บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ/’ประยุทธ์’ ออก-แก้ รธน. ปัญหาจบ-หรือแค่ได้ปีศาจตัวใหม่

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ประยุทธ์’ ออก-แก้ รธน.

ปัญหาจบ-หรือแค่ได้ปีศาจตัวใหม่

 

นับตั้งแต่ม็อบเยาวชน-นักศึกษา ซึ่งเป็นม็อบ 100 ชื่อ จนจำไม่ไหว ออกมาชุมนุมบนท้องถนนพร้อมกับข้อเรียกร้องให้มีการยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ บรรดาพรรคฝ่ายค้านทั้งหมดก็ถือโอกาสผสมโรงเขย่ารัฐบาล พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเป็นตัวปัญหา ถ้ายอมลาออกก็จะลดแรงกดดันและผ่อนคลายสถานการณ์ไปได้

แต่สังเกตหรือไม่ว่า ไม่มีฝ่ายค้านคนไหนสนับสนุนการยุบสภา โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เห็นมีแต่การขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก

เหตุที่ไม่อยากให้ยุบสภา เพราะนักการเมืองไม่อยากเลือกตั้งใหม่ ไม่อยากลำบากหาเสียงใหม่ซึ่งต้องใช้ทุนและปัจจัยอีกมาก แถมมีความเสี่ยงจะสอบตก ดังนั้น ทุกคนจึงอยากอยู่ยาวๆ ไปจนครบเทอม 4 ปี

จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมฝ่ายค้านจึงอยากแค่ให้นายกฯ ลาออก

 

ถ้านายกฯ ลาออก ก็หมายถึงต้องโหวตกันในสภาเพื่อเลือกตั้งนายกฯ คนใหม่ขึ้นมาแทน ถ้าฟลุกหน่อย คนจากพรรคฝ่ายค้านอาจได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถึงไม่ได้เป็นนายกฯ ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ไม่มีการยุบสภาก็พอใจแล้ว

สิ่งที่ ส.ส.ทุกพรรคกลัวที่สุดคือการยุบสภา ซึ่งอาจเป็นไปได้ หากสถานการณ์ตีบตันจนบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้วิธียุบสภาแบบกลางคันหรือปุบปับก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น หากยุบสภาไปโดยที่ไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม ที่รัฐบาลจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ

ดังนั้น ฝ่ายค้านจึงไม่เทน้ำหนักไปที่การยุบสภา เพราะคำนวณดูแล้ว หากจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลานานพอสมควร กินเวลาไปเกือบใกล้ครบเทอมของรัฐบาล ถึงเวลานั้นไม่จำเป็นต้องไล่ รัฐบาลก็ต้องไปและมีการเลือกตั้งใหม่อยู่ดี

เป้าประสงค์ของฝ่ายค้านที่กระทุ้งให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้วิธีลาออก ก็เพียงแค่ต้องการคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้ร้อนแรงถึงจุดเดือดจนสร้างความชอบธรรมในการยุบสภาให้กับ พล.อ.ประยุทธ์

มีการใช้วาทกรรมซ้ำๆ ที่ว่า “ประยุทธ์ออกไปและร่างรัฐธรรมนูญใหม่” เพื่อให้เชื่อว่าจะเป็นยาวิเศษที่ทำให้ปัญหาทุกอย่างยุติลง

 

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงปัญหาจะยุติลงได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้รัฐธรรมนูญแน่ๆ แต่อยู่ที่ “พฤติกรรม” นักการเมืองเป็นหลัก

เพราะไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรม คุณภาพนักการเมืองยังเช่นเดิม เลือกตั้งกี่ครั้ง แก้รัฐธรรมนูญกี่หน ปัญหาเดิมก็เกิดขึ้นอยู่ดี วนเวียนอยู่เช่นนี้

นักการเมือง-นักวิชาการบอกว่า การเมืองไทยอยู่ในวังวนอุบาทว์ เพราะมีการรัฐประหารบ่อย แต่ไม่ค่อยโทษว่านักการเมืองก็มีพฤติกรรมที่เป็น “วังวนอุบาทว์” คือ “ชนะเลือกตั้ง-เข้ามาโกง-ถูกม็อบไล่-ยึดอำนาจ” มาทุกยุค

ส่วนถ้าจะบอกว่า ถ้านักการเมืองโกง ก็ให้หาวิธีอื่นที่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยมาแก้ไข หรือไม่ก็ทนๆ ไป 4 ปีค่อยเลือกตั้งกันใหม่ ก็คิดกันได้

แต่นั่นแหละ ในเมื่อเชิดชูกันว่า “ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดม็อบออกมาไล่ เพราะรอไม่ไหวที่จะให้กระบวนการรัฐสภาหรือกระบวนการยุติธรรมมาแก้ปัญหา

พอเกิดม็อบและเกิดกลียุค ใกล้จะเป็นรัฐล้มเหลว การยึดอำนาจโดยฝ่ายทหารก็จะตามมา

 

เมื่อไม่กี่วันก่อนเห็นพรรคเพื่อไทยตั้งโต๊ะแถลงข่าวตีปี๊บอีกครั้ง ให้สัญญาสวยหรูว่าจะ “คิดใหม่ทำใหม่อีกครั้ง” เพื่อทำให้ประชาธิปไตยกินได้ หลักใหญ่ใจความก็คืออวดอ้างเรื่องฝีมือเศรษฐกิจ จะคิดนอกกรอบแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากไวรัสโควิดให้ดีกว่ารัฐบาลนี้ ที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา

แค่ได้ฟังประโยค “คิดใหม่ทำใหม่” ก็สะดุ้งโหยง เพราะนั่นเป็นสโลแกนพรรคไทยรักไทย ยุคที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค เท่ากับย้อนยุคไปไกล และกลับไปอาศัยชื่อเสียงของทักษิณเพื่อปลุกให้ฐานเสียงมีความหวังอีกครั้งในด้านเศรษฐกิจ

แต่อย่าลืมว่า ทั้งยุคไทยรักไทย “คิดใหม่ทำใหม่” และยุคเพื่อไทย “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ” ก็ล้วนแต่มีพฤติกรรมที่นำไปสู่การถูกยึดอำนาจทั้งสิ้น

นี่ย่อมสะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ก็ยังไม่พร้อมจะสลัดคราบหมดจด เป็นคนใหม่ แต่ยังเป็น “เหล้าเก่าในขวดเก่า” ที่ยังต้องอาศัยสโลแกนเก่าเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วมาหาเสียง

 

ส่วนพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพรรคที่ม็อบเยาวชน-นักศึกษา อยากให้ขึ้นมาบริหารประเทศนั้น ดูลึกๆ แล้วพรรคนี้น่ากลัวมาก เพราะความที่พวกเขาอยากเปลี่ยนแปลงประเทศแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แถมชื่นชมคณะราษฎรมาก ดังนั้น เผลอๆ อาจจะเป็นเผด็จการยิ่งกว่าใคร

เกรงว่าพวกเขาจะบังคับให้คนไทยเอาอย่างฝรั่ง เหมือนกับตอนที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม แกนนำคณะราษฎร และอดีตนายกรัฐมนตรี บังคับให้คนไทยเลิกกินหมาก ผู้หญิงเลิกนุ่งโจงกระเบนและต้องสวมหมวกแบบฝรั่ง ใครไม่สวมจะถูกจับและปรับ เลิกส่งเสริมศิลปะและดนตรีไทย แต่หันไปส่งเสริมดนตรีสากล เป็นต้น

เพียงแต่คราวนี้พรรคคนรุ่นใหม่อาจจะบังคับให้คนไทยเลิกกราบไหว้พ่อ-แม่ ครู-อาจารย์ แม้จะกราบพระก็อาจทำไม่ได้ ความสุภาพอ่อนโยนแบบคนไทยพวกเขาก็คงไม่ชอบ ยิ้มมากก็ไม่ได้ เพราะดูเป็นมิตรมากเกินไป เหมือนคนไม่สู้คน จะทำให้คนอื่นมาเอาเปรียบ

สิ่งเหล่านี้คือความคิดฝรั่ง หากสังเกตฝรั่งจะไม่ค่อยยิ้ม ต้องทำหน้าบึ้งตึงเข้าไว้เพื่อให้ดูเป็นคนมั่นใจและเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ให้คนอื่นกล้ามาตอแยด้วย สร้างสังคมที่เย็นชา แล้งน้ำใจ ตัวใครตัวมัน มีความเห็นแก่ตัวอย่างสูงเป็นที่ตั้ง สุดท้ายก็เป็นสังคมที่ว้าเหว่ จนต้องไปแสวงหาความอบอุ่นนอกประเทศตัวเอง

คนเหล่านี้ต่อต้านสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมประเพณีไทยแทบจะทั้งหมด เห็นฝรั่งดีไปทุกสิ่งอย่าง ใส่ความคิดปีศาจให้กับเยาวชน สอนให้อกตัญญูบรรพบุรุษ หรือแม้แต่คุณูปการของสถาบันกษัตริย์ ไม่รู้สึกซาบซึ้งหรือขอบคุณในสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างหรือแผ้วทางไว้ให้ด้วยความเหนื่อยยาก

พวกเขาและเยาวชนที่เป็นสาวก อาจไม่รู้ตัวว่า ในขณะที่พวกเขาดูถูกดูแคลนคนไทยที่ยังยึดมั่นในประเพณีวัฒนธรรมไทยว่า เป็น “ทาส” ของระบบอุปถัมภ์ แต่พวกเขากลับไม่ฉุกคิดว่าการตามก้นฝรั่งอย่างมืดบอด มันก็คือการทำตัวเป็น “ทาส” แบบหนึ่ง

น่าเวทนาที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ว่า ตัวเองก็ทำตัวเป็น “ทาส” ฝรั่ง เอากะลาฝรั่งมาครอบ แล้วคิดว่า “นายทาส” ฝรั่ง หรือ “กะลาฝรั่ง” ที่พวกเขาเอามาครอบหัวอยู่ ดีกว่านายทาสหรือกะลาของคนอื่น