ในประเทศ / รอด ก็เหนื่อย ไม่รอด ก็เหนื่อย

ในประเทศ

 

รอด ก็เหนื่อย

ไม่รอด ก็เหนื่อย

 

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่ากระทำการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ด้วยการอยู่อาศัยในบ้านพักสวัสดิการทหารบก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

ซึ่งประธานสภาผู้แทนราษฎรยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ตามที่พรรคเพื่อไทยส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่งและมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่

ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร

รอด หรือไม่รอด

พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังคงต้อง “เหนื่อย” บนเส้นทางแห่งอำนาจต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ในกรณีที่ “เซอร์ไพรส์” คือไม่รอด

ย่อมนำมาสู่ความวุ่นวายทางการเมืองในอีกรูปแบบหนึ่ง

เพราะต้องมีการสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่

ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พรรคพลังประชาชารัฐ (พปชร.) คงไม่อาจเสนอรายชื่อนายกฯ ได้อีก เพราะเคยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปคนเดียว

โอกาสย่อมตกมาอยู่ที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งตอนนี้ก็เหลือนายชัยเกษม นิติสิริ คนเดียว ส่วนแคนดิเดตอีก 2 คน คือนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ได้ลาออกจากพรรคไปแล้ว

แต่โอกาสนายชัยเกษม นิติสิริ คงมีไม่มาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเดิม รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาและกองทัพคงไม่หันมาสนับสนุนฝ่ายค้านอย่างแน่นอน

ตอนนี้ทุกคนจึงมองไปที่พรรคภูมิใจไทยว่า “ส้ม” อาจจะหล่นลงที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคที่เสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ รวมทั้งว่ากันว่ามีคอนเน็กชั่นพิเศษ ที่อาจทำให้เกิดเซอร์ไพรส์ทางการเมืองได้

จึงไม่แปลกที่นายอนุทินจะถูกผู้สื่อข่าวกระเซ้าว่า หลังวันที่ 2 ธันวาคม จะให้เรียกว่านายกรัฐมนตรีได้แล้วหรือยัง

ซึ่งนายอนุทินหัวเราะอย่างเขินๆ ก่อนจะกล่าวตอบว่า “เป็นนายกสมาคมแห่งสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (พตส.) ก็ดีแล้ว”

เป็นการชิงปฏิเสธไว้ก่อน แต่ถามว่า หากโอกาสมาจะรับหรือไม่

แน่นอน นายอนุทินคงไม่ปฏิเสธ และพร้อมจะลุยไฟเผชิญกับม็อบคณะราษฎร

ที่คงยืนกรานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน

แต่นายอนุทินก็คงไม่ยอมในประเด็นปฏิรูปสถาบัน ซึ่งนั่นก็คงเป็นปมร้อนที่ต้องเผชิญต่อไป

กระนั้นก็คงไม่ทำให้ถอดใจไม่รับ “ส้มหล่น” อย่างแน่นอน

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์แม้จะวาง “ภาระ” บนบ่าลง แต่ก็คงจะต้องเหน็ดเหนื่อยกับการถูกชำระคดีที่อาจจะติดตามอีกหลายเรื่อง

 

แต่กระนั้น เหตุการณ์ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์หรือไปไกลอย่างที่ประเมินข้างต้น

เพราะที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ก็รอด ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 9 เสียง

ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคุณสมบัติสามารถพักอาศัยบ้านพักรับรองของกองทัพบก ด้วยยังเป็นนายกฯ และยังเคยเป็นอดีต ผบ.ทบ. ซึ่งถือเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ จึงสามารถพักอาศัยบ้านพักรับรองตามระเบียบของกองทัพบกได้

นอกจากนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกด้วย

ดังนั้น เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี “ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว” ตามที่ถูกร้อง

คำวินิจฉัยดังกล่าว แม้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์โล่งอก ที่ไม่พ้นจากตำแหน่ง

แต่เมื่อพิจารณาภาระที่ต้องแบกต่อไป

ก็ถือเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัสทีเดียว

 

เอาเฉพาะเรื่องคดีความทางการเมืองนี้

พล.อ.ประยุทธ์ก็คงถูกวิพากษ์ว่าช่างมีบุญ–ทำอะไรก็ไม่ผิด

โดยเฉพาะขึ้นศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง ก็ผ่านฉลุยทั้ง 2 ครั้ง

กรณีแรก ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

ทั้งนี้ เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลัง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 7 พรรคขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่

กรณีที่สอง พล.อ.ประยุทธ์ถูกฝ่ายค้านร้องปมถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ

ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ “ตีตก” โดยให้เหตุผลตอนหนึ่งว่า

“เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของ ครม. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์”

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่า “มีบุญ” รอดทุกข้อกล่าวหา

แต่ก็กลายเป็น “ปม” ให้มวลชนนอกสภาหยิบไปโจมตีอย่างหนักแน่นอน

 

โดยพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้ร้อง ก็ได้ปูทางด้วยการออกมาตีปี๊บล่วงหน้าว่า พล.อ.ประยุทธ์ผิดแน่

นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า นี่จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรมไทยจะได้พิสูจน์ตัวเองจากการพิจารณาผลการชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์

เช่นเดียวกับนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ย้ำว่า นอกจาก 5 ประเด็นที่ได้แสดงความเห็นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่น่าจะรอดพ้น

แต่ยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ

  1. พล.อ.ประยุทธ์มีการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 184(3) ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามรับผลประโยชน์จากหน่วยงานราชการ อีกประการหนึ่งคือ พล.อ.ประยุทธ์ฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องมีวุฒิภาวะและมาตรฐานสูงกว่าคนทั่วไป การที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ใช้น้ำ ใช้ไฟฟรี ไม่คำนึงกฎหมายบ้านเมือง ตนถือว่าขัดกับประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง
  2. กรณีที่อดีต ผบ.ทบ.กล่าวอ้างเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยให้นายกฯ เป็นข้ออ้างนั้น เป็นเพียงการคาดคะเน และ ผบ.ทบ.ขณะนั้นไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการรักษาความปลอดภัยให้กับนายกฯ โดยตรง และนายกฯ ก็ไม่ได้มีการร้องขอให้หน่วยงานของกองทัพบกมาดูแลรักษาความปลอดภัยให้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่มีสัญญาณบอกเหตุใดๆ ที่แสดงให้เห็นอันตรายที่จะเกิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ถึงขั้นที่ต้องหลบไปอยู่ในบ้านพักในค่ายทหาร

นายกฯ ในอดีตหลายคนต่างก็อยู่บ้านพักส่วนตัว หรือบ้านพักรับรองนายกฯ คือบ้านพิษณุโลก ทุกคน หากห่วงเรื่องความปลอดภัยก็สามารถส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลได้อยู่แล้ว

  1. คำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น หากคำวินิจฉัยชี้ว่าไม่สามารถอยู่ได้ ก็จะกระทบต่อรัฐมนตรีอีกคนที่อยู่บ้านหลวง ซึ่งขณะนี้พรรคกำลังตรวจสอบว่าสองรัฐมนตรียังอยู่บ้านหลวงหรือไม่

 

ไม่ต่างกับพรรคก้าวไกล

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดักคอว่า อยากให้องค์กรที่เกี่ยวเนื่องอย่างตุลาการเป็นหลักของบ้านเมืองได้ตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นใครหรือฝ่ายการเมืองใดก็ตาม ต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน

นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์กำลังจดจ้องถึงเหตุผลว่าจะเขียนออกมาอย่างไร เพราะสิ่งนี้จะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเหตุผลชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่ ตรงไปตรงมาหรือไม่

สอดคล้องกับนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้ำว่า สังคมกำลังจับตาสตอรี่นี้ว่าจะออกมาอย่างไร หลายคนให้ความเห็นว่ารอด และสถิติที่ผ่านๆ มาว่ารอดมาโดยตลอด ทั้งที่ตัวรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่าห้ามรับประโยชน์อื่นใด ซึ่งระเบียบของกองทัพที่มีการยกเว้นต่างๆ ไม่อาจเทียบเคียงได้กับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ด้าน น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นว่า หากประเทศไทยยังมีนิติรัฐและนิติธรรม พล.อ.ประยุทธ์ควรจะต้องพ้นจากตำแหน่ง แต่ไม่มั่นใจว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบบนิติรัฐ นิติธรรม

ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่พ้นจากตำแหน่งนายกฯ มีความเป็นไปได้สูงว่าความไม่พอใจของประชาชนจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ พล.อ.ประยุทธ์

แต่จะทำให้ประชาชนหมดศรัทธาในสถาบันอันเป็นหนึ่งในอำนาจหลักของประเทศด้วย

 

การหมดศรัทธาดังกล่าว ย่อมนำไปสู่สถานการณ์ดังที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ประเมิน

นั่นคือ สถานการณ์การเมืองในขณะนี้เดินมาถึงจุดที่นายกรัฐมนตรีและองคาพยพสืบทอดอำนาจถูกประชาชนขับไล่จนไม่เหลือภูมิคุ้มกันแล้ว

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 2 ธันวาคม ไม่ว่าคำวินิจฉัยจะออกมาแบบใด ปลายทางมีผลเหมือนกัน

คือ นายกฯ ต้องถอยออกจากตำแหน่งไป

“ไม่ว่าผลของคะแนนจะเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็อยู่ในตำแหน่งแบบไม่สง่างาม อาจขอลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดทางให้กับบุคคลอื่นที่มีความเหมาะสมกว่าเข้ามาแทน ขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นผลให้การชุมนุมประท้วงขับไล่นายกฯ สืบทอดอำนาจยุติลง จากนั้นจะตามมาด้วยกระบวนการหานายกฯ คนใหม่โดย ส.ส. ซึ่งวุฒิสมาชิกต้องไม่เข้ามาเกี่ยว เพื่อให้วิกฤตการณ์ของประเทศได้คลายตัวลง” พล.ท.ภราดรกล่าว

ซึ่งหากไม่ทำดังว่า ก็ย่อมจะนำไปสู่ความวุ่นวายต่อไป

 

ทั้งนี้เพราะเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม – united front of thammasat and demonstration ก็ได้โพสต์นัดชุมนุมทันทีในวันที่ 2 ธันวาคม

ดังที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แนวร่วมราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า

“ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้ประยุทธ์รอด เราจะไล่มัน”

อันบ่งชี้ว่า ถึง พล.อ.ประยุทธ์จะรอดจากศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงต้องเผชิญแรงกดดันจากม็อบอย่างแน่วแน่ต่อไป

และอย่างที่บอก “ภูมิคุ้มกัน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เหมือนเดิม

มีสภาพอ่อนเปลี้ยไปเรื่อยๆ

แต่ยังต้องแบกภาระหนักทั้งการปกป้องสถาบัน

การประคับประคองรัฐบาลที่เผชิญวิกฤตทางการเมืองและเศรษฐกิจ

   ต้องเหน็ดเหนื่อยอย่างแสนสาหัสในเส้นทางแห่งอำนาจต่อไป แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะเสียงแข็งไม่ออก-ไม่ถอดใจก็ตาม