รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่? (1)

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็น “รัฐบาลทักษิณเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือไม่?” ไปแล้ว

มาคราวนี้ ถึงตารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นเข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรือเปล่า?

ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าเข้าข่ายหรือไม่ จะขอย้ำถึงนิยามหรือกรอบความหมายของระบอบ “อำนาจนิยม” อีกครั้ง

กรอบที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เป็นเกณฑ์ระบอบอำนาจนิยมตามเกณฑ์อำนาจนิยมและอำนาจนิยมอำพราง (authoritarianism และ stealth authoritarianism) ของ Ozan O. Varol

เงื่อนไขสำคัญของระบอบอำนาจนิยมตามที่ Varol ได้วางไว้ นั่นคือ

รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็นต่างและความหลากหลายทางการเมือง (political pluralism) และรัฐบาลหรือพรรคที่ปกครองประเทศมักจะกระทำการอย่างมุ่งมั่นชัดเจนที่จะกดหรือบีบฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองไว้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดการเมืองที่อยู่ภายใต้รัฐบาลพรรคเดียว โดยใช้วิธีการต่างๆ ที่จะกดหรือปิดกั้นพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคอื่นๆ และการกระทำดังกล่าวนี้ของรัฐบาลในระบอบอำนาจนิยมมักจะเกิดขึ้นโดยอาศัยวิธีการผ่านช่องทางตามกฎหมายหรือเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ (extra-legal) และการใช้อำนาจนั้น แม้ว่าจะไม่ถึงขนาดตามอำเภอใจคาดการณ์ไม่ได้เหมือนอย่างในระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แต่ก็มักจะไม่มีบรรทัดฐานที่ชัดเจน (ill-defined norms) แต่กระนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่พอคาดการณ์ได้

ตามคำอธิบายของ Juan J. Linz ใน Totalitarian and Authoritarian Regimes หน้า 162 ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian) กับระบอบอำนาจนิยม (authoritarian)

โดยระบอบเบ็ดเสร็จขับเคลื่อนด้วยอุดมการณ์ (ideology)

ในขณะที่ระบอบอำนาจนิยมขับเคลื่อนโดยทัศนคติหรือวิธีคิด (mentality)

และ Zargorka Golubovic ได้ขยายความความหมายของ “authoritarian mentality” ไว้ใน “Traditionalism and Authoritarianism as Obstacles to the Development of Civil Society in Serbia,” in Civil Society in Southeast Europe หน้า 92 ว่า ทัศนคติหรือวิธีคิดแบบอำนาจนิยม (authoritarian mentality) ปรากฏหรือแสดงออกในลักษณะของการยอมรับและเชื่อฟังอำนาจโดยไม่พินิจพิเคราะห์ (uncritical)

การเชื่อฟังอำนาจที่ว่านี้ เริ่มต้นจากการเชื่อฟังอำนาจของผู้นำพรรคและพรรคของรัฐ ต่อมาคือการยอมรับและเชื่อฟังอย่างผู้นำรัฐและรัฐชาติอย่างไม่พินิจพิเคราะห์

 

ก่อนอื่นต้องเริ่มจากที่มาของหรือการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการเลือกทั่วไป พ.ศ.2554 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ยิ่งลักษณ์เป็นน้องสาวคุณทักษิณ และไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองใดๆ มาก่อน และไม่เคยมีชื่อเสียงในด้านการบริหารหรือประสบความสำเร็จในด้านใดๆ จนเป็นที่รับรู้ของผู้คนในสังคม เทียบชั้นไม่ได้กับประสบการณ์ทางการเมืองของ คุณสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนคนแรก (ไทยรักไทยเดิม) ที่คร่ำหวอดรวมทั้งมีกระแสความนิยมของประชาชนรองรับมาก่อนแล้วอย่างสูง

คุณสมัครเคยได้รับเลือกตั้งและได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในช่วงระหว่าง 15 กุมภาพันธ์-13 มีนาคม 2518

และได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

อีกทั้งยังสามารถนำพรรคประชากรไทยชนะเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครอย่างถล่มทลายในปี พ.ศ.2522

และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ระหว่าง 30 เมษายน พ.ศ.2526-5 สิงหาคม พ.ศ.2528

และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ระหว่าง 9 ธันวาคม พ.ศ.2533-23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ระหว่าง 7 เมษายน พ.ศ.2535-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535

เป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ระหว่าง 13 กรกฎาคม พ.ศ.2538-24 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 และเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ระหว่าง 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2539-8 พฤศจิกายน พ.ศ.2540

และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2543-2547) ด้วยคะแนนเสียง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนเสียงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจนถึงขณะนั้น

 

ถ้าพิจารณาจากประสบการณ์ทางการเมืองของคุณสมัครจะพบว่า คุณสมัครเป็นรัฐมนตรีหลายยุคหลายสมัยและภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและจากรัฐประหาร อันแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ความสามารถทางการเมืองที่ทำให้เขาได้เป็นรัฐมนตรีในทุกเงื่อนไขทางการเมือง แต่กระนั้น คุณสมัครก็ยังเอาไม่อยู่!

ที่ว่าเอาไม่อยู่ ก็คือ คุณสมัครกลับไม่ได้รับการลงคะแนนจาก ส.ส.พลังประชาชนในสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ถูกลงโทษให้ออกจากตำแหน่ง แต่สามารถกลับมาอีกได้ หากได้รับเสียงไว้วางใจในสภา

เหตุผลคือ คุณสมัครและพวกอีกสามคนคือ คุณธีรพล นพรัมภา นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ คุณเนวิน ชิดชอบ ที่ต่อมาได้รับฉายาจากสื่อว่าเป็น “แก๊งออฟโฟร์” คนทั้งสี่นี้พยายามที่จะควบคุมพรรคพลังประชาชน โดย “อ้างว่าเป็นการรวมตัวเพื่อสร้างฐานอำนาจใหม่ให้กับพรรคพลังประชาชน ในยามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เจ้าของพรรคพลังประชาชนตัวจริงที่ต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

แต่การกระทำของแก๊งออฟโฟร์ กลับสร้างความไม่ไว้วางใจให้กับพลพรรคพลังประชาชน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไม่น้อย” (ดู ฤกษ์ ศุภศิริ, ประวัติย่อการเมืองไทยในรอบทศวรรษ : จากทักษิโณมิกส์ถึงพฤษภาจลาจล, อ้างแล้ว, หน้า 247)

เพื่อมิให้พรรคของตนเองถูกแย่งชิงหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบุคคลอื่นที่พยายามจะเป็นอิสระจากตน คุณทักษิณจึงส่งสัญญาณไม่สนับสนุนคุณสมัครให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นการสลายขั้วอำนาจใหม่ภายในพรรคด้วย

คุณทักษิณจึงผลักดันให้คนที่ตนสามารถไว้วางใจและแน่ใจว่าจะไม่พยายามจะเป็นอิสระจากตน คุณทักษิณจึงเลือกให้ “คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ สามีของ คุณเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นน้องสาวแท้ๆ ของตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนคุณสมัคร เพราะง่ายต่อการควบคุมสั่งการ”

ส่งผลให้นายสมชายน้องเขยคุณทักษิณได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551

แต่ต่อมาคุณสมชายถูกตัดสินลงโทษหมดสิทธิ์ทางการเมือง ทำให้คุณทักษิณไม่มีตัวเลือกที่จะไว้วางใจได้ หากเลือกคนนอกครอบครัวอย่างคุณสมัครก็อาจจะเจอปัญหาเดิม

นั่นคือ ยามเมื่อคนนอกครอบครัวและมีประสบการณ์ทางการเมืองได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาหรือเธอก็อยากจะเป็นอิสระและทำงานให้ประเทศชาติบ้าง มากกว่าจะเป็นเพียงหุ่นเชิด สั่งหันซ้ายหันขวาได้ ทำงานให้คุณทักษิณเท่านั้น แต่หากทำงานให้ประเทศชาติได้ดี มันก็จะสะเทือนต่ออนาคตทางการเมืองของคุณทักษิณ เพราะนั่นหมายความว่า ไม่มีคุณทักษิณ พรรคการเมืองและ ส.ส. ก็สามารถทำงานให้ประเทศชาติได้

แต่คุณทักษิณไม่มองไกลๆ ไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำหรือรัฐบุรุษได้ จึงไม่ยอมให้ ส.ส. ในสังกัดลงคะแนนให้คุณสมัคร แต่ไปลงให้คุณสมชายน้องเขยแทน

 

เมื่อหมดสต๊อก หาใครไม่ได้ ลูกก็ยังไม่โตพอ จึงหันไปใช้น้องสาวแสนสวยผู้ใสซื่อและรักพี่ที่สุดในโลก ส่งผลให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือ “นอมินียิ่งลักษณ์” ได้รับเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยประสบการณ์การเข้าสู่สนามการรณรงค์หาเสียงประกาศตัวจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากพรรคเพื่อไทยได้ชัยชนะเพียง 40 วันเท่านั้น

นอกจากปรากฏการณ์ระบบ “นอมินี” ที่คุณทักษิณได้สร้างขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ.2550 ในกรณีของคุณสมัครและการให้ คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยเข้าดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนในเดือนกันยายน พ.ศ.2551 และได้รับการลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2554 นอกจากคุณยิ่งลักษณ์จะเป็น “นอมินี” แล้ว ปรากฏการณ์ที่ผิดปรกติไปจากธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคการเมืองทั่วไปในโลกก็คือ คุณยิ่งลักษณ์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่หลังได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง กลับได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเสนอชื่อ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ผู้เป็นหัวหน้าพรรค

แล้วประชาชนที่เลือกคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย เลือกเพราะคุณยิ่งลักษณ์หรือเพราะคุณทักษิณ อีกทั้งสโลแกนยังติดไปทั่วเขียนว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ”

เริ่มต้นก็จำแลงแปลกประหลาดพิสดารขนาดนี้แล้ว คงต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์เข้าข่ายระบอบอำนาจนิยมหรืออำนาจนิยมอำพรางหรือเปล่า?