นิ้วกลม | กว่าอินโดนีเซียจะเป็นดินแดนแห่งยูนิคอร์น

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

1เมื่อพูดชื่ออินโดนีเซียในยุคสมัยนี้ ความรับรู้ต่างไปจากสมัยผมเป็นเด็กมากมายนัก

ประเทศที่มีเกาะกระจัดกระจายมากที่สุดในโลกแห่งนี้ถูกพูดถึงในเชิง “โอกาส” ของธุรกิจ และมีภาพของการเป็น “ยูนิคอร์น” แห่งวงการสตาร์ตอัพ

ยูนิคอร์นคือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าพันล้านเหรียญหรือสามหมื่นล้านบาท ซึ่งในอาเซียนมีอยู่ทั้งหมด 10 บริษัท มาจากสิงคโปร์ 3 บริษัท มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามอีกอย่างละ 1

อีก 4 บริษัทที่เหลือมาจากอินโดนีเซีย

GDP ของอินโดนีเซียเติบโตกว่า 6 เท่าในรอบ 17 ปีมานี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 World Bank เคยคาดการณ์ว่า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นของอินโดนีเซียจะมีขนาดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองแค่จีน สหรัฐ และอินเดียเท่านั้น

อะไรที่ทำให้ประเทศที่แพ้ซีเกมส์เราบ่อยๆ เมื่อ 20-30 ปีก่อน กลายมาเป็น “ยูนิคอร์น” แบบวันนี้ได้ เส้นทางความเป็นมาใช่ว่าจะราบเรียบ หากกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวของการสังหาร กองทัพ รัฐประหาร กว่าฟ้าจะสางแล้วมีเสถียรภาพทางการเมือง

2อินโดนีเซียเป็นประเทศใหม่ที่พยายามประกาศเอกราชในปี ค.ศ.1945 แต่กว่าเนเธอร์แลนด์จะยินยอมทำข้อตกลงและถ่ายโอนอำนาจสู่สาธารณรัฐอินโดนีเซียก็เดือนธันวาคม ค.ศ.1949 โน่น

ด้วยความที่เป็นอดีตอาณานิคม ทำให้อินโดนีเซียเริ่มต้นด้วยการมีระบบเศรษฐกิจที่ด้อยพัฒนาอย่างมาก

แถมยังมีประชากรที่หลากหลายอย่างยิ่ง เพราะประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยเต็มไปหมด ทำให้มีภาษาถิ่นถึง 700 ภาษา จึงไม่มี “จิตสำนึกแห่งชาติ” เพื่อรวมใจไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

นอกจากนั้น ผู้นำทั้งหลายก็ยังมีวิสัยทัศน์ต่อประเทศที่แตกต่างกันคนละทิศละทาง

บางคนอยากให้เป็นรัฐอิสลาม บางคนอยากให้เป็นรัฐคอมมิวนิสต์

ชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชาวเกาะชวาบางส่วนก็ต้องการแยกตัวเองเป็นเอกราชสมบูรณ์ไปเลย จึงเกิดการกบฏหลายครั้ง กระทั่งกองทหารของสาธารณรัฐเข้าควบคุมในที่สุด

ทหารมองว่าตัวเองคือผู้กอบกู้การปฏิวัติ และเป็นผู้ปกป้องอัตลักษณ์ประจำชาติ

พวกเขาเรียกร้องให้มีกลุ่มสมาชิกสภาในจำนวนที่แน่นอนของตนเองในรัฐสภา

ปัญหาคือ ผู้นำกองทัพรีดไถเงินจากชาวอินโดนีเซียและธุรกิจต่างๆ และค่อยๆ ครอบงำระบบเศรษฐกิจ

สิ่งนี้คือรากลึกของการคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศนี้

ประธานาธิบดีคนแรกคือซูการ์โน ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมต่อต้านรัฐบาลอาณานิคมของดัตช์ จึงประณามลัทธิจักรวรรดินิยมและทุนนิยมดัตช์ว่าเป็นต้นตอความยากจน

เขาประกาศยึดทรัพย์สินของดัตช์มาเป็นของอินโดนีเซีย และยึดการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนใหญ่มาไว้ในการดูแลของกองทัพ พัฒนาเศรษฐกิจแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทำให้กองทัพ ข้าราชการ และตัวเขาเองได้ประโยชน์

ผลพวงจากนโยบายเหล่านี้คือการช่วยเหลือจากต่างประเทศที่ตกต่ำลง ซึ่งซูการ์โนไม่แคร์ เขาตอบโต้สหรัฐให้ “ไปลงนรกซะพร้อมกับความช่วยเหลือของแก”

ซูการ์โนเชื่อมั่นว่าตัวเขาเป็นคนเดียวที่มีความสามารถหยั่งรู้ความต้องการของชาวอินโดนีเซีย และเริ่มขยายเป้าหมายไปสู่เวทีโลก โดยต้องการให้อินโดนีเซียรับบทนำในกลุ่มประเทศโลกที่สามเพื่อต่อต้านลัทธิอาณานิคม

ต่อมาในปี 1963 เขาประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียตลอดชีพ

3จาเร็ด ไดมอนด์ เล่าถึงการแย่งชิงอำนาจของสามกลุ่มอำนาจในช่วงทศวรรษ 196 เอาไว้ในหนังสือ Upheaval ว่า ตอนนั้นมีกลุ่มอำนาจเข้มแข็งสามกลุ่มด้วยกัน

หนึ่ง คือกลุ่มซูการ์โนซึ่งเป็นผู้นำที่มีบารมีในฐานะบิดาแห่งเอกราชของประเทศ

สอง คือกองทัพซึ่งมีอำนาจทางการทหาร

และสาม คือพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI-Partai Komunis Indonesia) ซึ่งไม่มีอำนาจทางทหารแต่เป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งที่สุด

ซูการ์โนนั้นพึ่งพากองทัพเป็นพันธมิตรหลัก แต่ก็เป็นแนวร่วมกับ PKI เพื่อถ่วงดุลกองทัพด้วย ในตอนนั้นอินโดนีเซียก็เพิ่มความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนมากขึ้น และประกาศว่าอีกไม่นานจะสร้างระเบิดปรมาณูของตัวเองได้

ในปี 1965 PKI ต้องการแก้ปัญหาความอ่อนแอทางการทหารของตน จึงเสนอให้ติดอาวุธให้พวกชาวนาและกรรมกร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากซูการ์โน

ทำให้ฝ่ายกองทัพที่ระแวงคอมมิวนิสต์เริ่มคิดหาวิธีจัดการภัยคุกคามนี้

ในที่สุดก็เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้นในเดือนตุลาคม 1965 โดยทหารกองทัพบกซึ่งมีหัวเอียงซ้าย แต่การทำรัฐประหารครั้งนั้นผิดพลาดและล้มเหลว โดยมีผู้บัญชาการหน่วยยุทธศาสตร์กองกำลังสำรองกองทัพบกเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการกับผู้ก่อการในครั้งนั้น นั่นคือซูฮาร์โต

วันที่ 4 ตุลาคม 1965 ซูฮาร์โตเดินทางไปยัง “หลุมจระเข้” ทีมทหารพิเศษโยนร่างของบรรดานายพลที่ถูกลักพาตัวลงไป ต่อหน้าช่างภาพและกล้องโทรทัศน์ เมื่อร่างเริ่มเปื่อยจึงถูกดึงขึ้นจากบ่อ วันถัดมาบรรดาโลงศพของพวกนายพลถูกนำขึ้นรถที่ขับไปตามท้องถนนในกรุงจาการ์ตาที่มีประชาชนนับพันยืนดูข้างถนน

ความกลัวเริ่มถูกใช้ในการควบคุมประชาชน

ตั้งแต่ตอนนั้นกองทัพแทบยึดบทบาทการควบคุมสถานการณ์จากซูการ์โนไปแล้ว และกองทัพเริ่มพุ่งเป้าไปที่การกำจัดสมาชิกพรรค KPI (คอมมิวนิสต์) ทุกคน พันธมิตรทั้งหลาย รวมถึงคนในครอบครัวด้วย

การจากสังหารในช่วงเวลานี้ มีการประมาณการยอดของเหยื่อไว้สูงสุดถึง 2 ล้านคน โดยตัวเลขที่อ้างถึงอย่างแพร่หลายอยู่ที่ห้าแสนคน เหยื่อแต่ละคนถูกสังหารด้วยมีดพร้าหรืออาวุธด้วยมือ ไม่ก็การรัดคอ สิ่งที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซียในปี 1965-1966 นับเป็นการสังหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงทุกวันนี้

มีนาคม 1966 ซูการ์โนถูกกดดันให้ลงนามในจดหมายมอบอำนาจให้ซูฮาร์โต ซึ่งครองอำนาจต่อมาอีก 32 ปี

4ภายใต้การนำของซูฮาร์โต กองทัพอินโดนีเซียพัฒนาเป็นเสมือนรัฐคู่ขนานที่มีงบประมาณมากพอๆ กับงบฯ บริหารประเทศด้านอื่นๆ รวมกัน นายทหารได้ครองตำแหน่งกว่าครึ่งหนึ่งของนายกเทศมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ว่าราชการจังหวัด

นายทหารลงทุนทำธุรกิจ คอร์รัปชั่น กรรโชกทรัพย์กันอย่างกว้างขวาง

เมื่อสิ้นสุดยุคของซูฮาร์โต อินโดนีเซียได้ชื่อว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในโลก เรียกได้ว่าแทรกซึมอยู่ในแทบทุกมิติของชีวิต

และตัวเขาเองได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่คดโกงที่สุดในโลก

หลังจากครองอำนาจมาเป็นเวลา 32 ปี เป็นประธานาธิบดี 7 สมัย ระบบซูฮาร์โตก็ล่มสลายลงอย่างรวดเร็วโดยไม่คาดฝัน

จาเร็ด ไดมอนด์ ชี้ว่าเกิดจากหลายสาเหตุผสมกัน

หนึ่ง วิกฤตการเงินในเอเชียที่ลดค่าเงินอินโดนีเซียลงร้อยละ 80 ก่อให้เกิดการจลาจลมากมาย

สอง ตัวเขาในวัย 77 ปีได้สูญเสียทักษะทางการเมืองและการมองโลกตามสภาพความเป็นจริงไปแล้ว

สาม เขาอาจเสียกำลังใจจากการสูญเสียภรรยาซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยากและที่พึ่งทางใจ

และสี่ ประชาชนเริ่มทนไม่ไหวต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นที่สั่งสมความมั่งคั่งให้ครอบครัวของเขา

การประท้วงซูฮาร์โตเริ่มต้นจากบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว เฟอร์รี่ ฮาคิม อดีตผู้นำนักศึกษารายหนึ่งเล่าว่า “ตอนนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการอภิปรายถกเถียงเรื่องการเมืองกันในรั้วมหาวิทยาลัย เราต่างรู้สึกว่ามีคนของรัฐบาลคอยสอดส่องเราทุกที่”

แต่แล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ

หลังจากชุมนุมประท้วงยืดเยื้อหลายสัปดาห์ ซูฮาร์โตยอมลงจากอำนาจในปี 1998

อินโดนีเซียจัดการเลือกตั้งที่ค่อนข้างเสรีเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี มีผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสูงเป็นปรากฏการณ์ จากนั้นก็มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเลข GDP ปัจจุบันอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก

สังคมมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ระบบราชการโปร่งใสกว่าเดิม ความเคลื่อนไหวทางสังคมของพลเมืองก็เบ่งบาน มีการปฏิรูปภาษีที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ การตรวจสอบจากภาคประชาชนทำได้มากขึ้น

เมื่อการเมืองดีขึ้น อินโดนีเซียจึงสามารถสร้างความได้เปรียบจากตลาดที่ใหญ่มาก เพราะมีประชากรถึง 260 ล้านคน นับเป็นอันดับ 4 ของโลก

หนุ่ม-สาวชาวอินโดนีเซียเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟนมากกว่า 100 ล้านคน ตลาดเช่นนี้เองเป็นเนื้อดินที่ดีสำหรับสตาร์ตอัพระดับ “ยูนิคอร์น”

รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะมี “ยูนิคอร์น” ให้มากขึ้นไปอีก โดยมองอุตสาหกรรมที่น่าสนใจคือการศึกษาและสุขภาพ จึงอัดฉีดงบประมาณเข้าสู่ 2 ภาคธุรกิจนี้เพื่อสนับสนุนอย่างจริงจัง

หันมามองประเทศไทย มีคนตั้งคำถามกันมากว่า “ทำไมไทยแลนด์ของเราไม่มียูนิคอร์นกับเขาบ้าง”

พร้อมกับคำถามคู่กันว่า “ทำไมความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและความน่าลงทุนธุรกิจในไทยจึงตกต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน”

น่าสนใจว่า ถ้าระบอบซูฮาร์โตยังอยู่จนถึงวันนี้ อินโดนีเซียจะมีฝูงยูนิคอร์นแบบที่เป็นอยู่หรือเปล่า?