รู้จัก จิตรกรดาวรุ่ง “โบว์ ปัณฑิตา” กับภาพวาด “แฟนตาซี” ราคาหลักแสน! ที่ “ณเดชน์” ก็เคยมาซื้อ

“โบว์-ปัณฑิตา มีบุญสบาย” คือนักวาดรูปดาวรุ่ง วัย 23 ปี ที่กำลังได้รับการจับตามองในปีนี้ ด้วยลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นเกินอายุ

ขณะเดียวกันมูลค่าผลงานของเธอก็พุ่งสูงขึ้น กระทั่งภาพวาดบางชิ้นมีราคาถึงหลักแสน และสามารถสร้างเงินล้านได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

ที่สำคัญ คิวงานของโบว์นั้นแน่นและถูกจองเต็มชนิดข้ามปี โดยความสำเร็จของเธอไม่ได้มาเพราะโชคช่วย หากเกิดจากการ “คิดการใหญ่” มาตั้งแต่ก่อนจบการศึกษา

ตอนนี้ โบว์ ปัณฑิตา เป็นนักศึกษาปริญญาโท คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอเติบโตในครอบครัวเกษตรกรแห่งจังหวัดระยอง ซึ่งไม่มีใครในบ้านเคยทำงานด้านศิลปะมาก่อน

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางศิลปะของโบว์ เกิดขึ้นจากความบังเอิญและข้อจำกัดทางด้านเวลาของคนในครอบครัว

“ตั้งแต่ตอนเด็กๆ ก็คือ ที่บ้าน ก็จะไม่มีเวลาเลี้ยงดูหรืออะไรมาก เขาก็จะให้อยู่กับดินสอ พู่กัน กับกระดาษ มันกลายเป็นว่าเราได้ฝึกวาดรูปตั้งแต่เด็ก

“จนมาช่วงอนุบาล-ประถม เรารู้สึกว่าศิลปะเราค่อนข้างโดดเด่นที่สุดในห้อง แล้วก็มีเรื่องของการประกวดวาดภาพอะไรเข้ามา มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันอาจจะเป็นความสามารถพิเศษของเรา”

แม้จะชื่นชอบและสนุกกับศิลปะมาตั้งแต่เล็กๆ แต่พอเริ่มโตขึ้นจนถึงวัยมัธยมปลาย โบว์กลับเกิดความรู้สึกลังเลใจว่าตนเองจะสามารถหาเลี้ยงชีพด้วยศิลปะได้จริงหรือไม่?

เมื่อเกิดความไม่มั่นใจ เธอจึงเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะสัตวแพทย์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

อย่างไรก็ดี ด้วยฝีมือทางด้านศิลปะที่โดดเด่นจนไปเข้าตาอาจารย์แนะแนว โบว์จึงได้รับคำแนะนำให้ลองสอบเข้าคณะจิตรกรรมฯ ในฐานะอีกหนึ่งทางเลือก

ผลปรากฏว่าเธอสอบติดสาขาจิตรกรรมฯ ในหลายมหาวิทยาลัย และเมื่อถามความเห็นจากทางบ้าน ผู้ปกครองก็ยินดีสนับสนุนให้ลูกสาวได้เลือกเดินบนเส้นทางสายดังกล่าว เพราะมองว่าศิลปะเป็นสิ่งที่โบว์ชื่นชอบมาตั้งแต่เยาว์วัย

“ตอนนั้นก็ส่งพอร์ตของแต่ละมหาวิทยาลัย แล้วก็ติดหมดทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นของศิลปากร ของลาดกระบัง

“พอประกาศของจิตรกรรมปุ๊บว่าเราติด ก็เลยถามแม่ว่าอยากลองเรียนดู คือที่บ้านเขาก็โอเค คือเขาก็บอกแหละว่า เออ ถ้าแบบไม่มีงานทำ ไม่มีอะไร ก็กลับมาดูกิจการที่บ้าน ทำสวนอะไรที่บ้านต่อ ถ้าไม่โอเคก็ซิ่วออก”

แต่พอได้เริ่มเรียนปริญญาตรีในวันแรก โบว์ก็ตั้งคำถามกับตนเองทันทีว่าเธอเลือกเข้าศึกษาผิดคณะหรือไม่

เพราะจากเด็กมัธยมผู้เคยคิดว่าทักษะการวาดรูปของตัวเองเจ๋งที่สุดในบรรดาคนรุ่นเดียวกันที่จังหวัดระยอง เธอกลับกลายเป็น “มือใหม่หัดวาด” ในคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

โบว์พยายามเร่งพัฒนาฝีมืออย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งความสามารถของเธอก้าวกระโดดขึ้นโดยรวดเร็ว และมีผลงานถูกนำขึ้นโชว์บนบอร์ดของคณะ

“ตอนเด็กๆ จะมีความมั่นใจว่า เอ้ย เจ๋งที่สุดในระยองแล้วแหละเรา พอมาอยู่ในสังคมที่แบบมีแต่คนเก่งๆ มันทำให้จุดนี้ เรารู้สึกว่าเราเหมือนเป็นเสี้ยวเล็กๆ ของวงการศิลปะ

“อยู่ดีๆ เขาก็ให้มีคนมายืนเป็นแบบ ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อนเลยในชีวิต ให้ทำสีน้ำมัน สีอื่นๆ ที่เราไม่เคยทำเลย เพราะในชีวิตเราจับแต่สีโปสเตอร์อะไรอย่างนี้

“ช่วงนั้นก็พยายามฝึกฝนหลังเลิกเรียน โชคดีที่มีเพื่อนดี ช่วยกันติว ช่วยกันดูงาน แล้วก็ช่วยวิพากษ์วิจารณ์งาน ทำให้ฝีมือเราค่อนข้างก้าวกระโดด”

เมื่อปรับตัวได้แล้ว ดูเหมือนชีวิตบนเส้นทางศิลปะของโบว์จะราบรื่นดี เพราะผลงานของเธอมักได้รับคำชมจากอาจารย์และเพื่อนๆ อยู่เสมอ

กระทั่งเข้าสู่ปี 3 จู่ๆ วันหนึ่งเธอก็ได้รับคำเตือนจากอาจารย์ในเรื่อง “กับดักสกิล”

“เคยโดนพูดว่าทักษะจะมาทำร้ายตัวเราเอง เหมือนหนูโชว์แต่แบบทักษะทางด้านฝีมืออย่างเดียว แต่ว่าเรื่องของแนวคิด เรื่องของอะไรมันก็อาจจะยังน้อยอยู่ งานเธอมีแต่ฝีมือ มันไม่มีแนวคิดอะไรเลย มันไม่มีการคิดต่อ ก็ทำให้เราแบบ…เออ กลับมามองงานตัวเอง แล้วก็พยายามพัฒนากับงานในครั้งต่อไป”

ปีเดียวกัน โบว์เริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพในอนาคต เธอเคยสอบถามศิลปินรุ่นพี่ที่ชื่นชอบถึงเรื่องการสร้างตัวตน เพื่อให้ผลงานของตนเองขายได้ แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือคำพูดให้กำลังใจ และมุมมองที่ว่าโบว์ยังเด็กเกินกว่าจะมาครุ่นคิดเรื่องพวกนี้

แต่นั่นก็ไม่สามารถทำให้เธอหยุดฝันได้ โบว์อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว เธอจึงเริ่มตระเวนดูงานศิลปะหลายๆ สาย เพื่อแสวงหาแนวทางของตนเอง ทั้งแนวเหนือจริงและแนวเหมือนจริง

ในที่สุดโบว์ก็พบเส้นทางสายใหม่ที่มีคู่แข่งน้อยราย นั่นคือการวาดภาพแนว “แฟนตาซีอาร์ต”

ในช่วงแรกที่เริ่มวาดภาพแนวนี้ โบว์ยังขายผลงานของตนเองไม่ค่อยได้ จนเมื่อเธอนำผลงานไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ จึงมีคนที่มาเดินชมงานรู้สึกชื่นชอบในภาพวาดของเธอ และเกิดปรากฏการณ์ “บอกต่อ” ในโซเชียลมีเดีย

หลังจากนั้นจึงมีคนให้ความสนใจกับภาพวาดแฟนตาซีอาร์ตของโบว์ ปัณฑิตา กันอย่างล้นหลาม แม้แต่ดารา-ศิลปินหลายรายก็สั่งซื้อรูปของเธอ เช่น “ณเดชน์ คูกิมิยะ”

“ในช่วงแรกของการขายงาน (สมัยเรียนปี 4) งานก็ไม่ได้ขายได้ในทุกๆ ชิ้น ค่อนข้างขายยากเหมือนกัน เราก็เคยโพสต์หน้าเฟซบุ๊กเหมือนกัน ทุกคนเคยเห็น แต่ว่าพอเรามาอยู่ในจุดที่มันมีแสง คนก็จะแบบว่าย้อนกลับไปดูแล้วก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานเซ็ตนั้น ทั้งๆ ที่มันก็คืองานชุดเดียวกัน

“งานในชุดก่อนๆ ที่ตอนเด็กๆ ขายไม่ได้อะค่ะ มาในปัจจุบันนี้ งานชุดก่อนกลายเป็นว่าขายได้หมดเลย ถามว่าจริงๆ มันน่าเศร้าไหม มันก็แอบเศร้านิดๆ แต่ว่ามันก็พูดได้ยากอะค่ะ เพราะมันก็เป็นอย่างนั้น”

จุดแข็งในภาพวาดของโบว์คือความแข็งแรงของลายเส้น หลายๆ คนมักบอกว่าลายเส้นของเธอดูโดดเด่นเกินกว่าที่ผู้หญิงจะเป็นผู้วาดภาพนั้น อย่างไรก็ดี ด้วยฐานะศิลปินหญิง โบว์มักสอดแทรกความเป็นเฟมินิสต์หรือแนวคิดสตรีนิยมลงไปในภาพวาดเสมอ

ปัจจุบันคิวงานของโบว์ถูกจองเต็มไปจนถึงสิ้นปี 2565 แล้ว ราคาผลงานต่อชิ้นเริ่มต้นตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับขนาดและความยากง่ายของการวาด

ในทุกๆ วัน ศิลปินหญิงรุ่นใหม่รายนี้ยังคงวาดภาพและพัฒนาฝีมือต่อไป เพราะเธอมองว่าในทุกๆ ภาพที่ตนเองวาดนั้น ล้วนมีความไม่สมบูรณ์แบบหรือจุดบกพร่องปรากฏอยู่

นั่นคือแรงผลักดันให้เธอสามารถพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะก้าวสู่ระดับสากล โดยโบว์ตั้งเป้าหมายว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เธออยากมีชื่อเสียงระดับโลก

“จะพยายามประเมินตัวเองในทุกๆ ครั้ง พอเราจบ (งาน) แล้ว เรารู้สึกว่าชิ้นนี้มันขาดอะไรบ้าง ชิ้นต่อไปมันต้องไม่มีจุดบอดนั้นแล้ว พอยิ่งเราทำเยอะ ชั่วโมงบินเราสูง เราก็จะรู้วิธีการแก้ปัญหา แล้วก็มีวิธีการจัดการกับมันในทุกๆ ครั้งค่ะ”