วิรัตน์ แสงทองคำ : เอสซีจี กับเวลาท้าทาย

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เครือข่ายเอสซีจีกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง จากการเว้นวรรคกว่า 3 ทศวรรษ จึงเป็นเรื่องเร้าใจ

กรณีเอสซีจี ซึ่งมีบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในตลาดหุ้น (ชื่อย่อ SCC) มาอย่างยาวนาน (ตั้งแต่ปี 2518) ได้ทำหนังสือแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562) ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า “ได้มีมติอนุมัติแผนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (“SCGP”) และอนุมัติการนำหุ้นสามัญของ SCGP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ..”

ดูเผินๆ เป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ เป็นไปท่ามกลางกระแสเครือข่ายธุรกิจใหญ่ผู้ทรงอิทธิพลพาเหรดกันเข้าตลาดหุ้น จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว

เปิดฉากโดยกิจการในเครือทีซีซี ซึ่งมีประสบการณ์ปัจจุบันพัวพันกับตลาดหุ้นมากเป็นพิเศษ นำกิจการใหม่-บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เข้าซื้อ-ขายในตลาดหุ้นก่อนใครๆ (10 ตุลาคม 2562) ตามมาติดๆ โดยเครือบุญรอดบริวเวรี่ ธุรกิจเก่าแก่ซึ่งเพิ่งมีบริษัทในเครือข่ายแห่งแรกเข้าตลาดหุ้นเมื่อไม่นานมานี้ (บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2557) กิจการใหม่มีลักษณะคล้ายกันกับ AWC เป็นคู่แข่งอย่างสมน้ำสมเนื้อ-บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR เข้าตลาดหุ้นในเดือนถัดมา (12 พฤศจิกายน 2562)

กลุ่มเซ็นทรัลได้ตัดสินใจครั้งใหญ่-บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุด เดินหน้าในกระบวนการเข้าตลาดหุ้นจนบรรลุขั้นตอนสุดท้าย ข้ามปี (20 กุมภาพันธ์ 2563) ดูเป็นจังหวะไม่ค่อยเป็นใจ ก่อนหน้าวิกฤตการณ์ COVID-19 ก็มาเยือน

สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล นับว่าทิ้งช่วงพอสมควร กับการนำกิจการในเครือข่ายเข้าตลาดหุ้น หลังจากกรณีบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL เมื่อปี 2533 และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เมื่อปี 2538 ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นของภาวะตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ทั้งนั้น แผนการใหญ่เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทยผู้ทรงอิทธิพลไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด ดัชนีหนึ่งซึ่งสะท้อนผ่านราคาหุ้น ปรากฏว่า ไม่ว่า AWC, SHR หรือ CRC ล้วนอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาเสนอขายต่อ “ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO)” อย่างน่าใจหาย

 

เอสซีจีมีประสบการณ์ครั้งสำคัญนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะกรณีบริษัทยางสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ STC เข้าตลาดหุ้นในปี 2522 และบริษัทเยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) หรือ SPP ถือเป็นครั้งล่าสุดในการนำกิจการเข้าตลาดหุ้นของเครือข่ายเอสซีจี เกิดขึ้นในปี 2530 อันเป็นทศวรรษ (2520-2530) เอสซีจีขยายอาณาจักรธุรกิจครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ว่าในบางจังหวะธุรกิจไทยโดยรวมเผชิญปัญหา แต่สำหรับเอสซีจีกลับเป็นโอกาสทางธุรกิจ

กรณียางสยาม ผลพวงของความพยายามยุคหนึ่ง เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงเวลาซึ่งนโยบายรัฐสนับสนุน จนกลายเป็นภาวการณ์หลวมตัวเข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก กลุ่มธุรกิจยานยนต์ในเครือเอสซีจีดูเป็นภาพยิ่งใหญ่ เติบโตอย่างมากในช่วงนั้น ความเป็นไปสะดุดลงเมื่อเผชิญวิกฤต จำต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจ ด้วยตกผลึกว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีเทคโนโลยีของตนเอง และพึ่งพาทางยุทธศาสตร์บริษัทระดับโลก

ส่วนบริษัทเยื่อกระดาษสยาม ก่อตั้งขึ้นในปี 2522 ตามคำแนะนำ International Finance Corporation (IFC) ในจังหวะเวลามีประสบการณ์ กรณีสยามคราฟท์ นานถึง 7 ปีจึงตัดสินใจสู่ธุรกิจต้นธาร บริษัทเยื่อกระดาษสยามมีสำนักงานทรัพย์สินฯ และธนาคารสำคัญอีก 3 แห่ง (ธนาคารกสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ) เป็นผู้ร่วมทุน ถือหุ้นข้างน้อย

ว่าไปแล้วอีกมิติหนึ่ง เอสซีจีมีประสบการณ์เข้มข้นด้านตรงข้าม-นำกิจการออกจากตลาดหุ้น เมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เอสซีจีเดินแผนปรับโครงสร้างครั้งใหญ่เกี่ยวกับตลาดหุ้น คงเหลือไว้เพียงบริษัทหลักบริษัทเดียว-บริษัท ปูนซิเมต์ไทย จำกัด (มหาชน)

กรณีบริษัทเยื่อกระดาษสยาม ตามแผนออกจากตลาดหุ้นให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาถือหุ้นใหญ่อย่างเบ็ดเสร็จ เปลี่ยนชื่อมาเป็นเอสซีจีเปเปอร์ (ต่อมาปี 2558 เปลี่ยนชื่อเป็นเอสซีจี แพคเกจจิ้ง) จำเป็นต้องใช้เวลาบ้าง รอให้สถานะทางธุรกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้น ตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้น จนดำเนินการเสร็จตามแผนในปี 2546

ผ่านไป 17 ปี จึงหวนคืนกลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง ดูจะเป็นความท้าทายมากกว่าช่วงใดๆ

 

สังคมโลกและไทยเผชิญภัยพร้อมเพรียงอย่างคาดไม่ถึง กลายเป็นช่วงเวลา Great Lockdown ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 ตอกย้ำด้วยบทวิเคราะห์คาดการณ์อย่างน่าวิตก โดยเฉพาะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองเศรษฐกิจโลกปี 2563 ตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ Great Depression เมื่อราวๆ 90 ปีที่แล้ว ทั้งคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจไทยโตจะต่ำที่สุดในอาเซียน

เป็นที่น่าสังเกต เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ดำเนินแผนและกระบวนการเข้าตลาดหุ้นอย่างระแวดระวังและใช้เวลามากกว่าเครือข่ายธุรกิจใหญ่อย่างที่กล่าวในตอนต้น

เมื่อพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการบริษัท จะพบว่ามีความตั้งใจคัดสรรเป็นพิเศษ มีบุคคลหนึ่งควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับการนำกิจการในเครือเอสซีจีเข้าตลาดหุ้น ตั้งแต่กรณี SCC (2518) จนถึง STC (2522) และ SPP (2530) ทั้งนี้ ยังรวมถึงแผนการนำกิจการออกจากตลาดหุ้นเมื่อราวๆ 2 ทศวรรษที่แล้วด้วย

เขาคือ ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้มีบทบาทในเอสซีจีอย่างยาวนาน ตั้งแต่เข้าร่วมงานปี 2515 ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เอสซีจีก้าวพ้นจากยุคบริหารโดยเดนมาร์ก (2456-2517) สู่คนไทย (2517-ปัจจุบัน) กล่าวขานกันว่า เขามีบทบาททุกช่วงทุกตอนในแผนการเติบโตอย่างโลดโผน ก่อนมาเป็นผู้จัดการใหญ่ (2536-2548) ในช่วงสำคัญอีกช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์เอสซีจี จากนั้นเขาดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจีอย่างต่อเนื่อง เป็นกรรมการชุดปัจจุบันผู้อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดด้วย

ชื่อของเขาปรากฏในฐานะกรรมการคนหนึ่ง เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ภายใต้โครงสร้างที่น่าสนใจ ประกอบด้วยบุคคลผู้มีประสบการณ์ภาคนโยบายและกลไกสำคัญในตลาดการเงินและตลาดทุนของไทย อาทิ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตเลขาธิการ กลต. และผู้ว่าการแบงก์ชาติ, ชาลี จันทนยิ่งยง อดีตรองเลขาธิการ กลต. และกรรมการแบงก์ชาติ และผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ อีกส่วนเพิ่มขึ้นมาภายหลัง บุคคลจากภาคธุรกิจได้แก่ วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานกรรมการบริหารเครือเบทาโกร และวิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์

จนมาถึงช่วงสำคัญ ในเบื้องต้นดูเป็นไปอย่างที่ควรเป็น

“บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ประกาศราคาเสนอขายสุดท้ายหุ้น IPO ที่ 35.00 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาสูงสุดของช่วงราคาเสนอขายเบื้องต้น หลังได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบันที่แสดงความต้องการจองซื้อมากกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ ชูศักยภาพผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน และแผนงานขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรับประโยชน์จากเมกะเทรนด์การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภูมิภาค “สาระสำคัญของข่าวแถลงของ SCGP เองเมื่อ 8 ตุลาคม 2563 (https://www.scgpackaging.com/)

โดยคาดว่า “เข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประมาณวันที่ 22 ตุลาคม 2563”

เป็นเรื่องที่น่าติดตามตอนต่อไป