เพ็ญสุภา สุขคตะ : ใครเป็นใคร? จากเทพีกรีกสู่ Doll Bridge ณ พระราชวังบางปะอิน

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ใครเป็นใคร?
จากเทพีกรีกสู่ Doll Bridge
ณ พระราชวังบางปะอิน

ประติมากรรมหินอ่อนที่ตั้งเรียงราย ประดับราวสะพานข้ามสระน้ำสองข้างในพระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับจนถึงปี 2564 นี้มีอายุได้ 124 ปีแล้ว โดยยึดจากปี 2440 เป็นตัวตั้ง อันเป็นปีที่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ในการเสด็จประพาสยุโรปทั้งสองครั้ง ทรงโปรดปรานที่จะแวะเยี่ยมชมโรงงานผลิตรูปปั้นหินอ่อนในประเทศอิตาลี ทั้งที่กรุงฟลอเรนซ์ กรุงโรม และนโปลี

ดังปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาที่เขียนถึงสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ลงวันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ.116 (พ.ศ.2440) ขณะประทับที่เมืองฟลอเรนซ์ว่า

“ชาติชาวอิตาลีย่อมเป็นช่างมาแต่โบราณ มีสิ่งซึ่งเป็นฝีมือดี ทำแล้วตั้งพันปีสำหรับอวดได้ เรี่ยรายไปทุกหนทุกแห่ง ส่วนการใหม่ๆ ก็ไม่ได้หยุด ทำเพิ่มเติมซื้อ-ขายกันเสมอไป ถ้าจะว่าข้าวของที่จะซื้อ เช่น กับรูปตุ๊กตาอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำแล้วแต่ครั้งโรมันเอมไปร์สองสามพันปีล่วงมาเขาก็ถ่ายทำขึ้นใหม่ แต่มีขนาดต่างๆ ตั้งแต่เท่ากับรูปเดิมเป็นเถากันลงมา จนเพียงสูงสองสามนิ้ว ตามแต่กำลังผู้ที่จะซื้อไปเป็นตัวอย่างชมเล่น”

เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 อีก 10 ปีถัดมา ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2450 ขณะประทับที่กรุงโรม ว่า
“ได้ไปที่ทำเครื่องหล่อ ซื้อตุ๊กตาโมเดลบางอย่าง เครื่องศิลาโอเบลิสก์…” (Obelisk หมายถึงแท่งเสาปลายแหลม)

หรืออีกครั้งเขียนจากเมืองปาเลอร์โม ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2450 ว่า

“ตรงไปแวะที่ร้านตุ๊กตา ซึ่งปั้นรูปชาวเมืองนี้ด้วย แลประดับศิลาสลับสี ซึ่งเป็นของทำในพื้นเมือง ซื้อตุ๊กตาทั้งผู้หญิง-ผู้ชาย…”

เห็นได้ว่าในมุมมองของชนชั้นปกครองชาวสยามเมื่อ 120 ปีก่อน เรียกประติมากรรมหินอ่อนที่ใช้ประดับตกแต่งสวนหรือสะพานว่าเป็น “ตุ๊กตา” ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำว่า “Doll Bridge” หรือ “สะพานตุ๊กตา” ที่พระราชวังบางปะอิน

ตุ๊กตาเหล่านี้ทำขึ้นแค่เป็นเครื่องประดับสวยๆ งามๆ เท่านั้น หรือว่าตั้งใจจำลองเรื่องราวของเทพปกรณัมกรีกผ่านสัญลักษณ์ที่ถือ ตุ๊กตาประดับราวสะพานมีจำนวน 10 กว่าตัว เกือบทั้งหมดเป็นรูปสตรี ยกเว้นมีรูปเทพ Hermes เพียงรูปเดียวที่เป็นบุรุษ

ไม่พบว่าเคยมีใครทำการศึกษาตีความรูปตุ๊กตาหินอ่อนเหล่านี้ไว้บ้างเลย ดิฉันจึงขันอาสาทำหน้าที่ถอดรหัส โดยคัดเลือกรูปปั้นมา 7 ชิ้น

เทพีแห่งการเกษตร
Demeter/ Ceres

ตุ๊กตาชิ้นที่สวยซึ้งตรึงใจผู้ชมมากที่สุด
คือผู้หญิงยืนเอนกายในท่าโรแมนติกกอดรวงข้าวเมล็ดเต่งตูม

มืออีกข้างถือภาชนะสำหรับเตรียมใส่พืชผลการเกษตรหลังเก็บเกี่ยว

นางคือ Demeter (ดีมีเทอร์) ในภาษากรีก

ครั้นเมื่อชาวโรมันพิชิตกรีกได้ มีการรับเรื่องราวของเทพนิยายกรีกเข้ามาในโรม แต่ได้เปลี่ยนชื่อเรียกใหม่เป็น Ceres (ซีเรส) มีสถานะเป็นเทพีแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมสมบูรณ์

คล้ายกับแม่โพสพของไทย

อัคนิเทพีผู้ครองเพศพรหมจรรย์
Hestia / Vesta

ตุ๊กตาตัวที่สอง มือหนึ่งถือเปลวไฟที่ไม่มีวันมอดดับ อีกมือหงายขึ้นคอยป้องเปลวไฟจากสายลม นางมีชื่อว่าเทพี Hestia (เฮสเทีย) ในภาษากรีก ส่วนโรมันเรียก Vesta (เวสต้า)

เป็นเทพีแห่งการครองเรือน (ผีบ้านผีเรือน)

ทำหน้าที่คอยรักษาบ้านให้สว่างไสวอยู่เสมอ

เฮสเทียครองพรหมจารีตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่ได้รับการสู่ขอจาก Apollo และ Poseidon ให้เป็นชายา
แต่นางยืนยันที่จะครองโสด

มีสัญลักษณ์คือถือคบไฟนิรันดร

เทพีแห่งมหากาพย์และดนตรี
Calliope

ตุ๊กตาตัวที่สาม ถือพิณ 7 สายกับบทกวี

นางชื่อ Calliope (คัลลิโอพี) ในภาษากรีก ไม่มีชื่อในภาษาโรมัน

นางเป็น 1 ใน 9 เทวีแห่งศิลปวิทยา โดยเป็นเทวีพี่ใหญ่ในบรรดาน้องสาวอีก 8 อนงค์

คัลลิโอพีเป็นแม่ของ Orpheus (ออร์ฟุส) เทพเจ้าแห่งการดนตรี

โดยเรามักเห็นงานศิลปะรูปแม่สอนลูกชายเล่นพิณกันจนชินตา

เทพีแห่งสายรุ้ง
Iris / Arcus

ตุ๊กตาตัวที่สี่ ถือคทามีงูสองตัวพันกัน และตอนบนมีปีกสองข้าง นางชื่อ Iris (ไอริส) ในภาษากรีก หรือชื่อ Arcus (อาร์คุส) ในภาษาโรมัน

นางเป็นเทพีชั้นรอง มีหน้าที่รับใช้เทพี Hera (เฮร่า)

คทางูพันติดปีกที่นางถือนี้ ช่วยเสกให้ตัวนางว่องไวเหมือนสายรุ้ง เพื่อสื่อข่าวสารให้แก่เฮร่า

ต่อมาคทานี้ถูกเปลี่ยนมือไป เรียกว่า Wand of Hermes หรือคทาของเฮอร์เมส ชื่อเฮอร์เมส เป็นภาษากรีก โรมันเปลี่ยนชื่อเป็น Mercury (เมอร์คิวรี) เป็นสัญลักษณ์แห่งการสื่อสารเช่นเดียวกัน

อนึ่ง อย่าสับสนกับคทาอีกรูปแบบหนึ่งที่มีงูตัวเดียวพันและไม่มีปีกข้างบน ปฏักนั้นชื่อ Rod of Asclepius เป็นคทาแห่งการรักษาเยียวยา

เทพมารดรของแผ่นดิน
Amalthea

ตุ๊กตาตัวที่ห้า ถือเขาแพะบรรจุน้ำนมและอาหาร นางชื่อ Amalthea (อามัลเทีย) ไม่มีชื่อในภาษาโรมัน เดิมนางเป็นแพะอยู่ในป่า แต่เห็นเทพ Zeus (ซูส/ซุส) ตอนเป็นทารกถูกทิ้ง

นางจึงใช้เขาที่อาบด้วยอาหารทิพย์และน้ำหวานจากดอกไม้ มาใช้เลี้ยงดูทารกซูส ถือเป็นแม่นมของเทพซูสผู้ยิ่งใหญ่

เขาแพะของนางเรียกว่า Cornucopia หรือ Horn of Plenty

กลายเป็นสัญลักษณ์ของมารดรผู้เลี้ยงดูแลโลก

เทพีแห่งการปลดปล่อย
Ariadne / Libera

ตุ๊กตาตัวที่หก ถือไหเหล้าใบใหญ่ในลักษณะคว่ำเททิ้ง

นางคือ Ariadne (อาเรียดเน) ในภาษากรีก หรือ Libera (ลิเบอร่า) ในภาษาโรมัน

เทพีอาเรียดเนเป็นชายาของเทพชื่อดัง Dionysus (ไดโอนิซุส) ผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีชน หรือการปลดปล่อย

ดังนั้น ภาษาโรมันจึงใช้คำว่า Liberator

มีสัญลักษณ์ด้วยการถือไหใส่เหล้าไวน์

ซาโลเม่กับเศียรเซนต์จอห์น
Salome & St.John the Baptist

ตุ๊กตาสตรีตัวสุดท้าย เป็นตัวเดียวที่ไม่ใช่เทพีกรีก หากเป็นตัวละครที่ปรากฏในตำนาน New Testament ของศาสนาคริสต์ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในดินแดนปาเลสไตน์ระหว่าง ค.ศ.10-60

รูปสตรีในชุดโรมันที่เรียกกันว่าชุด Peplum (เพพลัม-เอาผ้าสองผืนประกบหน้าหลัง แล้วติดกระดุมบนไหล่) ยืนถือหัวของผู้ชายไว้เคราเช่นนี้ ทันทีที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะเห็น ก็สามารถตีความได้ว่านี่คือฉากตอนที่ Salome (ซาโลเม่) ธิดาของพระนาง Herodias (เฮโรเดียส) ขอให้พระราชาผู้เป็นพ่อเลี้ยงของนาง อนุญาตให้ตัดคอนักบุญ St.John the Baptist

เรื่องของเรื่องเกิดจากการที่ St.John the Baptist เคยคัดค้านการที่พระนางเฮโรเดียสได้ทรยศสวามีคนเดิมของนางชื่อ Phillip (ฟิลลิป -บิดาของซาโลเม่) แล้วมาแต่งงานใหม่กับกษัตริย์ Herod (เฮรอด) สร้างความคับแค้นใจให้แก่พระนางเฮโรเดียสอย่างมาก

วันเกิดของกษัตริย์เฮรอด เจ้าหญิงซาโลเม่ได้เต้นรำถวายจนเป็นที่พอพระทัย กษัตริย์เฮรอดตรัสว่าให้นางขอสิ่งไรก็ได้ตามใจปรารถนา ซาโลเม่ขอให้ตัดหัวของ St.John the Baptist เพื่อชำระแค้นให้กับมารดา

ความตายของเซนต์จอห์นกลายเป็นหนึ่งใน “มรณะสักขี”

สรุป เห็นได้ว่าตุ๊กตาหินอ่อนจากอิตาลีเหล่านี้ ไม่ได้สร้างขึ้นเพียงแค่ความสวยงามหรือคิดจะถือสิ่งไรในมือก็ถือ

ทว่าสัญลักษณ์ทุกชิ้นนั้นสามารถสื่อความหมายถึงเทพปกรณัมกรีกหรือตัวละครยุคต้นโรมันได้อีกด้วย

ตอนที่พระพุทธเจ้าหลวงและข้าราชบริพารช่วยกันเลือกซื้อ คงคัดเอาขนาดที่ใกล้เคียงกัน และแน่นอนต้องสวมเครื่องแต่งกายที่ดูเรียบร้อย สุภาพ ไม่โลดโผน

ทำให้ตุ๊กตาชุดนี้จึงไม่มีเทพ-เทพีตัวเด็ดๆ อย่างนาง Medusa (เมดูซ่า) หัวงู เทพีหญิงเหล็กอย่าง Athena (อาเทน่า) ถือหอก หรือ Venus (วีนัส) ที่มักอยู่ในอิริยาบถเปลือยกาย