อภิญญา ตะวันออก : ตามส่อง “เทริด” กับหลังบ้านกษัตริย์วรรมัน

อภิญญา ตะวันออก

ประดับอยู่บนเศียรองค์เทวัญ-ราชันเขมรยุคกลาง เรื่องของ “เทริด” หรือมงกุฎเกล้าอลังการ นี่อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของมุมมองทั่วไปในยุคมิลเลนเนียมที่ไม่ให้ความสำคัญ

แต่อย่าได้มองข้าม

ฉันเห็นมาตลอดว่าความหลงใหลใน “เทริด” ของชาวอุษาคเนย์นี่ มีทั้งมากล้น หลากหลายในมุมมองนานา

ดังที่อัญเจียแขฺมร์จะพาท่านไปตามหา “เทริด” ในพระบาทชัยวรรมันที่ 7 กษัตริย์เขมรยุคกลางและองค์นางเทวี-มเหสีทั้งสองของพระองค์ ในยุคที่กษัตริย์องค์นี้ได้สร้างมรดกแห่งความผู้ยิ่งใหญ่รวมทั้ง “เทริด” ที่อยู่บนพระเศียรพระองค์นั้น ก็มีความหมายให้คนเขมรยุคหลัง 800 ปีผ่านก็ยังเทิดทูนภักดี

แม้แต่จะเป็นแค่มายาคติในละครย้อนยุคดัดแปลงและสวม “เทริด” ที่พบละครไทยไม่ว่าเรื่องใด แม้จะแค่ในรูปละครละเม็ง ก็ไม่เคยเว้นวายเผชิญดราม่าด่าทอ ประหนึ่งสมบัติชาติที่พวกเขาต้องหวงแหนดังที่เกิดกับ “สัญญารัก สัญญาณลวง” ละครไทยสไตล์เทริดขอมที่เพิ่งลาจอไปเมื่อเร็วๆ นี้

แต่ทิ้งมายาคติแห่งความภักดีให้ฉันขบคิดตามมา

อย่างไรก็ตาม การได้เห็นในวิถีกษัตริย์ยุคกลาง-ชัยวรรมันที่ 7 แห่งสุวรรณภูมิผ่านสมบัติชิ้นเดียวโดย “เทริด” นี้ ช่างกระไรถึงความยืนยงของราชมรรคาเก่าแก่ยืนยงมากว่าหลายพันปีแล้ว และจะธำรงไปไกลกว่านี้อีก นั่นเพราะมันคือความนึกคิดที่มีต่อระบอบกษัตริย์ของชาวเขมรชน เฉพาะมองมุมที่มีต่อพระบาทชัยวรรมันที่ 7 อันนอกจากพระปรีชาชาญแล้ว ทรงมีชีวิตแบบใดเล่า?

โดยเฉพาะการที่ทรงมีมเหสีเอก 2 องค์ ที่ทรงทั้งพระสิริโฉมและอัจฉริยภาพนั้นอย่างมาก

การตามหาไทม์ไลน์ของชัยวรรมันที่ 7 และ 2 พระชายาดูจะมีทางเดียวคือตามดูจากไทม์ไลน์ภาพสลักหินเทวาลัย และจาก “เทริด” อัตลักษณ์ที่บ่งชี้ความสำคัญในองค์ชายานั้นๆ จนคงพอจะอนุมานว่า ชัยวรรมันที่ 7 น่าจะมีชีวิตไทม์ไลน์เยี่ยงใดบ้าง? สำหรับกษัตริย์และ 2 พระชายา

 

ดูเหมือนมเหสีเอก-รองทั้ง 2 จะทรงปรองดองกันมาก แม้ความปรองดองที่ปกตินี้ จะไม่เคยพบพานในรัชกาลแม้แต่ล่าสุดก่อนนี้คือ พระบาทสมเด็จพระรัตนโกศสีหนุสมัยหนุ่ม ทรงมีชายา-สนมเอก-รองพร้อมกันถึง 6 คน

ทรงตัดพ้อต่อว่าพวกนักวิพากษ์โดยเฉพาะพวกต่างชาติที่กล่าวหาพระองค์ว่าเป็นเพลย์บอย ทรงเคยเปรียบเทียบเรื่องนี้ “น้อยนิดมาก” เมื่อเทียบกับสมเด็จพระอัยกาชวดของพระองค์-พระบาทนโรดม ซึ่งเล่ากันว่ามีฮาเร็มเป็นสนมเอกนางรำถึง 500 นางเลยเทียวนั่น!

แต่เรื่องของเรื่องคือความวุ่นวายในราชสำนัก ในสมัยนโรดม สีหนุนั้นความอีหลักอีเหลื่อในเรื่องนี้เกิดจากพระองค์ทรงตกหลุมรักพระชายาองค์สุดท้ายจนถึงขั้นตัดพระทัยยอมเลิกกับพระชายาและหม่อมก่อนๆ นั้น ส่วนพระอัยกาชวดนั้นกลับเลือกที่จะฟาดฟันกับพวกฝรั่งเศสจนตรมตรอมบอบซ้ำตลอดรัชสมัย

แล้วในสมัยชัยวรรมันที่ 7 เล่า? ราชมรรคาครอบครัวของพระองค์ทรงเป็นเยี่ยงใด?

 

ปรากฏว่าทรงมีความปรองดองรักใคร่ในมเหสีเอก-รอง ด้วยเหตุนี้ ไทม์ไลน์ของพระองค์และพระชายาทั้ง 2 จึงสรวล-ง่ายดายในปกครองของวงศ์เทวัญ

และอะไรเล่าที่จะทำให้เราเข้าใจในเยี่ยงนั้น?

มันคือมงกุฎเหนือศีรษะหรือ “เทริด” ขององค์เทวีที่จะบ่งบอกฐานะความสำคัญขององค์พระชายา

เล่าความย่อโดยว่า พระบาทชัยวรรมันที่ 7 ทรงอภิเษกกับพระนางชัยเทวีระหว่างกรำศึกสงครามทำให้ทิ้งร้างครอบครัวไปแรมปี พระนางชัยเทวีนั้นถึงกับล้มป่วยตรอมพระทัย เรื่องนี้มีเล่าไว้ในหลักฐาน

ต่อมาเมื่อเสร็จศึกและสร้างเมืองทรงอภิเษกแต่งตั้งพระนางอินทรเทวีเป็นมเหสีองค์ที่ 2 ทรงเชิดชูต่อพระชายาองค์นี้มาก เห็นจากหลักฐานฝ่ายต่างๆ ด้านความปราดเปรื่องในปรัชญา วรรณกรรม กวีและศาสนาที่ล้วนแต่มีอิทธิพลต่อพระบาทชัยวรรมัน

ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า เครื่องทรงและ “เทริด” ของพระนางอินทรเทวีน่าจะมีความอลังการเหนือกว่าพระนางชัยเทวี

ข้อบ่งชี้เช่นนี้ ฤๅจะมีผลต่อความร้าวฉานระหว่างพระตำหนักใหญ่และรองของพระบาทชัยวรรมันหรือไม่?

กราบทูลว่า เห็นท่าจะไม่เพคะ

ด้วยว่าพระนางอินทรเทวีนั้น มีศักดิ์เป็นพระเรียมในพระนางชัยเทวี กล่าวตามตรงว่า ท้าวเธอมีศักดิ์เป็นพี่เมียในพระองค์มาก่อน หาใช่คนอื่นไกล

จึงเชื่อกันว่า ทั้ง 2 พระชายาไม่น่าจะมี “ความอิจฉาริษยากระทบกระทั่งกันหลวง-น้อยแบบในละครดราม่า”

แม้จะทราบกันดีว่า พระนางชัยเทวีนั้นทรงอ่อนไหวตรอมพระทัยมาก ดังในอดีตเมื่อจำพรากจากคนรัก ก็ได้พระเรียมอินทรเทวีปลอบโยนพระทัย

แต่การที่มีพระเรียมมาร่วมเวียงวังพระห้องบรรทมเดียวกัน จะทรงรู้สึกน้อยใจในวาสนารักจากพระสวามีบ้างหรือไม่? เมื่อประวัติศาสตร์ก็บอกชัดว่าพระสวามีของนางโปรดปรานพระเรียมยิ่งกว่า…

โดยเมื่อสังเกตถนิมพิมพาภรณ์จากภาพจำหลักหินที่ปราสาทน้อยใหญ่ของเจ้านางทั้งสอง พระมเหสีเอกชัยเทวีที่มีศักดิ์เป็นน้องนั้น ดูจะเป็นรองจากชายาเบอร์ 2 ซึ่งบังเอิญว่ามีศักดิ์เป็นพี่

และมีความ “ประเจียเปร็ย” ป๊อปปูลาร์ในราชมรรคาแห่งนี้

 

ในที่นี้ คือการที่ช่างหลวงนำองค์เทวีทั้งสองไปแกะเป็นภาพสลักหินนูนต่ำที่ปราสาทสำคัญ ถ้าเป็นปราสาทหลวงของเมืองพระนครนอกจากปราสาทบายนแล้ว ยังมีปราสาทพระขรรค์ ปราสาทตาพรหม ปราสาทพิมานอากาศ ปราสาทบันเตียกะได และปราสาทบันเตียฉมาในภาคตะวันตก ทั้งหมดล้วนมีภาพสลักพระนางอินทรเทวี ขณะที่พระนางชัยเทวีนั้น พบว่ามีอยู่ร่วมบางองค์เทวาลัยเท่านั้น และบางแห่งก็ไม่ใช่ปราสาทหลวง

สรุป พระนางชัยเทวี-มเหสีเอกแต่วาสนากลับเป็นรอง ขณะที่พระนางเบอร์ 2 อินทรเทวีกลับป๊อปปูลาร์กว่า ซึ่งพอจะเดาได้บ้างว่า พระบาทชัยวรรมันที่ 7 นั้นทรงออกงานกับชายาองค์ไหนบ่อยกว่ากัน

จึงไม่แปลกที่ภาพสลักของอินทรเทวีจะประดิษฐ์ไฉนทำให้ทราบว่า ช่างหลวงชัยวรรมันให้ความสำคัญต่อองค์นางอย่างไร ดูจาก “เทริด” ในแบบต่างๆ บ่งบอกถึงเครื่องทรงอลังการของพระองค์ “เด่น” กว่าเทวีองค์ใด

โดยมิพักสงสัยว่า สถานะของพระนางชัยเทวีจะหลังบ้านสักเพียงใด เมื่อเทียบกัน “เทริดต่อเทริด” ก็ยิ่งเห็นว่าภาพสลักของพระนางชัยเทวีช่างฝีมือสลักหินมิใช่ระดับสูง เมื่อเทียบกับพระชายาอินทรเทวี

ยิ่งเฉพาะองค์ “เทริด” พระเศียรด้วยแล้ว เห็นเลยว่ามีความต่างสูงมาก ในปราสาทบางองค์นั้น ภาพสลักของพระนางอินทรเทวีนั้น ตามคำร่ำลือที่ว่า พระนางทรงเจริญในธรรมขั้นสูงมากองค์หนึ่ง บารมีผิวพรรณชาติจึงเปล่งปลั่งมาก และรูปลักษณ์ภายนอกนั้นเมื่อทรงเครื่องอลังการงดงามนัก

ประหนึ่งเทพธิดาอารักษ์ มากกว่านั้น ยังพบว่าทรงมีอัตลักษณ์ของพระจักกระ-ดวงตาที่ 3 ตรงนลาฏที่บ่งว่า ทรงนิยมเรื่องวิปัสสนากรรมฐาน

แต่ “เทริด” แบบเขมรใน The Ancient Secrets of a Royal Triad Decoded : jayavarman, Indradevi and Jayarajadevi โดยงึน พลิกา ที่ต่างจากงานวิจัยแบบตะวันตก กล่าวคือ เต็มไปด้วยความเทิดทูนบูชาต่อองค์เทวัญและราชอาณาจักรแห่งยุคกลาง

ดังที่กล่าวว่า มากกว่า “วงศ์เทวัญ” คือ “เทริด”

และมากกว่า “เทริด” คือประชาชน