มุกดา สุวรรณชาติ : โหนกระแสขวาจัด… ทำลายคู่แข่งทางการเมือง

มุกดา สุวรรณชาติ

การคุกคามและโจมตี
เพื่อประโยชน์ทางการเมือง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังคงเป็นเกมยืดเยื้อ ยิ่งมีคนถ่วงเวลา ยิ่งนานความเกลียดชังกันจะมากขึ้น

ไม่เพียงแค่รัฐบาล ส.ว.ที่ค้านก็จะเป็นเป้าลำดับถัดไป แต่พวกที่หวังใช้งบประมาณ ก็ยิ่งมีโอกาส จึงปรากฏข่าวซื้อถุงมือครั้งละ 110,000 ล้าน

ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นเรื่องดี แต่ข่าวที่ปรากฏทางสื่อ หลายวันมานี้ ไม่ดี เพราะมีกลุ่มคนเที่ยวตามขับไล่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คณะก้าวหน้า ที่ไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ.ในจังหวัดทางภาคใต้

ปรากฏการณ์นี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่อาจจะขยายตัวออกไปได้ถ้าไม่สกัดตั้งแต่เริ่มต้น

เพราะนี่ไม่ใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตก็มีเรื่องแบบนี้ เริ่มต้นจากการใส่ร้ายป้ายสี และสุดท้ายก็โจมตีด้วยกำลัง เป็นวิธีทำงานของพวกขวาจัด หัวอนุรักษนิยม ที่กลัวการเปลี่ยนแปลงและพ่ายแพ้ทางการเมือง

การต่อสู้ทางการเมือง คือการช่วงชิงการสนับสนุนจากมวลชน แต่ในการเลือกตั้งก็มีความรุนแรงเกิดขึ้นได้ ถ้าพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งมิได้ปฏิบัติตามกรอบแห่งกฎหมาย

ทั้งยังมีตัวแปรพิเศษที่เป็นอำนาจแฝง ที่สามารถเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งได้ โดยจะใช้ผ่านกลไกอำนาจรัฐ

อยู่ที่ว่าจะใช้โดยใคร? เพื่อคนกลุ่มไหน? เป็นไปตามการเมืองแต่ละยุคสมัย

 

ตัวอย่างที่เลวในการเลือกตั้งปี 2519

ประเทศไทยก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ประมาณ 7 เดือน ยุคนั้นไม่มีการยุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง เขาทำลายพรรคการเมืองอย่างไร?

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อุดมการณ์สังคมนิยมกลายเป็นกระแสสูง และถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นความหวังครั้งใหม่ของประชาชนทั่วไป

ทำให้เกิดกลุ่มบุคคลมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นเพื่อต่อสู้ในแนวทางรัฐสภา

พวกเขาปรารถนาให้คนส่วนใหญ่ของแผ่นดินได้รับการปลดปล่อยจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนกลุ่มน้อย และเกิดความเท่าเทียมในสังคมผ่านอุดมการณ์สังคมนิยม

ในจำนวนนี้มีกลุ่มบุคคลจากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักวิชาการมหาวิทยาลัยและผู้นำนักศึกษาในยุคนั้น รวมทั้งผู้รักชาติรักประชาธิปไตยมารวมตัวกัน ก่อตั้งพรรคการเมืองอย่างถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ในชื่อ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

คำขวัญคือ “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

ในการเลือกตั้งครั้งแรก หลัง 14 ตุลาคม 2516 มีขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518 พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยได้ 15 ที่นั่ง เมื่อรวมกับ ส.ส.พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 ที่นั่ง และพรรคพลังใหม่อีก 12 ที่นั่ง รวมเป็น 37 ที่นั่ง

นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่แนวคิดสังคมนิยมได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ สร้างความหวาดหวั่นให้กลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างยิ่ง

พรรคการเมืองแนวสังคมนิยม เริ่มถูกข่มขู่คุกคาม และนับวันรุนแรงขึ้นตามลำดับ

แต่ในการเลือกตั้งปี 2519 ทั้ง 3 พรรคโดนโจมตีด้วยวิธีใส่ร้ายป้ายสีและด้วยกำลังอาวุธสงคราม

 

15 กุมภาพันธ์ ระเบิดพรรคพลังใหม่

ประมาณเที่ยงคืน ณ ที่ทำการพรรคพลังใหม่ ย่านถนนอโศก เจ้าหน้าที่พรรคบางส่วนยังทำงานอยู่ภายในอาคารเพราะเป็นช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทันใดเสียงระเบิดก็ดังสนั่นขึ้นสามครั้ง

ลูกแรกตกบนหลังคาพัง ลูกสองตกข้างรถปิกอัพ ประตูซ้ายพัง ลูกสามตกระเบิดใส่ตัวเอง ระเบิดถูกหัว

ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาล จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า ผู้ตายชื่อนายพิพัฒน์ เป็นนักเรียนช่างกลแห่งหนึ่ง มีบ้านพักอยู่ย่านดินแดง

ในตัวยังพบบัตรสมาชิกหน่วยจู่โจมและเคลื่อนที่เร็วของกลุ่มกระทิงแดง เลขที่บัตร 10146 ด้วย

ในที่เกิดเหตุยังพบนิ้วมือ ชิ้นส่วนอวัยวะซึ่งไม่ใช่ของนายพิพัฒน์ตกอยู่ (เพราะนิ้วมือนายพิพัฒน์ผู้ตายยังอยู่ครบสิบนิ้ว) จึงสอบถามไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ก็พบว่า เจ้าของนิ้วมือคือนายประจักษ์ อายุ 22 ปี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และยอมเปิดปากสารภาพว่าร่วมกับนายพิพัฒน์ปาระเบิดใส่ที่ทำการพรรคพลังใหม่จริง

พ.อ.สุตสาย หัสดิน ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญประจำกอง กอ.รมน. ให้สัมภาษณ์ว่าผู้ตายออกจากหน่วยกระทิงแดงไปนานแล้ว

คำถามที่คนทั่วไปสงสัยคือ คนหนึ่งตาย คนหนึ่งบาดเจ็บสาหัสจนต้องตัดแขน เขาออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างไร แสดงว่าต้องมีบุคคลอื่นอีกหนึ่งหรือสองคนช่วยขับรถพาหนีใช่หรือไม่? เขาเป็นใคร?

พวกนี้เป็นแค่เด็กอาชีวะ ใครเป็นคนใช้พวกเขามาทำงานแบบนี้

 

กุมภาพันธ์
ลอบสังหารสมาชิก และเลขาฯ
พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย

13 กุมภาพันธ์ พรรคสังคมนิยมฯ ได้แถลงข่าว เพื่อฟ้องร้องต่อประชาชนผ่านสื่อมวลชน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

อดีต ส.ส.พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นระดับบริหารคือนายไขแสง สุกใส รองประธานพรรค นายบุญเย็น วอทอง นายชิต เวชประสิทธิ์ กรรมการกลางพรรค และ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน เลขาธิการพรรค จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน 2519 นี้

แต่พรรคจะยังคงส่งสมาชิกลงแข่งขัน 140 คน อดีต ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปีกลายห้าคน จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งคือ

นายไขแสง สุกใส (นครพนม) นายอินสอน บัวเขียว (เชียงใหม่) นายประเสริฐ เลิศยโส (บุรีรัมย์) นายอุดร ทองน้อย (ยโสธร) นายประยงค์ มูลสาร (ยโสธร)

จากนั้น พ.อ.สมคิด ศรีสังคม หัวหน้าพรรค แถลงว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ได้ถูกลอบทำร้าย ลอบสังหาร รวมถึง 18 ราย

เช่น นายคำพอง พิลาสมบัติ และนายศรีศักดิ์ นพรัตน์ ผู้สมัครและเจ้าหน้าที่พรรค จังหวัดนครราชสีมา ถูกลอบยิง นายทองขัน ผู้นำครูจังหวัดศรีสะเกษถูกลอบยิง หนังประเคียง ระฆังทอง สมาชิกพรรคจังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกลอบยิงถึงสามครั้ง จนต้องตัดขาหนึ่งข้าง นายสมคิด สิงสง ผู้นำหมู่บ้านซับแดง ถูกลอบยิงบาดเจ็บ

พรรคการเมืองแนวสังคมนิยมทุกพรรคยังโดนกระหน่ำ จากการปล่อยข่าวทุกรูปแบบว่ารับเงินจากโซเวียตรัสเซียและจีน

ฝ่ายขวาชูคำขวัญว่า สังคมนิยมทุกชนิด คือคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

ขนาดแถลงข่าวดักไว้
และไม่ลงสมัคร
2 สัปดาห์ต่อมา ยังถูกลอบสังหาร

ดร.บุญสนองจบรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จบปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา เคยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยฮาวาย เป็นกรรมการสมาคมสังคมวิทยาแห่งโลก

ล่าสุดกลับมาเป็นอาจารย์สอนจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ มีความเชื่อมั่นในแนวทางประชาธิปไตย ว่าสามารถสร้างระบอบสังคมนิยมขึ้นได้ จึงมาร่วมสร้างพรรคสังคมนิยมฯ ขึ้น

เคยลงสมัครเลือกตั้งในเขตกรุงเทพฯ ปี 2518 และลงเลือกตั้งซ่อมที่เชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับเลือกทั้งสองครั้ง

เขาต้องเป็นคนออกหน้ารับภาระในหลายๆ เรื่อง แม้นายไขแสง สุกใส รองหัวหน้าพรรค ในฐานะรุ่นพี่ผู้มีประสบการณ์ เตือนให้ระมัดระวังก็ตาม แต่จะกลัวจนไม่กล้าทำอะไรก็คงไม่ได้เช่นกัน

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตี 1 ดร.บุญสนองกำลังขับรถกลับบ้านที่หมู่บ้านมงคลนิเวศน์ใกล้สี่แยกเกษตร ทันใดก็มีจักรยานยนต์ก็เร่งความเร็วพุ่งเข้าประกบข้างคนขับ คนซ้อนท้ายควักปืนยิงทันที ดร.บุญสนองเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาล

ดร.บุญสนอง ผู้เชื่อมั่นและยืนหยัดในทางสังคมนิยมจนวันสุดท้ายของชีวิต จากไปด้วยวัยเพียง 39 ปี ที่เหลือคือภรรยากับลูกน้อยวัย 7 ขวบ กับ 2 ขวบ

ปฏิกิริยาจากข่าวการสังหาร ดร.บุญสนอง เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

มีผู้เสนอให้หัวหน้าพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ถอนตัวจากการเลือกตั้ง แต่ พ.อ.สมคิด ศรีสังคม ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องต่อสู้ในแนวทางรัฐสภา แม้จะถูกสังหารเป็นรายต่อไปก็ยอม

การโจมตียังดำเนินต่อไป ผลการเลือกตั้ง 4 เมษายน 2519 ส.ส.ฝ่ายก้าวหน้า 3 พรรค เดิมมี 37 คน เหลือเพียง 6 คน

 

3 มีนาคม
โรงเรียนช่างกลพระรามหก
ถูกวางระเบิด

สภาพโรงเรียนช่างกลพระรามหกที่โดนวางระเบิดคืออาคารเรียนสี่ชั้นพังไปบางส่วน อาคารฝึกงานพังเสียหายเกือบทั้งหมด อาคารที่ใช้นอนที่เป็นไม้พังยับทั้งหลัง กลิ่นเหม็นไหม้ชวนขนลุกคลุ้งกระจายทั่วทั้งโรงเรียน เพราะมันมีกลิ่นเนื้อมนุษย์แทรกปนอยู่ด้วย

นักข่าวต้องหลับตาด้วยความสยดสยอง เมื่อเห็นเศษเลือดเนื้อ และมันสมองกระเด็นไปติดอยู่บนเพดานที่ไหม้ไม่หมด

อาจารย์สุวิทย์ วัดหนู คือผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เกือบสว่างแล้วเมื่อเขาตื่นขึ้นและเดินลงมาพบคนร้ายพอดี พวกมันเอาปืนจี้ให้เขาเดินเข้าไปในสวนหลังโรงเรียน แล้วตะคอกว่า

“พวกมึงรับเงิน KGB มาต้องสั่งสอน” แล้วมันก็เอาปืนตีศีรษะเขา ถีบลงคูน้ำในร่องสวน ก่อนจะกดระเบิดเสียงดังสนั่น พวกมันคงวางระเบิดไว้เรียบร้อยแล้วตอนที่สุวิทย์เดินลงมาเจอ มันจึงจี้บังคับให้เดินออกจากจุดที่วางระเบิดไว้ เกือบสามสิบเมตร

สุวิทย์โชคดีที่แค่ถูกปืนตีศีรษะ แต่มีผู้เคราะห์ร้ายคือเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บสาหัส 6 คน

ตามคำบอกเล่าของสุวิทย์ คนร้ายอายุประมาณ 30 ปี ผมเกรียน อีกคนเป็นวัยรุ่นผมยาว อายุราว 20 ปี ตำรวจพบหลักฐานของมืออาชีพคือปลอก TNT ถ่านไฟฉาย สายไฟ รถที่คนร้ายใช้หลบหนีเป็นรถเก๋งสีขาว

21 มีนาคม ขว้างระเบิดใส่ขบวนต่อต้านฐานทัพ นักเรียน นักศึกษา เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บจำนวนมาก

 

การใช้สื่อและม็อบรับจ้าง โจมตี
เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรง

ยุคนั้นสถานีวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม เป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหวของฝ่ายขวาจัด ขยายความขัดแย้งกับกลุ่มนักศึกษาให้ดุเดือดมากยิ่งขึ้น โดย พ.ท.อุทารได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ วิพากษ์วิจารณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ว่าบิดเบือนข่าว และชมหนังสือพิมพ์ที่มีลักษณะขวาจัด

กลายเป็นกระแสปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นอันตรายต่อทั้งประชาชนและรัฐบาล

เมื่อก่อนไม่มีสื่อแบบโซเชียลมีเดียมาเปิดโปงการโกหก มีแต่ทีวี วิทยุ ที่รัฐคุมได้

การปลุกระดมให้ข่าวลวงจนมีคนบ้าคลั่งจึงก่อให้เกิดความรุนแรงได้ เพราะจะมีคนโง่จำนวนหนึ่งที่ไม่รู้จักวิเคราะห์ และคลั่งไปกับความเชื่อของตัวเอง จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

สภาพปัจจุบันกลุ่มที่แสดงตัวเป็นขวาจัด คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญอยู่หน้าสภา พอเข้าใจได้ แต่พวกที่คอยขับไล่ผู้สมัครการเมืองท้องถิ่น อาจเป็นเพียงพวกสวมรอยรับจ้างมาโจมตีคู่แข่งทางการเมืองทำให้หาเสียงไม่ถนัด ตอนนี้คนกำลังจับตาดูกลุ่มที่เคยบริหาร อบจ.และมีเรื่องทุจริต ซึ่งถ้าหากอำนาจเปลี่ยนเป็นของคนใหม่อาจถูกขุดคุ้ยจนโดนคดีอาญา พวกนี้จึงต้องใช้ทุกวิถีทางที่จะเอาชนะเลือกตั้งครั้งนี้

การเลือกตั้งท้องถิ่นเดือนหน้าอาจมีพวกโหนกระแสขวาจัดเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง

แต่ว่าทุกท้องถิ่นต่างคนก็มีพวกพ้อง ญาติมิตร ถ้าใครทนไม่ได้ การปะทะก็อาจเกิดขึ้นได้

และอาจมีคนอ้างว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นทำให้แตกสามัคคี ทั้งๆ ที่เหตุเกิดเพราะพวกเล่นนอกกติกา…

กกต.ทำอะไรอยู่…ถ้าปล่อยไปอาจมีคนนำวิธีนี้ไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ