มาไกลเกินถอยกลับ : วิตกว่าจะหนีไม่พ้นความรุนแรง ?

มาไกลเกินถอยกลับ

ประเทศไทยดูจะห่างไกลจากความสงบทางการเมือง หลังสงครามสีเหลืองกับสีแดง มาสู่นกหวีดหลากสี

มาถึงวันนี้พัฒนาไปสู่สงครามความคิด ระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า

เด็กเปิดสงครามความคิดกับผู้ใหญ่ ครูกับนักเรียน จนถึงพ่อ-แม่กับลูกๆ ลุงป้าน้าอา ปู่-ย่า ตา-ยายกับหลานๆ

สถานการณ์เช่นนี้ทางหนึ่งเป็นความรู้สึกเลวร้าย แต่อีกทางหนึ่งถือเป็นโอกาสดีต่อการพัฒนาการเมือง เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนต่างรู้สึกว่าได้รับผลกระทบจากการเมือง สะเทือนกับชีวิตโดยตรงอย่างเห็นๆ

เมื่อได้รับผลกระทบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือต้องมาใส่ใจการเมือง ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อพัฒนาการในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมือง

ก่อนหน้านั้นมีความกังวลว่าคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการเมือง ซึ่งมีปัญหาที่ตามมาคือสำนึกแห่งการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมส่วนรวม อันมีผลต่อพลังการพัฒนาประเทศจะเป็นอย่างไร

เมื่อถึงวันนี้ คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเอาจริงเอาจังมากยิ่งกว่ายุคใด จึงมีความหวังว่าการเมืองในอนาคตจะเป็นบวกต่อสำนึกต่อส่วนรวม

สํานักงานสถิติแห่งชาติสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมตามแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2563

ในส่วนของกิจกรรมการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมในรอบปีที่ผ่านมา

ร้อยละ 82.1 ชักชวนคนรู้จักไปลงคะแนนเลือกตั้ง

ร้อยละ 81.9 พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองกับคนรู้จัก

ร้อยละ 73.2 ติดตามคะแนนเสียงเลือกตั้ง

ร้อยละ 54.7 ติดตามการอภิปรายในสภา

ร้อยละ 43.7 รับฟังการปราศรัยหาเสียง

ร้อยละ 23.7 ตรวจสอบการทำงานของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ร้อยละ 20.9 แสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อต่างๆ

ร้อยละ 13.4 เข้าร่วมวางแผน ตัดสินใจนโยบายสาธารณะผ่านช่องทางต่างๆ

ร้อยละ 11.9 เข้าร่วมกิจกรรมของพรรคการเมือง

ร้อยละ 10.5 บริจาคช่วยพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร

ร้อยละ 10.1 ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำนโยบาย หรือโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ร้อยละ 9.8 ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริตในการดำเนินการภาครัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นี่เป็นการสำรวจเมื่อต้นเดือนมกราคมต้นปี ช่วงนั้นกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่เพิ่งจะเริ่ม การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงอยู่ในกรอบของการเลือกตั้งเสียเป็นส่วนใหญ่

แม้จะมีบ้างที่ล่วงเข้ามาในมิติของการตรวจสอบนักการเมือง และกลไกรัฐก็ยังไม่มากนัก ซ้ำการแสดงออกยังอยู่ในรูปของการร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริต ยังไม่ก้าวเข้าสู่การกดดันให้เปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะถึงการปฏิรูป

แต่หากทบทวนกันสักหน่อย จะพบว่าช่วงนั้นมีการเรียกร้องในเชิงปรับระบบการเมืองแล้ว โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่

แต่ความตื่นตัวเมื่อมีส่วนร่วมนั้นหายไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม เมื่อชัดเจนว่าข้อเรียกร้องถูกละเลย และดูเหมือนจะมีการใช้อำนาจเข้มข้นมากขึ้น

ที่สุดแล้วการแสดงออกเพื่อกดดันทางการเมืองก็ลุกลามเข้าสู่การเรียกร้องให้ปรับระบบในแนวทางปฏิรูปครั้งใหญ่

และไปในทิศทางที่คุยกันรู้เรื่องได้ยาก

ระหว่างเด็กที่ร้องหาอนาคตที่พวกเขาเชื่อว่าดีกว่า กับผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นกับอดีต เกิดการปะทะกันทางความคิดรุนแรง

กระทั่งวิตกกันว่าจะหนีไม่พ้นความรุนแรง

ห่วงกันว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งหัวชนฝาในข้อเรียกร้อง เพราะถอยไม่ได้ ขณะที่มองไม่เห็นอุดมคติของอีกฝ่ายหนึ่งที่จะทำให้ยอมรับฟัง