มุกดา สุวรรณชาติ : อย่ากลัวโควิด จนเสียสิทธิ์และความเป็นคน

มุกดา สุวรรณชาติ

1 ปีผ่านไป
พร้อมสู้กับการระบาดใหญ่ของโควิด
ถึงอย่างไรชีวิตต้องเดินต่อ

มนุษยชาติผ่านการต่อสู้กันเองและต่อสู้กับธรรมชาติมานับหมื่นปี ได้ขยายเผ่าพันธุ์จนเรียกได้ว่าเกือบล้นโลกแล้ว ถ้านับการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ ทั้งโรคระบาดและที่ไม่ใช่โรคระบาดก็ผ่านมาจนนับไม่ถ้วน ยังไม่มีโรคร้ายชนิดใดที่ทำให้มนุษย์มีท่าทีว่าจะสูญพันธุ์ไปจากโลก

โรคระบาดจากไวรัสโคโรนาที่เรียกกันว่า Covid-19 ถึงวันนี้ถือว่าระบาดมาครบ 1 ปีเต็ม

กระแสข่าวของโรคระบาด Covid-19 ฟังดูแล้วน่ากลัวมาก 8 เดือนที่แล้วสถานการณ์โรค Covid-19 ที่มีการระบาดในระดับ Pandemic ประเมินได้ว่ายังจะมีการระบาดไปอีกนาน ยอดผู้ติดเชื้อขณะนั้นมีประมาณ 2.5 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 180,000 คน คิดเป็น 22 คนต่อประชากร 1 ล้าน เท่ากับ 0.002 เปอร์เซ็นต์

ทีมงานเราคิดว่าต้องลดความกลัวโควิด รีบคลายการล็อกดาวน์เพราะอัตราการเสียชีวิตต่ำมากๆ และเมื่อผ่านมาจนการระบาดครบ 1 ปี สิ่งที่เราคาดไว้เป็นจริง

ดูจากสถิติที่ผ่านมา 1 ปี และเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่าความร้ายแรงของโควิดต่อชีวิตไม่สูงมาก ไม่จำเป็นต้องกลัวจนปิดกั้นสังคมของตนเอง เพราะทุกวันนี้เราก็ผจญโรคร้ายแรงต่างๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโรคนี้มากมายกันอยู่แล้ว เพิ่มขึ้นมาอีกเล็กน้อยไม่เป็นไร

การระบาดของ Covid-19 ในรอบ 1 ปี ( ตั้งแต่พบในประเทศจีน ธันวาคม 2019) มีผู้ติดเชื้อเท่าที่มีการตรวจวัดได้ประมาณ 81 ล้านคน ที่ติดเชื้อและไม่ผ่านการตรวจวัดอาจมากกว่าหลายเท่าเพราะคนที่แข็งแรงอาจไม่แสดงอาการ

ตลอด 1 ปีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งโลกประมาณ 1.77 ล้านคน

ในขณะที่เรามีประชากรโลกประมาณ 7,800 ล้านคน หมายความว่ามีคนเสียชีวิตจาก Covid-19 ประมาณ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับโรคอื่น พบว่ามีผู้เสียชีวิตโรคหัวใจเป็นอันดับ 1 ประมาณ 7.2 ล้านคน ส่วนมะเร็งเป็นอันดับ 2 ประมาณ 7 ล้านคน

เราอาจสรุปได้ว่าโรคนี้ระบาดง่าย แต่คนติดเชื้อตายยาก ดังนั้น เราสู้กับมันได้แน่ อีกไม่นานคงมีวัคซีนและยาที่ดี และเมื่อเราสู้ชีวิตผ่านไปได้ 2-3 ปีจะพบว่าที่ผ่านมาก็เป็นเพียงคลื่นลูกหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในทะเลชีวิตของสังคมมนุษย์

 

สถิติข้อมูลเปรียบเทียบ
การระบาดบางประเทศตลอด 1 ปี

ถ้าเทียบการระบาดที่มีผลต่อชีวิตของคนไทยกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกของบ้านเรามีคนเสียชีวิตน้อยมาก แม้บางประเทศจะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า

ประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เช่น อเมริกา มีผู้ติดเชื้อประมาณ 19.5 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 340,000 คน จากประชากร 332 ล้านคน

อังกฤษมีผู้ติดเชื้อ 2.3 ล้านคน เสียชีวิตประมาณ 70,000 คน จากประชากร 68 ล้านคน

ฝรั่งเศสมีคนติดเชื้อ 2.6 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 65,000 คน จากประชากร 65 ล้านคน

เยอรมนีมีผู้ติดเชื้อ 1.64 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 30,000 คน จากประชากร 83 ล้านคน

ประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นคนจน เช่น อินเดีย มีผู้ติดเชื้อ 10.2 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 150,000 คน จากประชากร 1,386 ล้านคน

บังกลาเทศมีผู้ติดเชื้อ 510,000 คน มีผู้เสียชีวิต 7,400 คน จากประชากร 165 ล้านคน

ปากีสถานมีผู้ติดเชื้อ 4.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 10,000 คน จากประชากร 223 ล้านคน

ในแถบเอเชียตะวันออก จีนที่เป็นต้นทางของโรคเมื่อปรับตัวตั้งรับได้ มีผู้ติดเชื้อเพียง 87,000 คน เสียชีวิต 4,650 คน จากประชากร 1,439 ล้าน (ตัวเลขนี้อาจมีบางส่วนไม่ยอมรับ เพราะคิดว่าจีนไม่เปิดเผยตัวเลขจริง) ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อ 210,000 คน เสียชีวิตประมาณ 3,100 คน จากประชากร 126 ล้านคน

ย้อนมาดูในแถบอาเซียนและเพื่อนบ้านเรา

อินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อเยอะที่สุด 700,000 คน เสียชีวิต 20,000 คน จากประชากร 275 ล้านคน

ฟิลิปปินส์มีผู้ติดเชื้อ 470,000 คน เสียชีวิต 9,100 คน จากประชากร 110 ล้านคน

พม่ามีผู้ติดเชื้อ 125,000 คน เสียชีวิตประมาณ 2,000 คน จากประชากร 54.5 ล้านคน

มาเลเซียมีผู้ติดเชื้อ 102,000 คน เสียชีวิต 480 คน จากประชากร 32.5 ล้านคน

สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อ 58,600 คน เสียชีวิต 29 คน

เวียดนามมีผู้ติดเชื้อ 1,450 คน เสียชีวิต 35 คน จากประชากร 97.8 ล้านคน

กัมพูชามีผู้ติดเชื้อ 363 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ประชากร 16.8 ล้านคน

ลาวมีผู้ติดเชื้อ 41 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ประชากร 7.3 ล้านคน

ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อประมาณ 6,100 คน เสียชีวิต 60 คน จากประชากร 65.7 ล้านคน

 

สรุปอัตราผู้เสียชีวิตจาก Covid-19
ของไทยต่ำมาก ไม่ถึง 0.0001%

ถ้าเรานึกถึงหลักความจริงจะพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีลักษณะที่ไม่แน่นอนเนื่องจากการตรวจหรือไม่ตรวจของแต่ละประเทศ ถ้าตรวจมากอาจเจอมาก ตรวจน้อยก็เจอน้อย

แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะใกล้เคียงความจริงมากกว่า เนื่องจากต้องมีการแจ้งการตายตามกฎหมาย ตามข้อมูลพบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตเมื่อเทียบกับประชากรในประเทศนั้นมีน้อยมากจนไม่อาจนับเป็นเปอร์เซ็นต์ได้

จึงต้องเปรียบเทียบว่าประชากรประเทศนั้น 1 ล้านคนเสียชีวิตไปกี่คน โดยเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 220 กว่าคน

แต่แถวบ้านเราก็เป็นหลักสิบเท่านั้น เช่น พม่า 47 คน มาเลย์ 14 คน สิงคโปร์ 5 คน เวียดนาม 0.4 คน ไทย 0.9 คน ต่อ 1 ล้านคน

แสดงว่าในประเทศเราคนหนึ่งล้านคนจะมีโอกาสตายจาก Covid ไม่เกิน 1 คน ในสถานการณ์ปัจจุบัน เฉลี่ยแล้วแต่ละจังหวัดจะมีคนตายไม่เกิน 1 คน

ดังนั้น ที่มีคนป่วยตายมาตลอด 1 ปีในประเทศไทยมาจากสาเหตุอื่น มากกว่าที่ตายจาก Covid ทั้งปี

 

ลองมาเปรียบเทียบกับผู้เสียชีวิต
จากโรคภัยไข้เจ็บและอื่นๆ

แต่อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ ของประเทศไทย โดยข้อมูลของกองยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2562 อันดับ 1 คือมะเร็ง 84,073 คน ถ้าจะเทียบกับการตายแบบโควิดก็เท่ากับ 1,282 คนต่อประชากร 1 ล้าน

โรคเลือดออกในสมอง 34,728 คน

โรคปอดบวม 34,969 คน

โรคหัวใจ 28,161 คน

ความดันโลหิตสูง 9,313 คน

โรคตับ 11,494 คน

เบาหวาน 16,589 คน

ไข้หวัดใหญ่ 149 คน

วัณโรค 90 คน

คาดว่าตัวเลขสถิติปี 2563 ที่ยังไม่ออกมา คงสูงกว่า 2562 ทุกโรค

แต่ผู้เสียชีวิตจากโรค Covid-19 ตลอดปีที่ผ่านมามีเพียง 60 คน เราจึงบอกว่ามันน้อยมากๆ เราจึงไม่ควรกลัวจนเกินไป แต่ควรป้องกันตามปกติ เพราะไม่ป่วยดีที่สุด และก็ไม่ไปแพร่เชื้อสู่สังคม

ส่วนความกลัวตายจากโรคภัยไข้เจ็บ จากโรคอื่นๆ พบว่ายังมีคนจำนวนมากสูบบุหรี่ กินเหล้า กินอาหารที่มีสารก่อมะเร็งกันเข้าไปทุกวัน คนป่วยก็เยอะขึ้น คนตายก็เยอะขึ้น

แม้ปัจจุบันคนมีความรู้ความเข้าใจ แต่ก็ไม่เห็นกลัวกันมากมาย

ดังนั้น สภาพการดำเนินชีวิต จึงยังมีวัฒนธรรมการกินการอยู่แบบเดิม อาจมีความระมัดระวังมากขึ้นในคนบางกลุ่ม

ถ้าเทียบแล้ว บุหรี่ ฝุ่น ควันพิษในอากาศ น่าจะเป็นอันตรายมากกว่า เพราะก่อนจะมีโควิด คนก็ตายจากโรคปอดเป็นหมื่นคนแล้ว

ดูจากสภาพภูมิอากาศ สายพันธุ์ของคนไทยที่สืบทอดมาทางกรรมพันธุ์ อาหารการกิน ระบบสาธารณสุข ความสามารถทางการแพทย์ แม้ Covid-19 มีการระบาดมากกว่านี้ ก็ยังมั่นใจว่า อัตราการเสียชีวิตของไทยไม่น่าเกิน 10 คนต่อประชากร 1 ล้าน

 

แนวทางการสู้กับโควิด- 19
ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ทั้งรัฐและประชาชน

Covid-19 ไม่ได้ทำให้โลกหยุดหมุน ดอกเบี้ยยังเดินต่อ ปากท้องยังต้องมีอาหาร ชีวิตยังดำเนินต่อไป ยังต้องจ่ายเงินค่าโทรศัพท์มือถือ การต่อสู้ทางการเมืองก็ไม่หยุด

1. เราอยู่ในสังคมของมนุษย์ที่พอมีความรู้ การแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงคนอื่นๆ ว่าเป็นคนเหมือนกัน ทุกคนอยากปรับตัว เพื่อให้วิถีชีวิต การดำเนินงานอาชีพต่อไปให้มีผลกระทบน้อยที่สุด 1 ปีที่ผ่านมาทำให้รู้ว่าการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ คนทั่วไปแม้เสี่ยงบ้าง แต่ก็มีอัตราไม่ถึงหนึ่งในร้อย ทุกคนจึงต้องทำหน้าที่ตามปกติ (อาจมีบางอาชีพที่เสี่ยงมากกว่า) จำไว้ว่า กลัวน้อยอยู่ได้ กลัวมากเจ๊งหมด

2. อย่า! ไปตั้งเป้าหมายว่าแต่ละเมืองจะไม่มีผู้ติดเชื้อ แล้วปิดเมือง เพื่อจะได้ชื่อเสียง เพราะจะพาให้ธุรกิจพังทั้งเมือง ไม่มีประโยชน์อะไร โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดยังมีอีกหลายครั้ง

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การต่อสู้กับโควิด ต้องเป็นการต่อสู้ระยะยาว และก็ไม่รู้ว่าสายพันธุ์ไวรัสเหล่านี้จะกลายพันธุ์ไปได้กี่แบบ เราอาจจะต้องอยู่กับโรคนี้และโรคใหม่ไปอีกนาน

3. รัฐบาลคือผู้มีอำนาจเพราะประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินไปแล้ว ดังนั้น การจะประกาศมาตรการอะไรให้คำนึงถึงผลรอบด้านที่จะเกิดกับคนต่างๆ ในสังคม มิฉะนั้นจะเกิดผลแบบที่เจ้าของโรงงานพาแรงงานต่างด้าวออกไปทิ้งตามข้างทางทั่วประเทศราวกับไม่ใช่คน เพราะกลัวถูกจับและกลัวโรงงานถูกปิด

ถ้าคนป่วยลงสู่ใต้ดิน การระบาดจะขยายไปมากกว่าที่คิด เพราะโรคนี้คนที่ติดเชื้อจำนวนมากไม่ได้แสดงอาการป่วย แต่กลายเป็นพาหะนำไปติดคนอื่น ใครที่อ่อนแอได้รับเชื้อ จะกลายเป็นคนป่วย ถ้าขยายไปมากขึ้น กลุ่มผู้ติดเชื้ออาจจะมิใช่แรงงานต่างด้าวเท่านั้น แต่กลายเป็นคนไทยทั่วไป ทำให้การจำกัดขอบเขตยากยิ่งขึ้น

4. มาตรการต่างๆ ของกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งขณะนี้แรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องเสียเงินค่าดำเนินการทั้งสองฝั่ง แต่การออกพาสปอร์ตในประเทศพม่าหรือกัมพูชายังเป็นเรื่องที่ยากเย็นและใช้เงินมาก นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการลักลอบข้ามแดน มาแบบผิดกฎหมาย เพราะเสียเงินน้อยกว่า ไม่ว่าจะมีโรคโควิดหรือไม่มีโควิด พวกเขาก็ไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายค่านายหน้าแรงงานแบบที่กำหนดกันอยู่

5. ถ้ามีคนเก่งเรื่องการค้นคว้าวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ก็ควรทุ่มงบประมาณมาลงด้านการคิดค้นผลิตยาและวัคซีน ไม่เพียงจะรักษาคนไทยและคนทั่วโลก ยังสามารถทำเป็นการค้านำรายได้เข้าสู่ประเทศ ไทยยังมีสมุนไพรอีกมากมาย สถาบันต่างๆ มีห้องแล็บ ทีมวิจัยค้นคว้าทดลอง

เรื่องนี้ทำบนพื้นผิวโลกนี่แหละ ไม่ต้องไปถึงดวงจันทร์ และอาจไม่ต้องใช้เงินถึง 3,000 ล้าน แค่ 300 ล้านก็น่าจะเริ่มได้แล้ว

 

การระบาดของโควิดตลอด 1 ปี บอกเราว่า ทุกเรื่องมีความสัมพันธ์กัน การปฏิบัติและมาตรการของรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ปัญหายุติหรือล้มเหลว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันหลายกระทรวง ทั้งสาธารณสุข แรงงาน มหาดไทย ต่างประเทศ กลาโหม ตำรวจ อุตสาหกรรม หอการค้า นักวิชาการ

การฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่คนต้องการมากที่สุด ซึ่งดูแล้วรัฐบาลนี้ยังไม่มีปัญญาและความสามารถในการแก้ไข แต่ก็ยังอยากบริหารประเทศต่อไป ที่ผ่านมาทำแค่กู้เงินมาแจกชาวบ้านคนละไม่กี่บาทพอให้ประทังชีวิตไปไม่กี่วัน

ถ้าบริหารแบบนี้ แม้โควิดไม่สามารถฆ่าเรา แต่เราจะพากันเจ๊งหมด

ประชาชนต้องมีสิทธิ์ในการคัดเลือกผู้บริหารที่มีความสามารถเพื่อให้รอดจากวิกฤตครั้งนี้