หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘หลังเสือ’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - หนึ่งในสองชนิดของหมาป่าที่พบในประเทศไทย หมาไนมีอาชีพเดียวกับเสือ คือเป็นนักล่า พวกมันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘หลังเสือ’

ครั้งหนึ่ง ผมมีโอกาสได้สัมผัสตัวเสือโคร่ง ได้รู้ว่าแท้จริงแล้วเสือมีขนที่อ่อนนุ่มเพียงใด

ขณะวางมือบนหลังเสือลูบไป-มา แม้เสือจะลืมตา แต่ก็ยังสะลึมสะลือด้วยฤทธิ์ยาสลบ ผมนึกถึงประโยคที่พูดกันเสมอๆ

“เมื่อได้ขี่หลังเสือแล้ว ยากนักที่จะลงมาได้”

ด้วยทักษะและรูปร่างซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างสมบูรณ์ เพื่อการมีอาชีพนักล่าเช่นนี้ คงเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนว่า หากผู้ใดมีโอกาสขี่อยู่บนหลังเสือ การจะลงอาจเป็นไปได้ยาก และคงจะโดนเสือ “ตะปบ” แน่ๆ

แม้ว่าประโยคดังกล่าวเป็นเพียงคำเปรียบเปรย ผมก็เห็นด้วยอย่างไม่มีข้อสงสัย

และไม่เฉพาะเสือที่มีชีวิต สำหรับผม จักรยาน “เสือภูเขา” ก็อยู่ในข้อเปรียบเปรยนี้

 

หากการลงจากหลังเสือไม่ได้ เป็นคล้ายอาการติดอย่างขาดไม่ได้ ผมก็อยู่ในอาการนี้มานาน พูดง่ายๆ ว่า ผม “ติด” เจ้าเสือภูเขาอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

ว่าตามจริง ในรอบหนึ่งเดือน ผมจะมีโอกาสขี่มันไม่กี่วันเพราะเวลาส่วนใหญ่อยู่ในป่าก็ตาม

แต่ตอนอยู่บ้าน ผมจะไม่พลาดการนำเจ้าเสือคู่ใจออกไปโลดแล่น

ผมเหมือนกับเด็กต่างจังหวัดทุกคนนั่นแหละ คือคุ้นเคยกับจักรยานตั้งแต่ขายังยันไม่ถึงพื้น

เรื่องเล่าซึ่งได้ยินตั้งแต่เด็กๆ ที่ดูจะ “คลาสสิค” มากในหมู่ญาติๆ คือ สมัยที่พ่อเอาวัวเข้าไปเลี้ยงในดง

พวกน้าๆ ผู้ชายที่เป็นวัยรุ่น ใช้จักรยานขี่เข้าดงบ่อยๆ พวกเขาขี่ลงเนิน มีเสือโคร่งนอนขวางทาง คนหนึ่งเบรกไม่ทัน ชนเสือ จักรยานกระเด็นไปทาง คนไปทาง และเสือที่คงตกใจไม่น้อย วิ่งไปอีกทาง

เป็นเรื่องเล่ากันมาอย่างสนุก

มีลูกชายของป้า เป็นรุ่นพี่ผม เอาจริงกับจักรยานกระทั่งติดทีมชาติได้ไปแข่งโอลิมปิกในประเภททางไกล

 

ส่วนผมเคยมีความฝันอยากขี่จักรยานไปเรียนต่างประเทศ หนังสือเรื่องราวการขี่จักรยานไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ของอาจารย์สุเมธ แก้วทิพยเนตร สร้างแรงบันดาลใจ

ผมเตรียมตัวอย่างจริงจัง ฝึกซ้อมขี่อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ล้มเลิกไป

จำได้ว่า ความฝันตอนเด็กคล้ายจะมีมากมาย

แต่ดูเหมือนจะไม่มีสักฝันที่เป็นจริง

 

ราว 3 โมงเย็น ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นเช่นไร ผมเริ่มกระสับกระส่าย มีงานต้องรีบเร่งส่งอย่างไร ผมจะวางมือ ลุกขึ้นจากโต๊ะทำงาน ออกไปขี่จักรยาน

นอกจาก “ติด” เพราะการขี่จักรยาน นับได้ว่าเป็นการออกกำลังที่ “มัน” การได้พาจักรยานขึ้นทางชันๆ สำเร็จคือความภูมิใจส่วนตัว และเมื่อได้ปล่อยหรือดาวน์ฮิลล์ ลงมาเร็ว คล้ายเป็นรางวัล

ผมพบว่า ขณะขี่จักรยานไม่เพียงกายที่ได้สัมผัสกับสภาพรอบๆ

“ใจ” ย่อมสัมผัสด้วยเช่นกัน

 

เริ่มจากบ้าน เป็นทางเรียบๆ มาสัก 5 กิโลเมตร ผมเปลี่ยนมาใช้เกียร์เบาที่สุดเพื่อไต่ขึ้นเขาเตี้ยๆ เป็นเส้นทางลำลอง คล้ายทางด่านในป่า ภูเขานี้คนเรียกว่าเขาน้อย เรื่องเล่าตอนผมเด็กๆ คือ บนเขานี้ “ผีดุ” เคยมีคนผูกคอตาย

จากข้างบน ผมสามารถมองเห็นเมืองปากช่องได้ในมุมมองพาโนรามา เห็นความเป็นเมือง ซึ่งล้อมรอบด้วยภูเขาชัดเจน

ลงจากเขา ถ้าเป็นช่วงหลายปีก่อน ผมจะพบชายสูงอายุคนหนึ่งในวัยร่วม 80 เขาคือลุงบำรุง เทเพนทร์ ชาวไร่รุ่นแรกๆ ที่มาจากเมืองกรุง มุ่งหน้ามาปักหลักพลิกฟื้นแผ่นดินให้เป็นสวนองุ่น

ลุงบำรุงเป็นชาวไร่รุ่นๆ เดียวกับพ่อ จากเมืองกรุงมาเหมือนกัน

พวกเขาสอนผมให้รู้ว่า ลงมือทำ “ความฝัน” จึงเป็นจริงได้

ตอนนั้น ลุงบำรุงจะขี่จักรยานวันละ 40 กิโลเมตร

เราจะขี่ไปด้วยกันสักพัก ก่อนผมจะแยกไปตามเส้นทางเล็กๆ ที่มุ่งสู่ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม

ถึงวันนี้ ในวัยกว่า 90 ปี ลุงบำรุงหยุดขี่จักรยานไปนานแล้ว ทุกครั้งที่พบกัน ประโยคหนึ่งที่ลุงบำรุงจะพูดคือ

“คิดถึงพ่อเขานะ”

 

เส้นทางเล็กๆ ผ่านเข้าไปในทุ่งหญ้า ทางขวามือ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สายลมพัดสดชื่น ทุ่งหญ้ามีเนื้อที่หลายพันไร่ เป็นพื้นที่ของกองบำรุงพันธุ์สัตว์

ในสมัยเด็ก คนเรียกแถวๆ นี้ว่าป่าโคก เป็นคล้ายๆ ตลาด หรือแหล่งหากิน คนเข้ามาหาของป่าอย่างเห็ด รวมทั้งล่าสัตว์

“พวกลุงก็ใช้ป่าโคกนี่แหละเป็นที่ยิงกวาง ยิงเก้ง เอาเนื้อไปขายแถวสถานีรถไฟ” บรรดาลุงเล่าเรื่องราวของพวกเขาในช่วงเวลาก่อนที่ผมจะเกิด

วันนี้ป่าโคกเป็นทุ่งหญ้า เลี้ยงวัวกว้างไกลสุดตา

 

ผมขี่ไปตามทางที่วัวใช้เดิน ทางพาไปถึงจุดสูงสุดของทุ่งหญ้า แสงแดดยามเย็นสะท้อนหญ้าเขียวๆ เป็นเงา นกกระแตแต้แว้ดหลายตัวกระโดดขึ้นลงพร้อมส่งเสียง

ผมหยุดพัก ดื่มน้ำ สูดลมหายใจลึกๆ กับอากาศสดชื่น มะค่าและประดู่ต้นใหญ่คือหลักฐานของป่าใหญ่ในอดีต

ผมมองรอบๆ ผ่านทุ่งหญ้าเขียวชอุ่ม แนวภูเขาโอบล้อม

หากเป็นวันอากาศแจ่มใส แสงแดดทาบทอทุ่งหญ้าสวยงาม ถ้าเป็นวันแห่งฝน เมฆครึ้มก็เห็นเป็นแผ่นใต้ท้องฟ้ากว้าง

นี่เป็นเวลาผ่อนคลาย เป็นเวลาที่ไร้กล้องในมือ

ทำงานในป่า มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งว่า ผมผ่านช่วงเวลาแห่งฤดูไปพร้อมๆ กับเหล่าสัตว์ป่า

พวกมันเป็น “ครู” ที่สอนให้รู้จักรอ และปรับตัวให้สอดคล้องไปกับความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

เส้นทางขากลับ ทางลงค่อนข้างชัน บนหลังเสือ ผมดาวน์ฮิลล์ลงมา

แม้จะเร็ว แต่ถึงวันนี้ มันไม่เร็วเกินกว่าที่กายผมจะตามใจได้ทันแล้ว

 

ลงจากหลังเสือนั้นยาก ไม่ใช่เรื่องใหม่ คำเปรียบเปรยนี้มีมาเนิ่นนาน ทุกคนรู้ความหมาย

อยู่ “บนหลังเสือ” ก็ไม่ต่างกับการเดินขึ้นภูเขา

ตอนยากที่สุด คือตอนลง