จัตวา กลิ่นสุนทร : ถวัลย์ ดัชนี กมล ทัศนาญชลี ไมตรี ลิมปิชาติ

วันที่โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เศรษฐกิจบาดเจ็บ ผู้คนทุกข์ยากหิวโหยล้มตาย จนกระทั่งการดำรงชีวิตต้องเปลี่ยนไปสู่ในแนวทางใหม่ ทุกสิ่งอย่างได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน

ในส่วนของวงการศิลปะไม่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ การนำอาหารสมองสู่สาธารณะต้องเปลี่ยนไปด้วยแม้ศิลปินต้องกักเก็บตัวเองอยู่แต่บ้าน ซึ่งนำไปสู่การได้ใช้เวลาสำหรับการค้นคว้าเพื่อสร้างงานศิลปะ แต่ดูเหมือนว่าการปล่อยผลงานสู่สังคมได้เสพ และสร้างความรู้สึกของประชาชนกลับต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป

ทุกวงการใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การสื่อสารช่องทางโซเชียลให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการแสดงงานศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะร่วมสมัยบางทีไม่จำเป็นต้องเดินทางสู่สถานแสดงภาพเขียน และผลงานศิลปะรูปแบบอื่นๆ

จะหยุดพักเรื่องการเมืองที่ยังคงไร้ทางออกสักครู่ แต่กลับนึกขึ้นได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนคนรุ่นใหม่ปัจจุบันใช้การนัดหมายผ่านโซเชียลด้วยความรวดเร็วฉับไว

และการชุมนุมนอกจากจะมีเนื้อหาชวนติดตาม สัญลักษณ์ต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้อย่างลึกซึ้งชาญฉลาด กระทั่งคนรุ่นเก่าแทบจับต้นชนปลายไม่ถูก คิดตามไม่ทัน

ไม่เคยปฏิเสธความจริงว่าได้เดินทางเข้าสู่กลุ่มคนสูงวัย หากแต่ยังคงมีความคิดความอ่านร่วมสมัยกันกับคนรุ่นใหม่อย่างกลุ่มคณะ “ราษฎร 2563” และชื่นชอบวิธีการนำเสนอเรื่องราวในการชุมนุม รวมทั้งความงดงามของเป็ดที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ และสีสันเจิดจ้ากระจายไปทั่วโลกโดยการเผยแพร่ของสื่อทันสมัยอย่างฉับพลันเพียงแค่กะพริบตา

แต่คนจำนวนมากในบ้านเราที่ยังงมงายไม่ยอมเปิดใจยอมรับกับเหตุผลความจริง และการเปลี่ยนแปลงที่ยังมองเป็นสิ่งตรงกันข้าม

 

ครั้งนี้ขอแวะพักพูดคุยเขียนถึงคนทำงานศิลปะรุ่นสูงวัยที่ยังไม่เคยหมดไฟ ความรู้สึกไม่เคยมอดไหม้มืดบอด แต่ต้องเว้นวรรคการทำงานลงบ้างเพราะการระบาดของไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่ไหลทะลวงไปทั่วโลกโดยไม่เลือกชาติพันธุ์

โดยยังคิดถึง “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2540) ติดตามมาถึงผู้ล่วงลับ ท่าน (พี่) “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ.2544) ชาวเชียงราย ที่นับได้ว่าเป็นศิลปินระดับโลกที่ไม่เคยตาย

ย้อนเรื่องราวของ “ไมตรี ลิมปิชาติ” คนเขียนหนังสือที่ได้หันเหสู่แวดวงคนวาดรูป เขียนรูป หรือสร้างงานศิลปะด้วยใจรักอย่างสนุกสนาน มุ่งมั่นในการแสดงออกด้วยความกล้าหาญ ขณะเดียวกันยังไม่เคยย่อท้อที่จะจัดนิทรรศการศิลปะอย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่เป็นเรื่องค่อนข้างยุ่งยากเหน็ดเหนื่อยยิ่ง

กว่าทศวรรษเขาได้จัดนิทรรศการผลงานด้านจิตรกรรมขึ้นรวมกันได้ถึง 8 ครั้ง ต้องบอกว่าคงต้องทำงานอย่างไม่หยุดยั้งทีเดียว

ครั้งสุดท้ายที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปสักประมาณ 1 สัปดาห์ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏว่าผลงานของเขาได้มีผู้ซื้อหาจับจองไปกว่า 30 ภาพจากจำนวนงาน 100 ภาพที่นำไปติดตั้งแสดง

เขาเคยเปิดนิทรรศการแบบแสดงเดี่ยว ณ หอศิลป์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กรุงเทพฯ (เพาะช่าง), มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ และที่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ดังกล่าวถึง 3 ครั้ง

เดิมทีค่อนข้างแปลกใจพอสมควรกับเส้นทางเดินเนื่องจากแรกได้รู้จักเขาในนามของคนเขียนหนังสือ เขียนเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ทั่วไปทั้งนิตยสารชาวกรุง รายเดือน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฟ้าเมืองไทย และ ฯลฯ โดยมีงานหลักเป็นประชาสัมพันธ์ของการประปานครหลวง

ไมตรีเป็นคนเฟรนด์ลี่ มีอัธยาศัยไมตรีตามชื่อ ยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักคนในแวดวงสื่อ และทั่วๆ ไปจำนวนมาก

 

เราเคยได้รับเชิญจากกองทัพภาคที่ 3 พร้อมกับสื่อในค่ายต่างๆ เพื่อเดินทางไปดูงานด้านการพัฒนาเพื่อพี่น้องประชาชนในเขตจังหวัดน่านซึ่งยังมีการเผยแพร่เรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์คราวเดียวกันนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักเขา เพราะบังเอิญถูกจัดให้พักห้องเดียวกัน

ครั้งนั้นมือการ์ตูนระดับปรมาจารย์ของประเทศนี้ (ท่าน) ประยูร จรรยาวงษ์ (ถึงแก่กรรม) ร่วมคณะไปด้วย จึงไม่จำเป็นต้องบอกว่าเป็นเวลานานสักแค่ไหน เพราะบรรดานายทหารระดับสูงหลายท่านที่เป็นผู้ดำเนินงานการประชาสัมพันธ์กองทัพ นักวิชาการ อาจารย์อีกบางท่านที่เคยร่วมคณะเดินทางได้เสียชีวิตไปแล้วหลายท่าน

แรกทีเดียวแปลกใจว่าทำไมจึงสนใจรักใคร่งานศิลปะนักหนา

เขาบอกว่าเคยสอบได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเพาะช่าง แต่บังเอิญบิดาไม่ให้เรียนเนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกไปเป็นครูวาดเขียน จึงไปเรียนที่ช่างก่อสร้างอุเทนถวาย และต่อวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ

ก่อนไปสำเร็จปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

ไมตรี ลิมปิชาติ เดินทางไปสหรัฐอเมริการาวปี พ.ศ.2548-2549 ได้พักที่บ้านของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินสองซีกโลก+ศิลปินแห่งชาติ (จิตรกรรม+สื่อผสม) ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่คนไทยว่าบ้านของเขาที่นครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (Los Angeles, California USA.) ยินดีเปิดให้การต้อนรับเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ได้เกี่ยวข้องผูกพันกัน

สำหรับผู้เดินทางในแวดวงสังคมของศิลปะ+ศิลปินทุกสาขา กมลจะดำเนินการติดต่อหอศิลป์ (Art Museum) สถานที่แสวงหาความรู้ที่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องศิลปะร่วมสมัย

พาไปพบปะสนทนากับศิลปินชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง

เวลาเดียวกันเขาจะขับรถด้วยตัวเองพาเดินทางไปเปิดหูเปิดตาอีกหลายมลรัฐ หลายเมืองของสหรัฐ อย่างเช่น ลาสเวกัส (Las Vegas), เนวาดา (Nevada), แอริโซนา (Arizona) และ ฯลฯ

แต่ที่กล่าวมานั้น ทุกวันนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเนื่องจากศิลปินแห่งชาติท่านนี้ได้สูงวัยขึ้น

ไมตรีเล่าให้ฟังว่า ระหว่างเดินทางไปยังเมืองต่างๆ พบภูมิประเทศสวยงาม กมลจะเอาสมุดและอุปกรณ์เขียนสีน้ำออกมาเขียน โดยเป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนเขียนสีน้ำรวดเร็วอย่างยอดเยี่ยม

การเดินทางท่องเที่ยว ทัศนศึกษายังสหรัฐครั้งนั้นได้พูดจาอธิบายสอดแทรกความรู้ทำให้ไมตรีซึ่งสนใจงานศิลปะอยู่แล้วได้รับแรงบันดาลใจเพิ่มมากขึ้น

เขาจึงไม่ลังเลโดดลงสู่สนามสร้างงานศิลปะหลังจากผ่านพ้นหน้าที่จากงานประจำ

กมล ทัศนาญชลี ขณะนี้ยังต้องพำนักอยู่ที่สหรัฐหลังเดินทางจากเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.2562 เพื่อเตรียมรับยุวศิลปิน ครูศิลป์จากโครงการของกระทรวงวัฒนธรรม

แต่ทุกอย่างต้องหยุดเว้นวรรครวมทั้งเม็ดเงินงบประมาณด้วยเพราะเกิดโรคระบาดดังกล่าวจนทำให้ทุกสิ่งอย่างเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่เขากลับสร้างงานศิลปะมากมายในสหรัฐอเมริการะหว่างไวรัสโคโรนา (Covid-19) ระบาด

และเมื่อได้ออกจากบ้าน เขาจึงออกนอกเมืองไปพักผ่อนดูใบไม้เปลี่ยนสีตามฤดูกาลอันสวยงามบนภูเขาสูง 8-9 พันฟุต พร้อมกับเขียนสีน้ำภาพวิวทิวทัศน์ไปด้วย

 

ไมตรี ลิมปิชาติ ทำงานประจำอยู่แห่งเดียวกับสุเทพ สังข์เพ็ชร เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเพาะช่างของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี เขาจึงได้รู้จักรับรู้เกิดความศรัทธาศิลปินระดับโลก

ขณะเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ได้ไปขอผลงานท่าน (พี่) ถวัลย์เพื่อนำไปประมูลหาเงินเข้าสมาคมได้หลายแสนบาท รวมทั้งได้เขียนหนังสือ/สารคดีประวัติชีวิต และผลงานของนักจิตรกรรมสากล “มนุษย์ต่างดาว ถวัลย์ ดัชนี” (Thawan Duchanee, The Alien.)

เคยกังวลอยู่บ้างเหมือนกันกับการสืบทอดอาณาจักรศิลปะ “บ้านดำ เชียงราย” มรดกทางปัญญาบนพื้นที่กว่าร้อยไร่ของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี

แต่ถึงวันนี้ต้องบอกว่าค่อนข้างเบาใจในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ทายาทคนเดียวของท่าน

 

ขณะนี้ พิพิธภัณฑ์บ้านดำได้ร่วมมือกับ Fulldome .Pro สุดยอดผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลก และไอคอนสยาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพฯ จัดงาน “Immersive Art of Thawan Duchanee” นำเอาผลงานชิ้นมาสเตอร์พีซของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี มาเสนอใหม่แบบล้ำโลก ในรูปแบบ Immersive Art โดยผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลสุดล้ำ นับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย

งานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 ธันวาคม 2563-9 มกราคม 2564 ณ ไอคอนสยาม ธาราฮอลล์ ชั้น M (เข้าชมฟรี) และไอคอนสยามพาร์ค ชั้น 2 (บัตรราคา 350 บาทพร้อมรับของที่ระลึกมูลค่า 450 บาท) จองบัตรเข้าชม และสำรองที่นั่งดินเนอร์มื้อพิเศษทุกวันเสาร์ (ราคา 6,900 บาท/โดยฝีมือเชฟระดับฝีมือจากโรงแรมชั้นนำ 4 แห่ง/หมุนเวียนกันมาปรุงอาหาร) ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ/Thawan Duchanee

ผลงานศิลปะของท่าน (พี่) ถวัลย์ ดัชนี (จักรพรรดิบนผืนผ้าใบ) จะได้ปรากฏในรูปแบบใหม่ ผสมผสาน VR Technology ที่เคลื่อนไหวเหมือนกับมีชีวิต