คำ ผกา | คนขี้นอก

คำ ผกา

ว่าด้วยดราม่าพิมรี่พายซึ่งทำให้ฉันตกใจมากว่ามันกลายเป็นเรื่องราวที่ผู้คนถกเถียงกันใหญ่โต และนี่เป็นครั้งแรกที่ฉันเห็นว่า แต่ละกลุ่มที่ออกมาเถียงและทะเลาะกันอย่างเอาเป็นเอาตายไฟลุก ต่างก็มีส่วนที่ “ถูกต้อง” เป็นของตนเอง

เรื่องมันมีอยู่ว่า แม่ค้าออนไลน์ที่โด่งดังคนหนึ่ง ตั้งใจจะเอา “มาม่า ปลากระป๋อง ไข่ ข้าวสาร” ไปบริจาคให้ “ผู้ด้อยโอกาส” ซึ่งในที่นี้หมายถึง “เด็กชาวเขาผู้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร”

แต่เมื่อไปถึงหมู่บ้าน พิมรี่พายก็พบว่า ชาวเขาเหล่านั้นไม่ได้ต้องการแค่ข้าวสาร ปลากระป๋อง และพิมรี่พายต้องเอามือตบอก โอ้วโนว ในโลกนี้ยังมีคนต้องอยู่แบบไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยหรือ?

โอ๊ยยยยยยยย อะไรกัน ศตวรรษนี้ยังต้องมีคนมีชีวิตแบบ “มนุษย์ถ้ำ” นั่นคือ ไม่มีไฟฟ้า เกิดมาไม่เคยดูทีวี พิโธ่พิถัง แล้วแบบนี้พวกเขาจะมีอะไรให้ใฝ่ฝันถึง?

ดังนั้น สิ่งแรกที่เราควรทำคือ ให้เขามีไฟฟ้าใช้จากโซลาร์เซลล์ และเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เราต้อง “ให้ความรู้” เขานะ เขาเป็นมนุษย์ถ้ำไง เขาเลยถางป่า ทำลายธรรมชาติ เรามาสอนเขาปลูกผักปลอดสารกันเถอะ อยู่ในพื้นที่หนาวๆ ทำไมไม่ปลูกผักสลัดล่ะ (คนกรุงเทพฯ ชอบคิดว่าผักสลัดเท่ากับผักเมืองหนาวเหอะ)

แล้วสำหรับพิมรี่พายเธอยังสะเทือนใจว่า เด็กเหล่านี้ไม่รู้จักไข่เจียว และยังกินหนูนาเป็นอาหาร – โถ่ ทำไมชีวิตต้องรันทดขนาดนี้

สําหรับฉันเรื่องแรกที่น่าจะต้องคุยกันคือ ความ ignorance ของคนไทยซึ่งฉันคิดว่าเป็นคนไทยส่วนใหญ่ และไม่เฉพาะชนชั้นกลาง แต่น่าจะคนไทยทุกชนชั้นนั่นแหละ

Ignorance หรือจะแปลว่าไม่รู้สี่รู้แปดแรกคือ การไม่รู้จักว่าในประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนที่สูงอย่างหลากหลายชาติพันธุ์ พวกเขาทั้งหมดมีทั้งที่ได้สัญชาติไทย ไม่ได้สัญชาติไทย

บางกลุ่มได้ให้ความร่วมมือกับรัฐไทยในบางเรื่อง เช่น ร่วมปราบปรามคอมมิวนิสต์จนทำให้มีสิทธิพิเศษในการครอบครองที่ดิน หรือมีโอกาสทางเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง

บางกลุ่มได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการเกษตรพื้นที่สูง ที่คนไทยรู้จักกันในนามของโครงการหลวง

และเราถูกสอนว่า ชาวเขาเหล่านี้เลิกปลูกฝิ่นมาปลูกพืชเมืองหนาวภายใต้การดูแลของโครงการหลวง

ในความหลากหลายชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ว้า ลาหู่ อีก้อ ก็ไม่ได้เท่ากับว่ากะเหรี่ยงทุกกะเหรี่ยงแชร์ลักษณะร่วมเดียวกันทั้งหมดเพราะมีทั้งกะเหรี่ยงพุทธ คริสต์ คริสต์ก็มีทั้งคาทอลิก และนิกายอื่นๆ

และสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักคือ ทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์และลักษณะทางชาติพันธุ์ของผู้คนทำให้ดินแดนเหล่านี้ในประเทศไทยกลายเป็นพื้นที่ที่ “กำกวม”

พื้นที่ “กำกวม” เหล่านี้เปิดโอกาสให้มี “อำนาจ” หลายแบบไปแสดงตัวตนในลักษณะต่างๆ เช่น มีองค์กรศาสนาพุทธเข้าไปแชร์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ ผู้คนในฐานะผู้ช่วยเหลือ

มีทั้งมิชชันนารีของศาสนาคริสต์หลายนิกาย เข้าไปทำงานพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้มาต่อเนื่องยาวนาน

มีทั้งการให้ทุนการศึกษาแก่คนในพื้นที่ไปเรียนต่างประเทศเพื่อกลับมาเป็นศาสนาจารย์ หรือทำงานพัฒนา สร้างคนในเครือข่ายทางศาสนาต่อ

ความกำกวมอาจปรากฏมาในรูปไหนบ้าง

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปลงพื้นที่ คนเหล่านี้อาจถูกเกณฑ์มาต้อนรับแต่งกายชุดประจำเผ่า หรือสาธิตทอผ้า ทำนู่นนั่นนี่

แต่ขณะเดียวกันในอีกหนึ่งเดือนต่อมาก็อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐมาจับพวกเขาในฐานะของคนไม่มีบัตร ไม่มีใบ เป็นคนไร้สัญชาติ หรือขาข้างหนึ่งของพวกเขาก็เป็นเกษตรกรที่โครงการนั้นโครงการนี้ยกย่องว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่าง หน่วยราชการพาออนทัวร์ทั่วประเทศเพื่อโปรโมตผลงานของตนเอง

แต่ถ้าถามว่า อ้าว แล้วทำไมมหาดไทยไม่ให้บัตรประชาชนเขาล่ะ?

ก็จะไม่มีใครตอบได้ แล้วก็ไม่มีความพยายามจะทำให้ด้วย ราวกับว่าทางรัฐราชการไทยก็ไม่ได้อยากสูญเสีย “ความกำกวม” ตรงนั้น เพราะถ้าไม่มีความกำกวมก็ไม่มีผลงาน ไม่มีความกำกวมก็ไม่มีอะไรไปขายไปสร้างโครงการที่จะขึ้นลงท้ายด้วยคำว่า

“เพื่อการพัฒนาชนกลุ่มน้อย”

ในเมื่อภาพเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงของประเทศไทยมันซับซ้อน มันถูกทำให้กำกวม ในบางที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการเมืองชายแดนอันประกอบไปด้วยการเมืองระดับประเทศทั้งจีน เมียนมา ไทย ในฐานะเป็นกันชน

คนไทย สื่อไทย ราชการไทย จึงพากัน “เลือก” จะหยิบเฉพาะบางด้านบางส่วนของคนชาติพันธุ์เหล่านี้มาเสพ

เช่น

ในฐานะของการทำ CSR ของหน่วยงานใดก็ตาม ก็จะเลือกนำเสนอภาพคนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ในฐานะของกลุ่มคนที่น่าสงสาร ถูกทอดทิ้ง ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา ไม่มีทีวี ตู้เย็น ไม่มีโรงเรียน ไม่มีส้วม สกปรก มอมแมม จึงเป็นเหตุให้มีกิจกรรมแจกผ้าห่ม เลี้ยงอาหาร แจกสมุด ปากกา ดินสอ บริจาคเสื้อผ้าเก่า (ที่ตัวเองไม่มีที่ทิ้ง) ไปทำไข่เจียวให้เขากิน เพราะเขาน่าสงสารมากเลย ไม่เคยกินอะไรอร่อยๆ ขนาดนี้

กิจกรรม CSR เหล่านี้นอกจากจะเอาไปใช้เสริมภาพลักษณ์องค์กร ลดหย่อนภาษี ยังถือเป็นการ outing ได้ไปเที่ยวกันไปในตัวด้วย ตื่นเช้ามาท่ามกลางทะเลหมอก ดริปกาแฟที่เตรียมไปจากบ้าน จี่ไส้กรอกแกล้มวิวภูเขา ได้ทดสอบสมรรถนะรถโฟร์วีลของตัวเอง

แถมยังได้ทำความดี ได้บุญ โอ๊ย มันอิ่มใจจริงๆ

พ้นจากพื้นที่ของการทำ CSR พอมีข่าวเรื่องชัยภูมิ ป่าแส หรือบิลลี่ กะเหรี่ยงที่แก่งกระจานที่ถูกอุ้ม คนไทยจำนวนมากก็แสร้งทำเป็นไม่เห็น ไม่รู้ หรือรู้ก็รู้ในฐานะที่มันเป็นเรื่องที่เกิดกับคนที่ไม่ใช่คนไทย จึงไม่ใช่ธุระของเรา

หนักกว่านั้น คนไทยจำนวนมากพอไม่ใช่เรื่องแจกผ้าห่ม หรือไปแสดง “บุญทาน” ก็กระโจนเข้าสู่ภาพเหมารวมของชาวเขาว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด เป็นผู้เผาป่า เหตุแห่งการทำให้ไฟไหม้ป่า เป็นผู้ทำไร่เลื่อนลอย เหตุแห่งภูเขาหัวโล้น

และด้วยความเข้าใจเช่นนี้ก็ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งก็ตกเป็นเหยื่อไลฟ์โค้ชที่ระดมเงินบริจาค ดับไฟป่า เอาเงินไป educate ชาวเขาให้เลิกเผาป่า หันมาปลูกพืชเมืองหนาว ผักสลัด

ในเวลาเดียวกันเราก็มีหนุ่มอาข่า ที่ทำแบรนด์กาแฟที่ไปโด่งดังระดับโลกอย่างอาข่าอาม่า ซึ่งคนไทยก็จะเสพข่าวนี้ด้วยภาวะ “โอ๊ยยยย ภูมิใจ กาแฟไทยดังไปทั่วโลก”

แต่ไม่สงสัยว่าทำไมเขาเพิ่งได้สัญชาติ ไม่สนใจว่า กระบวนการได้มาซึ่งการศึกษาของเขามาได้อย่างไร แต่เราได้เลือกแล้วที่จะเล่าเรื่องนี้ว่า

“ดูสิ ประเทศไทยให้โอกาสแก่คนทุกคนรวมทั้งคนกลุ่มน้อยให้ได้โอกาสดีๆ ในชีวิต” และชายหนุ่มเจ้าของกาแฟอาข่าอาม่าเขาสมาทานแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงจึงประสบความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้เราก็ไม่มีความสนใจว่า ชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้เข้ามาอยู่ในดินแดนที่ถูกขีดเส้นว่าเป็นพรมแดนของประเทศไทย

และเหตุแห่งการย้ายถิ่นฐานของพวกเขาก็มีตั้งแต่การลี้ภัยการเมืองจากประเทศอื่น ถูกขับไล่ออกจากที่ดินทำกินมาจากที่อื่น

หรือมาพร้อมเครือข่ายทางการเมืองของกลุ่มชนไร้รัฐผู้ถูกคุกคามจากอำนาจรัฐอื่นๆ เพื่อจะมาเจอชะตากรรมคล้ายๆ กันที่เมืองไทย

หรือบางกลุ่มก็ตั้งรกรากมาก่อนที่จะมีประเทศไทย หรือก่อนที่โครงการ “พัฒนา” ต่างๆ จะเข้าไปถึงดินแดนที่พวกเขาเคยใช้ชีวิตอยู่

พิมรี่พายก็ไม่ต่างจากคนไทยเกือบทั้งหมดในประเทศไทย ที่มักตกใจเสมอว่า มีคน “ด้อยโอกาส” อยู่ในประเทศนี้ และสำหรับคนไทยจำนวนมากการช่วยเหลือแบบ “สังคมสงเคราะห์” ก็เป็นสิ่งที่ง่าย เร็ว ทำได้ทันที สงเคราะห์ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ก็เป็นแนวคิดที่ไม่ต่างอะไรกับการพูดว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”

ฉันไม่มีปัญหากับการทำ CSR หรือการทำสังคมสงเคราะห์ อย่างที่หลายคนบอกว่า ความช่วยเหลือก็ต้องมีทั้งระยะสั้นระยะยาว ใครทำอะไรได้ก็ทำ เขาเป็นแค่แม่ค้าออนไลน์ (ทำไมต้องเหยียดแม่ค้าออนไลน์ด้วยล่ะ?) จะไปกดดันคาดหวังอะไรกันนักหนา

ย้ำฉันไม่มีปัญหากับการบริจาค ทำทาน ทำบุญ ใครทำแล้วมีความสุขก็ทำไป เพราะในบางกรณี “ผู้รับความช่วยเหลือ” ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำเสมอไป เขาก็รู้ว่าคนที่มาจากในเมืองเหล่านี้อยากเห็นอะไร อยากฟังอะไร เขาก็สนองให้ แค่พูดในสิ่งที่คนเขาอยากฟัง มันก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไร อยากเห็นพวกเขาเป็นชาวบ้านซื่อๆ ใสๆ เขาก็จัดให้ตามที่ฝัน

คนที่น่าสงสารอาจจะเป็นคนในเมืองเองนั่นแหละ

ที่สุดท้ายก็ได้ประจานความตื้นเขินและความไร้เดียงสาต่อความซับซ้อนของโลกของวัฒนธรรม

ฉันในฐานะคนบ้านนอกก็มักเวทนาคนในเมืองเสมอที่กินหนูนาไม่เป็น กินลาบควายดิบไม่เป็น ไม่เคยกินเก้งกินกวาง ไม่เคยกินกระต่าย ไม่เคยกินแมงมัน

หลายครั้งก็เวทนาคนในเมืองที่กินเป็นแต่ไข่เจียว ผัดผัก ไก่ทั้งตัวยังไม่เคยกิน ปลาทั้งตัว หัวจรดหางก็กินไม่เป็น รสชาติของหน่อไม้สดๆ หวานๆ เป็นยังไงไม่รู้ – พวกเธอช่างไร้ซึ่งอารยธรรมทางอาหาร โลกแคบ ขี้นอก provincial นึกว่าโลกนี้มีแค่พารากอน กับไอคอนสยาม นึกว่ากรุงเทพฯ คือที่สุดของความเจริญ อ๊ออ่ออ๊อย

ดังนั้น แทนที่เราจะไปด่าหรือทัวร์ลงพิมรี่พาย

ฉันคิดว่าเราควรมองเขาอย่างเวทนาว่านี่คือผลผลิตทางการศึกษาไทยที่ผลิตออกมาได้แต่คน “ขี้นอก” ที่คิดว่า กรุงเทพฯ หรือวัฒนธรรมการกิน อยู่ ภาษาของคนชั้นกลาง (ค่อนไปทางล่างๆ) คือ ที่สุดของความฝัน แล้วพอมีสตุ้งสตังค์ขึ้นมาก็คิดว่าอีก step หนึ่งของการเป็น “คนมีหน้ามีตา” ในสังคมคือการแสดงความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนจน คนยากไร้ คนอ่อนแอทั้งปวง

แต่ดราม่าของพิมรี่พายสนุกกว่านั้นเพราะพิมรี่พายยังถูกนำไปใช้เป็น “เครื่องมือ” ในการ “แซะ” วงการคนสร้างภาพว่า โห อะไรเนี่ยะ ถ้าทำงานหนักมาหลายทศวรรษอย่างที่สร้างภาพมา ทำไมยังมีหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ล่ะ

ซึ่งประเด็นนี้ฉันถือว่า เป็นการละเล่นทางวรรณกรรมอย่างที่นักปราชญ์ว่าไว้ว่า “ผู้ประพันธ์ตายแล้ว” ตัวบทมันลอยละล่องเป็นสมบัติสาธารณะ ใครใคร่เอาไปใช้อย่างไรก็ย่อมเอาไปใช้ได้

แต่อีกดีเบตหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ การตีความของฝ่ายที่ไปวิจารณ์พิมรี่พายว่าเป็นพวกโรแมนติก ไม่อยากให้ชาวดอยสัมผัส “ความเจริญ” คนดอยก็มีสิทธิบริโภค มีทีวี ตู้เย็น รถยนต์ และไม่ควรมีวิถีชีวิตธรรมชาติๆ สนองความฝันของคนชั้นกลาง

สำหรับฉัน “ใช่” และฉันเป็นคนดีเฟนด์เรื่องนี้มาโดยตลอดว่า หยุดโรแมนติกเรื่องชีวิตชาวบ้านอันเรียบง่ายงดงามได้แล้ว

และยืนยันอีกครั้งว่าไม่ได้มีปัญหากับคนที่อยากเอาข้าวเอาของเอาเงินไปบริจาค แต่เรื่องหนึ่งที่เราต้องไม่ลืมคือ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยคือภาวะ “กำกวม” ในทางการเป็นพลเมืองของพวกเขา

สิ่งที่ดีที่สุดที่พวกเขาพึงมีการรับรองสถานะแห่งการเป็นพลเมืองหรือ สิทธิแห่งการพำนักอาศัยในประเทศไทย ความชัดเจนในการถือครองที่ทำกิน การมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร

ที่สำคัญที่สุดสถานะแห่งบุคคลที่จะไม่เป็น “ของแปลก” exotic ของคนพื้นราบ

สิทธิแห่งการเป็นพลเมือง นำมาซึ่งสิทธิทางการเมือง

สิทธิในการเลือกผู้แทนราษฎรของพวกเขาไปต่อสู้เพื่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาในสภา

สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่มันจะไม่มีวันเกิดขึ้น หากเรายังมีแนวโน้มจะเห็นกลุ่มชาติพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตที่รอรับไฟฟ้า ผ้าห่ม จากความเมตตาของคนในเมือง

และมันคงจะดีมากกว่า หากเราสามารถทำหลายๆ อย่างไปพร้อมๆ กัน นั่นคือ

หนึ่ง ทำความเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ในเมืองไทย ทั้งในมิติ เศรษฐกิจ การเมือง วาทกรรม ประวัติศาสตร์

ไม่มองพวกเขาเป็นภาพเหมารวมอย่างใดอย่างหนึ่ง ติดตามพลวัตความเปลี่ยนแปลงนั้นและเห็นความย้อนแย้ง ขัดแย้ง

เห็นภาพเทาๆ ของพวกเขาแทนที่จะเห็นเขาเป็นพวกเผาป่า ค้ายาเลย หรือเห็นเขาเป็นคนชายขอบผู้น่าสงสารขาดแคลนไปทุกสิ่ง

สอง ยังสามารถบริจาค ช่วยเหลือ สงเคราะห์ สร้างโรงเรียน หรือทำอะไรก็ได้ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ และชุมชนเขาต้องการจริงๆ ทำไปเถอะ ไม่มีใครตำหนิแน่นอน อีกทั้งใครอยากสร้างภาพอะไรก็สร้างไป ฉันเชื่อว่าสังคมมีวุฒิภาวะพอที่จะเข้าใจได้

สาม พึงเข้าใจว่าพวกเราเองที่คิดว่า กินอิ่ม นอนอุ่น อยู่ตอนนี้ก็ประสบชะตากรรมอันน่าเศร้าสลดไม่น้อยไปกว่าคนที่เราไปสงเคราะห์เขา ดูสภาพถนน ทางเท้า รถเมล์ สาธารณูปโภค สิทธิทางการเมือง คุณภาพน้ำประปา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน หาเงินได้แสนบาท แทนที่จะได้ใช้แสนบาท แต่ต้องเอาไปส่งลูกเรียนสองหมื่น ผ่อนบ้านสองหมื่น ผ่อนรถสองหมื่น เลี้ยงดูพ่อ-แม่สองหมื่น ส่วนกินส่วนใช้ต้องรูดบัตรเครดิต หมุนไปหมุนมาน่าเวียนหัว และหากเรามีรัฐบาลที่ทำสวัสดิการรัฐได้ดีพอสมควร เราจะไม่อัตคัดขัดสนขนาดนี้

ถึงที่สุดแล้ว จะเป็นชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง กับคนไทยชั้นกลางในเมือง เราต่างเจอวิบากรรมจากรัฐ หรือ ที่เรียกว่าความรุนแรงเชิงโครงสร้างไม่ต่างกัน หนักกว่านั้น สิ่งที่คนชั้นกลางอย่างเราเจอไปจังๆ คือ การที่เราต้องมาเป็นคนไม่รู้สี่รู้แปดแบบไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

เป็นคนขี้นอกที่ไม่รู้ว่าตัวเองขี้นอก – อันนี้คือน่าสงสารสุด

น่าสงสารพอๆ กับการที่เราไปสงสารคนดอยว่าไม่มีทีวีนั่นแหละ

สุดท้ายประชาธิปไตยคือทางออก ฟังดูกำปั้นทุบดิน แต่จะมีใครเถียงว่าไม่จริง ถูกว่าประชาธิปไตยไม่ได้นำมาซึ่งสังคมยูโทเปีย ทุกปัญหาหายไปในพริบตา แต่อย่างน้อย โอกาสที่เราจะกลายเป็นคนขี้นอกมันน้อยลง

และคน “ด้อยโอกาส” จะได้มีเสียงที่เป็นเสียงของเขาจริงๆ ในพื้นที่ทางการเมือง