โครงการปริญญาโทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รุ่นที่ 21

ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2564

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-613-2260, 02-613-2297, 02-623-5105 

หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  www.re.tbs.tu.ac.th