วิเคราะห์จากคนใต้ | ปชป.ฟื้นที่สงขลา? กับบทบาทธรรมนัสลงพื้นที่จะนะ

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จากผลการเลือกตั้งนายก อบจ.สงขลา “ไพเจน มากสุวรรณ์” จากพรรคประชาธิปัตย์ ชนะ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล จากพรรคพลังประชารัฐ แม้จะเขียนว่าสงขลาประชารัฐ

กล่าวคือ นายไพเจน มากสุวรรณ์ ได้ 265,475 คะแนน มากกว่า พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ได้อันดับ 2 จำนวน 239,786 คะแนน แพ้แค่ 25,689 คะแนน โดยที่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด 717,086 บัตร

ปรากฏว่ามีบัตรเลือกตั้งที่ไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือโหวตโน (Vote No) 99,479 คน คิดเป็น 12.89%

ส่วนผู้สมัคร ส.จ. 36 เขต ส่วนใหญ่ยังเป็นของทีมพรรคประชาธิปัตย์

ยกเว้นในเขตหาดใหญ่ที่แพ้เกือบทั้งหมด ทำให้ภาพทั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และคณะลงมาแถลงข่าวที่สงขลาด้วยตนเอง

#สาม ส.ส.ประชาธิปัตย์ระดับบิ๊ก

ปัจจัยหลักที่ทำให้ชนะ

สําหรับ 3 ส.ส.ประชาธิปัตย์ระดับบิ๊กที่จับมืออย่างสามัคคีครั้งนี้น่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

กล่าวคือ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กับนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จับมือทางการเมืองท้องถิ่นครั้งนี้ทั้งๆ ที่ทั้งสองในอดีตทุกครั้งส่งคนตนเองฟาดฟันในสนามเลือกตั้ง อบจ.

ส่วน พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ ร่วมกับ ดร.อับดุลรอหมาน กาเหย็ม (สมัครรองนายก อบจ.) คุมเสียงสนับสนุนมุสลิมทั้งจังหวัด

เพราะมีตำแหน่งใหญ่โตในกรรมการอิสลาม และสำนักจุฬาราชมนตรีที่มีอิทธิพลต่อผู้นำศาสนา ผู้นำสถาบันการศึกษาศาสนา ทั้งจังหวัดและเขตเลือกตั้งที่ 8 อำเภอจะนะและเทพา

#อนาคตประชาธิปัตย์ลำบาก

ที่สนามเลือกตั้งหาดใหญ่

ผลการเลือกตั้งในเขตหาดใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าแพ้

ทั้งคะแนนนายก อบจ.

ในขณะที่ ส.จ.เขต 1-4 อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ทีม พ.อ.สุชาติก็ชนะทีมไพเจน (พรรคประชาธิปัตย์)

ซึ่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและสื่อท้องถิ่นมองว่า “ทั้งที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ คนในเมืองอย่างหาดใหญ่ต้องการเปลี่ยน แต่อันเนื่องมาจากนอกจากคะแนนที่เป็นฐานเสียงไพเจนซึ่งประกาศไม่หนุนไพเจน รวมทั้งหาดใหญ่เองมีค่ายทหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเลือกข้างประชารัฐ รวมทั้งช่วงโค้งสุดท้ายทีมผู้การสุชาติหันมาลุยพื้นที่หาดใหญ่หนักมากเพราะประเมินว่านี่คือพื้นที่ชี้ขาดชัยชนะเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

อย่างไรก็แล้วแต่ เที่ยวนี้ชัยชนะที่หาดใหญ่ไม่เพียงพอที่จะพาผู้การสุชาติคว้าตำแหน่งนายก อบจ.

แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเทศบาลหาดใหญ่ครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ต้องทำงานหนักหลายเท่า

#เห็นต่าง “ความจริงพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ชนะที่สงขลา”

ระวังการลงพื้นที่จะนะของธรรมนัส

จะบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์ชนะครั้งนี้ก็พูดได้ไม่เต็มปากนักหากวิเคราะห์ตัวเลขอีกด้าน

นายดุลยรัตน์ บูยูโส๊ะ รองนายกเทศบาลตำบลนาทวีนอก ให้ทัศนะว่า

“จริงอยู่ หากไล่ดูคะแนนรายอำเภอ ไพเจนชนะถึง 12 อำเภอ โซนที่ชนะขาดมีเทพา สะเดา รัตภูมิ จะนะ เมือง กระแสสินธุ์ สิงหนคร ควนเนียง บางกล่ำ ส่วนสุชาติ 12 อำเภอ มีเพียงหาดใหญที่ชนะหมื่นกว่า และสะบ้าย้อย อีกทั้งคะแนน พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ที่ได้อันดับ 2 แพ้แค่ 25,689 คะแนน โหวตโน (Vote No) 99,479 คะแนน คิดเป็น 12.89% ทั้งๆ ที่ทุกครั้งเลือกตั้ง อบจ.ที่สงขลา คะแนนพรรคประชาธิปัตย์ทิ้งคู่แข่งไม่เห็นฝุ่นและชนะทุกอำเภอ ย่อมแสดงนัยยะบางอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์อย่าชะล่าใจว่าชนะ”

“แต่ผมมองว่าแพ้มากกว่า และจะมีผลต่ออนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในการเมืองทุกระดับอย่างแน่นอน อีกทั้งการลงพื้นที่จะนะของธรรมนัส พรหมเผ่า คนใหญ่คนโตของพลังประชารัฐหลังเซ็น MoU กับชาวบ้านเข้า ครม.ตอกหน้ารัฐมนตรี ปชป.คนกว้างขวาง ถูกกล่าวหาว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยเฉพาะเรื่องที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อาจจะเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองต่อไป ให้คนยิ่งต่อต้านพรรคประชาธิปัตย์”

นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้นำเสนอความไม่ชอบมาพากลของโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมต่อร้อยเอกธรรมนัสในครั้งนี้ สรุปว่า

“นอกจากความไม่ชอบธรรมในการทำเวทีแก่ชาวบ้าน มีการนำเสนอหุ้นลมแต่ชาวบ้านต้องลงชื่อพร้อมสำเนาบัตรประชาชน แล้วยังมีความผิดปกติในที่ดินอำเภอจะนะที่กำลังจะกลายเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม…โดยมีการใช้อำนาจทางการเมือง (ชาวบ้านทราบดีว่าใคร) ระบบราชการ นายหน้าหาประโยชน์ และกลุ่มทุน ทำงานกันอย่างเป็นระบบ (ยังกับหนังไทยโบราณ) ที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นในยุคนี้ ทั้งข่มขู่ ครอบงำ บังคับซื้อ ฟ้อง เผาทำลายต้นขั้ว และอื่นๆ กับชาวบ้านในพื้นที่ พวกเขาทำกันมานาน ทำมาเรื่อยๆ จนเคยชิน เพราะคิดว่าชาวบ้านโง่ คิดอะไรไม่เป็น หลายคนยอมถอยด้วยความกลัว หลายคนยอมรับค่าที่ดินในราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น แต่หลายคนยังสู้ อย่างชาวบ้านที่นำหลักฐานมายื่นกับท่านธรรมนัส”

เป็นที่ทราบทางสื่อหลัง ครม.มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กล่าวคือ มติครั้งนี้ แม้มิได้ยกเลิกมติ ครม.ในการดำเนินจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด แต่เปรียบเสมือนชะลอการเดินหน้าดำเนินโครงการดังกล่าวไปก่อน เช่น ชะลอการพิจารณาการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA, EHIA ไปก่อน

จนชาวบ้าน (ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น) (วันที่ 15 ธันวาคม 2563) ยอมถอยหนึ่งก้าวกลับบ้านอย่างฮีโร่

เมื่อกลับถึงจะนะ ปรากฏว่าวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะลงพื้นที่จะนะพบกับชาวบ้านหลากหลายอาชีพและกลุ่ม รวมทั้งนักวิชาการ นักเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน และผู้นำศาสนาจำนวนมาก 3 จุด คือ หาดสวนกงตำบลนาทับ บ้านปากบางสะกอมและโรงเรียนศาสนบำรุง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งถูกถ่ายทอดสื่ออันส่งผลดีต่อท่านและพรรคพลังประชารัฐ ในทางกลับกันเป็นการตบหน้าคนระดับรัฐมนตรีและ ส.ส.ในพื้นที่ที่ไม่ยอมลงมาพบชาวบ้านแก้ปัญหา

ลำดับสุดท้าย ในทางกฎหมายอะไรก็เกิดขึ้นได้เมื่อ พ.อ.สุชาติมาจากพลังประชารัฐ เคยร้อง กกต.กรณีร้องว่าไพเจนทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง