อนุช อาภาภิรม : “โควิด-19” ตัวเร่ง จีน vs สหรัฐฯ เผชิญหน้าหนักขึ้น?

Foreign Policy illustration

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (31)
โควิด-19 กับความขัดแย้งสหรัฐ-จีนที่หมิ่นเหม่

ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศสูงสุดในขณะนี้ สามารถส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคแปซิฟิก-อินเดีย ก่อให้เกิดสงครามตัวแทนและความไม่สงบขึ้นได้ในหลายแห่ง และจะเป็นไปอย่างซับซ้อน ต่างกับในสมัยสงครามเย็นครั้งแรกเป็นอันมาก โควิด-19 ดูยิ่งเร่งความขัดแย้งดังกล่าว

ความขัดแย้งสหรัฐ-จีน ขณะนี้บางคนเห็นว่าอยู่ในระดับสูงเทียบเท่ากับสงครามเย็นครั้งแรกและเป็นสงครามหลายด้านที่เรียกกันว่าสงครามพันทาง

ได้แก่

 

1)สงครามการค้า ซึ่งหลังจากสู้รบกันหลายเดือน สรุปไม่ได้ว่าประเทศใดจะชนะได้เด็ดขาด จนต้องมีการเจรจาทำข้อตกลงสงบศึกครั้งแรกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

แต่ก็เกิดโควิด-19 ระบาดหนักจนยากที่จะปฏิบัติได้อย่างเคร่งครัด ทางฝ่ายสหรัฐเองได้ประกาศว่าจะไม่มีการเจรจาเพื่อทำข้อตกลงการค้าในขั้นที่สอง

สงครามนี้ยังไม่ยุติ

2)สงครามเทคโนโลยี เป็นการขยายตัวของสงครามการค้า การปะทะหลักๆ อยู่ที่เทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย 5 จี มีบริษัทหัวเว่ยเป็นเป้าหลักที่สหรัฐต้องการบ่อนทำลาย

สงครามเทคโนโลยีได้ลามไปสู่แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักสหรัฐเรียกว่า “กลุ่มห้าตา”

จีนได้ตอบโต้อย่างไม่ลดละ ดำเนินแผนที่จะพึ่งตนเอง ก้าวขึ้นมาสู่การเป็นประเทศนำหน้าทางเทคโนโลยีขึ้นสูง

แนวรบด้านนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

 

3)สงครามการเงิน จีนต้องการลดบทบาทเงินดอลลาร์สหรัฐ และเสริมบทบาทเงินหยวนของตนในเวทีเศรษฐกิจ-การค้าโลก

สงครามนี้เป็นสงครามยืดเยื้อ สหรัฐครองความเหนือกว่า เป็นผู้ออกอาวุธเกือบจะเป็นฝ่ายเดียว โดยเฉพาะในการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งได้ผลระดับหนึ่ง และเป็นที่กลัวเกรงกันไม่น้อย

จีนตอบโต้ด้วยการค่อยๆ ขยายบทบาทเงินหยวนของตน สร้างระบบชำระเงินระหว่างประเทศของตน

สร้างตลาดการค้าล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์หลายตลาด เป็นต้น

ความเหนือกว่ายังคงอยู่ที่สหรัฐอย่างน้อยอีกระยะหนึ่ง

 

4)การแข่งขันอาวุธ เป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและเป็นอันตรายที่สุด เพราะอาวุธที่มีการพัฒนาไปแล้ว ก็มักนำมาใช้จนได้ในสมรภูมิใดสมรภูมิหนึ่ง การแข่งขันอาวุธสหรัฐ-จีน มีที่สำคัญได้แก่

(ก) ด้านงบประมาณ การจัดกำลังและยุทธศาสตร์ ในด้านนี้สหรัฐที่มีงบประมาณทางทหารสูงสุด มีกองทหารและฐานทัพตั้งประจำทั่วโลก ทั้งยังเป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่อยู่ในฐานะได้เปรียบ

แต่จีนได้ไล่กวดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ดูจากงบประมาณทางทหารที่สูงเกิน 1 แสนล้านดอลลาร์ เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐ

ในด้านยุทธศาสตร์ สหรัฐมีการปรับ ที่สำคัญคือจากที่เน้นสงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ไม่ได้ผลมาเกือบ 20 ปี มาเน้นการต่อสู้กับจีน-รัสเซีย ว่าเป็นคู่แข่งใหญ่

การปรับยุทธศาสตร์ของสหรัฐเช่นนี้ ทำให้โลกล่อแหลมต่อสงครามนิวเคลียร์ยิ่งขึ้น

(ข) การแข่งขันด้านขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง สามารถโจมตีเป้าหมายทั่วโลกได้เวลาอันสั้น และผ่านแนวป้องกันทางอากาศได้ ผู้ที่เอางานเอาการในการพัฒนาอาวุธด้านนี้ได้แก่ จีนและรัสเซีย ที่ไม่ได้มีฐานทัพกระจายทั่วโลกเหมือนสหรัฐ

ทางจีนนั้นให้น้ำหนักในการพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่ยิงจากอากาศเพื่อความรวดเร็วคล่องตัว ในการปฏิบัติการ สหรัฐได้หันมาพัฒนาอาวุธแนวนี้บ้าง ในเดือนกรกฎาคม 2020 มีข่าวว่าสหรัฐสามารถทดลองขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 17 เท่าได้สำเร็จ

(ค) ความเข้มแข็งของกองทัพเรือเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดมาก เพราะสหรัฐจะเป็นเจ้าโลกได้ต้องเป็นเจ้าสมุทร

และจีนหากไม่รักษาเส้นทางเดินเรือเพื่อการค้าในแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียไว้ได้ ก็จะตกอยู่ในมุมอับ พ่ายแพ้ได้ในเวลาไม่นานนักเนื่องจากการค้าโลกต้องผ่านมหาสมุทรอินเดียและช่องแคบมะละการาวร้อยละ 80

ฝ่ายสหรัฐมีนโยบายเพิ่มจำนวนเรือในกองทัพขึ้นอีก 355 ลำจากที่มีอยู่แล้ว 293 ลำ

ในนี้จะมีเรือผิวน้ำและใต้น้ำที่ไร้คนขับ และที่ขับเคลื่อนด้วยตนเองรวมทั้งเครื่องบิน

ขณะนี้ได้ทดลองเรือ “พรานทะเล” เป็นเรือโดรนขับเคลื่อนด้วยตัวเองยาว 40 เมตร เพื่อตรวจจับเรือใต้น้ำของศัตรูได้นานถึง 2 เดือนต่อปฏิบัติการหนึ่งครั้ง

สำหรับฝ่ายจีนได้สร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง และแปรเกาะปะการังในทะเลจีนใต้ให้เป็นฐานทัพหลายแห่ง จีนยังมีจุดได้เปรียบอีกข้อหนึ่งที่เป็นผู้ต่อเรือรายใหญ่ที่สุดของโลก

(ง) การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้สามารถใช้ได้ เช่น การทำลายล้างอย่างจำกัด อันตรายจากสารกัมมันตรังสีต่ำ โดยสหรัฐประกาศจะใช้เงินราว 1 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาอาวุธ เป็นการแข่งขันที่อันตรายยิ่ง

(จ) ปัญญาประดิษฐ์ทางทหาร และการบัญชาทหารทุกเหล่าทัพเป็นหนึ่งเดียวกัน การใช้โดรนไปจนถึงทหาร หุ่นยนต์ในการรบ ในการต่อสู้ด้านนี้ จีนมียุทธศาสตร์ใหญ่ที่จะทำให้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใช้ได้ทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจพลเรือนซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และใช้ผลจากการวิจัยและพัฒนาคุ้มค่า

แต่ก็เป็นจุดให้สหรัฐใช้โจมตีว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีขั้นสูงของจีนเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติอเมริกันและพันธมิตร

 

5)การสร้างพันธมิตรทางทหาร ในด้านนี้สหรัฐมีความได้เปรียบ สามารถสร้างพันธมิตรสี่ฝ่ายหรือกลุ่มคว็อต ที่ประกอบด้วย สหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

ความสำเร็จนี้ไม่ได้อยู่ที่สหรัฐผู้เป็นแม่งาน ที่สำคัญเกิดจากการเปลี่ยนท่าทีและยุทธศาสตร์ของอินเดียในสมัยนายกรัฐมนตรีโมดี ที่ต้องการเดินหน้าถ่วงดุลอำนาจจีนอย่างเต็มตัว

เหตุปัจจัยน่าจะเนื่องจากทั้งของเก่าและของใหม่ผสมกันคือ อินเดียรู้สึกว่าสินค้าอุตสาหกรรมจีนเข้ามาครอบงำเศรษฐกิจของตนมากเกินไป ปิดช่องการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ การเปิดความร่วมมือกับจีนในโครงการแถบและทาง รังแต่จะก่อหนี้แก่จีนจนไม่มีทางใช้ได้หมด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเก่าที่จีนสนับสนุนปากีสถาน ที่เป็นอริใหญ่ต่อเนื่อง

การที่จีนรุกเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดียที่อินเดียถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของตนได้แก่ ปากีสถาน พม่า บังกลาเทศ ศรีลังกา มัลดีฟส์ เป็นต้น

เพื่อเป็นการผูกมิตรและซื้อใจ มีข่าวในเดือนตุลาคม 2020 ว่าอินเดียได้ส่งมอบเรือดำน้ำที่ประจำการมานานกว่า 30 ปีให้แก่พม่าหนึ่งลำ

แต่ก่อนจะมอบให้ ได้ซ่อมยกเครื่องโดยอู่ในอินเดีย สามารถใช้งานได้อีก 10-15 ปี สามารถดำน้ำได้ลึก 300 เมตร

กองทัพเรือเมียนมาจะใช้เรือดำน้ำลำนี้ได้จนถึงทศวรรษที่ 2030 เป็นความฝันมานานของกองทัพเรือพม่า

วิเคราะห์กันว่ามีผลสะเทือนถึงไทยที่มีอาณาเขตทางน้ำซ้อนเหลื่อมกับของพม่า

(ดูรายงานข่าวของ Anjana Pasricha ชื่อ India gives submarine to Myanmar amid growing footprint of China in Indian Ocean countries ใน voanews.com 25/10/2020)

 

หลังจากโควิด-19 ระบาดมาได้เกือบปี เป็นที่เห็นกันทั่วไปว่า ฝ่ายบริหารของสหรัฐทำได้ไม่ดีเลย ภาพลักษณ์ของประเทศเสื่อมถอย

ความหวังที่จะเห็นเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว V ดับหายไป

หนี้สินของประเทศพุ่งสูงขณะที่ประเทศจีนทำได้ดีกว่ามาก เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว คาดกันว่าจีนจะเป็นประเทศใหญ่เพียงประเทศเดียวที่ยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นบวกในปี 2020

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหารุนแรงขั้นพื้นฐานในจีนหลายประการคือ

ก) การเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงของจีนได้สิ้นสุดลงหรือเป็นได้ยากมาก ขณะที่ก่อนหน้านี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็ได้ชะลอตัวลงแล้ว แสดงว่าการพัฒนาและการปฏิรูปแบบเดิมที่ทำได้ง่าย ไม่อาจทำต่อไปได้แล้ว

การเป็นผู้ส่งออกสินค้าอุตสหกรรมราคาถูกไปทั่วโลกต้องสู้กับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นมีอินเดียและเวียดนาม เป็นต้น เพราะว่าค่าแรงของคนงานจีนสูงขึ้นมาก แม้ว่าจีนมีความได้เปรียบที่มีแรงงานทักษะสูงกว่า มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ที่ดีกว่า แต่นั่นไม่ใช่สิ่งคงทน

ข) การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง ทำให้อำนาจทางเศรษฐกิจการค้าของจีนลดลงด้วย เดิมความใหญ่ของตลาดและอัตราการเติบโตที่รวดเร็วของจีน เป็นสิ่งยั่วยวนใจให้นักลงทุนทั่วโลกพากันมาลงทุนที่นี่ ยอมเสียเปรียบบางอย่าง เช่น การถ่ายโอนเทคโนโลยีโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว หลายชาติเกิดแนวคิดใหม่ ออสเตรเลียที่มีความตึงเครียดกับจีนในการเรียกร้องให้สอบสวนสาเหตุต้นตอของโควิด-19 ยังคงแสดงความไม่อ่อนข้อให้แก่จีน

นายเชน เอลเลียต ซีอีโอของเอเอ็นซี ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์ว่า ทางธนาคารได้เคลื่อนไหวชี้แจงแก่นักลงทุนและลูกค้าของตนว่า “เอเชียไม่ได้มีเพียงแค่จีน มีโอกาสทางธุรกิจที่แตกต่าง หลากหลายในญี่ปุ่น หรือเกาหลี สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และอินเดีย เราต้องการแนะนำให้บุคคลเหล่านี้ได้รู้จักกับโอกาสใหม่ๆ” และว่า นักลงทุนควรจะได้มียุทธศาสตร์ที่หลากหลายสำหรับเอเชีย (ดูรายงานข่าวของ Weizhen Tan ชื่อ “Asia isn”t just China” : CEO of Australia”s ANZ says more companies are looking beyond China as tensions flare ใน cnbc 29/10/2020)

ค) การต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของจีน จากการเป็นโรงงานรับจ้างทำของและการส่งออก เป็นการผลิตสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงและเพิ่มการบริโภคภายใน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีสูงเป็นพื้นที่ครอบงำของสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งจะไม่ปล่อยพื้นที่นี้ไปง่ายๆ โดยไม่ต่อสู้อย่างถึงที่สุด ในด้านเพิ่มการบริโภคภายใน ก็มีความจำกัด เพราะเป็นการเพิ่มหนี้สินในประเทศอย่างรวดเร็ว คล้ายญี่ปุ่นและสหรัฐ

ง) ปัญหาการนำของพรรคและรัฐบาลจีน โควิด-19 ก่อผลกระทบต่ออำนาจการนำของประเทศทั่วโลกในระดับต่างๆ

แม้ว่าพรรคและรัฐบาลจีนทำได้ดีโดยทั่วไป แต่ก็ถูกตำหนิในการจัดการตอนต้นที่หละหลวม จนเป็นเหตุให้เชื้อระบาดกระจาย

ข้อตำหนินี้ส่วนหนึ่งเกิดจากระบอบปกครองแบบรวบอำนาจของจีนซึ่งมีด้านที่เป็นจุดแข็งในนโยบายและการปฏิบัติที่เป็นเอกภาพ

แต่อีกแง่หนึ่งเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในทุกเรื่อง เนื่องจากประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครองน้อย เช่น ทุกปีมีบัณฑิตใหม่จบจากมหาวิทยาลัยในจีนกว่า 8 ล้านคน บัณฑิตเหล่านี้เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่เพิ่งเกิดใหม่ มีความคาดหวังสูง เข้าข้างตนเองและพูดมาก หากทางการจีนไม่ขยายตลาดแรงงานรองรับได้ทัน ก็จะต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ

จ) การใช้จ่ายเพื่อขยายกองทัพ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการสร้างกำปั้นใหญ่ คุ้มครองการลงทุนและผลประโยชน์ในต่างแดน คล้ายกับประเทศตะวันตกที่ปฏิบัติก่อนหน้านี้ การปฏิบัติดังกล่าวมีผลกระทบ คือ ทำให้กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหารขึ้นมามีบทบาทในนโยบายทางเศรษฐกิจการเมือง

จีนมีแนวโน้มใช้กำปั้นมากขึ้นซึ่งยิ่งก่อความหวาดระแวงแก่ประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก

ดังนั้น ในขณะที่ตอนนี้สหรัฐเหมือนถูกโดดเดี่ยว แต่หลังกรณีโควิด-19 จีนอาจจะพบตัวเองว่าไม่สามารถใช้ยิ้มการทูตผูกมิตรได้ง่ายเหมือนเดิม

ฉบับต่อไปกล่าวถึงโลกที่ร้าวฉานอ่อนแอและการยับยั้งสงครามกับไวรัส