เกษียร เตชะพีระ | นโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ : การประเมิน

เกษียร เตชะพีระ

ถึงแม้จะดื้อดึงไม่ประกาศยอมแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อพฤศจิกายนศกนี้แก่โจ ไบเดน จนแล้วจนรอด และให้ลูกน้องเที่ยวฟ้องแหลกต่อศาลว่าโดนโกงเลือกตั้งอย่างขี้แพ้ชวนตีปานใด แต่สุดท้าย มกราคมปีหน้าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งอยู่ดี

คำถามน่าสนใจจากมุมมองการเมืองโลกและภูมิภาคเอเชียก็คือ แล้วนโยบายอเมริกันต่อจีนยุคทรัมป์ จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไรในยุคไบเดน?

มันจะส่งผลสะเทือนต่างไปหรือไม่เช่นใดต่อการเมืองโลก และเอเชีย?

ทว่าเราควรเริ่มจากการประเมินนโยบายของทรัมป์ต่อจีนรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเสียก่อนจากมุมมองของวงการเมืองอเมริกัน จีน บางชาติเอเชีย-โอเชียเนียที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

หัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญหลังช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิง ผู้นำรัฐ-พรรคสูงสุดของจีนที่ต่างผลัดกันไปเยือนประเทศของแต่ละฝ่ายในปีแรก (ค.ศ.2017) ก็คือการที่ทรัมป์ประกาศสงคราม การค้าของสหรัฐต่อจีนกลางปี ค.ศ.2018 โดยขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเอากับสินค้าเข้าจากจีนมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมข่มขู่ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าเข้าจากจีนเพิ่มอีกหากจีนไม่ยอมตามข้อเรียกร้องต่อรองทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐ

ที่น่าสนใจคือ แม้ท่าทีตอบโต้อย่างเป็นทางการของจีนจะแข็งกล้าไม่กลัวและขึ้นภาษีเอาคืนกับสินค้าเข้าจากสหรัฐอย่างสมน้ำสมเนื้อกัน

แต่เบื้องหลังในแวดวงเจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคและนักวิชาการด้านนโยบายของจีนกลับแสดงท่าทีตรงกันข้ามต่อการเปิดมาตรการเชิงรุกเบบเผชิญหน้าในสงครามการค้าของทรัมป์

คือเสียศูนย์ สับสนงงงวย มั่นใจน้อยลง หวาดหวั่นและสอบถามสืบหาข้อมูลจากวงในของโลกตะวันตกกันจ้าละหวั่นว่าจะรับมือทรัมป์ท่าไหน?

จะคาดเดาหมากตาถัดไปของทรัมป์ได้อย่างไร?

และบ้างก็อดชมเชยฝีไม้ลายมือของทรัมป์ไม่ได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นฝ่ายเห็นต่างที่วิจารณ์แนวนโยบายของสีจิ้นผิงด้วยแล้ว ก็กระหยิ่มใจที่สหรัฐทำให้ฝ่ายนำของจีนถึงแก่ต้องหวั่นวิตกได้

ดังที่ Mark Leonard นักวิเคราะห์ข่าวชาวอังกฤษเขียนไว้ในบทความ “The Chinese are wary of Trump”s creative destruction” (“จีนหวั่นใจการทำลายเชิงสร้างสรรค์ของทรัมป์”, นสพ. Financial Times, 24 July 2018) ว่า :

“ฝ่ายจีนบรรยายทรัมป์ว่าเป็นปรมาจารย์ด้านยุทธวิธี โดยรู้จักรวมศูนย์ทีละประเด็นปัญหาแล้วรีดเค้นฝ่ายตรงข้ามให้ยอมอ่อนข้อมากที่สุดเท่าที่รีดได้

“แต่จีนก็เห็นเขาเป็นนักยุทธศาสตร์ด้วย ตรงยินดีจะประกาศพักรบในแต่ละสมรภูมิเมื่อเห็นว่าไม่มีการยอมอ่อนข้ออันใดให้รีดได้อีกแล้ว จากนั้นก็เปิดฉากรุกในแนวรบด้านใหม่อีก”

ขณะเดียวกัน พันธมิตรของอเมริกาในเอเชีย-โอเชียเนีย ตั้งแต่ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินเดีย ไปจนถึงออสเตรเลีย ก็ชอบใจที่ทรัมป์กล้าเผชิญหน้าจีนอย่างแข็งกร้าวโดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคง อย่างเช่น ท้าทายจีนที่สร้างเกาะเทียมเป็นที่มั่นทางทหารในพื้นที่พิพาทย่านทะเลจีนใต้ เป็นต้น

โดยเฉพาะรัฐบาลพรรคเสรีนิยมของนายกฯ สก๊อต มอร์ริสัน แห่งออสเตรเลียซึ่งเดินแนวนโยบายเอียงขวาเหมือนทรัมป์ ก็ปลาบปลื้มมากที่ได้ทรัมป์มาเป็นแนวร่วมช่วยปลุกขวัญตนในยามกำลังเผชิญหน้ากับจีนอย่างค่อนข้างโดดเดี่ยวและโดนจีนเล่นงานเอาคืนด้านภาษีการค้า เช่น ไวน์นำเข้าจากออสเตรเลีย

และก็ดังที่ข้าราชการอาวุโสของญี่ปุ่นคนหนึ่งผู้ใช้นามแฝงว่า Y.A. เขียนบทความลงในนิตยสาร The American Interest เมื่อ 10 เมษายนศกนี้เรื่อง “A View from Japan : The Virtues of a Confrontational China Strategy” (“ทรรศนะจากญี่ปุ่น : คุณความดีของนโยบายเผชิญหน้าจีน”) ว่าถึงแม้นโยบายของทรัมป์ต่อจีนและเอเชียจะมีข้อขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง… :

“แต่ถ้าคุณถามผู้วางนโยบายของญี่ปุ่นว่าพวกเขานึกอาลัยรัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาบ้างหรือไม่ พวกเขาส่วนใหญ่ก็จะตอบปฏิเสธเช่นกัน และบางทีจะตอบหนักข้อกว่านั้นด้วยซ้ำไป

“ทั้งนี้เพราะสำหรับบรรดาประเทศที่รับเคราะห์จากการใช้กำลังบีบบังคับของจีนนั้น แนวนโยบายของสหรัฐต่อจีนที่แข็งกร้าวขึ้นสำคัญกว่าด้านอื่นใดของนโยบายสหรัฐทั้งหมด

“เหล่าชนชั้นนำชาวเอเชียในกรุงไทเป มะนิลา ฮานอยและนิวเดลีพากันคาดคำนวณมากขึ้นทุกทีว่า แนวทางที่เน้นเรื่องธุรกรรมและคาดเดาไม่ได้ของทรัมป์นั้นยังเลวร้ายน้อยกว่าหากเทียบกับอันตรายของการที่สหรัฐจะกลับไปพะเน้าพะนอจีนให้มาเป็น “ผู้มีเดิมพันได้เสียที่รู้จักรับผิดชอบ” เสียอีก”

ประเด็นสำคัญก็คือ แม้กล่าวโดยเปรียบเทียบระหว่างสองอภิมหาอำนาจอเมริกากับจีนแล้ว

อเมริกากำลังอยู่ในช่วงขาลง/อ่อนแอลง

ขณะจีนกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น/เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ ตลอดช่วงสมัยการบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปีนี้มา

ทว่าการเปลี่ยนแนวนโยบายท่าทีของทรัมป์ต่อจีนไปเป็นแบบเผชิญหน้าแข็งกร้าวขึ้นในรอบสามปีที่ผ่านมา นับว่าถูกจังหวะและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง

มันยังเป็นการปรับรื้อแนวนโยบายของสหรัฐต่อจีนจากเดิมเสียใหม่ในชั่ว 30 ปีด้วย กล่าวคือ จากเดิมตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 ที่อเมริกาเน้นร่วมมือกับจีน มุ่งชักดึงและเอื้ออำนวยให้จีนเข้ามาร่วมระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลกที่อเมริกากุมอำนาจนำฉันมิตร เพื่อผลักดันให้จีนค่อยๆ ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงภายใน ไปเป็น -> ขัดแย้งแข่งขันกัน (ดู Susan Watkins, “America vs. China”, New Left Review Series II, 115, Jan.-Feb. 2019)

อันเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นซึ่งสองพรรคใหญ่ในการเมืองสหรัฐคือพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตเห็นต้องตรงกัน (bipartisan positions) ว่าจะต้องประชันขันแข่งอำนาจกับจีนในหลากหลายปริมณฑลตั้งแต่การค้า การทูต การทหาร อุดมการณ์ไปจนถึงเทคโนโลยี

ดังที่ล่าสุดคณะกรรมาธิการทบทวนความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสหรัฐกับจีนแห่งสภาคองเกรสได้ตอกย้ำยืนยันไว้ในรายงานประจำปี ค.ศ.2020 ต่อสภา (2020 Report to Congress of the U.S.-China Economic and Security Review Commission, December 2020, https://www.uscc.gov/sites/default/files/2020-12/2020_Annual_Report_to_Congress.pdf)

ฉะนั้น จึงแน่ใจได้ว่าว่า ที่ประธานาธิบดีไบเดนก็จะยืนหยัดนโยบายประชันขันแข่งอำนาจกับจีนต่อไปอีกทั้งน่าจะดุดันเข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำ

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐสมัยประธานาธิบดีโอบามา นาย Charles Edel สรุปว่า วงการต่างประเทศอเมริกันเลิกโต้เถียงกันแล้วว่าทำไมต้องปรับเปลี่ยนแนวทางความสัมพันธ์ของสหรัฐต่อจีนเสียใหม่ แต่ตอนนี้กำลังเถียงกันว่าแนวทางใหม่ที่ว่านั้นควรเป็นอะไร? และจะดำเนินการอย่างไร ให้ได้ผลดีที่สุดต่างหาก?

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)