E-DUANG : ผลสะเทือน จาก #พิมรีพาย เขย่า โครงสร้าง ทางความคิด

ทำไมกรณี # พิมรีพาย จึงกลายเป็น”ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ตั้งแต่ที่ราบกระทั่งถึงเขาสูงทะลุฟ้า

เพราะทั้งหมดนี้คือหน้าตาและตัวตนของสังคมไทย

เป็นสังคมที่ดำรงอยู่ด้วยการปะผุ แต่งนั่น เติมนี่ โดยไม่มีการทะลวงลึกไปยังสภาพความเป็นจริงอันเป็นรากเหง้าและต้นตอของ ปัญหาอย่างแท้จริง

บทบาทของ”พิมรีพาย”ก็มิได้เป็นการแทงตรงประการใดไปยังตัวปัญหา ไม่ว่าจะมองในเรื่องของการพัฒนา ไม่ว่าจะมองในเรื่องของคนบนที่สูง ไม่ว่าจะมองในเรื่องของการศึกษา

เธอเพียงทำหน้าที่ในสถานะของ”พลเมืองดี”คนหนึ่ง เมื่อทำธุรกิจและมีเงินอันถือได้ว่าเป็นผลกำไรที่สามารถแบ่งปันไปให้คนอื่นได้เธอก็ทำด้วยความเต็มใจ

เพราะตระหนักว่าน้องๆบนดอยไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่อาจดูทีวีได้เช่นที่น้องมีโอกาสก็นำเงินจำนวนนั้นไปช่วยแก้ปัญหาให้

เพียงแต่แสงจาก”โซลาร์เซลล์”ของน้องก่ออาการ”สว่าง”เท่านั้น

 

ความสว่างในที่นี้เป็น”กระแส” อันจุดและสร้างขึ้นจากคนในเมืองเช่นเดียวกับน้องนั่นเอง มิได้มาจากคนบนเขาสูง

และเมื่อเกิดเป็น”กระแส”ก็ส่งผลสะเทือน

ผลสะเทือนในเชิงรูปธรรมแรกสุดก็คือคำสั่งจากหน่วยงานการศึกษานอกโรงเรียนในพื้นที่ในเชิงปฏิเสธการตอบโต้ ปฏิเสธการรับบริจาคไม่ว่าเงินทองหรือสิ่งของ

คำสั่งนี้ขัดแย้งกับความรู้สึกของคนในเมืองอย่างล้ำลึก จึงก่อให้เกิดปฏิกิริยาวิพากษ์วิจารณ์ กระทั่งในที่สุดด้วยการกระซิบจากส่วนกลางก็นำไปสู่การยกเลิกคำสั่ง

เป็นท่วงทำนองเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาล เกิดขึ้นในศบค. เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ในห้วงแห่งการเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19

เป็นคำสั่งในกระสวน”ทราบแล้วเปลี่ยน”ฉับพลันทันใด

ในเมื่อภายในรัฐบาลสามารถเกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ได้แล้วทำไมที่อมก๋อยจะเกิดปรากฏการณ์เดียวกันไม่ได้

 

ไม่ว่าในที่สุดปรากฏการณ์อันเนื่องแต่การทำความดีของ #พิมรีพาย จะลงเอยอย่างไร แต่ประเด็นของความเหลื่อมล้ำในชีวิตและทางการศึกษาก็อึกทึกครึกโครมอย่างยิ่ง

แต่ละกลุ่ม แต่ละผลประโยชน์ ต่างสะท้อน”ปฏิกิริยา”ของตนออกมา และล้วนเผยตัวตนของตนออกมาจนหมดสิ้น