จิตต์สุภา ฉิน : สะเทือนวงการ เมื่อ “นางแบบเสมือนจริง” ขอแบ่งที่ยืนบนรันเวย์

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เราพูดกันบ่อยแสนบ่อยว่าหลายอาชีพมีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนด้วยคอมพิวเตอร์ ทั้งคนงานในโรงงาน พนักงานต้อนรับ นักพิสูจน์อักษร พนักงานรักษาความปลอดภัย ฯลฯ

แต่ถ้าจะให้อ่านไล่ลงไปตามลิสต์นี้เรื่อยๆ คิดว่าก็คงจะไม่น่าเจออาชีพนางแบบหรือนายแบบได้ง่ายๆ

เพราะใครจะไปนึกว่าอาชีพที่จำเป็นจะต้องหอบร่างกายไปสวมใส่เสื้อผ้าที่แสนจะสวยงามตามสถานที่ต่างๆ จะสามารถถูกทดแทนได้ด้วยบิตและไบต์ที่จับต้องไม่ได้

แต่ทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหลังปี 2020 เป็นต้นไปนี่แหละ

วงการนางแบบนายแบบเริ่มบูมเป็นอย่างมากในช่วงยุคเก้าศูนย์เป็นต้นมา มีนางแบบหลายคนที่ดังขึ้นมาในยุคนี้และปูทางให้กับนางแบบรุ่นใหม่ๆ ได้ก้าวขึ้นมาเป็นแฟชั่นไอคอนมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ก็ยังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มนางแบบด้วย

การมาถึงของโซเชียลมีเดียที่ทำให้นางแบบเปิดรับผู้ติดตามได้ง่ายขึ้นจนบางคนมีตัวตนบนโซเชียลมีเดียที่แข็งแกร่งมากๆ ด้วยยอดผู้ติดตามเป็นสิบๆ ล้าน ยิ่งเป็นส่วนเสริมให้แบรนด์แฟชั่นต่างๆ เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างกว่าเดิม ในขณะที่นางแบบก็มีโอกาสในการรับงานเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รูปแบบในการทำงานระหว่างนายแบบ นางแบบ และแบรนด์แฟชั่นอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปนับตั้งแต่การมาถึงของโควิด-19

 

ในช่วงไวรัสระบาดหนักๆ (ซึ่งอันที่จริงหลายๆ ประเทศก็ยังถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมากๆ อยู่) แบรนด์แฟชั่นจำเป็นต้องยกเลิกงานแสดงแฟชั่นทั้งหมดเพื่อลดโอกาสของการแพร่กระจายโรค

แต่การยกเลิกงานแฟชั่นก็ไม่ได้แปลว่าแฟชั่นคอลเล็กชั่นใหม่ๆ จะเปิดตัวไม่ได้

เพราะทุกแบรนด์ก็ยังคงต้องเดินหน้าออกแบบเสื้อผ้าใหม่ๆ พนักงานก็ยังต้องกินต้องใช้ ลูกค้าก็ยังมีความต้องการอยากจะซื้อ

ถึงนายแบบ นางแบบ จะไม่สะดวกเดินทางมาสวมเสื้อผ้าเพื่อถ่ายแบบ แต่เสื้อผ้าจะแขวนไว้บนราวเฉยๆ ก็ไม่ได้ เพราะบางตัวสวยที่สุดก็คือต้องอยู่บนเรือนร่างเท่านั้น

และเมื่อไม่มีเรือนร่างของคนก็ไม่เป็นไร สวมไว้บนเรือนร่างเสมือนจริงได้ก็ยังดี

หลายแบรนด์แฟชั่นเลือกรับมือกับการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยการเปลี่ยนแฟชั่นโชว์ให้เป็นวิดีโอแล้วย้ายไปอัพโหลดออนไลน์แทน

หากเทรนด์การย้ายแฟชั่นไปอยู่บนออนไลน์ยังดำเนินต่อไป อีกไม่นานแทนที่เราจะได้เห็นนางแบบตัวเป็นๆ อยู่ในวิดีโอ

เราอาจจะได้เห็นนางแบบพันธุ์ใหม่ คือนางแบบเสมือนจริง หรือ virtual models ก็ได้

อีกไม่นานข้างหน้า เราน่าจะได้เห็นนางแบบที่เป็นอวตารปรากฏตัวมาใส่เสื้อผ้าลุคต่างๆ และเดินเฉิดฉายให้เราดูบนหน้าจอกันจนชินตามากขึ้น

และในเมื่อมาในรูปแบบเสมือนจริง เสื้อผ้าต่างๆ ก็อาจจะส่งตรงมาจากจินตนาการของดีไซเนอร์โดยที่ไม่จำเป็นต้องตัดเย็บออกมาเป็นเสื้อผ้าที่จับต้องได้จริงๆ เลยด้วยซ้ำ

 

จะว่าไป นางแบบเสมือนจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น เพราะเมื่อเกือบทศวรรษที่แล้ว แบรนด์เสื้อผ้าเรดดี้ ทู แวร์ อย่าง Forever 21 ก็เคยทดลองใช้นางแบบโฮโลแกรมมาแล้ว โดยจัดงานแสดงแฟชั่นขึ้นในสถานที่จริง แต่แทนที่จะเป็นนางแบบที่เป็นมนุษย์ ก็กลายเป็นโฮโลแกรมเดินโชว์เสื้อผ้าสวยๆ และทำในสิ่งที่มนุษย์ตัวเป็นๆ ทำไม่ได้ นั่นก็คือการเดินแบบ หมุนตัวกลับ และหายไปในกลุ่มดาววิบวับ

จุดประสงค์ของการใช้โฮโลแกรมเข้ามาช่วยก็คือการตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถใช้นางแบบจำนวนมากที่สุดเพื่อทำให้ผู้ชมได้เห็นเสื้อผ้าในแง่มุมที่หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมก็ดูจะลงตัวพอดิบพอดี แถมยังเป็นการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อเปิดโลกให้กับผู้ชมแฟชั่นด้วย

ไม่ใช่แค่นางแบบโฮโลแกรมของ Forever 21 แต่วงการแฟชั่นก็ยังเคยทดลองอะไรใหม่ๆ อย่างการสร้างนางแบบดิจิตอลคนแรกขึ้นมาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยให้ชื่อว่า Shudu Gram นางแบบผิวดำที่มียอดผู้ติดตามมากกว่าสองแสนคน

และถ้าหากไม่มีใครบอก ลำพังดูภาพของเธอบนอินสตาแกรมเฉยๆ ก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านางแบบคนนี้ไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง

เมื่อราว 2 ปีก่อน Shudu ก็ได้เข้าร่วมแคมเปญกับนางแบบดิจิตอลคนอื่นๆ เพื่อนำเสนอแฟชั่นของแบรนด์ Balmain อย่าง Zhi นางแบบดิจิตอลในลุคเอเชียที่ออกแบบฟีเจอร์บนใบหน้าของเธอมาได้อย่างโดดเด่นมากๆ

ด้วยความสงสัยว่าสาธารณชนคิดอย่างไรเกี่ยวกับแคมเปญที่ใช้นางแบบดิจิตอลแบบนี้ ฉันก็เลยกดคลิกไปอ่านคอมเมนต์

แล้วก็ต้องประหลาดใจที่ได้เห็นว่ามนุษย์เรารู้สึกไม่ต้อนรับนางแบบดิจิตอลกันอย่างรุนแรงแค่ไหน

 

หลายๆ คอมเมนต์ในตอนนั้นแสดงความเกลียดชังนางแบบดิจิตอลอย่างไม่พยายามซ่อนเร้นความรู้สึก ทั้งที่เรียกนางแบบว่าหน้าเหมือนเอเลี่ยน น่าเบื่อ น่าเศร้า ไปเรียกด้วยสรรพนามของคนทำไม ต้องเรียกว่า “มัน” สิถึงจะถูกต้อง ฯลฯ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลของความรู้สึกไม่เป็นมิตรนี้ดูเหมือนจะมาจากความกลัวว่านางแบบดิจิตอลจะไปเบียดบังนางแบบที่เป็นมนุษย์ให้ไม่สามารถทำงานต่อไปในวงการได้

ซึ่งฉันว่ามันก็เป็นความรู้สึกที่พอจะเข้าใจได้อยู่

นอกจากนางแบบที่เป็นอวตารแล้ว ช่วงเวลาที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นหลายๆ แบรนด์แฟชั่นหันไปทดลองใช้เครื่องมือดิจิตอลใหม่ๆ ในการนำเสนอเสื้อผ้าของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้โซเชียลมีเดีย หรือแม้กระทั่งวิดีโอเกม อย่าง Animal Crossing ที่แบรนด์แฟชั่นเปิดให้คนนำแคแร็กเตอร์ในเกมของตัวเองมาลองเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่แบบเสมือนจริงได้ ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ลองกระโดดจากวงการที่ตัวเองคุ้นเคยเข้ามาสัมผัสกับแฟชั่นดูบ้าง

คาดการณ์ได้ไม่ยากว่าแบรนด์แฟชั่นก็น่าจะทดลองใช้วิดีโอเกมมาโปรโมตเสื้อผ้าของตัวเองบ่อยขึ้นหลังจากนี้ และน่าจะเป็นไปในรูปแบบที่ทันสมัยและแหวกแนวมากขึ้นกว่าเดิมเรื่อยๆ ด้วย

ส่วนในอนาคต นางแบบที่เป็นมนุษย์จะตกงานหรือเปล่า

นางแบบอวตารจะเข้ามาแย่งชิงตลาดส่วนนี้ไปครองจนหมดหรือไม่ ฉันก็คิดว่ามันคงไม่สุดโต่งขนาดนั้น

แต่ถ้าถามว่าแบรนด์แฟชั่นจะใช้บริการนางแบบดิจิตอลมากขึ้นหรือไม่ มันก็น่าจะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะดูคุ้มค่าในระยะยาว ยืดหยุ่น และทำได้อย่างรวดเร็ว

นายแบบนางแบบมนุษย์ต้องเตรียมรับมืออย่างไร น่าจะไม่มีสูตรตายตัวที่จะบอกได้ แต่ฉันว่าการเพิ่มทักษะให้หลากหลายด้านขึ้น พร้อมๆ กับมุ่งมั่นสร้างฐานผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียให้แข็งแกร่ง

ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับในวันที่ความเปลี่ยนแปลงมาถึง