การศึกษา / ศธ.ขยายรับ น.ร.ต่อห้อง จับตา ‘ใคร’ ได้ประโยชน์

การศึกษา

 

ศธ.ขยายรับ น.ร.ต่อห้อง

จับตา ‘ใคร’ ได้ประโยชน์

 

หลักเกณฑ์การรับนักเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ดูเหมือนเสียงวิจารณ์จะเริ่มซาๆ ไปแล้ว หลังนักวิชาการ และนักการศึกษาหลายคนวิพากษ์กันไปหลายยก

แต่ประเด็นดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง หลังคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2564

โดยการรับนักเรียนระดับชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ให้คงจำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง แต่โรงเรียนสามารถรับนักเรียนเพิ่มได้ไม่เกิน 10% ต่อห้อง ซึ่งการเพิ่มจำนวนนักเรียนนั้น ต้องเพิ่มตามความจำเป็นจริงๆ

จากนั้นปีการศึกษา 2565 โรงเรียนจะสามารถรับนักเรียนเพิ่มได้ไม่เกิน 5% ต่อห้อง ตามความจำเป็น และในปีการศึกษา 2566 จะล็อกไว้ที่ห้องละ 40 คนเท่านั้น

จากเดิมที่มติการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 กำหนดให้ระดับชั้น ม.1 และชั้น ม.4 รับนักเรียนได้ไม่เกิน 40 คนต่อห้อง และห้ามขยายห้องเรียนเด็ดขาด!!

 

หลายคนต่างตั้งข้อสงสัยว่า การที่คณะกรรมการ กพฐ.เปลี่ยนใจ ปรับเกณฑ์รับนักเรียนไป-มาแบบนี้ เพราะแรงกดดันจากผู้บริหารโรงเรียนหรือไม่

เนื่องจากผู้อำนวยโรงเรียนชื่อดังหลายแห่ง ต่างเห็นพ้องกันว่า การจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้อง จะมีปัญหาแน่นอน

อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การรับนักเรียนที่ตายตัวนั้น ศธ.ควรสอบถามโรงเรียนว่ามีความต้องการอย่างไร เพราะบริบทของแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน

ขณะที่บางส่วนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว จำนวนนักเรียนต่อห้องที่จะทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพอย่างแท้จริง ควรจะอยู่ที่ 30-35 คนต่อห้องเท่านั้น!!

ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ.แจกแจงการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์รับนักเรียนครั้งนี้ว่า ถ้าจำกัดจำนวนนักเรียน 40 คนต่อห้อง ในปีการศึกษา 2564 บางพื้นที่จะพบปัญหาในการบริหารจัดการ โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ได้มอบนโยบายว่าการปรับเปลี่ยนต่างๆ ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“การปรับเกณฑ์การรับนักเรียนครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนดังจะขอขยายเพิ่มจำนวนนักเรียน 10% ต่อห้องได้ เพราะคณะกรรมการ กพฐ.เน้นย้ำว่าเมื่อ สพฐ.ส่งหนังสือหลักเกณฑ์และแนวทางการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ และคณะกรรมการรับนักเรียนของแต่ละโรงเรียนทั่วประเทศ ให้ระบุชัดเจนว่า การเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้อง ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนรอบข้าง และต้องดูความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนรับด้วย”

ดร.เอกชัยระบุ

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้อำนวยการโรงเรียนดังหลายแห่งได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากนายวิสิทธิ์ ใจเถิง ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวว่า เกณฑ์การรับนักเรียนในปีการศึกษา 2564 กำหนดให้โรงเรียนรับนักเรียนเพิ่มได้ไม่เกิน 10% ต่อห้อง ถือเป็นเรื่องดี ส่วนปีการศึกษาถัดไป อาจจะลดจำนวนนักเรียนต่อห้องไป 1-2 คน เป็นต้น ถือเป็นวิธีการจัดการที่ค่อยเป็นค่อยไป

“ขณะที่ปัจจุบันจำนวนนักเรียนลดลง การกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องยังจำเป็นอยู่หรือไม่นั้น ผมมองว่าเกณฑ์การรับนักเรียนควรจะสังคายนาใหม่ โดยนำข้อมูลจริง เรื่องจริงมาหารือกัน วิเคราะห์ และปรับแก้กันไป” นายวิสิทธิ์กล่าว

ขณะที่นายขจิตพันธ์ สุวรรณสิริภักดิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษานารี กล่าวว่า แต่ละโรงเรียนมีแผนในการรับนักเรียนอยู่แล้ว หาก สพฐ.ประกาศเกณฑ์รับนักเรียนแล้ว โรงเรียนต้องไปดูว่าจะนำเกณฑ์นี้มาปรับใช้อย่างไร แต่ในความคิดตน มองว่าควรให้โรงเรียนบริหารจัดการ และประเมินจำนวนรับนักเรียนของตน ไม่ใช่ตั้งเกณฑ์แล้วให้โรงเรียนปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ

ซึ่งโรงเรียนจะลำบากใจในการปฏิบัติ!!

 

คําถามที่น่าสนใจที่ตามมาคือ เป็นไปได้หรือไม่ ที่โรงเรียนจะสามารถบริหารจัดการ วางแผนการรับนักเรียนของตนเอง โดยที่ไม่ต้องรอส่วนกลางออกเกณฑ์ให้โรงเรียนปฏิบัติตามได้หรือไม่??

ประเด็นนี้ ดร.เอกชัยให้คำตอบว่า ปัจจุบันส่วนกลางกำหนดแค่นโยบาย เช่น กำหนดจำนวนการรับนักเรียนต่อห้อง เป็นต้น ถ้าส่วนกลางไม่กำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง โรงเรียนจะกำหนดจำนวนรับตามใจตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอย่างมาก

ดังนั้น ยังจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์กลางการรับนักเรียนเข้ามากำกับด้วย ส่วนกระบวนการรับนักเรียนนั้น ส่วนกลางได้กระจายอำนาจให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดการในเรื่องนี้อยู่แล้ว…

 

ส่วนประเด็นการ “สังคายนา” หลักเกณฑ์การรับนักเรียนนั้น ดร.เอกชัยมองว่า ควรสังคายนาการคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียน ที่ไม่ใช่การคัดเด็กที่เก่งวิชาการเพียงอย่างเดียว แต่ควรคัดเด็กที่มีความพร้อมที่จะเรียนในสถานศึกษา เช่น การคิดวิเคราะห์ การมีเหตุมีผล ความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ มีความพร้อมด้านอารมณ์…

ต้องรอดูว่าเกณฑ์การรับนักเรียนจะถูกนำมาปรับเปลี่ยนอีกครั้งหรือไม่??

แล้วเสียงสะท้อนของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องการให้สังคายนาเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่ จะถูกนำขึ้นมาพิจารณาหรือไม่…

คณะกรรมการ กพฐ.จะยังกำหนดเกณฑ์คัดเลือกกลาง และกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องเองหรือไม่…

หรือให้โรงเรียนแต่ละแห่งกำหนด ซึ่งก็อาจเกิดปัญหาโรงเรียนชื่อดัง โรงเรียนประจำจังหวัด หรือโรงเรียนประจำอำเภอ ที่เป็นที่ต้องการของนักเรียน และผู้ปกครอง อาจรับนักเรียนต่อห้องจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพ อีกทั้งจะส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่บริเวณรอบๆ ที่อาจไม่มีเด็กเข้าเรียน

ซึ่งประเด็นนี้ มีทั้งโรงเรียนที่ได้ประโยชน์ และโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ…

ฉะนั้น หนทางที่ดีที่สุด คือทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกัน หาแนวปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้ได้ “หลักเกณฑ์” การรับนักเรียนที่ดีที่สุด สำหรับทุกฝ่าย!!